Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เฝ้ามองเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่มักหลีกเลี่ยงการจบลงด้วยการใช้กำลังและความรุนแรงไปไม่พ้น ก็ให้หวนนึกถึงข้อความสั้น ๆ กระชับ แต่กินความหมายกว้างและลึกซึ้งที่ อี. เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ (E. M.  Forster) นักประพันธ์เลื่องชื่อชาวอังกฤษ เคยเขียนสดุดีระบอบประชาธิปไตย ไว้ในหนังสือชื่อ Two Cheers for Democracy ซึ่งเขาเขียนไว้ว่า

"จึงขอสดุดีแด่ระบอบประชาธิปไตย 2 ครั้ง ครั้งแรกเพราะประชาธิปไตยยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และครั้งที่สองเพราะประชาธิปไตยยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้"*

(So two cheers for democracy: one because it admits variety and two because it permits criticism.)*

ในบทเดียวกันฟอร์สเตอร์ยังกล่าวด้วยว่า "รัฐสภาจะเป็นตัวแทนของประชาชนหรือทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม แต่ผมให้คุณค่าแก่รัฐสภา เพราะเป็นที่ ๆ มีการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกัน และเพราะว่าสิ่งที่พูดคุยกันในรัฐสภานั้นได้รับการถ่ายทอดออกสู่สาธารณชน"

ผู้ที่เคยเห็นสส.ของอังกฤษอภิปรายในรัฐสภา คงชินกับภาพที่ฝ่ายรัฐบาลนั่งประจันหน้ากับฝ่ายค้านในห้องที่น่าจะเล็กกว่ารัฐสภาไทยสัก 10 เท่า ระหว่างที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันลุกขึ้นอภิปรายนั้น ลูกพรรคของแต่ละข้างก็จะคอยส่งเสียงดังสนับสนุน (หรือโห่) ผู้อภิปรายอยู่เป็นระยะ ตอนเห็นครั้งแรกก็รู้สึกว่า เออ...มันดูดิบเถื่อนผิดภาพลักษณ์สุภาพบุรุษอังกฤษตามที่เคยได้ยินได้ฟังมา แต่ดูกี่ที ๆ ก็ไม่เคยเห็นว่ามีสส.คนไหนลุกขึ้นมาแย่งเก้าอี้ประธานฯหรือปาแฟ้มใส่ใครสักที

เลยกลายเป็นว่าท่ามกลางบรรยากาศของการอภิปรายถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน สลับกับเสียงโห่เป็นระยะ ๆ ในรัฐสภาอังกฤษนั้น กลับได้ผลลัพธ์คือกระบวนการเจรจาตกลงกันตามวิถีประชาธิปไตยที่ดำเนินไปอย่างสันติอหิงสา

ในทางกลับกัน ดิฉันอยากตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยซึ่งมีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน กลับมีทัศนะคติที่ค่อนข้างสุดโต่งต่อวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ นั่นคือมองว่าเป็นเรื่องของการโจมตี การกลั่นแกล้ง หรือการดูหมิ่นศักดิ์ศรีกันเท่านั้น ดังนั้น คำวิพากษ์วิจารณ์จึงมักถูกปิดกั้นหรือได้รับการตอบรับด้วยท่าทีอันไม่เป็นมิตร แทนที่จะถูกใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาต่อยอดทางความคิดหรือแก้ไขจุดบกพร่องต่าง ๆ

สำนวนไทย "ติเพื่อก่อ" จึงไม่ป๊อบปูล่าในสังคมนี้มากเท่ากับ "อาบน้ำร้อนมาก่อน" "เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด" หรือ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"

เมื่อไม่ชอบและไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่ตามมาก็คือการขาดทักษะในการวิพากษ์วิจารณ์ คือไม่สามารถเปิดใจกว้างเพื่อยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมถึงไม่สามารถคิดวิเคราะห์และใช้เหตุผลเพื่ออภิปรายถกเถียงกันได้ พูดง่าย ๆ คือขาดทั้ง EQ และ critical thinking เนื่องจากไม่มีภูมิต้านทานต่อการวิพากษ์วิจารณ์ เลยใช้อารมณ์ตอบโต้แทนที่จะพูดคุยกันดี ๆ ด้วยเหตุผล

เหตุใดการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันได้โดยเสรี จึงเป็นค่านิยมอันพึงปรารถนาของสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาไปเต็มขั้นแล้ว ดังเช่นประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ

เหตุผลแรกคือมันส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อกระบวนการสั่งสมความรู้ของสังคมมนุษย์  Matt Ridley นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าของอังกฤษ เสนอความคิดไว้ในหนังสือ The Rational Optimist** ว่ามนุษย์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและวัฒนธรรมเหนือสัตว์อื่นได้ มิใช่เพราะมนุษย์มีสมองขนาดใหญ่ แต่เป็นเพราะปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การสังวาสทางสติปัญญา" หรือ mating minds ซึ่งริดลี่อธิบายว่ามันคือการปะทะสังสรรค์และการแลกเปลี่ยนกันทางความคิดและไอเดีย จนเกิดเป็นวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม อันมีกระบวนการไม่ต่างไปจากการคัดเลือกยีนตามหลักทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต นั่นคือการคัดลอก (replicate) กลายพันธุ์ (mutate) แข่งขัน (compete) คัดเลือก (select) และสั่งสม (accumulate) ทางความคิดและไอเดียอย่างไม่รู้จบ ดังนั้น อารยธรรมของมนุษย์จึงเป็นผลมาจาก collective brain ของคนหมู่มาก หาใช่อัจฉริยภาพของจีเนียสเพียงไม่กี่คนไม่

ในสังคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด กระบวนการการปะทะสังสรรค์หรือการ "ผสมพันธุ์" ทางความคิดก็จะไม่เกิด แต่จะเกิดเป็นกระบวนการการเรียนรู้และการลอกเลียนแบบกันอย่างทื่อๆ ไร้จินตนาการขึ้นมาแทน ซึ่งในไม่ช้าก็จะกลายเป็นสังคมซึ่งหยุดนิ่งอยู่กับที่

เหตุผลต่อมาคือ การปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์นั้นส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความเงียบและการยอมจำนน ซึ่งคนในสังคมนั้นอาจอธิบายพฤติกรรมแห่งความเงียบและการยอมจำนนในรูปลักษณะอันบิดเบี้ยว เพื่อขจัดความรู้สึกอิหลักอิเหลื่ออันเกิดจากการถูกกดทับ ชุดคำอธิบายอย่างเช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การรักษาหน้าคนอื่น ความประนีประนอม การเคารพผู้ใหญ่ ความรักสงบ การให้อภัย การปล่อยวาง ฯลฯ ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องจนชินชา โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือหนทางสู่สภาวะการไร้ซึ่งอำนาจในการตรวจสอบ ต่อรอง และถ่วงดุลอำนาจ อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย

ดิฉันยังจำได้ถึงบรรยากาศในห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ แม้จะไม่อยู่ในเมืองหลวง ห้องสมุดก็เปิดถึง 4 ทุ่มทุกวัน อีกทั้งยังไม่กีดกันหวงห้ามให้เป็นพื้นที่เฉพาะของนักศึกษา ใครจะเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ก็ได้ทั้งสิ้น ไม่มีการเก็บค่าผ่านประตูเหมือนมหาวิทยาลัยบางแห่งในบางประเทศ

ท่ามกลางบรรยากาศอันสงบเงียบ มีเพียงเสียงพลิกหน้ากระดาษและเสียงขาเก้าอี้ครูดเบา ๆ บนพื้นพรมเป็นครั้งคราว ดิฉันกลับรู้สึกได้ถึงเสียงเงียบอันอื้ออึงอลหม่านของความคิด ที่พลุ่งพล่านและเคลื่อนไหวอย่างอิสรเสรีไม่มีวันจบสิ้น อยู่ ณ ห้องสมุด และในสังคมแห่งนั้น
 

.............................................................

* Forster, E. M., "What I Believe", Two Cheers for Democracy, (Edward Arnold & Co., London, 1951), 79.
** Ridley, Matt, The Rational Optimist: How Prosperity Evolves, (Fourth Estate, London, 2011).

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net