Skip to main content
sharethis

สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานข่าว-วิเคราะห์เหตุการณ์รัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าการรัฐประหารทำให้เกิดความสงบแค่ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้จริง ทั้งสื่อ องค์กร และรัฐบาลต่างประเทศหลายแห่งยังเรียกร้องให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว


23 พ.ค. 2557 สื่อต่างชาติรายงานเรื่องเหตุการณ์รัฐประหารในไทยตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสฯ (22 พ.ค.) ที่ผ่านมาไว้ดังนี้

นักข่าวอัลจาซีรา สก็อต ไฮด์เลอร์ รายงานจากกรุงเทพฯ ว่าทหารได้เข้าควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐบาล และไม่ทราบว่ามีการควบคุมตัวแกนนำของฝ่ายคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไว้ที่ใด

เดวิด สเตร็กฟัส นักวิเคราะห์ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราว่าการแทรกแซงของทหารในครั้งนี้เป็นความพยายามกีดกันกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และทำลายขวัญกำลังใจของพวกเขา

ด้านสำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานเรื่องที่ มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษในประเทศไทยทวีตเตือนให้พลเมืองชางอังกฤษมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง ให้ปฏิบัติตามคำเตือนการท่องเที่ยวรวมถึงติดตามข่าวสารอยู่เสมอ

เว็บไซต์สำนักข่าวซีนิวส์รายงานเพิ่มเติมอีกว่าสำนักงานการต่างประเทศของอังกฤษเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละวางความแตกต่างและยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยกับหลักนิติธรรม เพื่อผลประโยชน์ของคนในประเทศไทยเอง ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองชัว ฮอลแลนด์ ได้ประณามการทำรัฐประหารในครั้งนี้

บีบีซีมีการรายงานสถานการณ์สด โดยนำเสนอภาพผู้ชุมนุมเก็บข้าวของออกจากพื้นที่ โดย โจนาห์ ฟิชเชอร์ นักข่าวบีบีซีระบุว่าเมื่อช่วงเวลาหลังเคอร์ฟิวถนนเงียบมากและไม่ค่อยมีทหารเนื่องจากทหารเน้นรวมพลเพื่อสลายการชุมนุมที่แหล่งชุมนุมของทั้งสองฝ่าย

ทางด้านดิอิโคโนมิสต์ ระบุในบทความชื่อ "การเคลื่อนไหวอย่างทันด่วนของกองทัพ ทำให้เกิดความสงบแค่ในระยะสั้น" โดยรายงานสถานการณ์ตั้งแต่การยึดสื่อในช่วงประกาศกฎอัยการศึกมาจนถึงการควบคุมตัวนักการเมืองและแกนนำทั้งสองฝ่าย จากนั้นจึงวิจารณ์ว่าการรัฐประหารทำให้เกิดความแตกแยก เกิดความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนจากต่างชาติ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าเสื้อแดงจะลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหาร

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่าวิกฤติทางการเมืองในไทยและความไร้ทิศทางของเศรษฐกิจทำให้เกิดผลด้านลบชัดเจนขึ้น ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 1 วันมีการประกาศว่าเศรษฐกิจไทยดิ่งลงสู่ภาวะตกต่ำ ทั้งที่เมื่อสิบปีที่แล้วประเทศไทยยังได้รับการยกย่องในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีทั้งความเติบโตและประชาธิปไตย

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ยากที่จะคาดเดา ในทางการเมืองอาจมีกระบวนการแบบประชาธิปไตยกลับคืนมาแต่ที่เป็นไปได้มากคือการวางแนวทางให้กลุ่มชนชั้นนำทางประวัติศาสตร์ยังคงมีบทบาทในการปกครองประเทศ

ส่วนสำนักข่าว ดัชเช เวลเล นำเสนอบทสัมภาษณ์ของ เออร์เนสต์ บาวเออร์ จากฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของสหรัฐ (CSIS) ซึ่งวิจารณ์ว่ากองทัพไทยตีความกฎอัยการศึกเกินตัวบทเพื่ออ้างว่าให้กองทัพสามารถแทรกแซงเพื่อยับยั้งความรุนแรงได้ "แม้ว่ากองทัพจะพยายามแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติตามกฎ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่ทำสิ่งที่ต้องการและเชื่อว่าพวกเขากำลังทำเพื่อรักษาความสงบ"

เมื่อถามว่าเหตุใดกองทัพถึงก่อรัฐประหารทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศว่าการใช้กฎอัยการศึกไม่ใช่รัฐประหาร ซึ่งบาวเออร์กล่าวว่ากองทัพประกาศกฎอัยการศึกเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเอาจริงในการทำให้ทั้งสองฝ่ายหันมาปรองดองกัน แต่ทว่าการรัฐประหารในครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในไทยช่วงกลายสมัยรัชกาล

เมื่อถามว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าการยึดอำนาจครั้งนี้จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์นานาชาติเป็นไปได้จริงขนาดไหน ซึ่งบาวเออร์กล่าวว่าประยุทธ์พูดผิดในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นส่วนสำคัญของอาเซียน ดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit ประกอบด้วย 16 ประเทศมีกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และอีก 6 ประเทศคือ ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์) นอกจากนี้ไทยยังเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ ในเอเชีย และเป็นเสมือนผู้ประสานระหว่างจีนกับกลุ่มประชาคมอาเซียน

"การที่ประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลกระทบต่อสมดุลของภูมิภาค โดยอาเซียนจะถูกประเมินความเข้มแข็งและถูกเพ่งเล็งจุดอ่อน ซึ่งน่าเศร้าตอนนี้จุดอ่อนกลายเป็นประเทศไทย" บาวเออร์กล่าว

บาวเออร์ยังกล่าวอีกว่า แม้ประเทศพันธมิตรของไทยควรเข้าใจว่ามีเพียงคนไทยเท่านั้นที่ต้องตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของประเทศตนเองและต่างชาติจะช่วยเหลือแค่ในระดับที่ส่งอิทธิพลต่อบุคคลในไทยให้มีการแก้ไขปัญหาโดยสันติ กระนั้นก็ตามบาวเออร์เชื่อว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่จะเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่รากฐานความเป็นประชาธิปไตย การยึดหลักรัฐธรรมนูญ และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งและการลิดรอนเสรีภาพประชาชนไทย

ในเว็บไซต์ Democracy Now! มีการพูดคุยถึงเหตุการณ์รัฐประหารโดยเชิญ จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์มาร่วมพดคุยด้วย ซิฟตันมองว่าการรัฐประหารในไทยคราวนี้มีความพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสืบสันตติวงศ์ และอีกส่วนหนึ่งมาจากความต้องการกำจัดเสี้ยนหนามอย่างคนเสื้อแดงและทักษิณซึ่งกองทัพไม่ชอบ

อย่างไรก็ตาม ซิฟตันกล่าวอีกว่าการรัฐประหารในคราวนี้ควรเป็นบทเรียนของกองทัพสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ ควรปรับท่าทีใหม่จากการพยายามส่งเสริมอุดมคติด้านสิทธิมนุษยชนผ่านวิธีการทางทหารซึ่งใช้แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ พยายามทำให้กองทัพไทยซึมซับเรื่องประชาธิปไตยแต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทำให้สหรัฐฯ ควรพิจารณาเรื่องความร่วมมือทางการทหารเสียใหม่

ซิฟตันชี้อีกว่าสหรัฐฯ มีกฎหมายการให้ความช่วยเหลือต่างชาติ ซึ่งระบุให้ตัดการช่วยเหลือด้านการทหารในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การรัฐประหารตราบใดที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งซิฟตันคาดว่าสหรัฐฯ รวมถึงญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะยังคงทูตไว้ในประเทศและใช้วิธีเจรจาต่อรองว่าจะไม่มีความคืบหน้าด้านการค้า การลงทุน หรืออื่นๆ จนกว่าประชาธิปไตยจะกลับคืนมา และหวังว่าวิธีนี้จะใช้ได้ผลโดยเร็ว

เมื่อถูกถามว่ามีกลุ่มคนที่หัวก้าวหน้ากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงอยู่ด้วยหรือไม่ ซิฟตันก็บอกว่ายังมีกลุ่มผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอยู่อีกจำนวนมากในไทย มีผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยในเชิงแนวคิด

"พวกเรากล่าวถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของ 'เสื้อแดง' ขณะที่ 'เสื้อแดง' อยู่ในอำนาจ พวกเรากล่าวถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของ 'เสื้อเหลือง' ในขณะที่ 'เสื้อเหลือง' อยู่ในอำนาจ และสิ่งที่เป็นหลักการสำคัญที่สุดคือ ประชาธิปไตยโดยรัฐธรรมนูญย่อมดีกว่าเผด็จการทหาร" ซิฟตันกล่าว "และพวกเราก็อยากเห็นบ้านเมืองกลับสู่ความมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ไม่ว่าใครจะอยู่ในอำนาจก็ตาม และเราเชื่อว่ามีคนไทยหลายคนที่รู้สึกอย่างเดียวกัน"

 

 

เรียบเรียงจาก

Army takes control of government in Thailand, Aljazeera, 22-05-3014
http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2014/05/army-takes-control-government-thailand-20145221094345202.html

Thailand army chief confirms military coup in all but name, The Guardian, 22-05-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/may/22/thailand-army-chief-announces-military-coup

Britain 'concerned' by Thailand coup, ZeeNews, 22-05-2014
http://zeenews.india.com/news/world/britain-concerned-by-thailand-coup_934114.html

Live : Thai military seizes power, BBC, 22-05-2014
http://www.bbc.com/news/world-asia-27519940

Thai coup 'unlikely to resolve power struggle', DW, 22-05-2014
http://www.dw.de/thai-coup-unlikely-to-resolve-power-struggle/a-17654401

The path to the throne : A sudden move by the army brings only near-term calm, 22-05-2014
http://www.economist.com/news/asia/21602759-sudden-move-army-brings-only-near-term-calm-path-throne

After Latest Coup in Thailand, Will U.S. Rethink Military Ties to Longtime Asian Ally?, Democracy Now!, 22-05-2014
http://www.democracynow.org/2014/5/22/after_latest_coup_in_thailand_will

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net