เลียตูดดูดไข่เผด็จการ วงการการศึกษาไทยกับการปฏิสนธิของอำนาจ-ความรู้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทบทวนบทบาทนักการศึกษาไทย ถ้ามองการปฏิสนธิของอำนาจ-ความรู้กับเผด็จการ นับจากระบอบประชาธิปไตยแบบสุญญากาศ จนถึงการบริหารประเทศภายใต้คณะรัฐประหาร คสช.

 

โดยปกติการศึกษามวลชน มีจุดมุ่งหมายที่ควบคุมประชาชนให้คิดและมีวินัยอย่างที่รัฐต้องการมากกว่าที่จะมุ่งหาแสวงหาความรู้บริสุทธิ์อยู่แล้ว ความรู้และการควบคุมความรู้จึงเป็นอำนาจทางการเมืองอันทรงพลังเสมอมา หากรัฐรู้จักใช้กลไกอย่างนี้ได้มีประสิทธิภาพ เมื่อนับจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ในสยามเมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาได้เป็นกลไกในการหล่อหลอมความเป็นประชาชนที่จงรักภักดี และสร้างเจ้าหน้าที่ที่ทำงานรับใช้รัฐ ทั้งในนามรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐประชาธิปไตย จนกระทั่งปัจจุบันที่กลับมาสู่รัฐที่ถูกยกเว้นประชาธิปไตยเพื่อการปฏิรูปประเทศอะไรสักอย่าง การปรับตัวเปลี่ยนสีของวงการการศึกษาไทยก็ได้คล้องแขนเกี่ยวก้อยไปตามรัฏฐาธิปัตย์อันทรงอำนาจ ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและสถานการณ์ปัจจุบันโดยสังเขป

ประชาธิปไตยแบบสุญญากาศ

รัฐประหาร ปี 2500 โดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งสุดท้ายในทศวรรษ 2500  ที่คณะรัฐประหารยินยอมให้มีรัฐสภาและพรรคการเมืองดำรงอยู่ ก่อนที่ในปีถัดมาจะล้มระบอบประชาธิปไตย ยุติรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ยุบพรรคการเมือง การยึดอำนาจรัฐ สถาปนาระเบียบใหม่ สร้างกฎหมายธรรมนูญการปกครอง แทนที่รัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจบังคับบัญชาการอย่างล้นฟ้าและน่าหวาดหวั่นด้วยมาตรา 17 ผ่านการสั่งประหาร ในสภาพของรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้หลังจอมเผด็จการสิ้นลมหายใจไปในปี 2506  ถนอม กิตติขจร ที่สืบทอดอำนาจต่อมาก็ยังคงแช่แข็งประชาธิปไตยมาจนถึงปี 2512 ถึงจะยอมให้มีรัฐธรรมนูญ ยอมให้ตั้งพรรคการเมืองและเลือกตั้ง การรันระบบใหม่ด้วยการกดปุ่มหยุดพักประชาธิปไตยอย่างยาวนาน ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังจากปฏิวัติสยาม 2475 อันนับเป็นนวัตกรรมการเมืองการปกครองยุคสงครามเย็นโดยแท้

อาจกล่าวว่าภายใต้รัฐเผด็จการ แม้ว่าคนไทยจะถูกลดทอนความเป็นการเมืองลง จากพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเพียงประชาชนผู้ไร้สิทธิทางการเมืองและการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่า รัฐบาลเผด็จการได้ลงแซ่โบยตีควบทะยานการพัฒนาประเทศโดยความร่วมมือจากเทคโนแครตผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับเงินถุงสนับสนุนเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์จากสหรัฐอเมริกา วลี “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” จึงไม่ได้มาอย่างโชคช่วย หากย้อนกลับไปในทศวรรษ 2490 โครงการระดับเมกกะโปรเจกท์ อย่างเขื่อนเจ้าพระยา, โครงการสร้างทางหลวง และระบบสาธารณูปโภคก็เป็นโครงการที่รัฐบาลสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม วางไว้เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรมจึงทำให้เห็นได้ไม่ยากว่า รัฐบาลเผด็จการที่มีอำนาจเต็มนั้นมีประโยชน์และส่งผลให้ประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนักการเมืองที่ดีแต่ทะเลาะกันและสร้างความขัดแย้งในรัฐสภาไม่สามารถจะทำได้

รัฐตำรวจที่ร้ายกาจในนามตำรวจอัศวินที่หนุนหลังโดย เผ่า ศรียานนท์ในทศวรรษที่ผ่านมาก็ถูกลดทอนและถอดเขี้ยวเล็บลง ไม่เพียงเท่านั้นการเล่นการเมืองระหว่างประเทศทั้งกรณีสงครามเย็นด้วยการท่าทีต่อต้านคอมมิวนิสต์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการต่อสู้คดีเขาพระวิหาร การเพาะศัตรูร่วมกันขึ้นมาเกลียดชัง กลายเป็นเชื้อฟืนอย่างดีสำหรับการโหมไฟแห่งการสร้างความรู้สึกรักชาติขึ้นมาและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวจำแลงอันช่วยสนับสนุนการดำรงอยู่ของรัฐบาลอำนาจนิยม

นี่คือแบบฉบับเผด็จการทหารที่ซื้อใจคนและเป็นที่ไว้วางใจได้ของคนในสมัยนั้น ยกเว้นเสียแต่นักโทษการเมืองที่เป็นนักคิด นักเคลื่อนไหวที่ถูกจองจำ หรือกระทั่งนักโทษที่ถูกยิงเป้าจากอำนาจล้นฟ้า มาตรา 17  แห่งธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2502 โมเดลเช่นนี้อาจเป็นโมเดลในฝันของใครต่อใครที่หวังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงของประเทศไปในทางที่ดีกว่าและไม่คำนึงถึงวิธีการ จึงนิยมทางลัดที่เห็นว่าอำนาจที่เด็ดขาดเป็นทางเลือกแรกๆ ความพยายามดังกล่าวปรากฏในปลายทศวรรษ 2510 เมื่อรัฐบาลธนินทร์ กรัยวิเชียร ประกาศแช่แข็งประชาธิปไตยด้วยการวางแผนพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี ระยะเวลาดังกล่าว เป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับที่เผด็จการสฤษดิ์-ถนอมครองอำนาจมาแล้ว ซึ่งวางแผนแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ช่วงๆละ 4 ปี โดยการยุติเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างหนัก ความหวังที่จะครองอำนาจอย่างยาวนานเพื่อสร้างเสถียรภาพกลับจบลงด้วยการถูกรัฐประหารหลังจากปกครองได้เพียง 1 ปี

แนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากสภาพสังคมที่พวกเขาเข้าใจว่า ประเทศไทยเข้าสู่ตาจน และยากลำบากเกินจะใช้วิธีการแบบประชาธิปไตยและการให้สิทธิเสรีภาพเป็นทางเลือกของการแก้ไขปัญหา การรวบอำนาจไว้ที่ผู้มีคุณธรรมมากกว่า (และมีเชื่อว่าตนมีความสามารถ (ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริง) จะนำไปสู่การนับเริ่มต้นการพัฒนาประเทศใหม่อีกครั้ง การสัประยุทธ์ทางการเมืองโดยมีทหารอยู่เบื้องหลังมีอยู่ตลอดในนามของประชาธิปไตยครึ่งใบตลอดทศวรรษ 2520

รัฐประหารครั้งต่อมาคือ 2534 ที่มีข้ออ้างเรื่องการทุจริตขนานใหญ่ในนาม “บุฟเฟ่ต์คาร์บิเน็ต” ที่แรกเริ่มการปราบมารคอรัปชั่นได้ถูกอกถูกใจแก่แม่ยกชนชั้นกลางทั้งหลาย การดำรงอยู่ของอานันท์ ปันยารชุนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผู้มีภาพลักษณ์โดดเด่นเป็นอะไรที่ไว้วางใจได้ แม้จะไม่ได้มีที่มาอันชอบธรรมจากระบอบประชาธิปไตยเลย จนสุจินดา คราประยูรออกมาเสียมารยาทด้วยการเสียสัตย์เพื่อชาติ ชนชั้นกลางที่อกหักจึงออกมาต่อต้านและนำไปสู่การนองเลือดในเหตุการณ์ที่รู้จักกันดีในนาม พฤษภาทมิฬ 2535

ขณะที่รัฐประหาร 2549 แม้จะทำในนามปราบคอรัปชั่นด้วยแต่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็คือ เป็นรัฐบาลในช่วงที่มีมวลชนหนุนหลัง ซึ่งต่อมาได้สร้างแรงต้านและรวมกลุ่มของมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทย, พลังประชาชน และเพื่อไทยในเวลาต่อมา และกลายเป็นสงครามการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน จนทำให้รอบของการรัฐประหารที่เดิมยาวนานกว่านี้ หดสั้นลงมา การล้มลงของรัฏฐาธิปัตย์เก่าและสถาปนาอำนาจเถื่อนใหม่ในปี 2557 ก็ทำให้ผู้ต่อต้านรัฐบาล ยิ้มร่าแหกขาอวยพรให้กับกองทัพตามอุดมการณ์ของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศโดยอาศัยช่องโหว่ของกติกาการแสดงออกทางการเมืองอย่างเสรีเพื่อการลิดรอนอำนาจการแสดงออกทางการเมืองของผู้อื่นอย่างขื่นขม

ที่กล่าวมายืดยาวนี้ ก็เพื่อจะทำให้เห็นว่า ความต้องการปฏิรูปเป็นการพยายามรีเซ็ตประเทศใหม่ ด้วยความหวังว่าจะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีความสามารถ ไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งไม่สามารถทำได้ในสถานการณ์ประชาธิปไตยปกติ แต่ก็ยังเหนียมอายที่จะยอมรับว่าต้องการจะอยู่ในสังคมเผด็จการในระยะยาว พวกเขาจึงอาจต้องการช่วงสั้นของ “ประชาธิปไตยแบบสุญญากาศ” คือ รู้ว่ามีอยู่แต่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้งานในขณะที่สถานการณ์ไม่ปกติ โดยเชื่อว่าเผด็จการทหารที่ดี จะเป็นผู้จัดการแก้ไขปัญหาทั้งหลายทั้งปวง

การปฏิสนธิของอำนาจ-ความรู้กับเผด็จการ

การสถาปนาความมั่นคงของรัฐขึ้นมาใหม่ในช่วงเว้นวรรคประชาธิปไตยสัมพันธ์กับการจัดระเบียบความรู้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นอกเหนือไปจากการศึกษาภาคบังคับที่เริ่มต้นมาอย่างยาวนานแล้ว การศึกษาระดับอุดมศึกษาและการสถาปนาสถาบันความรู้-งานวิจัยก็สัมพันธ์ยิ่งกับอำนาจและอุดมการณ์ทางการเมืองยุคสงครามเย็น การปรับปรุงสภาวิจัยแห่งชาติในปี 2502, แผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2503 รวมไปถึงการขยายตัวของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในทศวรรษ 2500

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลจักรสำคัญในการผลิตบุคลากรและฐานวิชาการความรู้ในระดับสูงต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำเผด็จการกับมหาวิทยาลัย พบเห็นได้จากการปรากฏตัวของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งระดับนายกสภามหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่า แสดงให้เห็นในตารางดังนี้

มหาวิทยาลัย/ดำรงตำแหน่ง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถนอม กิตติขจร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2502-2506 2506-2514
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2506-2514 2506-2515
มหาวิทยาลัยศิลปากร 2503-2507 2501-2503
2507-2514
มหาวิทยาลัยมหิดล   2514-2515
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   2507-2515
มหาวิทยาลัยขอนแก่น   2509-2514
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   2511-2515

จากความใกล้ชิดระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำกับรัฐบาลเผด็จการดังกล่าว จึงไม่แปลกใจที่จะมีการรวมตัวกันในนาม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อต้นปี 2515 ช่องทางดังกล่าวจำเป็น สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องต่อรองเพื่อวิ่งเต้นของบประมาณในการพัฒนามหาวิทยาลัย ภายใต้การสร้างความเชื่อที่ว่า ความรู้เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และปราศจากอคติและไม่มีความเป็น “การเมือง”

ในอีกด้านหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ความเป็นวิชาการสมัยใหม่จากโลกตะวันตกได้เข้ามาตั้งมั่นทั้งในศาสตร์ทั้งสายวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์-สังคมศาสตร์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจำนวนหนึ่งเป็นผลพวงจากการไปศึกษาต่างประเทศ บัณฑิตภายในประเทศ เกิดหน่วยงานและองค์กรทั้งรัฐและเอกชนที่สัมพันธ์กับการจัดระเบียบความรู้ เช่น การตั้งโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในปี 2509 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในปี 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 42 ก่อนที่คลื่นและสายลมของความเปลี่ยนแปลงในปี 2516 จะทำให้รัฐบาลเผด็จการล่มสลายไปชั่วคราวหลังจากการครองอำนาจอย่างยาวนานของสฤษดิ์และถนอม

ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เห็นได้ว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองส่งผลอย่างยิ่งต่อการควบคุมอำนาจและความรู้ อันสัมพันธ์กับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และความมั่นคงของชาติ ในทศวรรษ 2520 โครงสร้างทางการเมืองไทยได้ขยับตัวอีกครั้ง เกิดแผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2520 หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงใหม่ในปี 2521 รัฐบาลในคราบประชาธิปไตยครึ่งใบ ทศวรรษ 2520 ได้สนับสนุนการลงทุนทางเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการขยายตัวทางเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม เราจึงเห็นการเกิดขึ้นขององค์กรทางความรู้ที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการ พสวท.) (2527)  ไบโอเทค (2529)

การขยายตัวของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในทศวรรษ 2530 ในบั้นปลายกลับนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2534 ระหว่างทางเดินมานั้น นอกจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของชนบท-เมืองแล้ว สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ การเกิดขึ้นพร้อมทั้งการอุปโลกน์เครือข่ายปัญญาชนสาธารณะ ภาพตัวแทนที่น่าสังเกต ก็คือคนอย่างประเวศ วะสี คนสำคัญแห่งวงการสาธารณสุข ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านวิชาการ, การบริหาร และการประสานงานกับระบบราชการ มาอย่างยาวนาน สิ่งที่ประเวศตระหนักก็คือ การตระหนักในความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการในเรื่องขั้นตอนความล่าช้า กระทั่งความฉ้อฉลทุจริต และเขาได้เรียนรู้ผ่านการจัดองค์กรในต่างประเทศ ทำให้เขามีความคิดที่จะสร้างองค์กรที่ไม่ใช้การบริหารแบบระบบราชการ นำไปสู่การที่เขาผลักดันให้เกิดกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งแตกต่างจากสภาวิจัยแห่งชาติที่อยู่ในกรอบของระบบราชการ

ความสำเร็จดังกล่าว มาได้ด้วยของการจัดตั้งจากรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2534 นั่นคือ รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ในนาม พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 (ลงนาม วันที่ 29 มีนาคม 2535) ในระยะเวลาไม่ไกลกันก็ได้เกิด พระราชบัญญัติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (2 เมษายน 2535) ขึ้นอีก อย่างไรก็ตามพบว่าก่อนหน้านี้ มีการตรา พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 (29 ธันวาคม 2534) ในช่วงรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เช่นเดียวกัน จะด้วยการเจรจาและต่อรองอย่างไรก็แล้วแต่ พื้นที่ประชาธิปไตยแบบสุญญากาศนั้นเป็นพื้นที่เจรจาต่อรองที่คลุมเครือ ไม่ถูกเรียกร้องให้ตรวจสอบมากเท่าใดนักเมื่อเทียบกับระบบรัฐสภาในสภาวะปกติ 

โมเดลดังกล่าวนำไปสู่องค์กรนอกระบบราชการที่งบประมาณมหาศาลที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ก็คือ  (สสส.) ที่แม้จะตั้งกองทุนในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม การเกิดขึ้นของ พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 (27 ตุลาคม 2544) ได้ทำให้เงินและอำนาจอันล้นฟ้า ต่อท่อตรงมายังเครือข่ายสุขภาพและวงการสาธารณสุขกลุ่มหนึ่ง ข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องวิ่งเต้นและแปดเปื้อนทางการเมืองกับเหล่านักการเมืองที่ด่างพร้อย กลายเป็นองค์กรของคนมีคุณธรรมและมีความคล่องตัวไปโดยปริยาย และพบว่า องค์กรนี้ได้ขยายนิยามของสุขภาพไปสู่ปริมณฑลทางการเมือง ขณะที่การตรวจสอบถ่วงดุลต่อสสส.เองก็นับว่าไม่สมส่วนอย่างยิ่งกับงบประมาณและอำนาจที่ได้รับ

สิ่งที่เห็นได้ชัดต่อมาก็คือ การจัดตั้งโทรทัศน์ที่อ้างว่าเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ในชื่อของไทยพีบีเอส (2550) หลังรัฐประหาร 2549 ที่ถูกดัดแปลงมาจาก ไอทีวีเดิม ที่ตลกร้ายก็คือ สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเกิดขึ้นจากการถอดบทเรียนการปิดกั้นสื่อสมัยการปราบปรามประชาชนช่วงพฤษภาทมิฬ 2535 ต้องการออกแบบให้โทรทัศน์ดังกล่าวมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น

ในโครงสร้างของรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารอย่างบ่อยครั้งในสังคมไทย การจัดระเบียบความรู้จึงแยกไม่ออกกับความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับรัฐบาลเผด็จการ จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าทำไมผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดความรู้ หลายคนเห็นเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤตหลังจากมีการรัฐประหารแล้วในแต่ละครั้ง ในสภาพที่รัฐบาลแทบจะไม่มีเสถียรภาพตลอดมา ยกเว้นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรและเครือข่าย รัฐบาลที่มีเสถียรภาพแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้สภาวการณ์ที่ทหารและระบบอำนาจนิยมเป็นใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า หาใช่รัฐบาลที่ไร้การทุจริตอย่างที่พวกสนับสนุนรัฐประหารคาดหวังกันแต่อย่างใด

เลียตูดดูดไข่เผด็จการ 2557

ทราบกันดีอยู่แล้วว่า วิกฤตครั้งใหญ่เกิดจากประกายไฟของความไม่ชอบมาพากลของการออกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลเพื่อไทย ด้วยพื้นฐานที่รัฐบาลถูกจงเกลียดจงชังมาเป็นทุนเดิมอันติดปลายนวมมาตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร การปราบปรามเสื้อแดงในปี 2553 หรือวิกฤตต่างๆในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กฎหมายนิรโทษกรรมได้เร่งเร้าให้ผู้คนฝ่ายตรงข้ามออกมาต่อต้านอย่างเอิกเกริก ทั้งยังทำลายความชอบธรรมให้กับเหตุผลของผู้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างหลวมๆไปด้วย นั่นได้ทำให้เกิดมวลชนมหาศาลที่ไม่พอใจการต่อต้านความฉ้อฉลของรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างมากมาย กระทั่งในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและระดับอื่นๆ ภาพมวลชนที่แสดงเสรีภาพในการต่อต้านมันโรแมนติกจนกระทั่งคนอาวุโสเดือนตุลาหลายคน รำลึกและพยายามสร้างคำอธิบายผูกกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่พวกเขาเคยมีส่วนร่วมเสียด้วยซ้ำ ความเคลื่อนไหวมีความสุดขั้วมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถฟอร์มรูปเป็นกลุ่มที่รู้จักกันในนาม “กปปส.”, ม็อบนกหวีด ผสานกับความร่วมมือกับ “องค์กรอิสระ” และมือที่มองไม่เห็นอย่างยืดเยื้อ สถานการณ์อันเสี่ยงต่อการพินาศทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างเลยเถิด การโจมตีและทำลายการดำเนินงานของนโยบายและการปิดกั้นสถานที่ราชการนำไปสู่ความอึดอัด และความรุนแรง จนในที่สุดการเกิดรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

ความเลวร้ายและฉ้อฉลของนักการเมืองอยู่บนฐานของความกลัว และการตัดสินทางธรรมด้วยมโนสำนึกของตนที่มีต่อจำเลยทางการเมือง ของกลุ่มต้านรัฐบาลเพื่อไทย การให้น้ำหนักเช่นนี้จึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะเฉยๆ, โล่งใจ ไปจนถึงกระทั่งชื่นชมเมื่อทหารออกมาทำการรัฐประหารในครั้งนี้เสียด้วยซ้ำ

พื้นที่แสดงออกต่อต้านความเลวร้ายอันเนื่องมาจากการลุอำนาจนิรโทษกรรมที่เคยเกิดขึ้นอย่างคึกคัก เมื่อเทียบกับการปิดพื้นที่แสดงออกในการต่อต้านรัฐประหารของเหล่าทหารขุนศึกทั้งหลาย ช่างแตกต่างราวท้องฟ้าชั้นเอ๊กโซสเฟียร์ กับ นรกอเวจี ขุมนรกลำดับสุดท้ายที่อยู่นอกจักรวาลแต่อย่างไรก็ตาม รัฐประหารครั้งนี้ไม่ง่ายดายนัก การต่อต้านเกิดขึ้นไม่นานหลังจากประกาศยึดอำนาจ ทหารรัฐประหารด้วยอำนาจและใช้วิธีการปราบปรามแบบอานาล็อก เล่นเกมแมวจับหนูต่อผู้ชุมนุมในลักษณาการที่แตกต่างออกไป และกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เป็นการรุกสู้เชิงพื้นที่ทั้งในแบบเปิดเผยและจรยุทธ์ ทหารได้สร้างสถานการณ์อันไม่ปกติขึ้นมาเชื่อมกับความงอกง่อยเดิมของสังคมไทย เพื่ออ้างไปสู่ความชอบธรรมในการดำรงอยู่ทางอำนาจของตน ในเวลาต่อมาก็ยกระดับไปสู่ขั้นการห้ามวิพากษ์วิจารณ์คสช. การใช้อำนาจเถื่อนเรียกตัวบุคคลเข้าพบในกองทัพเพื่อสร้างอาณาจักรความกลัวแบบสงครามเย็นขึ้น อย่างไรก็ตาม การต่อต้านโดยตรงที่ถูกปราบด้วยวิธีการดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงไปสู้ด้วยสัญลักษณ์ จนรัฐออกอาการหวั่นเกรงความหมายของสัญลักษณ์จนถูกห้าม จนกระทั่งมีข่าวว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจสั่งห้ามการชูสามนิ้ว อันจะนับเป็นการทำความผิดตามกฎหมาย

กลับมายังผู้มีส่วนสำคัญในวงการศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยที่เคยส่งเสียงเจื้อยแจ้วต่อกรณีต้านนิรโทษกรรมอันกล้าหาญสั่นไข่  ตั้งแต่ปลายปี 2556 ไม่รู้สึกร้อนหนาวอะไรในสถานการณ์ที่สิทธิ เสรีภาพของประชาชนและวิชาการถูกปิดตายก็อาจนับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เมื่อพวกเขาอาจเห็นว่านี่คือ วิธีการแก้ปัญหาที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นช่องทางของปัญหามากกว่า ประตูสู่หุบเหวที่พวกเขาเชื่อมั่นกัน ยังไม่นับว่าการอยู่เฉยเพื่อรอดูสถานการณ์จะเป็นการเดินเกมอันชาญฉลาดอยู่

นอกจากการวางเฉย การเข้าข้างรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อความปลอดภัยส่วนตัวการยกระดับในขั้นต่อไปก็คือ การฉวยโอกาสให้สถานการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อตนเอง เราจะเห็นถึงหน่วยงานด้านการศึกษาหลายแห่งพยายามปรับตัวเพื่อเด้งรับ นโยบายของกลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า คสช.

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 57 พบว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สนองนโยบายรัฐบาลทหารอย่างฉับไว ด้วยการเสนอแนวปฏิบัติภายใต้การบริหารราชการของ คสช. มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหัวใจอยู่ที่การยุติความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะทำให้สถานการณ์กระเพื่อม และหัวข้อหนึ่งที่สวนทางกับปรัชญาการศึกษาที่หวังให้เด็กนักเรียน “คิดเป็น” นั่นก็คือ “ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง” ที่น่าสังเกตก็คือ การรีบร้อนเร่งด่วนเสนอการปรับปรุงวิชาเรียนใหม่ นั่นคือ ข่าวล่าสุดที่มีการเสนอให้ส่งเสริมวิชาสำคัญ 2 วิชานั่นคือ วิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง เดิมสองวิชานี้มีอยู่แล้วในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในที่นี้เข้าใจว่าจะแยกสองวิชานี้ออกมาให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยวางแผนว่าจะให้มีเวลาเรียน 1 คาบต่อสัปดาห์ ในเชิงโครงสร้างมันจะส่งผลกระทบตารางเรียนอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาตารางเรียนที่แน่นอยู่แล้วในทุกวันนี้ การใช้อำนาจทิ่มลงไปตรงโครงสร้างตรงๆเช่นนี้ด้วยการสนองบัญชาอย่างไร้วิจารณญาณได้บิดเบือนโครงสร้างที่เป็นอยู่ไปอีกเช่นเดียวกับที่บิดหักโครงสร้างทางการเมืองไปแล้ว และยิ่งฟังดูตลกมากขึ้นไปอีกเมื่อพวกเขาพยายามสยายปีกแห่งอำนาจไปควบคุมให้มีการสอนวิชาประวัติศาสตร์และพลเมืองในโรงเรียนนานาชาติด้วย ความเร่งร้อนด้วยนโยบายด่วนได้นี้กำหนดเส้นตายไว้เบื้องต้นว่า จะให้วิชาใหม่นี้ทันใช้ในภาคเรียนที่ 2 นี้ด้วยซ้ำ

เชื่อว่า ยังคงมีหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้ทั้งในกระทรวงศึกษาธิการและภายนอกที่รอรับลูกเจ้านายใหม่ด้วยใจระส่ำ เชื่อได้ว่า หลังจากการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลาต่อมาตามธรรมเนียมหลังรัฐประหาร จะมีการลักไก่เสนอ พ.ร.บ.เข้าไปเพื่อยกมือให้ผ่านอย่างรวดเร็วหลังจากมีการต่อรองกับผู้มีอำนาจแล้ว ที่เริ่มเห็นแล้วก็คือ การขอแยกและตั้งกระทรวงใหม่ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คือ กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย หรือการเตรียมเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.... ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ กพอ. แล้ว และ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.... ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ กกอ. แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ในช่วงต้านนิรโทษกรรมในปลายปี 2556  ก็ยังได้เสนอตัวว่า “มหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ คสช. ได้ หาก คสช. ร้องขอมา ซึ่งตนคิดว่าเรามีความพร้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ”

สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับ ความทุเรศล่าสุด แต่คงยังไม่สิ้นสุดของเขา โดยผู้เขียนขอโคว้ทคำพูดดังกล่าวของเขาในบทสัมภาษณ์ เพื่อทิ้งท้ายบทความนี้ไว้ว่า

“โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบจะไม่สูญเปล่า หมายความว่าเราต้องเก็บเกี่ยวจากรัฐประหาร ซึ่งเป็นการล้มล้างรัฐบาลชุดปัจจุบันไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีกว่า”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท