ซ้ายกากๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ไม่ได้จะโหนสุชาติ สวัสดิ์ศรี แต่ในเวลานี้ เราต้องการ "สติและน้ำใจ" (คำของอาจารย์หนุ่มที่รักและนับถือของผมคนหนึ่ง) เมื่อได้อ่านข้อเขียนของสุชาติเกี่ยวกับท่าทีต่อการรัฐประหารครั้งนี้ (ขอบคุณอาจารย์ที่เคารพรักท่านหนึ่งที่ส่งมาให้) ทำให้ผมอยากเขียนถึงบางส่วนของประสบการณ์ที่สุชาติเล่าในการเสวนาเรื่อง สัจนิยมมหัศจรรย์ตั้งแต่คืนวันก่อนรัฐประหาร

สุชาติเล่าว่า เขาทำงานหนังสือร่วมกับ "พวกซ้าย" ตั้งแต่ปี 2515 แต่พวกซ้ายอ่านงานเขียนของเขาไม่รู้เรื่อง เพราะมองไม่เห็นชัยชนะของประชาชนในนั้น สุชาติเล่าว่าเขาถูกพวกซ้ายต่อว่าว่าเขาเป็น malady of the century "โรคประจำศตวรรษ" เขากล่าวในคำของเขาเองว่า "พวกซ้ายไม่รู่จะทำอย่างไรกับงานประเภทที่ตื่นเช้าแล้วเจอศพในตู้เสื้อผ้า ขึ้นลิฟต์ไปชั้น 7 แล้วไม่เจอชั้น 7"

สุชาติเล่าต่อว่า ช่วงนั้นเต็มไปด้วยงาน "เพื่อชีวิต" ไม่มีงานแปลดอสโตเยฟสกี มีแต่งานกอร์กี เพื่อนฝรั่งสมัยนั้นบอกว่า งานพวก socialist realism น่าเบื่อที่สุด ถ้าทำไม่ดีจะกลายเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อ ตอนทำ "ช่อการะเกด" หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สุชาติเล่าต่อว่า เขาพยายามหาอะไรใหม่ๆ แต่อิทธิพลเก่าของพวกซ้ายมีมาก งานเขียนยุคนั้นจึงกลายเป็น cliché ของฝ่ายซ้าย (ที่ผมอยากเรียกว่า "ซ้ายกากๆ")

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หนังสือที่สุชาติหยิบติดมือไปอ่านระหว่างหลบภัยแผนปฏิรูปประเทศ 12 ปีของธานินทร์ กรัยวิเชียร (รัฐบาลหอย) ในป่าคอนกรีตคือ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เขาอ่านค้างไว้อย่างตื่นเต้น แน่นอนว่าขณะนั้นยังไม่มีฉบับแปลภาษาไทยของหนังสือเล่มนี้ สุชาติซื้อ 100 ปีฯ ฉบับแปลภาษาอังกฤษมาจากร้านดวงกมล

สุชาติเล่าว่า หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงให้แนวทางที่หลุดไปจากอิทธิพลของพวกซ้าย แต่ยังเข้ากับความรู้สึกของเขาตอนนั้น คือความรู้สึก solitude (โดดเดี่ยวระคนหดหู่) ในคำของเขาเองคือ "คิดถึงเพื่อนในป่าว่า คงอีกหนึ่งร้อยปีจึงจะกลับมาดื่มเบียร์ที่สนามหลวงได้อีก มันหดหู่"

สุชาติ เล่าต่อว่า "66/23 (นโยบายสมัยเปรม ติณสูลานนท์ ที่ให้นักศึกษา นักกิจกรรมที่เข้าป่าหรือหลบซ่อนอยู่ กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย) ทำให้ 'เพื่อชีวิต' หากินได้" มีผับเพื่อชีวิต มีเพลงเพื่อชีวิต เข้าสู่ตลาด สุชาติกล่าวต่อว่า ฝ่ายซ้ายเอาคำว่า "น้ำนิ่ง" ของเจือ สตะเวทินในปี 2514 ไปเปลี่ยนเป็นคำว่าน้ำเน่า แล้ววิจารณ์งานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าน้ำเน่า แต่ที่จริง "ถ้าเป็นเพื่อชีวิตแบบกลไก คุณก็จะเป็นน้ำเน่าได้เหมือนกัน"

เมื่อ กลับมาทำ "ช่อการะเกด" สุชาติสะท้อนว่า แม้จะยังมีอะไรซ้ายๆ ตกค้างอยู่ แต่ก็ยัง "มีบางสิ่งบางอย่างที่หลุดจากหล่ม" กลายเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่ตั้งคำถามปลายเปิดมากขึ้น และงานแบบการ์เซีย มาร์เกซก็มีส่วนสร้างแนวทางสร้างสรรค์นั้น

ถึงวันนี้ ผมเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมซ้ายเพื่อชีวิตจึงน้ำเน่าแน่นิ่ง ทำไมผมจึงไม่นิยมงานวรรณกรรมพวกซ้ายกากๆ และทำไมบางซ้ายกลไกจึงหันหลังให้ประชาชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท