สันติวิธีที่ไม่ธรรมดา: เมื่อชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศึกษา บก.ลายจุด(จบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุของผู้แปล:

บทความนี้รวบรวมอยู่ในหนังสือของ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชื่อ ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (สำนักพิมพ์ของเรา, 2557) โดยข้าพเจ้าเป็นผู้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อ “Unusual Nonviolent Explosion in Thailand?: How repressive violence engenders creative nonviolent actions”  ในการเผยแพร่ครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ขออนุญาตทางสำนักพิมพ์แล้ว แต่มิได้ขออนุญาตจาก อ.ชัยวัฒน์ จึงกราบขอโทษอาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่า อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้เป็นนักวิชาการด้านสันติวิธีที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย คงไม่ถือโทษโกรธข้าพเจ้า ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ที่ข้าพเจ้านำบทความนี้มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ก็เพื่อเรียกร้องให้สังคมและรัฐบาลทหารรำลึกถึงความจริงแท้ประการหนึ่งนั่น คือ คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด คือนักปฏิบัติการด้านสันติวิธีที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ดังที่ อ.ชัยวัฒน์ผู้เป็นปรมาจารย์ด้านสันติวิธี ก็ยืนยันอย่างชัดเจนในบทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ และข้าพเจ้าก็เชื่อว่าขณะนี้ อ.ชัยวัฒน์ก็คงรำลึกและเป็นห่วงคุณสมบัติ บุญงามอนงค์เช่นกัน

ถึงแม้คุณสมบัติ บุญงามอนงค์อาจท้าทาย กวนประสาทและหยอกล้อรัฐบาลทหารจนหัวปั่นและทำให้ท่านทหารโกรธเคือง แต่หากท่านมองย้อนกลับไป ขอให้ท่านและสังคมไทยพิจารณาดูว่า ควรแล้วหรือที่บุคคลที่เคยสร้างคุณูปการและช่วยเหลือผู้คนมากมายในประเทศนี้ อย่าง บ.ก.ลายจุดจะต้องรับโทษหนักหนาสาหัสดังที่รัฐบาลทหารขู่เข็ญ  ในขณะที่แกนนำการประท้วงทั้งเหลืองแดง ทั้งนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลและกองทัพที่กลายเป็นรัฐบาล ต่างก็เคยเป็นสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวน ไม่น้อยในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน ทั้งยังเคยจัดการประท้วงที่ปิดถนน ยึดสถานที่ ทำลายสิ่งของ สร้างความเดือดร้อนให้สังคมไทยเป็นระยะเวลายาวนาน  แต่คนเหล่านี้กลับไม่มีผู้ใดต้องรับโทษทัณฑ์หนักหนาสาหัส  ในขณะที่คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้เป็นแกนนอนการประท้วงอย่างสันติที่สุด ไม่เคยทำให้ใครบาดเจ็บล้มตาย ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้สังคมเป็นระยะเวลาเกินครึ่งวันหนึ่งวัน และการประท้วงทุกครั้งก็เป็นเพียงการใช้สัญลักษณ์และอารมณ์ขัน  ควรแล้วหรือที่นักปฏิบัติการสันติวิธีที่สุดผู้นี้จะต้องรับโทษจำคุกถึง 7 ปีหรือน้อยกว่านั้นหรือมากกว่านั้น?

หากรัฐบาลทหารและสังคมไทยปล่อย ให้คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ต้องรับโทษอย่างหนักแตกต่างจากแกนนำคนอื่น ๆ  นั่นย่อมหมายถึงความตายของสันติวิธีในประเทศไทย  นั่นย่อมหมายถึงการไม่ยึดมั่นในสันติวิธีคือบรรทัดฐานของการพ้นผิดลอยนวล  นั่นย่อมเป็นการผลักให้ผู้คนในประเทศนี้ถอยห่างจากปฏิบัติการสันติวิธี เพราะมันจะนำมาซึ่งโทษทัณฑ์ที่หนักหน่วงยิ่งกว่าการไม่ยึดมั่นในสันติวิธี

ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

 

อุบัติการณ์ของสันติวิธีที่ไม่ธรรมดาในประเทศไทย?:
การกดขี่ปราบปรามด้วยความรุนแรงกลับก่อเกิดปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
(ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล)

ตอนที่ 2

ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์: วัน (และอีกหลายวัน) หลังสลายการชุมนุม

“ผมร้องไห้ทุกวัน ร้องติดกันหลายสัปดาห์ นั่งๆ อยู่ร้องเลย” สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้นำกลุ่ม “วันอาทิตย์สีแดง” ให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมเสื้อแดงด้วยความรุนแรงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553  เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่ช่วยบรรเทาความเศร้าโศกของเขาคือเฟซบุ๊กซึ่งเขาใช้แสดงความคิดเห็น  ในฐานะตัวละครในโลกออนไลน์ผู้มีชื่อเสียงภายใต้นามจอว่า “บก.ลายจุด” เขามีผู้ติดตามจำนวนมาก ติดอันดับหนึ่งในห้าของผู้เขียนเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ตไทย  “ผมพยายามหาทางออกตลอดเวลา ไม่เคยหยุดคิดหาทางสู้  หลังวันที่ 19 พฤษภาคม ผมอยู่ข้างนอก ซุ่มอยู่ในอินเทอร์เน็ต และเสนอเรื่อง ‘วันอาทิตย์สีแดง’”  “[ผมคิดเรื่องนี้] คนเดียว  คุณดูเฟซบุ๊กผมจะรู้ วันแมนโชว์  ผมเป็นปัจเจกนิยมแบบสุดๆ เลย  เสื้อแดงทุกคนมีพลังงานเท่ากัน แต่ถูกเอาไปจัดการยังไงนั่นอีกเรื่อง....เพราะมันโกรธมาก เจ็บจริงๆ  ถ้าจัดการพลังงานมหาศาลในใจไม่ได้ ในที่สุดคุณจะทำร้ายตัวเอง หรือถ้าปลดปล่อยไม่ได้ คุณจะเครียด” [12]

วิธีการ “ปลดปล่อยพลังงาน” ของเขาก็คือ พอนำเสนอความคิดผ่านเฟซบุ๊กแล้ว เขาก็เริ่มกิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” ซึ่งเป็นการต่อต้านขัดขืนด้วยสันติวิธี โดยรวมกลุ่มคน 5 คนมานั่งดื่มกาแฟคุยเรื่องประชาธิปไตย [13]  การจับกลุ่ม 5 คนเป็นการท้าทายกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองในเวลานั้น  จากนั้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2553 สมบัตินำผู้คนไปผูกผ้าแดงที่เสาป้ายสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นสถานที่ที่มีการชุมนุมของเสื้อแดงและถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง  เขาถูกจับและถูกนำตัวไปคุมขังที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดนนอกกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคมจึงได้รับการประกันตัวออกมา

เขาบอกผู้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้ถูกขังคุก “มัน...เป็นบ้านพักในค่ายตำรวจ ตชด. ใช้โทรศัพท์ได้ มีคนมาเยี่ยมได้....มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน มีทีวีให้ดู  แอบเอาโทรศัพท์เข้าไปเล่นเฟซบุ๊กข้างใน....ผมเชื่อมโยงการต่อสู้ภายในที่ถูกควบคุมตัวกับโลกข้างนอกได้ ผมไม่ได้นอนเฉยๆ แต่คิดตลอดเวลาว่าผมจะสู้จากการอยู่ข้างในยังไง  คิดถึงขนาด พอเขาปล่อยกู กูจะไปผูกผ้า ผมคิด แต่เรียนนะครับว่าผมไม่ได้ไปหลอกให้มันจับและทำแบบนี้...พอออกไปปุ๊บก็รู้เลย ยิ่งเจอ มติชนสุดสัปดาห์ ปกที่ชูนิ้วกลาง ผมรู้แล้วว่าอยู่ในสถานะที่ต่อสู้ต่อได้ ผมก็ต่อทันที [หมายถึงกิจกรรมผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์]” [14]

เขาไปทำกิจกรรมที่ราชประสงค์ร่วมกับคนอื่นๆ ทุกวันอาทิตย์  วันที่ 11 กรกฎาคม สองวันหลังจากได้รับการปล่อยตัว สมบัติก็ไปผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์กับเพื่อนอีก 50 คน  อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ในวันที่ 18 กรกฎาคม เขากลับไปทำกิจกรรมเดิมอีก แต่ครั้งนี้กรมตำรวจระดมตำรวจปราบจลาจลกว่าร้อยนายมาคุมพื้นที่และจับกุมสมาชิกนักกิจกรรมคนหนึ่งด้วยข้อหาส่งเสียงดังในที่สาธารณะ  ในที่สุดฝ่ายรัฐก็ตัดสินใจว่าตนเองอดทนต่อความน่าพรั่นของการผูกผ้าแดงนี้พอแล้ว จึงจัดการย้ายเสาป้ายสี่แยกราชประสงค์ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้ผูกผ้าแดงออกจากพื้นที่เสียเลย

วันที่ 25 กรกฎาคม กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจัดกิจกรรมเต้นแอโรบิคบริเวณสวนลุมพินีโดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน  จากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม พวกเขาก็จัดการแสดง “ที่นี่มีคนตาย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  การแสดงชุดนี้จัดขึ้นตรงจุดที่เคยมีผู้ประท้วงเสียชีวิตจริงๆ  โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่งหน้าแต่งกายเป็นผี  ผีเหล่านี้ถือป้ายเขียนข้อความที่ดัดแปลงมาจากประโยคดังในหนังของบรู๊ซ วิลลิส เรื่อง The Sixth Sense ว่า “ฉันเห็นคนตายทุกหนแห่ง!”  ในวันที่ 8 สิงหาคม สมบัตินำผู้คนจำนวน 500 คนวิ่งรอบสวนสันติภาพเป็นระยะทาง 700 เมตร  วันที่ 15 สิงหาคม มีการจัดกิจกรรมปิกนิกข้าวแดง (ข้าวแดงเป็นอาหารที่ให้คนคุกกิน) ที่สวนรถไฟและมีคนมาเข้าร่วมประมาณหนึ่งพันคน  วันที่ 22 สิงหาคม เขาพาเพื่อนนักกิจกรรมเดินทางสู่ภาคเหนือเพื่อจัดกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่  เป็นครั้งแรกที่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงมีการเคลื่อนไหวนอกเมืองหลวง  วันที่ 29 สิงหาคม กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจัดงาน “แดงเดินห้าง” ในกิจกรรมที่เรียกว่า “ช้อปช่วยชาติ” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราวสองพันคน  กิจกรรมนี้มีนัยยะหลายประการ เนื่องจากการสังหารหมู่ในเดือนพฤษภาคม 2553 เกิดขึ้นตรงสี่แยกที่แวดล้อมไปด้วยศูนย์การค้าหรู และหากดูจากจำนวนศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ เราก็พอทึกทักได้ว่าชาวกรุงเทพฯ ชื่นชอบการช้อปปิ้ง  วันที่ 5 กันยายน กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงสัญจรไปภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรีเพื่อร่วมกิจกรรม “แดงลงทะเล”  วันที่ 12 กันยายน นักปั่นจักรยาน 60 คนขี่จักรยานไปตาม “เส้นทางสายเลือด” ใกล้สี่แยกศาลาแดง ซึ่งเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อผู้นำการต่อสู้คนหนึ่งถูกลอบสังหารเสียชีวิต  วันที่ 19 กันยายน วันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร 2549 ที่สร้างหายนะให้ประเทศและครบ 4 เดือนหลังการกดขี่ปราบปราม สมบัตินำประชาชนกลับมาที่สี่แยกราชประสงค์และปล่อยลูกโป่ง 10,000 ลูกขึ้นสู่ท้องฟ้า อีกทั้งผูกผ้าแดง 100,000 ผืน  มีประชาชนมาร่วมกิจกรรมนี้กว่า 10,000 คน เกินความคาดหมายของทั้งผู้จัดกิจกรรมและตำรวจ [15]

เมื่อถูกถามว่าเขาพยายามทำอะไรกันแน่?  นี่คือคำตอบ  “หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ผมคิดเรื่องการยึดพื้นที่ทางสัญลักษณ์คืนให้ได้ เพราะจุดที่จะร้อยมวลชนเข้าหากันได้ ต้องร้อยด้วยสัญลักษณ์ ไม่งั้นไม่รู้จะกอบกู้ยังไง มวลชนที่แตกกระเจิง ทุกคนเอาสัญลักษณ์เก็บ จนไม่รู้ใครเป็นใคร ใครยังสู้อยู่ มีสภาพยังไง การใช้สัญลักษณ์สีแดงอยู่ คือการปักธง การยืนยันที่จะใส่เสื้อแดงอยู่ มันสะท้อนถึงการรวบรวมจิตวิญญาณที่ต่อสู้ ผมอยากกอบกู้สิ่งเหล่านี้ขึ้นมา จึงเสนอว่าให้ใช้วันอาทิตย์สีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่มวลชนสามารถทำร่วมกันได้โดยใส่เสื้อสีแดงอีกครั้ง หลังจากโดนสลาย โดนให้ร้ายป้ายสี เราต้องปรากฏตัวให้ได้ว่าเรายังเป็นเสื้อแดง  ผมใช้การเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก ใช้เสื้อแดงให้เป็นภาพเดียวกัน ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายหน่อย... ผมคิดว่าผมได้ซัพพอร์ท ‘จิตใจ’ รวบรวมคนที่แตกพ่ายกลับขึ้นมาได้แล้ว ตอนนี้คนที่ล้มอยู่ ลุกยืนได้แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมและวันอาทิตย์สีแดงทำ” [16]

สมบัติเชื่อว่าแทนที่จะเดินขบวนและจัดการประท้วงขนาดใหญ่ เราควรใช้การรณรงค์เชิงสัญลักษณ์อย่างก้าวร้าวดุดันเข้มข้นเพื่อ “กดดันรัฐบาลจนประสาทเสียได้เลย”  ประเด็นสำคัญที่ต้องชี้ให้เห็นก็คือ สำหรับสมบัติ การเปิดแนวรบเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแค่ยุทธวิธีเสริมแบบสันติวิธี แต่ตั้งใจให้เป็นแนวรบหลักที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง  และสำหรับเขา “ถ้าตั้งใจเป็นแนวรบหลักเลยก็สนุก” [17]   แต่ในเมื่อตอนนี้กลุ่ม “วันอาทิตย์สีแดง” เริ่มมีพลังขับเคลื่อนและกำลังรุกคืบด้วยปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์  ขบวนการจะหล่อเลี้ยงตัวเองอย่างไร ในเมื่อปฏิบัติการส่วนใหญ่กระทำการในกรอบเวลาระยะสั้นมากด้วยวิธีการไร้ความรุนแรงแบบแฟลชม็อบ เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินขบวนของมวลชนหรือการยึดพื้นที่สาธารณะดังที่เคยเห็นกันมาก่อนหน้านี้?

สมบัติริเริ่มแนวทางบางอย่างที่ตรงกันข้ามกับ “แกนนำ” หรือ “กลุ่มผู้นำแนวตั้ง” และแทนที่ด้วยแนวทางที่เรียกว่า “แกนนอน” หรือ “กลุ่มผู้นำแนวนอน” ถึงแม้ผู้เขียนเชื่อว่า เขาคงชอบคำว่า “แกนนำสบายๆ” หรือ “แกนนอนเอกเขนก” มากกว่า  ยกตัวอย่างกิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” กับการผูกผ้าแดง 100,000 ผืนที่สี่แยกราชประสงค์  เขาอธิบายว่าแค่จำนวนคนที่มาเข้าร่วมก็เกินความเพ้อฝันที่เพ้อเจ้อที่สุดที่เขาเคยมี  การจัดตั้งการประท้วงกลายเป็น “แกนนอน” (self-organization) (ตามคำศัพท์ของเขา) โดยเริ่มจากล่างขึ้นบน ไม่ต้องมีผู้นำ ไม่ต้องมีกิจกรรมใหญ่ๆ  ไม่มีอะไรชัดเจน แต่มีคนเยอะๆ  “อารมณ์ ความรู้สึก และโทนของมัน เป็นการชุมนุมที่แตกต่างจากการชุมนุมทั้งหมด ไม่เหมือนใครเลยเมื่อเทียบกับการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มันมีบุคลิกของตัวเอง  มันไม่มีเวทีปราศรัย ไม่มีผู้นำ ไม่มีการกำหนดเลยว่าใครจะทำอะไร ไม่มี แม้แต่ผมก็ทำอะไรไม่ได้... ตำรวจมาบอกให้ผมหยุด ผมบอกว่าผมสั่งใครไม่ได้ แล้วที่น่าสนใจก็คือคนเสื้อแดงใช้เวลาอยู่ราชประสงค์แค่ช่วงสั้นๆ เป็น flash mob ทำเสร็จแล้วเลิก มันแปลกที่... มีทฤษฎีว่าปลุกม็อบไม่ยาก ดาวน์ม็อบยากกว่า ของเราเป็นไปเอง มาเอง กลับเอง โดยไม่มีใครมาบอก จัดการเองหมด ไม่สามารถกำหนดอะไรได้ เกิดสิ่งแปลกๆ คือใยแมงมุมสีแดง ผมรับรองว่าไม่มีใครคิดได้ ไม่มีใครกล้าคิด แต่พอคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน มีความรู้สึกเดียวกัน มันเกิดขึ้นเอง เป็นการด้น แสดงสด ศิลปะสด  ผมแค่เอาผ้ามาผูกเสาให้แดงๆ แต่ใยแมงมุมเกิดได้ยังไง งงมาก ใครคิด ไม่มีใครตั้งใจ เป็นคุณภาพของมวลชนที่เมื่อถึงจุดหนึ่งมันเกิดปรากฏการณ์ เป็นของมันเช่นนั้นเอง และผมว่ามันเยี่ยมมาก” [18]

สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับการที่มีประชาชนกว่า 10,000 คนมาชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2553 ก็คือ ประชาชนไม่หวาดกลัวอีกต่อไป  เมื่อหลุดพ้นจากความหวาดกลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็กลายเป็นเรื่องตลก  กฎหมายมีไว้สร้างความกลัว แต่ “เราใช้ความตลก ใช้สัญลักษณ์ แทงสวนมันขึ้นไป ทำให้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นพลังของความน่ากลัวกลายเป็นตัวตลก...เป็นการสู้กันในระดับจิต  มองไม่เห็นและพลิกเกมเลย ฟื้นขึ้นมาด้วยความรวดเร็ว แต่อยู่ในช่วงของการลุกขึ้นยืน ไม่ใช่จังหวะของการรุกไล่... สิ่งที่ผมทำต่อจากนี้คือหาทางเดิน ไม่ใช่หาทางยืน ผมทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ เปลี่ยนมวลชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน” [19]

เพื่อการนี้ เขาเริ่มก่อตั้งโรงเรียนฝึกอบรมให้คนกลายเป็น “แกนนอน” หรือ “ผู้นำแนวนอน”  ขบวนการคือตัวเขาเองและเขาหาทุนด้วยการขายเสื้อยืด  โรงเรียนแกนนอนสอน 4 เนื้อหา นั่นคือ ทบทวนมุมมองประชาธิปไตยเพื่อมองให้เห็นความเป็นสามัญชนในหมู่คนเสื้อแดง  อภิปรายถึงวิธีทำการตลาดประชาธิปไตยโดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย พฤติกรรมและเทคนิคการสื่อสาร  สำรวจหาวิธีการจัดตั้งและบริหารจัดการองค์กรประชาธิปไตย  และเนื้อหาสุดท้ายคือออกแบบกิจกรรมโดยไม่ต้องอาศัยกิจกรรมแบบเดิมๆ อย่างการปราศรัยหรือจัดคอนเสิร์ต [20]

เมื่อผู้เขียนอ่านคำให้สัมภาษณ์ของสมบัติและได้พูดคุยกับเขา ผู้เขียนอดครุ่นคิดไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?  ผู้เขียนขอเสนอว่า การกดขี่ปราบปรามมีบทบาทในการก่อให้เกิดปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง  ในฐานะผู้ศึกษาปรัชญาการเมือง ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดของมาเกียเวลลี (Machiavelli) ใน The Prince บทที่ 6 มีประเด็นสอดรับกัน  มาเกียเวลลีเขียนไว้ว่า “ดังนั้น จำเป็นที่โมเสสพึงค้นพบประชาชาติอิสราเอลที่ตกเป็นทาสในอียิปต์และถูกชาวอียิปต์กดขี่ ประชาชนเหล่านั้นจึงยินยอมติดตามโมเสสไปเพื่อจะได้หลุดพ้นจากพันธนาการ  จำเป็นที่โรมิวลัสพึงไม่อยู่ต่อไปในเมืองอัลบา [21] และควรแล้วที่เขาถูกทิ้งตั้งแต่เกิด เพื่อที่เขาจะได้เป็นกษัตริย์แห่งโรมและผู้สถาปนาปิตุภูมิแห่งนี้  จำเป็นที่ไซรัสพึงค้นพบว่าชาวเปอร์เซียไม่พอใจรัฐบาลของชาวมี้ด [22] อีกทั้งชาวมี้ดก็อ่อนแอป้อแป้เนื่องจากอยู่อย่างสงบสุขมายาวนาน  ธีเซียส [23] คงไม่ได้สำแดงความสามารถ หากมิใช่เพราะเขาพบว่าชาวเอเธนส์แตกฉานซ่านเซ็น  ด้วยเหตุนี้เอง โอกาสเปิดช่องให้คนเหล่านี้ และความสามารถอันสูงส่งของพวกเขาช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงโอกาส ประเทศของพวกเขาจึงยิ่งใหญ่และเลื่องระบือนาม” [24]

หากมาเกียเวลลีกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า การกดขี่คือเงื่อนไขจำเป็นของการก่อเกิดจุดเริ่มต้นใหม่  แต่สิ่งใหม่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะในกรณีของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงที่กล่าวถึงข้างต้น?  ผู้เขียนขอย้อนกลับมาสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้นและหยิบยกทฤษฎีเกี่ยวกับความรุนแรง ในที่นี้ ภูมิปัญญาของฟาน็องช่วยอธิบายได้

ฟรานซ์ ฟาน็อง [25] ยืนยันว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการรื้อถอนโครงสร้างอาณานิคม  ความรุนแรงไม่เพียงทำลายโครงสร้างอาณานิคมที่เป็นทางการ แต่ยังสร้างความแปลกแยกให้แก่จิตสำนึกของชาวพื้นเมือง เนื่องจากมันปลดปล่อยชาวพื้นเมืองจากความรู้สึกต้อยต่ำและอดสู ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจที่ระบอบอาณานิคมปลูกฝังไว้ และความรุนแรงช่วยฟื้นคืนชาวพื้นเมืองสู่ความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม  นี่คือเหตุผลที่ฟาน็องมองว่าความรุนแรงเป็นพลังชำระล้าง ไม่ต่างจากพิธีบัพติศมาหรือศีลล้างบาปในศาสนาคริสต์ที่ยุติชีวิตในอดีตของคนคนหนึ่งและเริ่มชีวิตใหม่ของคนคนนั้นในฐานะมนุษย์ [26]  แต่ทฤษฎีของฟาน็องวางพื้นฐานบนผลกระทบที่ความรุนแรงมีต่อปัจเจกบุคคล  แต่คำถามคือ แล้วอะไรคือผลกระทบที่ความรุนแรงมีต่อขบวนการ?

เมื่อผสมผสานความคิดของมาเกียเวลลีกับฟาน็องเข้าด้วยกัน ผู้เขียนขอกล่าวว่า การกดขี่ปราบปรามด้วยความรุนแรงของรัฐบาลได้บั่นทอนขบวนการเสื้อแดงด้วยความหวาดกลัวในชั่วขณะนั้น เมื่อแกนนำทุกคนถูกจับกุม รวมทั้งแกนนำบางคนที่เคยสนับสนุนทางเลือกที่ใช้ความรุนแรงมาก่อนหน้านั้นด้วย  คนที่เหลือต่างตกอยู่ในภาวะอ่อนเปลี้ยทั้งจากความกลัวและความโกรธแค้น  เงื่อนไขจำเป็นที่การปราบปรามด้วยความรุนแรงสร้างขึ้นจนนำไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ในกรณีนี้ ก็คือการพรากขบวนการจากแกนนำแบบเดิมๆ และสร้างช่องว่างของเทศะขึ้นเพื่อรอโฉมหน้าใหม่ของขบวนการ  กิจกรรมของสมบัติเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของเทศะนี้ด้วยพลังสร้างสรรค์แปลกใหม่ แตกต่างอย่างมากจากที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้  เขาทำได้เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดงมาตั้งแต่แรก  เขามีความน่าเชื่อถือเป็นทุนรอนในการนำเสนอปฏิบัติการ  เขาได้รับความไว้วางใจจากคนจำนวนมากในฐานะหนึ่งในบรรดาแกนนำขบวนประท้วงที่มีภาวะผู้นำ แต่ความสามารถนี้ไม่มีโอกาสฉายชัดตราบที่แกนนำแบบเดิมๆ คนอื่นๆ ยังนำขบวนการอยู่

ในขณะที่การปราบปรามด้วยความรุนแรงก่อให้เกิดช่องว่างของเทศะที่จำเป็นต่อจุดเริ่มต้นใหม่  ปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์ของสมบัติได้ดึงเอาพลวัตของผลกระทบจากความรุนแรงออกมา โดยเสนอปฏิบัติการสันติวิธีเป็นเครื่องมือชำระล้างผลตกค้างของความรุนแรงที่มีต่อขบวนการ ด้วยการเชื้อเชิญสามัญชนผู้พ่ายแพ้ให้รักษาความโกรธเกรี้ยวทางศีลธรรมไว้โดยไม่ยอมจำนนต่อความหวาดกลัว  ปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์ของสมบัติช่วยทดแทนการชำระล้างผลตกค้างของความรุนแรงด้วยการทำหน้าที่ดียิ่งกว่านั้นอีก  นั่นคือ ประชาชนสามารถต่อสู้ต่อไป ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลายเป็นเรื่องตลก และเดินหน้าต่อต้านขัดขืนโดยไม่ต้องสูญเสียชีวิต และที่สำคัญอย่างยิ่งคือสร้างความชอบธรรมขึ้นมาได้ในระดับที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงและยุทธวิธีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงข้อกังขาว่าฝ่ายคนเสื้อแดงเองก็อาจใช้ความรุนแรงบางรูปแบบด้วย กระนั้น คนเหล่านี้ก็เห็นว่าความรุนแรงที่รัฐบาลใช้สลายการชุมนุมก็สมควรถูกตำหนิติเตียนไปจนถึงยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง

ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนขอเสนอว่า กิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงของสมบัติผุดขึ้นมา ณ จังหวะเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุดสำหรับขบวนการต่อต้านขัดขืน  ไม่ใช่แค่ช่องว่างของเทศะเท่านั้นที่สำคัญ ช่องว่างของเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน  ช่องว่างของเวลาคือเวลาของการเลือก  หลังจากการปราบปรามด้วยความรุนแรง มีสัญญาณตอบรับการใช้ความรุนแรงจากแกนนำเสื้อแดงคนอื่น  เมื่อประกอบกับประวัติศาสตร์ของการต่อต้านขัดขืนในสังคมไทยที่บรรยายโดยสังเขปข้างต้น  ความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะเลือกการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อสืบสานการต่อต้านขัดขืนต่อไปก็มีโอกาสเกิดขึ้นมากทีเดียว  อันที่จริง ณ ชั่วขณะนั้น สิ่งที่ผู้เขียนวิตกมากที่สุดคือผลกระทบของความรุนแรงที่จะผลักคนให้สุดขั้ว ทั้งยังมีคำเล่าลือดังมาให้ได้ยินว่าคนบางกลุ่มเริ่มคิดลงใต้ดินเพื่อเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ  อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด  ลองดูไอร์แลนด์เหนือเป็นตัวอย่าง ขบวนการสิทธิพลเมืองในช่วงทศวรรษ 1960 มีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในภายหลัง  ในตอนเริ่มต้น ถึงแม้มีความขัดแย้งถึงรากลึก แต่ไม่มีการฆ่ากันตาย  หลังจากนั้นตั้งแต่ ค.ศ. 1969-1972 มีประชาชนเสียชีวิตถึง 497 คน  หากดูจากแบบแผนพื้นฐานทั่วๆ ไปของการยกระดับความรุนแรง เราสามารถชี้ให้เห็นว่า องค์ประกอบสำคัญที่สุดก็คือข้ออ้างเหตุผลที่สนับสนุนการต่อสู้อย่างก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแค่ข้ออ้างดาดๆ และไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก แต่กลับกลายเป็นข้ออ้างอันชอบธรรมขึ้นมาในความขัดแย้งที่เป็นผลจากการที่รัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน   เงื่อนไขนี้เอื้ออำนวยให้ขบวนการ IRA สบช่องขยายกลายร่างเป็นองค์กรสังหารรายใหญ่ [27]  ในช่องว่างของเวลา ถ้าปราศจากบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งและมีจินตนาการอันน่าทึ่งก้าวออกมาพร้อมปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์ที่ปฏิบัติได้จริงและโน้มน้าวผู้คนได้ ช่วงเวลานั้นอาจถูกฉกชิงไปและขบวนการต่อต้านขัดขืนก็อาจตกสู่หลุมพรางของการใช้ความรุนแรง

บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์

เมื่อผู้เขียนถกเถียงกับปัญญาชนไทยบางคนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการต่อสู้ด้วยอาวุธหลังการสลายการชุมนุมครั้งนี้  ปัญญาชนหลายคนชี้ว่า พ.ศ. 2553 ไม่เหมือนกับ พ.ศ. 2519  ในสมัยนั้น เมื่อต้องเผชิญการกดขี่ปราบปรามอย่างป่าเถื่อนของรัฐไทย นักศึกษาและประชาชนหนีจากเมืองมุ่งหน้าสู่ป่าเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ในยุคปัจจุบัน ไม่มี พคท. รอรับนักสู้ผู้พ่ายแพ้แล้ว  พื้นที่ป่าส่วนใหญ่กลายเป็นรีสอร์ตรอรับนักท่องเที่ยวแทน ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่การปราบปรามจะส่งผลลัพธ์กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ  ถึงแม้ผู้เขียนมองเห็นเช่นกันว่าบริบทเปลี่ยนไปจากเมื่อสามสิบปีก่อน  กระนั้นความเปลี่ยนแปลงก็ก่อให้เกิดภัยคุกคามใหม่ๆ เช่นกัน  ในศตวรรษที่ 21 บางครั้งแค่คนคนเดียวหรือไม่กี่คนที่ใช้ความรุนแรงก็สามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ชีวิตผู้คนตลอดจนอนาคตทางการเมืองได้  ยกตัวอย่างเช่น อันเดอร์ส แบริง ไบรวิก [28] ชาวนอร์เวย์ที่สังหารหมู่ประชาชนถึง 77 คนเมื่อ พ.ศ. 2554  นี่คงเป็นสิ่งที่อัปปาดูไร [29] หมายถึงเมื่อเขาเตือนโลกยุคโลกาภิวัตน์ให้เกรงกลัวคนจำนวนหยิบมือที่สามารถสร้างภัยสยองด้วยวิธีการรุนแรงใหม่ๆ [30]

กระนั้นก็ตาม ทั้งหมดที่อภิปรายมาคือกรณีศึกษาของปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์  กรณีนี้ขึ้นอยู่กับความพิเศษเฉพาะหลายประการด้วยกัน อาทิ การมีผู้นำอย่างสมบัติ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมที่มีภูมิหลังด้านการละคร ทั้งยังชอบอ่านหนังสือฮาวทูและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้คล่องแคล่ว หรือสภาพแวดล้อมทางการเมืองเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่ก่อให้เกิดขบวนการเสื้อแดง ซึ่งสามารถระดมมวลชนทั้งชาวชนบทและปัญญาชนฝ่ายซ้ายภายใต้การนำของอภิมหาเศรษฐีที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์  กรณีศึกษาเช่นนี้จะมีปฏิสังสรรค์กับแนวคิดการต่อต้านขัดขืนอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการต่อต้านขัดขืนแบบสันติวิธี?

ผู้เขียนเชื่อว่ามีอย่างน้อย 4 ประเด็นให้เราได้ขบคิดกัน

ประการแรก มีผู้เสนอแนวคิดว่า เหตุการณ์อาหรับสปริง ใน ค.ศ. 2011 มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับ “คลื่นการปฏิวัติ” ค.ศ. 1848 [31] เพราะทั้งสองเหตุการณ์มีลักษณะของกระแสที่กระเพื่อมออกไปทั่วทั้งภูมิภาคด้วยความเร็วอย่างเหลือเชื่อ ทว่าก่อให้เกิดความก้าวหน้าไม่มากนักในแง่ของเสรีภาพและประชาธิปไตย  นอกจากมองไม่เห็นความแตกต่างของแต่ละประเทศและประเมินความสำเร็จของชาวตูนิเซียสูงเกินไปแล้ว หนึ่งในเหตุผลที่นำเสนอก็คือ สังคมอาหรับมีการจัดตั้งที่อ่อนแอและถูกกดทับมาตลอด ขาดความเข้มข้นขององค์กรจัดตั้ง ฝ่ายค้านอ่อนปวกเปียกและภาคประชาสังคมก็แตกแยกดังเช่นในกรณีของอียิปต์ [32]  ถึงแม้เราอาจตั้งคำถามต่อข้อสรุปในลักษณะนี้ได้ว่าเกิดจากการขาดความเข้าใจสังคมอาหรับอันเป็นผลมาจากแนวคิดแบบ “บูรพนิยม” (Orientalism) และการวางยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Euro-Centrism) รวมไปถึงอคติอื่นๆ [33]  อีกทั้งสังคมไทยก็แตกต่างอย่างชัดเจนจากสังคม “อาหรับ”  แต่เห็นได้ชัดว่าประวัติศาสตร์ของการต่อต้านขัดขืนมีความสำคัญอย่างยิ่ง  สังคมไทยมีประวัติศาสตร์ของการต่อต้านขัดขืนยาวนาน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะรวมตัวกันและร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางอย่าง ทั้งในพื้นที่ทางกายภาพดังเช่นสมัยก่อนและในพื้นที่ไซเบอร์สเปซดังเช่นสมัยนี้  อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า หากสังคมใดปราศจากประวัติศาสตร์ของการต่อต้านขัดขืน สังคมนั้นก็จะไม่มีการต่อต้านขัดขืนเกิดขึ้น  ผู้เขียนหมายความดังนี้ต่างหากว่า หากสังคมใดมีประวัติศาสตร์ของการต่อต้านขัดขืน ไม่ว่าด้วยความรุนแรงหรือสันติวิธีก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้นว่าสังคมนั้นจะมีการจัดตั้งการต่อต้านขัดขืนแบบสันติวิธีเกิดขึ้นภายหลังการปราบปรามด้วยความรุนแรง

ประการที่สอง ข้อสรุปประการหนึ่งในหนังสือระดับรางวัลอย่าง Why Civil Resistance Works ของ Chenoweth และ Stephan ก็คือ ความหลากหลายของผู้เข้าร่วมมีความสำคัญเท่าๆ กับจำนวน  ทั้งสองหยิบยกการต่อสู้ด้วยความรุนแรงของกองทัพประชาชนใหม่ (New People’s Army-NPA) ในฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่าง และให้เหตุผลว่า NPA มีลักษณะปิดตัวเองอย่างมากสืบเนื่องจากอุดมการณ์มาร์กซิสต์ ดังนั้นจึงมีสายสัมพันธ์ที่จำกัดมากกับภาคส่วนต่างๆ ในระบอบการปกครองเดิม ในขณะที่ขบวนการที่มีความหลากหลายมากกว่าก็จะมีสายสัมพันธ์มากกว่า  เงื่อนไขนี้เองที่ทำให้ NPA มีโอกาสน้อยลงที่จะสร้างความแตกแยกขึ้นมาภายในระบอบการปกครองเดิม [34]   ความหลากหลายเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง  เมื่อผู้เขียนนึกถึงขบวนการเสื้อแดง ผู้เขียนพบว่าภายในขบวนการมีความหลากหลายมาก เพราะร้อยละ 20 ของผู้ประท้วงเป็นแรงงานคอปกขาว  ร้อยละ 16 มีธุรกิจขนาดเล็ก  ร้อยละ 12 เป็นผู้ประกอบการ  ร้อยละ 10 เป็นข้าราชการ และมีเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้นที่เป็นเกษตรกร [35]  กระนั้นก็ตาม ถึงแม้เต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ขบวนการนี้ก็อาจหันไปหาความรุนแรงได้ เพราะบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันมีการแบ่งแยกแตกขั้วอย่างหนัก  คำถามในตอนนั้นก็คือ การแบ่งแยกแตกขั้วอย่างร้ายแรงนี้มีผลกระทบอะไรบ้างต่อขบวนการต่อต้านขัดขืน?  ผลกระทบของการแบ่งแยกแตกขั้วสามารถกลบทับพลังของความหลากหลายและลดทอนความเป็นไปได้ในการแสวงหาหนทางสู่ปฏิบัติการสันติวิธีหรือไม่?  มีปัจจัยอะไรบ้างที่จำเป็นในการต้านทานพลังของการแบ่งแยกแตกขั้ว ธำรงรักษาความหลากหลายและยังคงเปิดกว้างให้ขบวนการมีโอกาสเลือกปฏิบัติการสันติวิธี?

ประการที่สาม ในงานศึกษาขบวนการแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian National Movement) ซึ่งครอบคลุมเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ  Pearlman ตั้งคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ ทำไมนักกิจกรรมบางคนจึงเลือกยุทธวิธีแบบไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะที่บางคนเลือกใช้ความรุนแรง  เธอเสนอเหตุผลว่าการที่ขบวนการหนึ่งๆ จะเลือกใช้สันติวิธี ขบวนการนั้นต้องมีวินัย มีทิศทางของยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและมีการประสานความร่วมมือ ซึ่งขบวนการที่มีเอกภาพเท่านั้นจึงจะมีสิ่งเหล่านี้ได้  อันที่จริงเธอชี้ให้เห็นว่า “ในขณะที่หนทางสู่ความรุนแรงมีหลากหลาย แต่หนทางสู่การประท้วงอย่างสันติวิธีมีหนทางหลักเพียงทางเดียว นั่นคือ หนทางที่มีเงื่อนไขว่าขบวนการต้องมีหรือต้องสร้างความสามัคคีเหนียวแน่นภายในขบวนการ” [36]   หากพิจารณาขบวนการเสื้อแดงจากข้อสันนิษฐานของ Pearlman  เราอาจมองเห็นว่า เหตุผลหนึ่งที่สมบัติและกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงไม่สามารถก้าวขึ้นมามีอิทธิพลมากกว่านี้ในขบวนการเสื้อแดงก่อนการปราบปรามด้วยความรุนแรง นั่นคงเป็นเพราะขบวนการเสื้อแดงมีความเป็นเอกภาพและเหนียวแน่นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงไม่มีพื้นที่เปิดกว้างเพียงพอสำหรับการนำในแบบอื่นๆ ซึ่งอาจนำพาขบวนการไปในทิศทางที่เข้าใกล้ปฏิบัติการสันติวิธีมากขึ้น  กระทั่งหลังการปราบปรามด้วยความรุนแรงที่ทำลายขบวนการและโครงสร้างที่มีเอกภาพลง ขบวนการที่มุ่งมั่นในแนวทางสันติวิธีมากกว่าและมีความคิดสร้างสรรค์อย่างยิ่งดังเช่นกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจึงสามารถปรากฏตัวออกมา  ดูเหมือนมีหลายคำถามที่สอดคล้องในที่นี้  เมื่อไรที่ขบวนการสันติวิธีต้องการความเหนียวแน่นมากที่สุด?  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะจินตนาการว่า ความเหนียวแน่นก็เป็นคุณสมบัติที่อาจบั่นทอนช่องทางสู่สันติวิธีของขบวนการหนึ่งๆ ได้เช่นกัน?  มีคุณสมบัติใดที่ขบวนการสันติวิธีอาจต้องการนอกเหนือจากความเหนียวแน่นหรือไม่?  เมื่อพิจารณาจากกรณีของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง อาจมีบางเวลาที่ขบวนการต้องการความเหนียวแน่นน้อยลงเพื่อก้าวสู่แนวทางสันติวิธี เช่น เมื่อการปราบปรามด้วยความรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น เป็นต้น  แน่นอน มีบางเวลาที่ขบวนการต้องการความเหนียวแน่นมากขึ้น เช่น ภายหลังการปราบปรามด้วยความรุนแรง และประชาชนโหยหาความรู้สึกผูกพันเชื่อมต่อเพื่อฟื้นคืนความแข็งแกร่งมาชุบชีวิตให้ขบวนการด้วยปฏิบัติการสันติวิธีอีกครั้ง

ประการที่สี่ ในการวิเคราะห์การปฏิวัติด้วยสันติวิธี 6 ครั้ง ซึ่งมีทั้งการปฏิวัติต่อต้านระบอบสังคมนิยม (จีนและเยอรมนีตะวันออก) ต่อต้านระบอบทหาร (ปานามาและชิลี) และต่อต้านระบอบผู้นำเผด็จการ (เคนยาและฟิลิปปินส์) ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 จนถึงทศวรรษ 1990   Nepstad พบว่าในการปฏิวัติด้วยสันติวิธีที่ประสบความสำเร็จทุกกรณีที่เธอศึกษานั้น การที่กองกำลังความมั่นคงถอนความสนับสนุนที่มีต่อระบอบนั้นๆ เป็นปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เนื่องจากมันทำลายอำนาจการบังคับข่มขู่ของรัฐอย่างชะงัด [37]  ในบทวิจารณ์งานของ Nepstad นั้น Pearlman ตั้งคำถามว่า การที่กองกำลังความมั่นคงถอนความสนับสนุนต่อระบอบเป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์หรือโครงสร้าง  เธอตั้งคำถามอย่างแหลมคมว่า พฤติกรรมหนึ่งๆ สามารถเป็นยุทธวิธี ยุทธศาสตร์และไม่ได้ตั้งใจไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร? [38]  ถ้าเช่นนั้น กิจกรรมผูกผ้าแดงของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงเป็นยุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์?  หรือเราสามารถกล่าวได้ไหมว่า ครั้งแรกที่สมบัติไปผูกผ้าแดงที่เสาป้ายสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 26 มิถุนายน 2553 เป็นปฏิบัติการอย่างเดียวกันกับเมื่อเขาร่วมกับประชาชนอีก 10,000 คนผูกผ้าแดง 100,000 ผืนในสถานที่เดิมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553?  หากคำตอบคือไม่ใช่ ถ้าเช่นนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ปฏิบัติการเดียวกันอาจเป็นยุทธวิธี ณ เวลาหนึ่งและเป็นยุทธศาสตร์ ณ อีกเวลาหนึ่ง?  ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้ Pearlman ตั้งคำถามไว้ก็ตาม แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะจินตนาการถึงปฏิบัติการที่เป็นทั้งยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ในเวลาเดียวกัน?  เมื่อศาสดามูฮัมหมัดเดินทางอพยพจากเมืองเมกกะสู่เมืองเมดินาดังที่เรียกกันว่าฮิจเราะห์นั้น ถือเป็นการประท้วงด้วยการอพยพซึ่งเป็นปฏิบัติการสันติวิธีอย่างหนึ่งตามการจัดประเภทของ Sharp [39]  เราสามารถนิยามได้ไหมว่า ปฏิบัติการนี้เป็นทั้งการเคลื่อนไหวเชิงยุทธวิธี เพราะพระนบีและสาวกกำลังหนีจากการรังควานทำร้าย และเป็นทั้งการเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ในแง่ที่นำไปสู่ศูนย์กลางแห่งใหม่เพื่อกำเนิดขบวนการในเมืองยัทริบหรือเมดินา?  ในขณะที่นักคิดนักเขียนส่วนใหญ่ดูเหมือนจัดรวมความสำคัญของยุทธวิธีเชิงสันติวิธีไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงสันติวิธี  แต่ Iain Atack เพิ่งสร้างข้อโต้แย้งเมื่อไม่นานมานี้ว่า การแบ่งเช่นนั้นไม่เป็นจริงในเชิงปฏิบัติ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งแบบแคบและแบบกว้างมักดำรงอยู่คู่กันในการรณรงค์เชิงสันติวิธีทุกๆ ครั้ง  ทั้งนี้เพราะการรณรงค์เชิงสันติวิธีครั้งใดก็ตามมักประกอบด้วยแนวร่วมของกลุ่มต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง  วัตถุประสงค์นั้นอาจแคบในคนกลุ่มหนึ่ง แต่กว้างอย่างยิ่งในคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ [40]  ผู้เขียนและคณะเพิ่งเสนอข้อโต้แย้งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เราสามารถจงใจใช้ปฏิบัติการสันติวิธีเชิงยุทธวิธีบางอย่างภายในวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่กว้างกว่าได้ ในขณะที่ปฏิบัติการบางอย่างอาจใช้ได้กับเป้าหมายที่แคบกว่ามาก [41]   เป็นไปได้ไหมว่ายุทธวิธีนี่เองที่ให้ข้อมูลและอาจปรับโฉมหน้ายุทธศาสตร์ระยะยาวของขบวนการต่อต้านขัดขืนก็ได้?  สำหรับสมบัติและกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง การใช้โซเชียลมีเดียใหม่ๆ เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง  แต่มันเป็นยุทธวิธีที่อาจปรับโฉมหน้าแนวทางในการสร้างยุทธศาสตร์ของขบวนการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปข้างหน้า

ข้อสรุป: ความสร้างสรรค์กับปฏิบัติการสันติวิธี

ปัญหาตอนนี้คือการทำความเข้าใจว่า ความสร้างสรรค์ทำงานอย่างไรในภาวะความขัดแย้งขั้นร้ายแรง  ในงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการที่ทางเลือกแบบสร้างสรรค์ปรากฏขึ้นมาเพื่อแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง โดยอาศัยการสร้างสรรค์หนทางแก้ไขความขัดแย้ง 16 ขั้นตอน ซึ่งครอบคลุมทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งสามฝ่ายระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ การแก้ไขความขัดแย้งของเขตนิเวศวิทยาทวิภาคีในพื้นที่พรมแดนที่มีปัญหาระหว่างเปรู-เอกวาดอร์ ตลอดจนการรณรงค์สัตยาเคราะห์ครั้งแรกของคานธีในแอฟริกาใต้ตั้งแต่ ค.ศ. 1906-1914  Tatsushi Arai เสนอคำนิยามว่า ความสร้างสรรค์คือ “สมรรถภาพนอกกรอบ” ซึ่งผู้กระทำหรือกลุ่มผู้กระทำที่พัวพันในความขัดแย้งสามารถสร้างทางเลือกนอกกรอบในการแก้ไขปัญหาและ/หรือสร้างกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา พร้อมๆ กับทำให้คนอื่นๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มคล้อยตามว่า ทางเลือกนั้นเป็นหนทางที่เป็นไปได้ในการจัดการแก้ไขปัญหาของพวกตนจากมุมมองทั้งในเชิงหมู่คณะและในเชิงอัตวิสัย [42]

ในเอกสารชิ้นนี้ ผู้เขียนเสนอว่า ปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์ของสมบัติกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงเป็นการริเริ่มที่เติมเต็มช่องว่างของเทศะ อันเป็นผลจากการกดขี่ปราบปราม ณ ชั่วขณะช่องว่างของเวลาเมื่อประชาชนที่ตกอยู่ในความเจ็บปวดและโกรธแค้นกำลังจะเลือกทางเลือกต่างๆ  ในแง่นี้ ปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์ที่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงริเริ่มขึ้นมาได้เสนอ “สมรรถภาพนอกกรอบ” ให้แก่ผู้คนที่ถูกบดขยี้จากการปราบปรามด้วยความรุนแรง  ปฏิบัติการที่สมบัติและกลุ่มของเขานำเสนอมีความเป็นไปได้และนอกกรอบเดิม ดังนั้น พวกเขาจึงสามารถเติมเต็มช่องว่างของเทศะและช่วงชิงช่องว่างของเวลามาได้ในชั่วขณะที่เหมาะสม และด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงช่วยป้องกันไม่ให้ขบวนการเสื้อแดงหันไปใช้ความรุนแรง ซึ่งมิฉะนั้นแล้วคงจะฉีกทึ้งสังคมไทยเป็นชิ้นๆ จนพินาศด้วยสงครามกลางเมือง

อ้างอิง:

  1. “ผู้ก่อการแดงหวานเย็น” บทสัมภาษณ์สมบัติ บุญงามอนงค์ โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ใน October 09 ฉบับ “Democracy” ปกป้อง จันวิทย์ (บก.) (กรุงเทพฯ: Openbooks, 2553), หน้า 148.
  2. กิจกรรมนี้จงใจอย่างเห็นได้ชัดและจึงมีความแตกต่างอยู่บ้างจากบางตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออก ซึ่งกลายเป็นต้นเค้าของขบวนการโซลิดาริตี้หรือ Solidarinos ที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของจักรวรรดิโซเวียต ดังที่มีอภิปรายไว้ใน  Jeffrey C. Goldfarb, The politics of small things: the power of the powerless in dark times (Chicago: The University of Chicago Press, 2007) .
  3. Ibid., pp.152-153.
  4. ข่าวสด, 20 กันยายน 2553.
  5. วรพจน์ พันธุ์พงศ์, “สมบัติ บุญงามอนงค์ : ว่าด้วยสงครามระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า,” ใน สถานการณ์ฉุกเฉิน (กรุงเทพฯ: บางลำพู, 2554), น. 153-154.
  6. เรื่องเดียวกัน.
  7. เรื่องเดียวกัน, หน้า 155-157. คำอธิบายของสมบัติชวนให้นึกถึงแนวคิดสำนักเฮเกลเกี่ยวกับปริมาณที่เปลี่ยนไปสู่คุณภาพ  แต่คำว่า “suchness” ที่เขาใช้เป็นศัพท์พุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าเรียกตัวเองว่า “ตถาคต” ซึ่งแปลว่า ผู้อยู่และไปแล้วเช่นนั้น หรือ “Suchness”
  8. เรื่องเดียวกัน, หน้า 158.
  9. เรื่องเดียวกัน, หน้า 161-163.
  10. Romulus หมายถึงบุคคลที่ในตำนานเล่าว่าเป็นผู้สร้างกรุงโรม  โรมิวลัสมีพี่น้องฝาแฝดชื่อรีมัส มารดาของทั้งสองคือธิดาของราชาแห่งอาณาจักรอัลบา (Alba)  ก่อนโรมิวลัสและรีมัสถือกำเนิด น้องชายของราชาแห่งอัลบาชิงอำนาจจากพี่ชายของตนและฆ่าทายาททุกคนที่เป็นเพศชาย  เมื่อโรมิวลัสกับรีมัสคลอดออกมา ทั้งสองจึงถูกโยนทิ้งแม่น้ำ แต่รอดมาได้และได้รับการเลี้ยงดูจากสุนัขป่า จนกระทั่งได้ไปอยู่กับครอบครัวของคนเลี้ยงแกะ  เมื่อทั้งสองเติบใหญ่ ก็ล้างแค้นได้สำเร็จ แต่ไม่ต้องการเป็นใหญ่ในอาณาจักรอัลบา พี่น้องแยกกันตั้งอาณาจักรใหม่ แต่แล้วก็ขัดแย้งกันเองและโรมิวลัสฆ่ารีมัสตาย  จากนั้นโรมิวลัสก็ตั้งอาณาจักรใหม่ นั่นคือ กรุงโรม --ผู้แปล
  11. หมายถึงกษัตริย์ไซรัสที่สองแห่งเปอร์เซีย (Cyrus II of Persia) (600 หรือ 576-530 ก่อนคริสตกาล) มักเรียกกันว่า Cyrus the Great หรือ Cyrus the Elder ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิอะคีเมนิด (Achaemenid) ด้วยการรบชนะจักรวรรดิมีเดียนของชาวมี้ด (Mede) หรือชาวอิหร่านในปัจจุบัน --ผู้แปล
  12. Theseus วีรบุรุษในเทพปกรณัมกรีก บุตรของโพไซดอน ผู้สังหารมิโนทอร์ และเป็นผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่เอเธนส์ --ผู้แปล
  13. Niccolo Machiavelli, The Prince on the Art of Power (W.K. Marriott Trans. 1908) (London: Duncan Baird Publishers, 2007), p. 54.
  14. Frantz Fanon (1925-1961) ชาวครีโอล (ผู้มีสายเลือดผสมระหว่างคนยุโรปกับคนผิวดำ) เชื้อสายฝรั่งเศส  เขาเป็นทั้งนักปรัชญา นักจิตบำบัด นักปฏิวัติและนักเขียน  ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อการศึกษาสำนัก post-colonial, critical theory ลัทธิมาร์กซิสต์ ตลอดจนนักมนุษย์นิยมเชิงอัตถิภาวนิยม (existentialist humanist)  ผลงานของเขาเน้นหนักไปในด้านการศึกษาสภาพทางจิตใจในยุคอาณานิคม ตลอดจนผลพวงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นตามมาหลังการปลดปล่อยอาณานิคม --ผู้แปล
  15. Emmanuel Hansen, Frantz Fanon: social and political thought (Columbus: Ohio State University Press, 1977), pp.121-122. สำหรับผู้ที่อาจรู้สึกว่าการอ้างถึงมาเกียเวลลีแล้วก็อ้างถึงฟาน็องในการอภิปรายเกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีนั้นออกจะเป็นการลบหลู่  ผู้เขียนขอกล่าวว่า อันที่จริงมีนักวิชาการที่อ้างเหตุผลสนับสนุนความเป็น “ฟาน็องนักมนุษยนิยม” เช่นกัน และสามารถเปรียบเทียบกับคานธีและแมนเดลาได้ ยกตัวอย่างเช่น  Gail M. Presby, “Fanon on the Role of Violence in Liberation: A Comparison with Gandhi and Mandela,” in Lewis R. Gordon, T. Denean Sharpley-Whiting and Renee T. White (eds.) Fanon: A Critical Reader (Oxford: Blackwell Publishers, 1996), pp. 283-296.
  16. โปรดดู Richard English, “The Interplay of Non-violent and Violent Action in Northern Ireland, 1967-1972,” in Adam Roberts and Timothy Garton Ash (eds.) Civil Resistance and Power Pollitics: The Experience of Non-violent Action from Gandhi to the Present (Oxford: Oxford University Press, 2009),  pp. 73-90. และ Chaiwat Satha-Anand, “Courting nonviolent confrontation in Thai house divided: What can be done?” บทความนี้เขียนในเดือนเมษายน 2553 ก่อนเกิดความรุนแรงและได้รับการตีพิมพ์ในฐานะบทความ op-ed ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post  (http://www.oldsite.transnational.org/Resources_Treasures/2010/Satha-A_NonviolenceThai.html)
  17. Anders Behring Breivik  (1979- ) ผู้ก่อการสังหารหมู่ในนอร์เวย์เมื่อ ค.ศ. 2011  หลังจากวางระเบิดตึกรัฐบาลในออสโล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย เขาก็เข้าไปสังหารหมู่ในค่ายเยาวชนบนเกาะ Utøya  โดยยิงประชาชนเสียชีวิตอีก 69 ราย ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและเด็ก --ผู้แปล
  18. Arjun Appadurai (1949- ) นักมานุษยวิทยาร่วมสมัยชาวอินเดีย  ผลงานของเขาเน้นให้เห็นความสำคัญของความทันสมัยของรัฐชาติและโลกาภิวัตน์ --ผู้แปล
  19. Arjun Appadurai, Fear of Small Numbers: An Essay on the Geography of Anger (Durham and London: Duke University Press, 2006).
  20. หมายถึงกลุ่มเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่า The European Revolutions of 1848 หรือในบางประเทศเรียกว่า Spring of Nations หรือ Springtime of the Peoples ซึ่งเป็นกระแสของการลุกฮือของประชาชนในหลายประเทศของยุโรปเมื่อ ค.ศ. 1848  ถือกันว่าเป็นกระแสการปฏิวัติที่กินวงกว้างที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป  แต่เกิดขึ้นได้เพียงปีเดียว หลังจากนั้นฝ่ายปฏิกิริยาก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้  กระแสปฏิวัตินี้เริ่มขึ้นในฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ แล้วแผ่ขยายไปเกือบทุกประเทศในยุโรป รวมทั้งบางส่วนในละตินอเมริกา รวมแล้วส่งผลกระทบมากกว่า 50 ประเทศ ทำให้ประชาชนถูกสังหารหลายหมื่นคนและจำนวนมากต้องอพยพหนีภัย  เหตุการณ์นี้ส่งผลสำคัญอาทิ การยกเลิกระบบฟิวดัลในออสเตรียและฮังการี การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเดนมาร์ก สิ้นสุดราชวงศ์ Capetian ในฝรั่งเศส และส่งผลกระทบอย่างมากในเยอรมนี โปแลนด์ และอิตาลี -- ผู้แปล
  21. Kurt Weyland, “The Arab Spring: Why the Surprising Similarities with the Revolutionary Wave of 1848?,” Perspectives on Politics Vol. 10 No.4 (December 2012), pp. 917-934.
  22. ตัวอย่างเช่น Magid Shihade, “On the Difficulty in Predicting and Understanding the Arab Spring: Orientalism, Euro-Centrism, and Modernity,” International Journal of Peace Studies Vol.17 No.2 (Winter 2012), pp. 57-70.
  23. Erika Chenoweth & Maria J. Stephan, Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict (New York: Columbia University Press, 2011), pp. 192-193.
  24. อุเชนทร์ เชียงเสน, “กำเนิด ‘เสื้อแดง’ ในฐานะขบวนการโต้กลับ,” หน้า 128.
  25. Wendy Pearlman, Violence, Nonviolence, and the Palestinian National Movement (New York: Cambridge University Press, 2011), p. 2.
  26. Sharon Nepstad, Nonviolent Revolutions: Civil Resistance in the Late 20th Century (New York: Oxford University Press, 2011).
  27. Wendy Pearlman’s review of Sharon Nepstad’s Nonviolent Revolutions in Perspectives on Politics Vol.10 No.4 (December 2012), p. 997.
  28. Gene Sharp, Sharp’s Dictionary of Power and Struggle: Language of Civil Resistance in Conflicts (Oxford: Oxford University Press, 2012), p. 148.
  29. Iain Atack, “Some Reflections on Transformative Nonviolence,” in Luc Reychler, Julianne Funk Deckard and Kevin HR Villanueva (eds.), Building Sustainable Futures: Enacting Peace and Development (Bilbao: University of Deusto, 2009), p. 239.
  30. Chaiwat Satha-Anand. Janjira Sombatpoonsiri, Jularat Damrongwithitham, and Chanchai Chaisukkosol, “Humor, Witnessing and Cyber Nonviolent Action: current research on innovative tactical nonviolent actions against tyranny, ethnic violence and hatred,” in Akihiko Kimijima and Vidya Jain (eds.) New Paradigms of Peace Research: The Asia-Pacific Context (Jaipur: Rawat Publications, 2013), pp. 137-158.
  31. Tatsushi Arai, Creativity and Conflict Resolution: Alternative pathways to peace (London and New York: Routledge, 2009).

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท