Skip to main content
sharethis
 
13 มิ.ย. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน หน่วยงานของกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะมารองรับการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาทว่าจะเป็นเงินจากแหล่งใดบ้าง โดยในการลงทุนโครงการ 3 ล้านล้านบาท แหล่งเงินทุนมี 3 ส่วนคือ จากงบประมาณประจำปี จากการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุน(พีพีพี) และจากการกู้ตามพ.ร.บหนี้สาธารณะที่เปิดช่องให้กู้เพื่อพัฒนาประเทศในสัดส่วน 10% ของวงเงินงบประมาณ โดยในปีงบ 2558 กำหนดงบรายจ่ายที่ 2.575 ล้านล้านบาทสามารถกู้ได้ 2.5 แสนล้านบาท
 
อย่างไรก็ตามการกู้เงินต้องพิจารณาว่าต้องไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี และเท่าที่หารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยการกู้มาลงทุนในโครงการ 3 ล้านล้านบาท จะต้องไม่ทำให้หนี้สาธารณะเกินกว่า 50% เพราะต้องเผื่อไว้สำหรับการกู้มาใช้กรณีฉุกเฉินด้วย
 
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.กังวลว่าหนี้สาธารณะตอนนี้สูงกว่าช่วงที่ผ่านมานั้นขอยืนยันว่าจนถึงกันยายน 2557 หนี้สาธารณะจะไม่เกิน 46 % อย่างแน่นอน โดยหนี้ที่สูงขึ้นยอมรับว่าเกิดจากนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน 
 
แต่การกู้เงินในช่วงที่ผ่านมานั้น สบน.เน้นกู้ในประเทศนั้นเป็นหลักมีสัดส่วน 93%  กู้ต่างประเทศเพียง 7% ซึ่งการกู้ในประเทศช่วยทำให้คนไทยออมมากขึ้น และถือเป็นหนี้ของคนไทย  โดยการกู้ในอนาคตก็จะเน้นกู้ในประเทศเป็นหลัก และสบน.ยึดตามที่หัวหน้าคสช.ให้นโยบายมาคือต้องเน้นกรอบวินัยทางการเงินการคลังเป็นหลักเช่นกัน
 
ผอ.สำนักงบฯ หวังเงินลงทุน 4.5 แสนล้านบาทกระตุ้น ศก.ครึ่งปีหลัง
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวว่า หัวหน้า คสช.กำชับส่วนราชการในการเสนอขอจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ ในงบประมาณรายจ่ายปี 58 เมื่อส่วนราชการเสนอมาให้พิจาณาภายวันที่ 27 มิ.ย.จะทำการจัดสรรให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อ คสช.พิจารณาในวันที่ 11 ก.ค.57
 
โดยโครงการลงทุนที่สำคัญ เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  รวมพร้อมด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน การเตรียมพร้อมประมูลจะเป็นโครงการที่ได้รับการพิจาณาอันดับแรก  สำหรับงบลงทุนวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท หวังว่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในครึ่งปีหลัง เมื่อการลงทุนของภาครัฐเดินหน้าเพิ่มขึ้นภาคเอกชนมีความมั่นใจ คาดว่าจะทำให้รายได้ภาษีเพิ่มสูงขึ้น จากนั้นค่อยมาจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม
 
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หัวหน้า คสช.กำชับแล้วว่า การดูแลราคาข้าว จะไม่ใช้แนวทางการจำนำข้าว และการประกันราคา จึงต้องมาเน้นในด้านการดูแลต้นทุนให้กับชาวนา เช่น แนวทางหนึ่ง คือการตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้ชาวนาได้ยืมเมล็ดพันธุ์ไปใช้ปลูกข้าวและพืชทางการเกษตรอื่น เพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
 
และเมื่อเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว จะส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรรวมตัวกันรับซื้อผลผลิต เพราะมีกำลังซื้อและอำนาจต่อรอง จึงเป็นช่องทางการรับซื้อข้าวในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวจำนวนมากได้อีกทางหนึ่ง สำหรับวงเงินกู้จำนำข้าววงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เตรียมจัดส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนา โดยโอนเงินไปให้แล้ว 75,000 ล้านบาท จึงคาดว่าชาวนาจะได้รับเงินที่ค้างอยู่ทั้งหมด 92,000 ล้านบาท  ภายในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net