Skip to main content
sharethis

<--break- />
23 พ.ย.2557 อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายติดตามผลกระทบของรัฐประหารทางเศรษฐกิจ ได้เปิดเผยหลังการหารือกับนักวิชาการโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเงิน นายธนาคารถึงผลกระทบของ รัฐประหารต่อเศรษฐกิจการลงทุนและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนว่า ในเบื้องต้นได้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการลงทุน การชะงักงันของกิจกรรมและธุรกรรมทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดการเงินไม่ตื่นตระหนกมากนักต่อเหตุการณ์รัฐประหารในช่วงแรกเนื่องจากมีการประเมินว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้น  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะอยู่ในภาวะขาลงไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และไม่ประกาศคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยดัชนีมีโอกาสปรับตัวลดลงได้จากระดับปัจจุบัน 20-30%

ย้อนกลับไปที่ข้อมูลในอดีต ตอนรัฐประหาร 19 กันยายน 49 ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขายวันแรกหลังรัฐประหาร (21 กันยา) ปรับตัวลงไปแรงที่สุด 29.56 จุดคิดเป็น 4.2% ช่วงเปิดตลาดแต่ช่วงใกล้ปิดตลาดดัชนีกระเตื้องขึ้นจึงปรับตัวลงไปเพียง 1.42% เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขณะนั้นยังแข็งแรงอยู่ ตอนรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในวันถัดมาหลังรัฐประหารดัชนีปรับลงแรง 57.4 จุดหรือ 7.25% สำหรับครั้งนี้หากคณะ คสช. ไม่สามารถหาบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือและมีความรู้ความสามารถมาบริหารนโยบายเศรษฐกิจได้ ดัชนีตลาดหุ้นที่เปิดตลาดในวันจันทร์อาจตอบสนองในทางลบอย่างรุนแรงได้ หากรีบประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งโดยเร็วและสามารถหาทีมงานด้านเศรษฐกิจที่มีคุณภาพผลกระทบทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะลดลง

อนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะที่กระแสเงินทุนไหลออกมีลักษณะทยอยไหลออกไม่ได้ไหลออกอย่างรุนแรงจึงทำให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนมากจนเกินไป เงินบาทอาจจะอ่อนค่ากว่าระดับปัจจุบันมากนัก ยกเว้นกรณีไม่สามารถรักษาความสงบได้อาจจะมีเงินไหลออกอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กรณีดังกล่าวอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 37-38 บาทต่อดอลลาร์ได้ เศรษฐกิจไทยไตรมาสสองน่าจะมีอัตราการขยายตัวติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโตติดลบไม่ต่ำกว่า 1% ถือว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองก่อนหน้าการรัฐประหารได้ส่งผลกระทบในวงกว้างออกไปจนส่งผลกดดันให้จีดีพีไตรมาสแรกติดลบ -2.1% (ไตรมาสเทียบไตรมาส) และหดตัว -0.6% (เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว)

การทำรัฐประหารเองก็ได้รับการต่อต้านจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รัฐบาลหลายประเทศในยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากรวมทั้งองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การลงทุน ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือความช่วยเหลือด้านอื่นๆย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลของคณะรัฐประหารจึงควรดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสและยุติธรรมโดยเร็ว   

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจของรัฐประหารปี 2549 กับ รัฐประหารปี 2557 จะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากรัฐประหารปี 49 เกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจดีกว่าในปัจจุบัน ขณะที่ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ก็มีความซับซ้อนมากกว่า ขณะนี้เอง พลวัตของรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหาร รวมทั้ง พลวัตของผลกระทบของรัฐประหารยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่เท่าที่ประเมินในเบื้องต้นผลกระทบของรัฐประหารปี 57 มีมากกว่าการรัฐประหารปี 49 อย่างแน่นอน และสังคมก็มีความแตกแยกขัดแย้งในวงกว้างมากกว่า

ผลกระทบของการทำรัฐประหารจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มขึ้นอีกหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนมิถุนายน เนื่องจากในภาวะปรกติงบประมาณจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายในเดือนพฤษภาคม เมื่อไม่มีรัฐบาล ก็จะไม่มีงบประมาณปี 2558 ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ โดยรัฐบาล นักลงทุนต่างชาติเองต่างหยุดและชะลอการลงทุนในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะชะลอการลงทุนและย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

แม้นว่าเศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้นแต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น คู่ค้าไม่กล้าสั่งซื้อสินค้าจากไทย จะรอดูสถานการณ์หลังการทำรัฐประหารก่อน ทำให้เกิดการชะลอตัวของการส่งออกและไม่น่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้มีอัตราการเติบโต 5% และก่อให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมาก น่าจะทำให้รายได้หายไปไม่ต่ำกว่า แสนล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี   
    
อนุสรณ์ ระบุว่า ผลกระทบจะขยายวงออกไปอีกหากคณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ การรัฐประหารไม่สามารถสร้างสันติภาพและความเป็นเอกภาพในระยะยาวได้อยู่แล้ว ความขัดแย้งอาจสงบลงชั่วคราวในระยะสั้น การสร้างสันติภาพและความเป็นเอกภาพต้องแก้ไขด้วยมาตรการทางกฎหมายด้วยกลไกทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมากกว่ามาตรการทางการทหาร คณะรัฐประหารจึงควรคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศชาติโดยเร็วที่สุด ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยเท่านั้น

อนุสรณ์ ระบุว่า หากไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยและเสถียรภาพทางการเมือง มีความรุนแรงนองเลือดเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร การรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความถดถอยอันยาวนานของเศรษฐกิจไทยและการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนครั้งสำคัญและมีโอกาสที่ไทยจะถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือในปีหน้าเนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบและความอ่อนแอของฐานะทางการคลังจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลต่ำลง ความเสี่ยงที่เกิดจากการรัฐประหารเป็นความเสี่ยงเฉพาะของประเทศไทย (Country Risk) ที่จะทำให้ต้นทุนการระดมทุนของประเทศไทยสูงขึ้นและต้นทุนการประกอบธุรกิจของต่างชาติในประเทศไทยต้องบวกความเสี่ยงดังกล่าวเข้าไปด้วย

อนุสรณ์ ระบุว่า บทเรียนจากการรัฐประหาร 2557 ครั้งล่าสุด ควรได้รับการประเมินจากทุกภาคส่วนของสังคมทั้งแง่ผลกระทบ ต้นทุน ผลได้และความเสียหายและการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเมือง โดยใช้วิธีวิทยาทั้งสาขาเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ทฤษฎีการลงทุนและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง รัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชาติได้ เพราะความขัดแย้งต้องแก้ไขด้วยการเจรจาและมาตรการทางการเมือง และจะนำไปสู่ความแตกแยกใหม่ๆเพิ่มเติมที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม หากนักการเมือง ผู้มีอำนาจทั้งหลาย รวมทั้งระบบและกลไกการตรวจสอบทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสียสละ มีความประนีประนอมและไม่สุดโต่ง รัฐประหารครั้งนี้อาจไม่เกิดขึ้นและเราอาจหลีกเลี่ยงการรัฐประหารในอนาคตได้  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net