Skip to main content
sharethis
กกต.โว ทำหน้าที่ 6 เดือนสางคดีค้างเก่าแล้ว 57 จาก 74 สำนวน มีเรื่องยุบพรรคค้างอยู่อีก 3 เรื่อง ด้าน ‘ศุภชัย’ ชี้ 16 ปี กกต.พบปัญหา-อุปสรรคมาก ‘สมชัย’ ชี้ หลัง คสช.ยึดอำนาจ กกต.ต้องเดินหน้าทำงาน ทั้ง ร่วม ‘ปฏิรูปการเลือกตั้ง’
 
12 มิ.ย.2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงกล่าวถึงกรณีที่ คสช.จะคืนกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. รวม 6 ฉบับมาให้ กกต.ดำเนินการ ว่า กกต.ขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศคืนพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กกต.กลับมามีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง
 
หลังจากนี้ กกต.ก็จะดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่งของ คสช.ซึ่งแน่นอนจะไม่มีการจัดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน โดยระหว่างนี้ กกต.ได้มอบหมายให้ทางสำนักงาน กกต.ไปปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่ยังเป็นจุดด้อยในการทำงานเพื่อช่วยให้การเลือกตั้งเกิดความสำเร็จ
 
เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง กกต.และสำนักงานฯ มีข้อสังเกตว่ากฎหมายบางฉบับไม่น่าจะออกเป็นกฎหมาย จึงได้มอบหมายให้ทางเลขาธิการกกต.และคณะไปศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งศึกษาข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งว่าวิธีการใดที่จะทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จ ทำให้ได้คนดีที่ไม่ถูกครอบงำ และพรรคการเมืองที่ดีเข้าไปบริหารประเทศ
 
 
‘กกต.’ โว ทำหน้าที่ 6 เดือนสางคดีค้างเก่าแล้ว 57 จาก 74 สำนวน มีเรื่องยุบพรรคค้างอยู่อีก 3 เรื่อง
 
เดลินิวส์ รายงานว่า นายภุชงค์  กล่าวว่า ตั้งแต่กกต.ชุดนี้เข้ามากปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 16 ธ.ค. 56 ซึ่งจะครบ 6 เดือนในวันที่ 16 มิ.ย. นี้ กกต.ได้เร่งพิจารณาสำนวนคดี การเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งที่ค้างอยู่ และ เข้ามาเพิ่มเติมจำนวน 1,002 สำนวน โดยแล้วเสร็จไปทั้งหมด 393 สำนวน เหลือ 609 สำนวน ส่วนสำนวนคดีที่เกี่ยวกับคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งมีอยู่เดิมรวมทั้งสิ้น 74 สำนวน พิจารณาไปแล้วทั้งหมด 57 สำนวน
 
พร้อมกันนี้ยังมีสำนวนบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองอยู่ 3 เรื่อง ซึ่งเป็นกรณีคำร้องคัดค้านที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของหัวหน้าพรรค  กรรมการบริหารพรรค ประกอบสำนวนคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ สำนวนคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย และสำนวนคำร้องให้ยุบหลายพรรคการเมือง ได้แก่  เพื่อไทยชาติไทยพัฒนา พลังชน รวมใจไทย ภูมิใจไทย มาตุภูมิ รักประเทศไทย และ มหาชน  ซึ่งสำนวนทั้งหมดเป็นเรื่องก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57
 
นอกจากนี้ยังมีสำนวนที่เกี่ยวกับคดีอาญาซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองใน มาตรา  49 เกี่ยวกับการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินจำนวน 29 พรรค  รวมถึงเรื่องที่ขัดกับมาตรา 56 เกี่ยวกับเงินบริจาคเข้าพรรคจำนวน 1 พรรค และสำนวนค่าปรับทางปกครองตามความเห็นของนายทะเบียนพรรคจำนวน 44 เรื่อง รวมเป็นเงินกว่า 5.7 ล้านบาท
 
เมื่อถามว่า หากครบกำหนด วันที่ 29 มิ.ย. ที่ให้ขยายเวลาเลือกตั้งท้องถิ่นออกไป กกต. จะจัดการเลือกตั้งหลังจากนั้นเลยหรือไม่ นายภุชงค์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว กกต.อยู่ระหว่างการประสานงานกับ คสช. ว่า คสช.จะมีคำสั่งหรือแนวทางให้ กกต. ดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักกฎหมาย
 
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นครบวาระในช่วงนี้หรือลาออกว่า จะมีการเปิดรับสมัครเลยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กกต. มีมติว่า หากเป็นการครบวาระจะเลื่อนการดำเนินการรับสมัครออกไปภายใน 45 วัน  แต่ถ้าเป็นกรณีอื่น เช่น ลาออก หรือเสียชีวิต ให้เลื่อนการดำเนินการรับสมัคร ภายใน 60 วัน 
 
