ศธ.เผยแผนปฏิรูปศึกษาใหม่ฉบับ คสช. ปรับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์-ภาษาไทย-อังกฤษ

ศธ.เตรียมทำแผนปฏิรูปการศึกษาฉบับใหม่ พัฒนาคนอย่างยั่งยืน ยกระดับโรงเรียนให้มีมาตรฐานสากล เพิ่มสัดส่วนคนเรียนอาชีวะ ส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา ด้านเวทีสัมมนาที่ มธ. อธิการฯ มธบ. ชี้การศึกษาไทยป่วยเพราะถูกการเมืองแทรกแซง
 
5 มิ.ย. 2557 ไทยโพสต์ รายงานว่า นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำแผนงานและโครงการที่จะต้องเร่งดำเนินการปี 2557 ตามแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากการสร้างความปรองดองแล้วนั้น จะมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม การปรับการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาต่างประเทศให้สามารถสื่อสารได้
 
มีการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกระดับ/ประเภท และยกระดับโรงเรียนให้มีมาตรฐานสากล เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เร่งผลิตครูสาขาขาดแคลนและครูอาชีวศึกษา การส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ โครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งการเยียวยาและช่วยเหลือนักเรียน ครู ผู้บริหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศธ.จะจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การจัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเน้นในหลายเรื่อง อาทิ การปฏิรูปครูด้วยการผลิตและพัฒนา เปิดโอกาสให้คนเก่ง คนดีมาเป็นครู ตลอดจนการเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ส่วนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ทาง คสช.ได้ให้แต่ละกระทรวงไปติดตามว่ามีกฎหมายอะไรที่ค้างอยู่บ้าง และให้รวบรวมเสนอมาเพื่อนำมาพิจารณาว่าจะต้องทบทวนหรือผลักดันกันต่อไป
 
"เรื่องของการพิจารณาปรับโครงสร้างของ ศธ.ยังไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการในระยะนี้ แต่น่าจะไปดำเนินการในระยะที่สอง เพราะขณะนี้จะต้องเน้นในสิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับ" นางสุทธศรีกล่าว
 
วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการเสวนาวิชาการหัวข้อ "วิกฤติการศึกษาไทย...ปฏิรูปอย่างไรให้ตอบโจทย์" จัดเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. เป็นประธาน โดย รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) และอดีต รมว.ศธ. ร่วมเสวนา
 
รศ.วราภรณ์ กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์นั้น เราจะต้องมาดูว่าจะพัฒนาอย่างไรให้เงิน 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติให้ ศธ.เกิดประโยชน์มากที่สุดและถูกจุด แต่สิ่งที่อ่อนแอที่สุดของคนไทย นอกจากความรู้วิชาการนั้น คือการคิดเป็น ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาต่ำ ซึ่งสาเหตุเกิดจากคนในชาติขาดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และปล่อยให้การเมืองแทรกแซงอยู่ในระบบการศึกษา ทำให้ครูมีอิทธิพลต่อการเมือง กลายเป็นพรรคครูไทย จะเห็นได้จากการที่ครูหลายคนเป็นผู้บริหารใน ศธ. หรือการพยายามตั้งพรรคครูไทย และงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมด 75% เป็นเงินเดือนครู แม้แต่มีการเปลี่ยนเป้าหมายทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรี
 
"เหตุผลต่อมาคือ การบริหารจัดการไม่มีความรับผิดรับชอบ เช่น นักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่ดี ผลสัมฤทธิ์ตกต่ำ ไม่มีการพัฒนา แต่ครูกลับได้ยศ ได้ตำแหน่งมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ มีการขยายหรือเพิ่มจำนวนโรงเรียนอย่างไม่รู้จบ เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนต่างจังหวัดกับในเมือง ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ต้องโทษสังคมไทยที่มีความอ่อนแอ ไม่เรียกร้องที่ชัดเจน รวมถึงไม่มีการตรวจสอบรัฐบาลในการใช้งบประมาณไป มีประโยชน์มากเพียงใด"
 
รศ.วรากรณ์กล่าวต่อว่า การปฏิรูปการศึกษาเราต้องทำให้ถูกจุด โดยคนไทยต้องมีความมุ่งมั่น เปลี่ยนวิธีคิด ให้การเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่การถ่ายทอด นักเรียนต้องมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งเงินอุดหนุนต้องถึงตัวเด็กและโรงเรียน โดยลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก นอกจากนี้ ต้องหาคนดีมาเป็นครู เนื่องจากอีกประมาณ 10 ปีจะมีครูเกษียณจำนวนมาก ถือว่าโชคดีที่ขณะนี้สถาบันผลิตครูมียอดนักเรียนเรียนจำนวนมากและมีคะแนนที่สูงขึ้น และสุดท้าย การบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ต้องหาจัดระบบการศึกษาไทยใหม่ มีระบบรับผิดรับชอบ จัดสรรครูอย่างเหมาะสม จัดการส่งเสริมโรงเรียนนอกระบบ สิ่งจำเป็นคือความจริงใจ ถ้าคนของเราขาดคุณภาพ ปัญหาประเทศไทยจะหนักหน่วงมากกว่านี้
 
ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่มีการกระตุ้นหรือนวัตกรรม ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ขณะนี้โรงเรียนฝึกให้เด็กเป็นผู้ตาม ไม่เป็นผู้นำ ไม่มีการเตรียมให้เด็กไปใช้ชีวิตในอนาคต ฉะนั้นเราต้องมาดูว่าทำไมการศึกษาไทยถึงป่วยอย่างนี้ สิ่งที่เห็นชัดของการศึกษาไทยที่ต้องแก้ไขคือ มีการรับรู้ แต่ไม่เข้าใจ และไม่มีการผลักดัน ซึ่งต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เข้าใจ และเน้นอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เป็นคนดี เพราะอนาคตของชาติอยู่ที่เด็ก จะพัฒนาดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับว่าให้เด็กมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาในชนบท การวางแผนพัฒนาต้องแก้ไขให้คนสามารถทำมาหากินได้ในชนบท จำเป็นต้องปฏิวัติการศึกษาชนบท ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน
 
ขณะเดียวกัน นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้อำนวยการใหญ่ดรุณสิกขาลัย กล่าวว่า เมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้วจะเข้าไปเสนอต่อนายกรัฐตรีให้การพัฒนาคนเป็นวาระแห่งชาติ
 
ที่มา: ไทยโพสต์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท