Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. ว่าด้วยรัฐประหารในฐานะวิกฤตของชนชั้นนำ การรัฐประหารไม่ใช่ความพ่ายแพ้ “ถาวร” ของประชาชน แต่การรัฐประหารทุกครั้ง คือ ความพยายามรวบและกระชับอำนาจของชนชั้นนำท่ามกลาง “วิกฤตของความชอบธรรม” และรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นจากสภาวะวิกฤตของความชอบธรรมอย่างถึงที่สุดของชนชั้นนำที่ยึดครองอำนาจรัฐ โดยคู่ขัดแย้งไม่ได้จำกัดตัวอยู่ที่ชนชั้นนำเพียง 2 กลุ่ม 2 ขั้วเท่านั้น แต่มีประชาชนนับแสนนับล้านเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้วย นั่นหมายความว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตที่ลงลึกในทุกระดับของสังคมยิ่งกว่าวิกฤตครั้งใดๆที่ชนชั้นนำเผชิญอยู่

2. วงจรอุบาทว์ที่เวลาหดสั้นลงเรื่อยๆ นักรัฐศาสตร์เคยเสนอภาพการเมืองไทยโดยใช้โมเดล “วงจรอุบาทว์” มานานแล้ว โดยเสนอว่า พัฒนาการของการเมืองไทยมีลักษณะที่วนเป็นวงกลม คือ การเลือกตั้ง – รัฐบาลโกง – รัฐประหาร – การต่อต้านรัฐประหาร – การเลือกตั้ง -- ... ซึ่งเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่หากเราพิจารณาระยะห่างในแง่ของเวลานับจากการรัฐประหารปี 2534 จนถึงรัฐประหาร 2549 กับ ระยะห่างจากรัฐประหาร 2549 จนถึง 2557 แล้ว พบว่า จาก 2534 ถึง 2549 คือ 15 ปี ส่วน 2549 ถึง 2557 คือ 8 ปี นั่นหมายความว่า หากการทำรัฐประหารคือวิธีการแก้วิกฤตความชอบธรรมของชนชั้นนำ วิกฤตของชนชั้นนำที่เกิดขึ้นก็กำลังงวดและถี่เร่งเข้ามามากขึ้นทุก จาก 15 ปี เป็น 8 ปี นี่ยังไม่นับการสังหารหมู่ในปี 2553 อีก โอกาสของการมีชีวิตอยู่ของระบอบนี้ก็หดสั้นลงอย่างที่พวกเขาไม่เคยรู้ตัว

3. ว่าด้วยท่าทีต่อพรรคเพื่อไทยและทักษิณ การรัฐประหารรอบนี้ ประชาชนต้อง “ตาสว่าง” ยกกำลังสอง โดยเฉพาะตาสว่างจากการฝากความหวังที่ชนชั้นนำอย่างทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยว่าคนเหล่านี้จะเป็นแกนนำหรือหัวหอกในการต่อต้านเผด็จการจนถึงที่สุด หากจำได้ วันที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกฎอัยการศึก แกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทยต่างก็ขานรับกับการแทรกแซงทางการเมืองของประยุทธ์ทั้งสิ้น นี่ยังไม่นับการผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของเพื่อไทย จนทำให้ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยลุกฮือชุมนุมกว่า 6 เดือนจนนำมาสู่รัฐประหารได้ขนาดนี้

4. ว่าด้วยวิธีคิดของฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายทหารที่ยึดอำนาจชุดนี้เติบโตขึ้นจากการฟูมฟักของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น อาจกล่าวได้ว่า พวกเขาโตขึ้นมาด้วยวิธีคิดเรื่องความมั่นคงแบบสงครามเย็น ที่มุ่งเน้นการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มีการจัดตั้งแบบรวมศูนย์สั่งการจากบนลงล่างเป็นหลัก พวกเขาเชื่อว่า การจับกุมกวาดล้างขบวนการประชาธิปไตยสามารถทำได้ง่ายดายเพียงแค่เด็ดหัวแกนนำไม่กี่คน พวกเขาเชื่อว่าถ้าจัดการกับนักการเมืองและกลุ่มทุนได้ ขบวนการก็จะไม่มีท่อน้ำเลี้ยงอีกต่อไป พวกเขาเชื่อว่าถ้าไม่มีนักวิชาการ ปัญญาชน และนักกิจกรรมทางสังคม ประชาชนก็จะเคลื่อนไม่ได้ พวกเขาเชื่อว่า ถ้าจับคนทำสื่อของประชาชนและควบคุมสื่อได้ ประชาชนจะไม่มีช่องทางสื่อสารกันเอง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขาเชื่อ ซึ่งผิดยุคผิดสมัยอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน

5. ว่าด้วย “ขบวนการล้มเจ้า” ฝ่ายทหารเชื่ออย่างสนิทใจว่า “ขบวนการล้มเจ้ามีอยู่จริง และเชื่อมโยงกันแน่นหนาและเป็นระบบ” นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงนับตั้งแต่ฝ่ายทหารกุเรื่อง “ผังล้มเจ้า” ขึ้นมาในปี 2553 และเห็นได้ชัดที่สุดจากการพยายามสร้าง “ภาพใหญ่” โดยต่อจิ๊กซอว์จำนวนมากว่าใครเกี่ยวข้องกับใครในขบวนการฯ และจบลงด้วยการกวาดล้าง ยัดเยียดข้อหา และจับกุมประชาชนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพียงเพราะเชื่อว่า ขบวนการฯมีอยู่จริง ความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ “ขบวนการล้มเจ้าไม่เคยมีอยู่และไม่ได้มีอยู่จริง” ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน คือ ความขัดแย้งระหว่างการเอาประชาธิปไตยกับไม่เอาประชาธิปไตย ไม่ใช่ฝ่ายล้มเจ้าหรือเอาเจ้า ยิ่งฝ่ายทหารมโนมากเท่าไร และยิ่งทหารอ้างสถาบันฯเพื่อเล่นงานจับกุมฝ่ายประชาธิปไตยมากเท่าไร สถาบันจะยิ่งเป็นเป้าทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น การที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันมากขึ้นไม่ใช่ผลผลิตของขบวนการฯ แต่เป็นผลผลิตจากการอ้างสถาบันของฝ่ายไม่นิยมประชาธิปไตยเองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

6. ว่าด้วยแนวทางแบบ นปช. นับจากวันรัฐประหารเป็นต้นมา โมเดลของการต่อต้านรัฐประหารเปลี่ยนไปตลอดเวลา และนี่คือความสร้างสรรค์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ความจำนนของ นปช. “ก่อน” รัฐประหาร กอปรกับการที่แกนนำถูกจับ ส่งผลให้การเคลื่อนในรูปแบบขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ที่นำโดยแกนนำเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง นี่คือสิ่งที่ฝ่ายประชาชนต้องยอมรับว่า ภายใต้สภาพที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ในรูปของขบวนการขนาดใหญ่ที่ระดมมวลชนจากจังหวัดต่างๆ เข้ามา ยึดถนน จัดเวทีแบบยาวๆ ได้อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ บก.ลายจุดตระหนักดีว่า เราไม่อาจเอาชนะได้ในเวลานี้ สิ่งที่ทำได้คือ รักษาสปิริตของการต่อต้านไว้ เพื่อรอเวลา

7. การทดลองรูปแบบการเคลื่อนไหวใหม่ๆ  ในสถานการณ์ที่เราเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้และบรรยากาศความกลัวปกคลุม ไม่ได้แปลว่าเราต้องเฉยหรือกลัว การแสดงความเห็นวิพากษ์อำนาจ ถ้าทำในสภาวะที่มีเสรีภาพ 100% มันก็ไม่มีความหมาย ในสภาวะที่เพดานของเสรีภาพต่ำตมแบบนี้แหละที่สังคมเราต้องการการวิพากษ์ เลาะเล็ม ชอนไช บ่อนทำลายเพดานที่ปิดกั้นเราอยู่ เสรีภาพในการแสดงความเห็นในสภาวะไร้เสรีภาพแบบนี้จึงมีความหมายมาก เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการต่อต้านและวิพากษ์ตอนนี้ คือ 1) รักษาสปิริตของการต่อต้าน และ 2) บ่อนเซาะเพดานของความกลัว เพื่อให้คนกล้าออกมาแสดงพลังต่อต้านได้มากขึ้น ที่เรียกว่า “บ่อนเซาะ” เพดานของความกลัวก็เพราะ เราไม่มีกำลังจะทุบมันทิ้งได้ในครั้งเดียว อาจจะกินเวลานานกว่าที่ขบวนของประชาชนจะฟื้นตัว ฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้จึงน่าจะเป็นการร่วมกันผลัก กระแทกทีละนิดละหน่อย บางทีก็วิ่งชนมันแรงๆ ถ้ามีโอกาส เพื่อให้เพดานแห่งความกลัวนี้มันขยับขึ้นไป ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การที่ใครสักคน หรือกลุ่มคนใดที่ “กล้า” บ่อนเซาะ กระแทกเพดาน มันจะช่วยสร้างกำลังใจให้คนอื่นๆ กล้าทำเช่นนั้นด้วย ซึ่งการบ่อนเซาะทำลายก็ต้องอาศัยศิลปะของการต่อสู้ การออกแบบยุทธวิธีด้วย เพราะสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การต่อสู้ก็คือ เราต้องปลอดภัยไม่ถูกจับไปเสียก่อน นั่นคือ ทั้งสู้และทั้งรักษาชีวิตไปพร้อมกัน