 
‘ศุภชัย’ ชี้ 16 ปี กกต.พบปัญหา-อุปสรรคมาก
 
เนชั่น รายงานวันเดียวกันว่า เมื่อเวลา 12.45 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ และนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการการมีส่วนร่วมและการออกเสียงประชามติ ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังจัดทำบุญโอกาสครบรอบ 16 ปี สถาปนา กกต. ภายใต้สโลแกน "เป็นกลาง มืออาชีพ ยึดประโยชน์ของชาติ"
 
นายศุภชัย กล่าวว่า 16 ปี กกต.ประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย เราบันทึกไว้พร้อมที่จะแก้ไข ขณะนี้เรามีเวลา 1 ปีที่จะแก้ไข โดยเฉพาะบุคคลากร สถานที่ เราคิดที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น จากประสบการณ์ 6 เดือน เราทราบข้อมูลต่างๆ ในส่วนที่ดีจะทำให้ดีขึ้น ส่วนไหนบกพร่องก็จะแก้ไข ถ้าจะปฏิรูปการเลือกตั้งเราก็มีข้อมูลพร้อม
 
ด้าน นายสมชัย กล่าวว่า กกต.เป็นกลไกหลักในการกลั่นกรองบุคคล สังคมอยากให้กลั่นกรองบุคคลเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ นิติบัญญัติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น นักการเมืองมีผลทำให้เกิดปัญหา กกต.คงต้องทบทวนว่ากระบวนการของเรามีจุดอ่อนข้อด้อยอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุง เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
 
 
‘สมชัย’ ชี้ หลัง คสช.ยึดอำนาจ กกต.ต้องเดินหน้าทำงาน ทั้ง ร่วม ‘ปฏิรูปการเลือกตั้ง’
 
เมื่อถามว่าหลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบ (คสช.) แล้ว ทำไม กกต.ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ขณะที่องค์กรอื่น เช่น ส.ว.ถูกยกเลิก นายสมชัยกล่าวว่า เรามีงานสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ๆ 2 เรื่องเป็นเรื่องกฎหมาย เช่น การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น การดำเนินคดีเลือกตั้ง ที่เป็นคดีอาญา การตัดสิทธิ การยุบพรรค ก็ยังมีอยู่ ดังนั้น กกต.ต้องเดินหน้าทำงานต่อไป สอดคล้องกับที่หัวหน้า คสช.ให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ต่อไปเต็มที่ และประเด็นสุดท้ายสังคมคาดหวัง ซึ่งกกต.ต้องมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการเลือกตั้ง โดยประธานมอบหมายให้ กกต.ทุกคนไปศึกษาการปฏิรูปตามที่หน้าที่เกี่ยวข้อง
 
นายสมชัย กล่าวต่อว่า การปฏิรูปในส่วนที่ตนเกี่ยวข้อง คือ 1.กลไกการได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. ส.ว.เพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถเข้ามาว่าจะมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร 2.การหาเสียง ทำอย่างไรให้ผู้สมัครมีค่าใช้จ่ายไม่มากเกินไปและไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ กกต.จะต้องพิจารณาเรื่องนโยบายของผู้หาเสียงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
 
และ 3.กลไกในการจัดการเลือกตั้งต่างๆ ตราบใดที่มีการใช้เงิน ใช้อำนาจ ซึ่งกกต.จะต้องพิจารณาไม่ให้มีการเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้วหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง อีกทั้งยังมีกลไกต่างๆ ที่จะต้องนำมาแก้ไขปรับปรุง เช่น ถิ่นพำนักอาศัย จะต้องร่วมหารือหลายฝ่าย ทั้งหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้มีการแจ้งถิ่นที่อยู่ปัจจุบันทางอินเตอร์เน็ตได้ด้วยตัวของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอง ส่วนการสืบสวนสอบสวนก็ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่างๆ
 
 
‘ธีรวัฒน์’ เผยโจทย์ ทำอย่างไรให้รากหญ้าตื่นตัวต่อการเลือกตั้งมากขึ้น
 
นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า การปฏิรูปในด้านที่ตนรับผิดชอบ โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้คนมาลงคะแนนเสียงให้มาก ถ้าประชาชนตื่นตัว ติดตามการเมือง จะทำให้ระบบการเมืองแบบซื้อเสียงจะหายไป เรากำลังศึกษาว่าทำอย่างไรประชากรจะได้รับการชดเชยเมื่อมาทำหน้าที่พลเมือง เช่น ชดเชยการมาใช้สิทธิอาจจะจ่ายเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ตัวอย่างที่ผ่านมามีการจัดรถไฟฟรี เมื่อคนมาใช้สิทธิจำนวนมากจะทำให้ซื้อเสียงยากขึ้น ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการมาศึกษาเรื่องนี้ ก็จะเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนที่มาทำหน้าที่พลเมือง จะทำให้รากหญ้าตื่นตัวการเลือกตั้งมากขึ้น
 
นายประวิช กล่าวว่า สำหรับด้านกิจการการมีส่วนร่วมและการออกเสียงประชามติ การปฏิรูปในส่วนนี้นั้น ตนได้กำหนดบุคลากรที่จะมารองรับการปฏิรูปไว้ 16 เรื่อง โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือต้องเดินไปข้างหน้า เพราะเราเชื่อว่ากฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net