Skip to main content
sharethis

3 มิ.ย. 2557 ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ถึงกรณีได้รับผลกระทบจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับการระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขในระยะสั้น และระยะยาว

โดยระยะสั้น เสนอให้คัดกรองสถานีที่มีการขออนุญาตถูกต้อง และไม่ถูกต้องก่อน แยกแยะสถานีที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งทหารคงจะมีข้อมูลอยู่แล้ว ปิดสถานีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถานีที่ไม่ขออนุญาตจากทาง กสทช. โดยกำกับดูแลอย่างเป็นธรรม ไม่เหมารวมเข่ง และให้สถานีที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เปิดดำเนินการได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยอาจพิจารณาการออกอากาศในแต่ละวันตามห้วงเวลาที่กำหนด เช่น เปิดเวลา 06.00 -18.00 น หรือตามที่ คสช. เห็นสมควร เพื่อให้มีการตรวจสอบ ดูแล และควบคุมได้ รวมทั้งสถานีที่ได้รับการพิจารณาให้ออกอากาศ ต้องให้ความร่วมมือกับทาง คสช. โดยทำข้อตกลงเดียวกันในแต่ละพื้นที่ และให้ถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากสถานีใดฝ่าฝืน ต้องถูกระงับการออกอากาศขั้นเด็ดขาด

ในระยะยาว กสทช.ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ปฎิบัติถูกต้องและพวกแอบแฝง พร้อมเร่งดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ ให้แก่ผู้ประกอบการ และบุคลากรในด้านต่างๆ เช่น ด้านหลักวิชาชีพ  ด้านกฎหมาย ด้านจริยธรรม ด้านจรรยาบรรณ ด้านเทคนิค เป็นต้น รวมทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงให้แล้วเสร็จโดยเร็วและเป็นธรรม ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จนนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม และประเทศชาติ

เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว  นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้เริ่มก่อตั้งจากการเป็นเครือข่ายวิทยุท้องถิ่นไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ในฐานะผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทางธุรกิจระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อย่อว่า “วทท.” มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 315 สถานี ซึ่งเป็นสถานีที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการทางธุรกิจจาก กสทช. เป็นกลุ่มกิจการสื่อสารวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก เน้นประชาสัมพันธ์ธุรกิจในท้องถิ่น บริการประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในท้องถิ่นให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในบทบาทหน้าที่ของสื่อสารมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงอย่างถูกต้อง โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเป็นการส่งเสริมวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงในท้องถิ่นให้มีงานทำ

เจริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาคมฯได้มีบทบาทและสนับสนุนในการขับเคลื่อนการออกพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วิทยุชุมชน สาธารณะ และธุรกิจ  พร้อมทั้งมีการกำกับดูแลสมาชิกในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรสื่อ มาโดยตลอดเช่นกัน จากคำสั่ง คสช.ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบซึ่งอาจต้องเลิกจ้างพนักงาน จนเกิดปัญหาสังคม และครอบครัวต่อไป ท่ามกลางความไม่มั่นใจ และมั่นคงในการประกอบกิจการ เพราะไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนตามประกาศ คสช. และเพื่อเป็นการผ่อนคลายตามคำสั่งดังกล่าว ทางสมาคมฯ พร้อมและยินดีที่จะกำกับดูแลกันเอง ให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจที่อยู่ในท้องถิ่น และในวันพรุ่งนี้ ตนเองและสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นหนังสือเนื้อหาฉบับเดียวกันต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า จะนำข้อเสนอจากสมาคมฯ เข้าบอร์ดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เพื่อให้พิจารณา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่ากลุ่มวิทยุจะได้กลับมาออกอากาศเมื่อใด ขณะที่ทางกลุ่มทีวีดาวเทียมเริ่มเห็นแนวทางที่ชัดเจนแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net