Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่เอกสารแจ้งว่า กรณีประธานศาลฎีกามีคำสั่งศาลฎีกาที่ 40/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในระหว่างการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในระหว่างที่มีการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

คณะกรรมการฯ ได้ประชุมหารือและได้ข้อสรุปถึงผลของการประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องการพิจารณาพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังนี้

1.การส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของกฎหมายหรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2

ดังนั้น เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่อาจขอให้วินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป หากมีการยื่นคำร้องขอเช่นว่านั้น ศาลควรยกคำร้อง

2.คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ที่ประชุมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ดังนี้

2.1 เป็นการกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่พลเรือนกระทำความผิดด้วย

2.2 ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารตามประกาศ ได้แก่

1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 – 112

2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 – 118 ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังคงให้ขึ้นศาลพลเรือน

3) ความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. เช่น ประกาศฯ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง และฉบับที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง เป็นต้น

2.3 ต้องเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป

2.4 กรณีที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำความผิดยังอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 43/2557

3.คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ประกาศฯ ฉบับที่ 38/2557 ขยายอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ออกไป ให้รวมถึงการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวโยงกับการกระทำความผิดที่ระบุไว้ในประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557

ดังนั้น การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 หรือการกระทำความผิดข้อหาอื่นที่ไม่ใช่ความผิดตามที่ประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ก็อาจอยู่ในอำนาจของศาลทหารได้ถ้ามีความเกี่ยวโยงกัน เช่น จำเลยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นความผิดตามประกาศฯ ฉบับที่ 7/2557 (อยู่ในอำนาจของศาลทหาร) และได้ร่วมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 (โดยปกติอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม) ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แม้จะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตามประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ก็ตาม แต่เมื่อมีความเกี่ยวโยงกับความผิดฐานเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ศาลทหารจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นได้ด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net