สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-27 พ.ค. 2557

ก.แรงงาน ยื่น 4 เรื่อง “ค้ามนุษย์-ตกงาน-ค่าจ้าง-ต่างด้าว” ต่อ คสช.
 
(23 พ.ค.)นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวภายหลังเข้ารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงต่างๆ ว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธาน คสช. ได้สั่งการให้ข้าราชการทำงานเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและสมัครสมานสามัคคีกัน และ คสช. จะเร่งกอบกู้ประเทศทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ส่วนงานกระทรวงนั้นให้ปลัดกระทรวงบริหารไปตามอำนาจหน้าที่ของปลัดและเรื่องใดที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีและเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็ขอให้ปลัดกระทรวงเสนอเรื่องมายัง คสช. ซึ่ง คสช. ได้แต่งตั้งให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพดู แลกระทรวงต่างๆ โดยผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ และจะมีการประชุมกันในลักษณะคล้ายกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ปัญหาประเทศแต่ละด้าน
       
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ตนได้สรุปเรื่องเร่งด่วนและยื่นเอกสารต่อผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของผู้บัญชาการทหารอากาศในการดูแลกระทรวงเศรษฐกิจใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องการถูกประเทศอเมริกาจัดอันดับเป็นประเทศเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ 2. การเฝ้าระวังสถานการณ์การจ้างงานและเลิกจ้างซึ่งภายใน 6 เดือนข้างหน้า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวคาดว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งขอให้เร่งฟื้นฟูธุรกิจด้านท่องเที่ยวและโรงแรม จะช่วยให้ประเทศมีรายได้และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
       
3. การขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายหลายแสนคน ซึ่งทำงานในไทยครบ 4 ปี สามารถทำงานในไทยต่อไปได้ และ 4. การพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2558 ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้คงค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไว้ 2 ปี ตั้งแต่ 2557-2558 ว่าควรจะมีการทบทวนหรือไม่ โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพโดยจะมีการคาดการณ์ไปจนถึงปี 2558 เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบว่าควรจะทบทวนมติบอร์ดค่าจ้างหรือไม่ ทั้งนี้ หลังกลับจากร่วมประชุมตนได้ประชุมผู้บริหารกระทรวงในช่วงบ่ายวันนี้ ตนได้ชี้แจงเรื่องเหล่านี้ต่อผู้บริหารกระทรวงไปเรียบร้อยแล้ว
 
(23-5-2557, ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
 
ยุติข้อพิพาทลูกจ้าง บ.ทีเอ ออโตโมทีฟ
 
(23 พ.ค.) นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กลุ่มสหภาพแรงงานทีเอ ออโตโมทีฟ พาร์ท ประเทศไทย จำกัด จังหวัดชลบุรี ที่มาปักหลักรอผลการเจรจากับนายจ้างที่กระทรวงแรงงานกว่า 1 เดือน ได้ทยอยเดินทางออกจากกระทรวงแรงงานแล้วในช่วงเช้าที่ผ่านมา เนื่องจากผลการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่าง นายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ กสร. เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) เป็นไปได้ด้วยดี โดยนายจ้างได้ตกลงจ่ายเงินพิเศษประจำปี (โบนัส) จำนวน 1.5 เดือน จ่ายค่าอาหารในการทำงานล่วงเวลา 20 บาท โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างจะจ่ายสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละร้อยละ 3 มีอายุข้อตกลง 3 ปี
       
ทั้งนี้ นายจ้างระบุให้แรงงานต้องไปรายงานตัวในวันนี้ ส่วนสถานการณ์ของสถานประกอบการต่างๆ นั้น ยังคงเปิดทำการตามปกติ ไม่มีการแจ้งปิดงานแต่อย่างใด
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่กระทรวงแรงงาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ยังคงเดินทางมาปฏิบัติงานตามปกติ มีประชาชนบางส่วนเดินทางมาติดต่อข้าราชการแต่ค่อนข้างบางตากว่าปกติ ทั้งนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาประจำการภายในกระทรวงแรงงานแต่อย่างใด
 
(23-5-2557, ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
 
ไฟไหม้คลังรองเท้าบาจาลาดกระบัง หลังคาถล่มไร้เจ็บ
 
ไฟไหม้คลังเก็บรองเท้าบาจาลาดกระบัง หลังคาพังถล่ม โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เจ้าหน้าที่คาดไฟฟ้าลัดวงจร
 
เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ศูนย์กระจายสินค้า บริษัทเคเอส โลจิติค จำกัด เลขที่ 9 หมู่ 6 ถนนฉลองกรุง เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นคลังสินค้าบริษัทรองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ใกล้นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ไฟลุกไหม้โกดังที่ 2 จำนวน 1 โกดัง  ซึ่งเป็นที่เก็บวัสดุผลิตรองเท้า ได้แก่ ยางทำรองเท้า กาวติดรองเท้าที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้รถดับเพลิงกว่า 20 คัน เร่งระดมฉีดน้ำสกัดรอบนอกพื้นที่ควบคุมเพลิงไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป
 
และเมื่อเวลา 22.30 น. เจ้าหน้าที่สควบคุมเพลิงที่ลุกไหม้โรงงานดังกล่าวได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุมูลค่าความเสียหายชัดเจนได้ เบื้องต้นพบหลังคาพังถล่มลงมา ไม่มีรายงาานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรบริเวณหน้าลิฟต์ ต้องรอตรวจสอบอีกครั้งในวันนี้
 
(สำนักข่าวไทย, 25-5-2557)
 
เตือนคนใช้สิทธิ์ว่างงาน ได้งานไม่แจ้งมีสิทธิ์โดนเรียกเงินคืน
 
น.พ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ว่างงานของผู้ประกันตนว่า สปส. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานโดยหากผู้ประกันตนลาออกจากงานเอง ทาง สปส. จ่ายเงินให้ร้อยละ 30 ของค่าจ้าง แต่ถ้าถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะจ่ายให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน โดยต้องมารายงานตัวที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ทุกเดือน ทั้งนี้ ช่วง 3 ปีตั้งแต่ปี 2554 มีผู้ประกันตนซึ่งมีทั้งผู้ถูกเลิกจ้าง สมัครใจลาออก และสิ้นสุดสัญญาจ้างยื่นใช้สิทธิ์ 98,142 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 3,499 ล้านบาท ปี 2555 ผู้ประกันตนยื่นใช้สิทธิ์ 88,063 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 4,338 บาท ปี 2556 ผู้ยื่นใช้สิทธิ์ 95,090 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 4,301 ล้านบาท ส่วนในปี 2557 เดือนมกราคมมีผู้ยื่นใช้สิทธิ์ 91,317 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 338 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีผู้ยื่นใช้สิทธิ์ 88,364 คน จ่ายเงินกว่า 328 ล้านบาท
 
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า จากข้อมูลข้างต้นจำนวนผู้ยื่นใช้สิทธิ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเงินสมทบแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแรงงานเข้าออกและมารับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจำนวนน้อยมากแค่หลักสิบถ้าเทียบกับจำนวน 8-9 หมื่นรายในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สปส. ต้องการให้ผู้ประกันตนซึ่งว่างงานมีงานทำ ดังนั้น ระหว่างที่ผู้ประกันตนมารายงานตัวเพื่อรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ก็จะมีการฝึกอาชีพ เช่น ช่างฝีมือ การทำอาหารให้ด้วยโดยประสานให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มาช่วยฝึกอบรมเพื่อให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานมีทักษะอาชีพติดตัว
 
"เงินสิทธิประโยชน์กรณีวางงานนั้นเป็นเงินของลูกจ้างทุกคน ซึ่งแต่ละคนสามารถใช้สิทธิ์ได้ แต่ก็อยากให้ใช้สิทธิ์เวลาเดือดร้อนจริงๆ และการทำงานหาเงินด้วยตัวเองจะได้มากกว่าเงินกรณีว่างงาน หาก สปส.พบว่าผู้ประกันตนได้งานใหม่ทำแล้ว และมีรายได้แต่ยังมารับเงินกรณีว่างงาน ถ้าเจอจะเรียกเงินคืน หรือเมื่อมาเบิกสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีอื่นๆ สปส. จะหักเงินคืน เพราะเป็นการใช้สิทธิ์กรณีว่างงานโดยไม่ถูกต้อง รวมทั้งนายจ้างรายใหม่ที่รับผู้ประกันตนเข้าทำงานแล้ว ไม่ยอมแจ้ง ไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมก็จะมีโทษถูกดำเนินคดี แต่ปัจจุบัน สปส.ยังไม่ได้เอาผิดถึงขั้นดำเนินคดี จะแจ้งและตักเตือน เนื่องจากกรณีที่พบนั้นเกิดจากความไม่รู้ของนายจ้างมากกว่าจงใจ" น.พ.สุรเดช กล่าว
 
(บ้านเมือง, 27-5-2557)
 
เร่งสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานกลางในประเทศอาเซียน รับเออีซี
 
(26 พ.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโส และรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ในหัวข้อ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของกำลังแรงงาน เพื่อสถานประกอบการที่ก้าวหน้า มีความสมานฉันท์และความร่วมมือ ระหว่างวันที่ 20 - 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงเนปิดอว์ สหภาพเมียนมาร์ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดทำข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน (แอลเอ็มไอ) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในการเรียกดูข้อมูลด้านแรงงานของแต่ละประเทศว่ามีความขาดแคลนหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างอาเซียน และยังได้หารือกันในเรื่องการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานกลางของอาเซียน โดยเห็นว่าการจัดทำมาตรฐานกลางน่าจะเป็นประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งใน 8 สาขาอาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร นักบัญชี ช่างสำรวจ และการท่องเที่ยวและบริการ และอาชีพอื่นๆ ที่จะมีการเคลื่อนย้ายในอนาคต เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเทียบเคียงมาตรฐานฝีมือแรงงานแต่ละสาขาวิชาชีพระหว่างกันได้
        
“ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงการวางแผนการผลิตกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ความต้องการและร่วมกันจัดทำหลักสูตรในการผลิตกำลังคนแต่ละสาขาเพื่อแก้ปัญหาการตกงาน เพราะจบการศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานรวมทั้งความสามารถที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน” ม.ล.ปุณฑริก กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงร่างตราสารการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติว่าควรได้รับความคุ้มครองทางด้านใดบ้าง อาทิ ค่าจ้าง ความปลอดภัยในการทำงาน สุขภาพ เป็นต้น ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนประกอบด้วยผู้รับและผู้ส่งแรงงาน จึงต้องมีการหารือกันอีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและมาตรฐานในการดูแลแรงงาน โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่างตราสารดังกล่าวในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ 
        
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสามกับประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ทั้ง 3 ประเทศจะเข้ามาช่วยให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงาน โดยจีนจะเข้ามาช่วยแนะนำประเทศในเรื่องของระบบประกันสังคม เกาหลีจะเข้ามาช่วยให้ความรู้เรื่องการพัฒนาศักยภาพแรงงานและญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยแนะนำการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-5-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท