ผู้คนนับแสนชุมนุมรำลึก 25 ปีเหตุสังหารหมู่ประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ทางการจีนสั่งห้ามการรำลึกและแม้แต่การเอ่ยถึงเหตุการณ์ปราบประชาชนผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2532 แต่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงมีผู้คนจำนวนมากชุมนุมรำลึกถึงเหตุการณ์ บางส่วนใช้เทปกาวปิดปากประท้วงการสั่งห้ามแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้

5 มิ.ย. 2557 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 มิ.ย.) ประชาชนจำนวนมากได้รวมตัวกันในฮ่องกงเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

ผู้จัดงานเปิดเผยว่ามีผู้มาร่วมชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ราว 180,000 คน แต่ทางตำรวจประเมินว่ามีผู้ชุมนุมราว 100,000 คน แม้ว่าทางการจีนจะสั่งห้ามการชุมนุมและมีการวางกำลังรักษาความสงบไปทั่วกรุงปักกิ่งโดยเฉพาะที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อไม่ให้มีการรำลึกถึงเหตุการณ์ แต่ก็มีผู้คนชุมนุมที่ฮ่องกงเป็นจำนวนมากและมีการรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ทุกปี

จูเลียน่า หลิว นักข่าวบีบีซีในฮ่องกงรายงานว่า การที่ฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษซึ่งมีอำนาจในการปกครองตนเองสูง มีการให้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น ทำให้มีประชาชนจากหลากหลายส่วนของสังคมสามารถชุมนุมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ได้ โดยในงานรำลึกเป็นพิธีการจริงจัง มีการบรรเลงดนตรีและฉายวิดีโอสร้างอารมณ์ร่วมในช่วงเย็น พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลจีนขอโทษที่ปราบปรามประชาชน เปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย

องค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในแถลงการณ์ว่ามีผู้คนที่พยายามรำลึกถึงเหตุการณ์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ถูกจับกุม, ถูกไต่สวน หรือหายตัวไป ซึ่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ทางการจีนอธิบายเกี่ยวกับผู้ที่ถูกสังหาร, ถูกจับกุม หรือหายตัวไป ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่เทียนอันเหมิน

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเกิดขึ้นในปี 2532 เมื่อมีประชาชนมาชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลจีนในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง สร้างความเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพสื่อมากขึ้น หลังจากที่หูเย่ปัง ผู้เป็นนักปฏิรูปสายเสรีนิยมถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2529 และการเสียชีวิตของเขาในเดือน เม.ย. ปี 2532 ก็กลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงที่เทียนอันเหมิน ซึ่งในตอนนั้นเองพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็กำลังมีการแย่งชิงอำนาจกันภายใน

แต่การประท้วงยาวนานหลายเดือนก็จบลงด้วยการนองเลือดเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีนและเหล่าผู้นำพรรคระดับสูงตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก หลังจากนั้นจึงใช้กำลังทหาร 300,000 นาย เข้าปราบปรามประชาชนในกรุงปักกิ่งในช่วงวันที่ 3-4 มิ.ย. 2532 ทำให้ชาวจีนบางส่วนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "เหตุการณ์ 4 มิ.ย." ตัวเลขผู้เสียชีวิตถูกกล่าวอ้างแตกต่างกันระหว่างทางการจีนกับผู้สังเกตการณ์อื่นๆ อยู่ที่อย่างน้อย 241 คน จนถึงอย่างมากที่สุดราว 2,600 คน

หลังจากนั้นทางการจีนก็มีการกวาดจับผู้ประท้วงและนักกิจกรรม รวมถึงปลดหรือลดตำแหน่งนักการเมืองฝ่ายตนที่แสดงความเห็นใจผู้ชุมนุม อีกทั้งยังกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน 2532 เป็น "กลุ่มก่อจลาจลต่อต้านการปฏิวัติ" และหลังจากนั้นก็พยายามปกปิดไม่ให้มีการกล่าวถึง ถกเถียง หรือรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ รวมถึงมีการพยายามปิดกั้นการค้นหาทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเหตุการณ์

ทางกูเกิลก็เคยกล่าวในรายงานความโปร่งใสว่า พวกเขาสังเกตเห็นจำนวนการเข้าถึงบริการต่างๆ ของกูเกิลรวมถึงบริการค้นหาลดลงอย่างมากตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.

