Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหล่าทาสถูกบังคับให้ใช้แรงงานโดยไม่มีรายได้เป็นเวลานับปี ภายใต้การข่มขู่ที่จะใช้ความรุนแรง แรงงานเอเชียเหล่านี้เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารทะเล ซึ่งส่วนใหญ่วางขายในทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งในร้านแบรนด์ค้าปลีกอีกหลายแบรนด์ทั่วทวีปยุโรป เบื้องหลังเหล่านี้ถูกเปิดเผยโดยหนังสือพิมพ์ The Guardian

การสืบเสาะข้อมูลเป็นเวลา 6 เดือน ยืนยันว่าแรงงานชายจำนวนมากถูกค้าขายไม่ต่างจากสัตว์ และถูกบังคับให้ไปใช้แรงงานบนเรือประมงนอกฝั่งประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกในการผลิตกุ้ง ที่จะถูกส่องออกไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังทั่วโลก รวมไปถึงแบรนด์ดังอย่างวอลมาร์ท (Walmart) คาร์ฟูร์ (Carrefour) คอสท์โค (Costco) และเทสโก (Tesco)

การเสาะหาข้อมูลในครั้งนี้พบว่า บริษัทอันดับหนึ่งในการทำฟาร์มกุ้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP) อาหาร ได้ซื้อปลาเพื่อไปเป็นอาหารเลี้ยงกุ้งในฟาร์มจากเรือประมงที่มีการใช้แรงงานทาส

ชายผู้ที่หนีรอดจากเรือที่ป้อนสินค้าให้กับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร รวมทั้งบริษัทผลิตอาหารอื่นๆ ได้เล่าให้กับ The Guardian ฟังถึงความโหดร้ายในการใช้ชีวิตอยู่บนเรือ การทำงานหนักวันละเกือบ 20 ชั่วโมง การทำร้ายร่างกาย ทรมาณ รวมทั้งการฆ่าแบบตัดศีรษระ บางคนต้องอยู่ในทะเลนานหลายปี หลายคนได้รับการเสนอให้ใช้ยาบ้าเพื่อให้สามารถทำงานได้ บางคนก็ได้เห็นการฆาตกรรมเพื่อนแรงงานทาสต่อหน้าต่อตา

แรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่าและกัมพูชาจำนวน 15 คนยืนยันว่าพวกเขาโดนบังคับให้เป็นทาส พวกเขาเล่าว่าได้จ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อให้ช่วยหางานในประเทศไทย เช่นงานในโรงงานหรืองานก่อสร้าง แต่พวกเขากลับถูกขายให้กับไต้ก๋งเรือ ในราคาเพียง 250 ปอนด์ (ราว 12,500 บาท)

“ผมเคยคิดว่า ผมกำลังจะตาย” Vuthy อดีตพระจากประเทศกัมพูชาเล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกขายจากเรือหนึ่งไปยังอีกลำหนึ่ง “พวกเขาล่ามผมไว้ด้วยโซ่อย่างไม่สนใจ ไม่ให้แม้แต่อาหารด้วยซ้ำ พวกเขาขายพวกเราไม่ต่างจากสัตว์ แต่พวกเราไม่ใช่สัตว์ พวกเราเป็นมนุษย์”

เหยื่อของการค้าแรงงานเล่าว่า เขาเคยเห็นเพื่อนแรงงานทาสกว่า 20 ชีวิตถูกฆ่าต่อหน้าต่อตา มีคนหนึ่งที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายโดยการผูกแขนขาไว้กับเชือก โยงเชือกกับเรือสี่ลำ และกระชากออกจากร่างกลางทะเล

“เราโดนทำร้าย ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม” อีกคนหนึ่งกล่าว “ชาวพม่าที่อยู่บนเรือส่วนใหญ่ถูกหลอกมา พวกแรงงานทาสมีจำนวนมากจนนับไม่ถ้วน”

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้ราวปีละ 4 แสนล้านบาท ตั้งแบรนด์ตัวเองเป็น ‘ครัวของโลก’ ขายผลิตภัณฑ์กุ้งตรา CP ให้กับฟาร์มแห่งอื่น ส่งขายในตลาดโลก รวมทั้งส่งให้ยังผู้ผลิตอาหาร และผู้ขายปลีกอาหาร ในลักษณะของกุ้งแช่แข็งหรือกุ้งปรุงรส ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารและเป็นส่วนประกอบของอาหารพร้อมรับประทาน

นอกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตดังทั้ง 4 แห่ง The Guardian ยังพบว่า ทั้งแบรนด์ Aldi และ Morrisons ก็ยังเป็นหนึ่งในลูกค้าของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร โดยขายสินค้าหลักคือกุ้งแช่แข็งและกุ้งปรุงรส รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทาน โดยได้รับสินค้ามาจาก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร และบริษัทย่อยที่ยอมรับว่าการใช้แรงงานทาสเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

“เราไม่ได้ป้องกันในสิ่งที่กำลังเป็นอยู่” Bob Miller ผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร สาขาประเทศอังกฤษกล่าว “เราทราบดีว่ามันมีปัญหาในกระบวนการก่อที่วัตถุดิบจะเดินทางมายังท่าเรือ แต่นอกเหนือจากนี้ มันอยู่นอกเหนือสิ่งที่เรามองเห็น”

ห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวทำงานดังนี้ เรือแรงงานทาสจะเดินทางไปสู่น่านน้ำสากลจากประเทศไทย จับ “ปลาเป็ด” ปลาขนาดเล็กหรือปลาที่กินไม่ได้ ปริมาณมหาศาล ก่อนที่จะนำส่งไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์ แล้วจึงขายต่อให้กับซีพี เพื่อนำไปใช้เลี้ยงกุ้งในฟาร์ม และกุ้งจากฟาร์มดังกล่าวนี่เอง ที่จะเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขายไปทั่วโลก

การค้าแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทย ได้รับความสนใจจากองค์การภาคเอกชน (NGOs) รวมทั้งปรากฏในรายงานของ UN แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่ The Guardian ได้เปิดเผยห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและซับซ้อนซึ่งเชื่อมระหว่างการค้าแรงงานทาสและผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกุ้งชั้นนำของโลก

“ถ้าคุณยังซื้อกุ้งจากประเทศไทย คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการค้าแรงงานทาส” Aiden McQuade ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านการค้าแรงงานทาสสากล (Anti-Slavery International) กล่าว

The Guardian ได้เดินทางเพื่อสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลไม่ว่าจะเป็นชาวประมง กัปตันเรือ ผู้บริหารเรือ เจ้าของโรงงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำงานในท่าเรือของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้รับตำแหน่งผู้ส่งออกกุ้งอันดับหนึ่งของโลก รวมทั้งเป็นผู้ค้าสินค้าทะเลรายใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 7.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับบริษัทขนาดยักษ์อย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร สามารถผลิตกุ้งได้ราวปีละ 500,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของสัดส่วนทั้งหมด

แม้ว่าการใช้แรงงานทาสจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีคนกว่า 21 ล้านชีวิตทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ถูกทำให้เป็นทาสทั่วโลก อ้างอิงจากองค์กรแรงงานสากล คนเหล่านี้ถูกขายไม่ต่างจากสินทรัพย์ โดนบังคับให้ทำงานหนักท่ามกลางภาวะคุกคามทั้งร่างกายและจิตใจ หรือโดนบังคับขืนใจโดยผู้ว่าจ้าง

ประเทศไทยนับว่าเป็นหนึ่งแหล่งจัดหา ขนย้าย และปลายทางสำคัญของเหล่านักค้าทาส และคาดว่ามีคนกว่าครึ่งล้านกำลังถูกใช้แรงงานทาสในประเทศไทย ปัจจุบัน ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดถึงแรงงานทาสที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมง แต่รัฐบาลไทยคาดว่าน่าจะมีประมาณ 300,000 คนที่กำลังทำงานอยู่บนเรือประมง ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานต่างด้าว ที่น่าจะถูกหลอก ลักพาตัว และนำมาขายที่ทะเล

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงประเทศไทย ในขณะที่ความต้องการกุ้งราคาถูกในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปพุ่งสูงขึ้น และนี่เองที่เป็นปัจจัยในการเร่งความต้องการในแรงงานราคาถูก

“เราต้องการแก้ไขปัญหาในประเทศไทย เพราะไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากผลประโยชน์ทางการค้า” Bob Miller ผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร กล่าวเสริม

หลังจากประเทศไทยถูกเตือนเป็นปีที่สี่ติดต่อกันเพื่อแก้ปัญหาการค้าแรงงานทาสแต่กลับขาดการตอบสนองเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ประเทศไทยอาจตกอยู่ในอันดับต่ำสุดของดัชนีด้านการค้ามนุษย์ ที่จัดทำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะประเมิน 188 ประเทศด้านศักยภาพในการต่อสู้และป้องกันการค้ามนุษย์

การลดระดับสู่ระดับ 3 อาจทำให้ประเทศไทย (จากเดิมอยู่ในระดับ 2) ที่มีการพลิกผันทางการเมืองหลังรัฐประหาร มีตำแหน่งไม่ต่างจากประเทศเกาหลีเหนือและอิหร่าน ที่จะนำไปสู่การลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา

“ประเทศไทยได้กระทำการต่อสู้และป้องกันการค้ามนุษย์” วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ทูตประเทศไทยประจำสถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกากล่าว “เรารู้ดีว่ายังต้องทำงานอีกมาก แต่เราก็มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดในการแก้ไขปัญหา”

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะกล่าวกับ The Guardian ว่า “ปัญหาการค้ามนุษย์ ได้ถูกยกระดับเป็นปัญหาระดับชาติ” แต่การสืบเสาะข้อมูลก็เปิดเผยว่า ยังคงมีอุตสาหกรรมที่ไร้กฎหมายและผิดข้อบังคับซึ่งดำเนินการโดยอาชญากรและเจ้าพ่อในประเทศไทย โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่รัฐ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยนายหน้าที่ยังคงจัดหาแรงงานต่างด้าวป้อนให้กับเจ้าของเรือ

“ผู้มีอำนาจในไทยจะต้องขจัดนายหน้าค้าแรงงานเหล่านี้ และจัดระบบการจ้างงานใหม่” เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่ทำงานด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว แสดงความเห็น “แต่รัฐบาลไม่ต้องการทำเช่นนั้น เขาไม่อยากลงมือจัดการปัญหา และตราบใดที่เจ้าของเรือยังคงซื้อขายผ่านนายหน้า โดยรัฐบาลไม่เข้ามากำกับดูแล ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่มีทางแก้ไข”

นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า อุตสาหกรรมการประมงในประเทศไทยจะพังทลายลงทันทีหากไม่มีแรงงานทาส พวกเขาคิดว่า รัฐบาลไทยจะไม่ลงมือจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังเนื่องจากมีผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย จึงเรียกร้องให้ผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกระดับโลก ร่วมมือกันแสดงออก

“แบรนด์ระดับโลกและผู้ค้าปลีกสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้ โดยแทบไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง คือกำหนดให้ซัพพลายเออร์ส่งสินค้าที่มีมาตรฐาน และห้ามซื้อสินค้าจากแรงงานทาสและแรงงานเด็ก ถ้าผู้ค้าปลีกคิดว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาขาดทุน ก็อย่าลืมว่า การกระทำเช่นนี้สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวและผู้ที่ถูกหลอกลวงมาขายแรงงาน” Lisa Rende Taylor จากองค์กรต่อต้านการค้าแรงงานทาสสากล กล่าว

The Guardian ได้ลองสอบถามไปยังผู้บริหารซุปเปอร์มาร์เก็ตภายหลังที่รายงานว่ามีการค้าทาสในห่วงโซ่อุปทานถูกเปิดเผย พวกเขาต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับการค้าแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ และแจ้งว่าพวกเขามีกระบวนการตรวจสอบที่มาของสินค้าถึงสภาพความเป็นอยู่ในการผลิต ผู้ค้าหลายรายได้เข้าร่วม ‘โครงการอิสระ’ เพื่อพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาการค้าแรงงานทาสก็ได้เป็นประเด็นหนึ่งที่ประชุมในกรุงเทพฯ

วอลมาร์ท ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของโลกกล่าวว่า “เรากำลังศึกษาประเด็นดังกล่าว และมีบทบาทสำคัญร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเล ประเทศไทย ”

คาร์ฟูร์ กล่าวว่า เขาได้ทำการตรวจสอบซัพพลายเออร์ทั้งหมด รวมทั้งโรงงานของซีพี ที่ผลิตกุ้งให้กับคาร์ฟูร์ ซึ่งได้มีการตรวจสอบที่รัดกุมมากขึ้นหลังได้รับสัญญาณเตือนในปี พ.ศ.2555 แต่คาร์ฟูร์ก็ยอมรับว่า ไม่ได้มีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนก่อนมาถึงโรงงาน

คอสท์โค กล่าวกับ The Guardian ว่า เขาได้พูดกับซัพพลายเออร์ในประเทศไทย “ให้ไปดำเนินการให้ถูกต้อง เรื่องแหล่งที่มาของอาหารเลี้ยงสัตว์”

โฆษกของเทสโก้ กล่าวว่า “เรามองปัญหาการค้าแรงงานทาสเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเราจะทำงานร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเพื่อให้มั่นใจว่า ห่วงโซ่อุปทานจะไม่มีการค้าแรงงานทาส รวมทั้งจะร่วมมือกับองค์กรแรงงานสากล และองค์กรเพื่อการค้าอย่างมีจริยธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมประมงประเทศไทย”

Morrisons อีกหนึ่งแบรนด์ค้าปลีกชื่อดังกล่าวว่า เขาจะต้องคุยกับซีพีอย่างเร่งด่วน “เราค่อนข้างกังวลหลังจากได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง และนโยบายการค้าของเราได้ห้ามการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่มีส่วนของการใช้แรงงานทาส”

ผู้บริหารบริษัท Aldi ประเทศอังกฤษ Tonu Baines กล่าวว่า “เรามีมาตรฐานของซัพพลายเออร์ที่ระบุไว้ในสัญญาของบริษัท ที่บังคับให้บริษัทที่ส่งสินค้าให้เราต้องทำตามกฎหมานสากล มาตรฐานทางอุตสาหกรรมขั้นต่ำ รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนของ UN หรือองค์กรแรงงานสากล แล้วแต่ว่าเกณฑ์ของที่ใดจะเข้มข้นกว่า”

“มาตรฐานเหล่านี้ได้ระบุให้ซัพพลายเออร์ห้ามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าแรงงานทาส และการกระทำในลักษณะดังกล่าว Aldi ไม่สามารถรับได้กับการทำงานหรือสภาพแวดล้อมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน”

CP ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางออกของปัญหาคือการใช้อำนาจทางธุรกิจเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามาแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะหันหลังหนีจากอุตสาหกรรมการประมงในประเทศไทย ถึงแม้จะมีการวางแผนจะใช้แหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ซึ่งคาดว่าจะลดการใช้ปลาเป็ดมาเป็นอาหารสัตว์ภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งปัจจุบัน ซีพีได้มีการควบคุมอย่างเข้มข้นถึงแหล่งที่ได้มาของปลาเพื่อผลิตอาหารสัตว์

ในขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมประมงยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ ซีพีกล่าวว่า กรมประมงกลับเลือกที่จะมองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากเรือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง “เราเลือกได้ว่าจะสามารถปล่อยปัญหาไป และเป็นพยานในปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และการทำลายทรัพยากรทะเลของไทย หรือเราสามารถผลักดันแผนการแก้ไข ซึ่งตอนนี้กำลังเดินหน้าไปอย่างมาก” ซีพีกล่าว

*เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 คาร์ฟูร์ ได้สั่งระงับการซื้อกุ้งจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร

**ภายหลังรายงานข้างต้นถูกเผยแพร่ CP ได้ออกมาโต้แย้งโดยชี้แจงว่าปลาเป็ดที่นำไปใช้เป็นอาหารกุ้งนั้นมาจากเรือผู้ค้าอิสระ 55 ราย ซึ่งร้อยละ 73 ได้รับการตรวจสอบและมีการรับรองว่าไม่มีการค้าแรงงานผิดกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net