8. ความคิดสร้างสรรค์สำคัญที่สุด สิ่งแรกที่ต้องตระหนัก คือ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน อันเนื่องมาจากฝ่ายทหารมีวิธีคิดชุดเดียว นั่นคือวิธีเด็ดหัวแกนนำซึ่งเป็นมรดกความคิดแบบเก่า ฝ่ายทหารพัฒนาปรับตัวเทคนิคของอำนาจ “หลัง” จากที่ฝ่ายประชาชนเปลี่ยนวิธีต่อต้าน พวกเขาคิด “ก่อน” เราไม่ได้ เพราะพวกเขาวิ่งไล่จับเราแบบแมววิ่งไล่จับหนู ยิ่งเราคิดสัญลักษณ์หรือเครื่องมือใหม่ๆได้มากเท่าไร ฝ่ายเผด็จการจะปวดหัวมากขึ้นเท่านั้น เพราะเขาต้องไล่ตามความเปลี่ยนแปลงจำนวนมากที่คนยุคไดโนเสาร์ไม่เคยเจอทุกวัน ยิ่งเราสามารถเปลี่ยนสัญญะต่างๆ ให้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านมากเท่าไร ฝ่ายทหารจะมีความสามารถในการติดตามจับกุมลดลงเท่านั้น การสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจึงสำคัญที่สุดในการใช้บ่อนเซาะอำนาจที่ตายตัวแข็งและโบราณ

9. การเคลื่อนไหวแบบเครือข่าย อันเนื่องมาจากในสถานการณ์ที่การมีศูนย์กลางหรือแกนนำมีแต่จะทำให้โดนจับและปราบ รูปแบบการต่อต้านแบบใหม่ๆ จึงต้องมีลักษณะที่ไม่มีศูนย์กลางที่ชี้นำ  หมดเวลาที่นักกิจกรรมจะจัดตั้งจากบนลงล่าง หมดเวลาที่ปัญญาชนจะลงไปสอนสั่งมวลชนที่พวกเขาเชื่อว่าโง่เขลา หมดเวลาที่ศิลปินจะอ้างว่าตัวเองพูดความจริงแทนคนอื่น ทุกคนคิดและทำเองได้ถ้าเราเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย การเคลื่อนแบบเครือข่าย คือ ทุกคนเป็น “จุด” หนึ่งที่สัมพันธ์กับจุดอื่น หน้าที่ของคนทำงานคือ สร้างเครื่องมือสื่อสาร ต่อท่อเชื่อมโยงจุดต่างๆอย่างอิสระ หลายทิศทาง และไม่สิ้นสุด ทุกๆจุดเชื่อมต่อได้ด้วยตนเองแบบไม่ตายตัว ส่วนเนื้อหาหรือสาร ให้ทุกๆจุดสร้างเอาเอง แล้วโยนเข้ามาในเครือข่าย ทุกๆจุดมีอำนาจเลือกรับปรับเปลี่ยนได้ตลอด เมื่อทุกคนเป็นจุดหนึ่งๆในเครือข่ายขนาดใหญ่ การขยับของจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดพลังและแรงบันดาลใจให้จุดอื่นๆขยับต่อด้วยรูปแบบของตนเอง และการต่อสู้จะขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด เดาทางไม่ได้ และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนี่คือสิ่งที่ฝ่ายทหารไม่รู้จัก เรียนรู้ไม่ได้ ปรับตัวไม่ทัน

10. เราทุกคนเป็นนิรนาม ท่ามกลางการจับจ้องที่แกนนำโดยฝ่ายทหาร ท่ามกลางการไร้แกนนำแบบรวมศูนย์ของ นปช. ท่ามกลางการที่ทุกคนเป็นจุดซึ่งขยับเองได้อย่างอิสระ นั่นหมายความว่า “เราทุกคนเป็นนิรนาม” เราไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตน เราเป็นแค่จุดเชื่อมของสรรพสิ่งที่วิ่งผ่านตัวเรา ไม่มีกิจกรรมใดที่มีแกนนำ ไม่มีใครอ้างว่ากิจกรรมไหนเป็นของตัวเอง ทุกคนเป็นเจ้าของกิจกรรมทุกอย่างตามที่ตนเองเข้าร่วมและพอใจ ทำทุกอย่างแบบรวดเร็ว รีบมารีบไป ไม่มีร่องรอย สิ่งสำคัญกว่านั้น การเป็นคนนิรนามจะลดการแบกรับความเสี่ยงให้แก่คนใดคนหนึ่ง เช่นที่ บก.ลายจุดถูกจับไป แต่การเป็นคนนิรนาม ตัวเราต้องเรียนรู้และแบกรับความเสี่ยงด้วยตนเอง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพิสูจน์ว่า ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจับใครไม่ได้ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่รู้จักประชาชน เพราะเราทุกคนเป็นนิรนาม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net