Skip to main content
sharethis

 

ในเวที เสวนา “ภาวะ ‘ขาลง’ ของหนังไทย” ที่จัดโดยหอภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม  3 คนทำหนัง ได้แก่ จิระ มะลิกุล ผู้กำกับภาพยนตร์มากฝีมือจาก 15 ค่ำ เดือน 11 และโปรดิวเซอร์จากบริษัทจีทีเอช  สมเกียรติ วิทุรานิช นักเขียนบทภาพยนตร์ และผู้กำกับภาพยนตร์คุณภาพ อย่าง รักนี้ที่รอคอย และ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยนอกกระแสที่สร้างกระแส อย่าง 36 และ Mary is Happy Mary is Happy  พูดถึงโครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ที่หอภาพยนตร์ได้จัดขึ้น

สมเกียรติ วิทุรานิช กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาของคนรุ่นหลัง

“ไม่อยากให้หนังไทยมันสูญหาย ฉะนั้นการที่หนังได้การขึ้นทะเบียน เท่ากับว่าจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีการเก็บที่ดีไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งผมคิดว่า เราขาดการศึกษารากของเรา การขึ้นทะเบียนทำให้รู้ว่ารากของเราเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่จำเป็น”

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ได้เสริมต่อว่า รู้สึกดี เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่เก็บ archive น้อยมาก อย่างสมัยเมื่อก่อนที่ทำหนังสือ เวลาต้องไปหาข้อมูล แท็กซี่คันแรกของประเทศไทย ก็ต้องไปหาที่กรมขนส่ง ไล่หาข้อมูลก็ไม่เจอ สุดท้ายต้องไปหาหนังสือทีละเล่มที่หอสมุดแห่งชาติ ผมสงสัยว่าทำไมที่นี่ถึงไม่มี สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกดี คือ อย่างน้อย ผมไปค้นก็เจอ

โดยนวพลได้ยกกรณีตัวอย่างการเก็บรักษาบูรณะภาพยนตร์เก่าๆ ของต่างประเทศให้เห็นภาพว่า “ผมเห็น Martin Scorsese ทำ restoration (บูรณะภาพยนตร์) หนังคลาสสิกมันทำให้หนังเก่าๆ มันกลับมาในความสนใจ แล้วจัดให้คนมาพูดเกี่ยวกับว่าหนังเรื่องนี้มันมีทำมาที่ไปอย่างไร ผมเห็นคล้องกับโครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ก็จัดมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ก็ควรทำต่อไปเรื่อยๆ”

ส่วน จิระ มะลิกุล ในฐานะผู้กำกับชื่อดัง และภาพยนตร์เรื่อง มหา’ลัยเหมืองแร่ ในฝีมือการกำกับของเขาก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติปีที่ 3 นั้น ได้กล่าวขอบคุณหอภาพยนตร์ว่า “คนทำหนังถือเป็นหนี้บุญคุณหอภาพยนตร์ เพราะหนึ่งในชีวิตการทำหนัง ช่วงนึงที่เราได้ทุ่มเทบันทึกความคิดกับสิ่งเหล่านี้ แค่หอภาพยนตร์เอาฟิล์มของเรามาเก็บไว้ โอ้โห เป็นบุญคุณท่วมกระบาลแล้ว มันยังมีชีวิตอยู่”

จิระ มะลิกุล ยังกล่าวถึงเรื่องเศร้าที่ฟิล์มภาพยนตร์ไทยจำนวนมากได้ถูกทำลายไป

“มีครั้งหนี่งเคยได้ยินว่า ที่ล้างฟิล์มแห่งหนึ่งในต่างประเทศ เมื่อก่อนเรายังล้างฟิล์มเองไม่ได้ เราเอาฟิล์มไปล้างกับเขา แล้วปรากฏว่า เราก็ไม่จ่ายเงินเขา เขาก็ยึดฟิล์ม Negative ไว้เต็มเลย จนวันหนึ่งเค้าก็แจ้งว่าจะทำลายฟิล์มเหล่านั้น ซึ่งมีเป็นร้อย โดยเราทำอะไรไม่ได้เลย เราก็ต้องปล่อยไป น่าเสียดายมาก”

“ผมเคยไปงานเทศกาลหนังที่ฟูกูโอกะ หนังไทยจะเข้าไปฉายที่นั่นปีละประมาณ 2 เรื่อง เขาก็จะขอก๊อปปี้ไว้ 1 เรื่อง ซึ่งเป็นแบบฟิล์มที่มีsubtitle (บรรยาย) ภาษาญี่ปุ่น แล้วก็จะเก็บรักษาไว้ที่เขาให้คนญี่ปุ่นได้ดู เราก็รู้สึกว่า เอออุ่นใจ เรายังมีหนังของเราอยู่ที่ฟูกูโอกะ” จิระ มะลิกุล ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ภาพยนตร์ของเขาจะไม่สูญหายไป

สำหรับโครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ เป็นโครงการที่หอภาพยนตร์หนึ่งในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์จัดขึ้น เพื่อจะเป็นหลักประกันว่าภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนี้จะถูกเก็บรักษาไว้ เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ และเผยแพร่ของความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์

ทั้งนี้ หอภาพยนตร์ ได้เปิดให้ทุกท่านได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว โดยสามารถเสนอชื่อภาพยนตร์ไทยในดวงใจของท่านเพียง 1 เรื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติปีที่ 4 ร่วมเสนอชื่อและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.fapot.org หรือโทร 02-482-2013-14 ต่อ 111 หมดเขตเสนอรายชื่อในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 และจะประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกคัดเลือก ในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย 4 ตุลาคม 2557
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net