สำนักข่าวซิดนีย์มอร์นิ่งแฮร์รัลด์ระบุว่าทางการจีนได้เซนเซอร์คำและวลีต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ เช่น คำว่า "4 มิ.ย." ตัวเลข "64" หรือแม้กระทั่ง "65 ลบ 1" นักกิจกรรมพยายามใช้คำว่า "35 พ.ค." และย่อเป็น "535" แทนแต่ก็ยังถูกสั่งบล็อค ตัวแสดงอารมณ์อิโมติค่อนที่เกี่ยวกับการรำลึกเช่นอิโมติค่อนรูปเทียนก็ถูกสั่งห้าม

ในปีที่แล้ว (2556) ทางการจีนยังได้บล็อคคำว่า "เป็ดสีเหลือง" หลังจากมีนักกิจกรรมนำรูปเป็ดมาตัดต่อแทนรถถังในภาพถ่ายที่ขึ้นชื่อ "แทงค์แมน" ซึ่งเป็นภาพถ่ายชายนิรนามไปยืนขวางรถถังที่กำลังเคลื่อนพลไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมิน นอกจากนี้ยังมีรูปจากตัวต่อเลโก้ที่จำลองเหตุการณ์ "แทงค์แมน" ปรากฏบนเว็บเวยโป๋ (Weibo) ซึ่งเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กของจีนในช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะถูกทางการจีนสั่งแบน

ในการชุมนุมรำลึก 25 ปี เหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมีนักกิจกรรมบางส่วนใช้เทปกาวปิดปากเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าทางการจีนพยายามปิดกั้นการแสดงออกของผู้ประท้วง นอกจากนี้ยังมีภาพคนแสดงจำลองเหตุการณ์ยืนขวางรถถังของ "แทงค์แมน"

ไมเคิล ฟาเธอร์ส ผู้ที่เคยเป็นบรรณาธิการแผนกทวีปเอเชียของสำนักข่าวดิอินดิเพนเดนต์ในยุคนั้น ได้เล่าถึงสิ่งที่เขาประสบจากการปราบปรามผู้ชุมนุม เขาเล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งในเหตุการณ์ที่เขากองทัพจีนทุบตีทำร้าย เขาถูกเตะให้ลงไปนอนกับพื้น ถูกตะโกนใส่ ทหารเอาแว่นตาของเขาออกมาเหยียบจนพัง ซึ่งฟาเธอร์สบอกว่าคนเหล่านี้ทำตัว "โหดเหี้ยม บ้าคลั่งอย่างเป็นระบบ"

"มันเป็นบทเรียนของการใช้กำลังอย่างโหดร้าย" ฟาเธอร์สระบุในบทความ "ผมร้องไห้ให้กับประชาชนในกรุงปักกิ่ง ผมไม่สามารถมองเห็นพวกเขาเชื่อมั่นต่อผู้นำของพวกเขาได้อีกต่อไป"

 

เรียบเรียงจาก

Tiananmen anniversary marked at huge Hong Kong vigil, BBC, 04-06-2014
http://www.bbc.com/news/world-asia-china-27702206

Tiananmen Square massacre anniversary: China chokes Google, social chatter, Sydney Morning Herald, 04-06-2014
http://www.smh.com.au/digital-life/digital-life-news/tiananmen-square-massacre-anniversary-china-chokes-google-social-chatter-20140604-zrw19.html

Tiananmen Square 25th anniversary – the massacre as it happened: 'Rows of troops advanced slowly, shooting directly into the crowd', The Independent, 03-06-2014
http://www.independent.co.uk/news/world/the-tiananmen-square-massacre-as-it-happened-25-years-ago-9481466.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Tiananmen_Square_protests_of_1989

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท