รายงาน: เมื่อห้ามทุกอย่าง จึงหาหนังสือน่าอ่านใน ‘ฤดูมรสุม’

<--break- />การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย  วันรุ่งขึ้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน ประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารยังคงออกมาชุมนุมต่อต้าน หลายคนโดนทหารจับกุม  รูปแบบของการต่อต้านได้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีทั้งการชูป้ายที่มีข้อความแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการรัฐประหาร ลดระดับลงมาเป็นเพียงแค่การชูกระดาษเปล่า การแสดงออกทางสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว หรือกระทั่งการนัดหมายมายืนอ่านหนังสือในที่สาธารณะ เพื่อลดการเผชิญหน้ากับทหารและการถูกจับกุม  

เมื่อเราต่างตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารและกฏอัยการศึก  การแสดงออกทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นที่ต่างไม่สามารถทำได้ สภาวะที่น่าอึดอัดเช่นนี้ การอ่านหนังสือดูเหมือนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หล่อเลี้ยงวิญญาณเสรีได้ ประชาไทจึงรวบรวมหนังสือน่าอ่านโดยรวบรวมคำแนะนำจากนักวิชาการ นักเขียน นักแปล สถาปนิก มาไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ที่ยังไม่รู้ว่าตนจะทำเช่นไรใน “ฤดูมรสุม” ของประเทศไทยครั้งนี้
 

ทับทิม มวลเจริญ นักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์

 

“นิยายที่เป็นเล่มแรกของอุษาคเนย์คือ "อันล่วงละเมิดไม่ได้" (Noli metangera) ของโฮเซ ริซัล นักเขียนนายแพทย์และปัญญาชนฟิลิปปินส์ในยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของสเปนอยู่ เหตุผลที่เลือกเพราะเป็นนิยายที่เปิดเผยให้เห็นความขัดแย้งในสังคมสมัยนั้นที่ชนชั้นปกครองโดยเฉพาะบาทหลวงคาทอลิก อาศัยศาสนาเป็นเครื่องมือในการมอมเมาและกดขี่ชาวบ้าน สะท้อนโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ ทำให้ความยุติธรรมเกิดไม่ได้ ความเป็นคนก็ไม่ได้รับการยอมรับ 

"อีกเล่มคือ "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์" โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่าระบบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำไปสู่ระบบพ่อขุนอุมปถัมภ์ ที่รัฐบาลเปรียบเหมือนพ่อ ส่วนชาวบ้านเหมือนลูก เป็นต้นกำเนิดของระบบประชาธิปไตยแบบไทย และแบบครึ่งใบ ต่อมา”

ดวงฤทธิ์  บุนนาค  สถาปนิกและนักออกแบบ

“ The Odyssey ของ โฮเมอร์ ฉบับที่แปลโดย สุริยฉัตร ชัยมงคล ผมค้นพบว่าภาษาของคุณสุริยฉัตรนั้นมหัศจรรย์มาก เมื่อบวกเข้ากับรจนาของโฮเมอร์แล้ว ได้อรรถรสมาก รู้สึกว่าอ่านแล้วมีพลังและยิ่งใหญ่ ในสาระของ The Odyssey เอง ก็ทำให้เราได้ตระหนักถึงวิบากกรรมของชีวิตที่ต้องอดทนและฟันฝ่าอย่างมหาศาลเพื่อจะพบกับความสุข ในห้วงทะเลของความทุกข์ที่ดูเหมือนจะปราศจากก้นบึ้งนั้น ยังจะพามาซึ่งความสุขได้เสมอ หากเราอดทนและไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา แม้จะเป็นลิขิตจากเทพเจ้าก็ตาม”

นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย

“นิยายภาษาอังกฤษ เรื่อง “Haroun and the Sea of Stories ของ Salman Rushdie” เขียนตอนที่หนี fatwa ของโคไมนี่ครับ  อ่านสนุกมาก อ่านง่าย  โดยเนื้อเรื่องพ่อของตัวละครเอกที่เป็นเด็กผู้ชาย แกเป็นนักเล่าเรื่อง เล่าเก่งมาก วันหนึ่งแกเล่าไม่ออก พูดไม่ได้ ลูกชายเจอว่าเพราะมี (คล้ายๆ พ่อมด ผู้มีอำนาจ) ปิด "ทะเลแห่งเรื่องเล่า" ไว้ เลยออกเดินทาง ผจญภัยกับสารพัดสิ่งมีชีวิต (เป็น the Other ในแง่นี้ คือ คนอื่น ที่ประหลาดในสายตาคนปรกติ) เพื่อไปเปิดทะเลให้ไหลตามปรกติ .. ผมว่าเข้าได้กับบรรยากาศตอนนี้เลย”

ภัควดี วีระภาสพงษ์  นักแปล

“ขอเสนอหนังสือ "สามัญชนเปลี่ยนโลก" ค่ะ  เป็นหนังสือรวมบทความของดิฉัน จากบทความที่เคยเขียนลงในฟ้าเดียวกัน  ที่เสนอหนังสือเล่มนี้ เพราะบทความในหนังสือเกี่ยวข้องกับแนวความคิดในการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านของประชาชนในแนวระนาบ หรือที่ในไทยมักเรียกกันว่า "แกนนอน" ซึ่งแตกต่างจากการจัดตั้งมวลชนของไทยที่ผ่านมา ซึ่งมักผูกอยู่กับ "แกนนำ" และประชาชนเป็นแค่ผู้ตาม แนวคิดใน "สามัญชนเปลี่ยนโลก" ยุยงให้คนธรรมดาสามัญรวมตัวกันจัดตั้งตัวเองและปฏิบัติการทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง”

วิโรจน์ อาลี   รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

“หนังสือ “ราคาของความเหลื่อมล้ำ” หนังสือเล่มนี้พูดถึงปัญหาของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และการพัฒนาในโลกปัจจุบันว่ามีการสร้างนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคของคนหนึ่งเปอร์เซ็นต์เพื่อคนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หนังสือเล่มนี้จะเป็นบทวิพากษ์ตัวระบบทุนนิยมและการพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเราก็มีการพูดถึงประเด็นของความเหลื่อมล้ำซึ่งมันเชื่อมโยงกับนโยบายทางเศรษฐกิจน้อยมากและทุกคนทราบดีว่ามีปัญหาของความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้น เราจะใช้รูปแบบการพัฒนาแบบไหนนโยบายทางเศรษฐกิจควรจะพัฒนาอย่างไรและการเมืองจะตอบปัญหาของความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

ผมคิดว่าเรามองข้ามประเด็นตรงนี้ไปเยอะ เพราะฉะนั้นใครที่มีเวลาก็ควรจะอ่านและทำความเข้าใจ เพราะประเด็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่สุดแล้วเมื่อถูกแสดงออกมาในเชิงปัญหาทางการเมือง มันจะแสดงให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพทางการเมืองที่ไม่สามารถตอบสนองปัญหาของความเหลื่อมล้ำได้ อีกหนึ่งประเด็นคือวาทกรรมต่างๆ ที่ถูกปลุกขึ้นมักจะปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าประชานิยม ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมหรือวิพากษ์ว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นสามานย์แต่ถึงที่สุดแล้ว  วาทกรรมเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้นำมาสู่การแก้ปัญหาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้งด้วยส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องนี้”

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน

“หนังสือ "คำพิพากษา" โดย ชาติ กอบจิตติ เหตุผลคือเนื้อหาน่าจะช่วยให้หลายคนได้ครุ่นคิดพิจารณาถึงความหมายของคำว่า ความดี ความชั่ว และความยุติธรรม ในสถานการณ์ที่คนไทยจำนวนมากกำลังพิพากษาคนอื่นด้วยมาตรวัดความดี-ความเลวส่วนบุคคล โดยไม่ใส่ใจกับวิธีการและบริบทแวดล้อมใดๆ ค่ะ”

ต๊อด-อารักษ์ อ่อนวิลัย หรือ เสลดทอย (Sahred Toy) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบ

“ไม่รู้เกี่ยวกับการเมืองรึเปล่านะครับ แต่ไม่อยากให้เกี่ยว ตอนนี้กำลังอ่านเล่มนี้อยู่ครับ "ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นฉบับสร้างชาติ" ผมว่าประเทศนี้มีทั้งส่วนที่น่าเดินตามและไม่น่าเอาเยี่ยงอย่าง การอ่านหนังสือประวัติศาสตร์จากประเทศต่างๆ น่าจะช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่ากำลังเดินไปทางไหน ซ้ำรอยใครรึเปล่าครับ”


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท