Skip to main content
sharethis

ในภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองตั้งแต่ช่วง 'อาหรับสปริง' ทำให้คนหนุ่มสาวหลายคนผันตัวมาเป็นนักล้อเลียนทางการเมืองผ่านทางยูทูบ เนื่องจากช่องทางสื่อหลักในหลายประเทศถูกควบคุมโดยรัฐบาล สิ่งที่พวกเขาสื่ออาจจะฟังดูสะเทือนความรู้สึก แต่พวกเขาทำเพื่อต้องการให้มีเสรีภาพสื่อมากขึ้น

14 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานเรื่องที่นักแสดงตลกในแถบประเทศอาหรับกำลังหันมาใช้ช่องทางยูทูบเพื่อล้อเลียนเสียดสีผู้มีอำนาจในประเทศ

อับดุล ราห์มัน สักร์ หนึ่งในนักแสดงตลกเสียดสี ได้ไปแสดงในที่ประชุมประจำปีของอัลจาซีร่า ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เขายืนอยู่บนโพเดียมในชุดทหารสีเขียวและรองเท้าบู้ต สวมหมวกทรงคล้ายเช เกวาร่า และแว่นกันแดดทรงแว่น เอวิเอเตอร์ กล่าวท่าทีเสียดสีว่า "เชื่อผมเถิดพี่น้องประชาชนของกระผม เผด็จการอย่างกระผมก็มีความรู้สึกเหมือนกัน เมื่อบูวอาซีซีจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงในปี 2554 ผมเองก็ร้องไห้ ไม่ใช่ร้องไห้เพราะชายผู้น่าสงสารคนนี้หรอกนะ แต่ร้องไห้เพราะเชื้อเพลิงหมดไปตั้งลิตรหนึ่ง"

แน่นอนว่าสิ่งที่สักร์พูดถึงเป็นเรื่องล้อเลียนเสียดสีผู้นำเผด็จการในโลกอาหรับโดยอาศัยตลกร้าย (black comedy) เพื่อนำเสนอกลุ่มของเขาให้กับมิตรสหาย "ชาวยูทูบ" ทั้วภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยบูวอาซีซีที่กล่าวถึงในประโยคคือชาวตูนีเซียที่ชุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงการถูกจับกุมเรื่องการตั้งแผงขายผลไม้จนเป็นชนวนทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการจนต่อมากลายเป็นกระแส 'อาหรับสปริง'

มีผู้แสดงออกในแนวทางนี้อีกคนหนึ่งชื่อ นิโคลัส คูวรี จากจอร์แดน เขาถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "กระทรวงเยาวชน" เขาเป็นคนที่พูดถึงประเด็นปัญหาของวัยรุ่นในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เรื่องความรักในประเทศตะวันออกกลาง การแต่งงาน และเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงล่าสุดคือกฎหมายการข่มขืน

"คุณต้องจำไว้ว่าเวลาคุณพูดเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศคุณในปัจจุบัน มันไม่ใช่แค่สิทธิ แต่มันเป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติ" คูวรีกล่าว

ในอียิปต์มีคนที่ชื่อ โจ ฮุสเซน นำเสนอผลงานภายใต้ชื่อบัญชี JoeTube ซึ่งมีผู้เข้าชมเกือบ 1 ล้านคน ฮุสเซนรู้สึกว่าเกิดสุญญากาศในพื้นที่สื่อหลังจากการลุกฮือเกิดขึ้นในเดือน ม.ค. ปี 2554 เขาคิดว่าอารมณ์ขันจะเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงประชาชนของเขาได้

"ประชาชนชาวอียิปต์เป็นคนมีอารมณ์ขันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว พวกเราเล็งเห็นว่ามีพื้นที่ทางเลือกสำหรับพวกเราซึ่งเป็นเยาวชน คือพื้นที่ในโลกออนไลน์ แทนที่สื่อซึ่งรัฐเป็นเจ้าของ" ฮุสเซนกล่าว


พื้นที่ทางเลือกของคนหนุ่มสาว

ซาฮาร์ กามีส์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์กล่าวว่า คนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มประชากรที่เตฺบโตเร็วที่สุดในประเทศที่ต้องการการปฏิรูปทางสังคมการเมืองและการทำให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงโลกอาหรับที่ประชากรร้อยละ 70 เป็นคนหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี กามีส์บอกอีกว่าขณะที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ได้รับการศึกษา หรืออยากมีการศึกษา สิ่งที่สำคัญกว่าคือพวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีความรู้ด้านเทคโนโลยีทำให้พวกเขาสามารถหาผู้ชมในสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อได้

กามีส์ประเมินว่าปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายปีหลังจากนี้และจะเติบโตรวดเร็วขึ้นเนื่องจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตโดยทั่วไปโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ใช้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างทวีคูณในหลายประเทศของอาหรับโดยเฉพาะหลังปรากฏการณ์อาหรับสปริงในปี 2554

ในการสำรวจของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในประเทศกาตาร์เมื่อไม่นานมานี้ได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจากกาตาร์, บาห์เรน, อียิปต์, จอร์แดน, ซาอุดิอารเบีย, เลบานอน, ตูนีเซีย และสหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์ ผลระบุว่าในกลุ่มประชากรอายุ 18-34 ปี มีอยู่ร้อยละ 48 ที่รู้สึกว่าประชาชนควรมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพวกเขาทางอินเตอร์เน็ต ร้อยละ 51 บอกว่าการใช้อินเตอร์เน็ตทำให้ประชาชนเข้าใจธรรมชาติของการเมืองมากขึ้น

อีกประเทศหนึ่งที่มีตลาดการล้อเลียนเสียดสีการเมืองกำลังเติบโตคือประเทศคูเวต ซึ่งได้สร้างช่องในยูทูบชื่อช่อง "Sheno Ya3ni TV" แปลได้ว่า "ก็แล้วไงล่ะ" เนื่องจากทนดูช่องโทรทัศน์ของรัฐซึ่งมีแต่เนื้อหาที่รัฐบาลอนุญาตให้เผยแพร่ไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาแสดงตลกในเรื่องที่ชวนให้ชาวคูเวตรู้สึกช็อก บางเรื่องก็เป็นเรื่องต้องห้ามพูดถึง พวกเขาสนใจเรื่องสิ่งที่นำเสนอน้อยกว่าที่สนใจว่าผู้คนควรมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อาห์หมัด อัลชามารี คนนำแสดงในช่อง "Sheno Ya3ni TV" เขาเคยถูกคนกลุ่มหนึ่งเรียกให้หยุดแล้ววิจารณ์ว่าเนื้อหาในช่องของเขามีภาพไม่เหมาะสมและส่งอิทธิพลด้านลบต่อคนรุ่นหนุ่มสาวมากเกินไป อัลชามารีตอบกลับไปแค่ว่าถ้าพวกเขารู้สึกไม่สบายใจก็แค่ไม่ต้องดูช่องของพวกเขา พวกเขามีช่องของรัฐบาลให้ดูหลายช่อง

แม้ว่าพวกเขาจะพยายามผลักดันให้มีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น แต่การแสดงความคิดเห็นทางสังคมการเมืองก็ต้องยืนหยัดท้าทายอุปสรรค โดยเฉพาะในเรื่องที่รัฐบาลไม่อยากให้วิจารณ์

แต่บางคนก็ถูกทหารใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แล้วก็เขี่ยให้พ้นทาง

กรณีล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้คือกรณีของ บาสเซม ยุสเซฟ นักวิจารณ์ชาวอียิปต์ต้องประกาศปิดตัวรายการของตนเนื่องจากมีแรงกดดันจากภายนอกและเขาเกรงว่าตัวเขาและครอบครัวจะไม่ปลอดภัย ยุสเซฟเริ่มต้นเส้นทางอาชีพด้วยการเป็นนักเสียดสีการเมืองผ่านยูทูบเช่นเดียวกับคูวรีและฮุสเซน ก่อนที่จะมีรายการของตนเองทางโทรทัศน์

อย่างไรก็ตามกามีส์มองว่ายุสเซฟถูกรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังของอียิปต์ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเปิดทางให้มีการยึดอำนาจโมฮัมเหม็ด มอร์ซี โดยการรัฐประหารในเดือน ก.ค. 2556

"โชคไม่ดีที่เขาถูกชักใยและใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโจมตีกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ซึ่งมักจะเป็นการล้อเลียนพวกเขาซึ่งบางครั้งก็ดูก้าวร้าวเกินไป และเมื่อมอร์ซีถูกขับออกจากตำแหน่งแล้ว ก็ถึงเวลากำจัดยุสเซฟ" กามีส์กล่าว

กามีส์บอกอีกว่าการกำจัดยุสเซฟเป็นเพราะพวกเขากลัว "นักเสียดสีการเมืองซึ่งเป็นที่นิยมและใช้การได้"

ขณะที่ช่อง Sheno Ya3ni TV ของชาวคูเวตคิดว่าในฐานะของนักแสดงตลกพวกเขาต้องเล่นกับ "ขีดจำกัด" ของคนในสังคม ค่อยๆ ทำให้พวกเขาขยายขอบเขตไปอย่างช้าๆ แต่ก็มีอีกแนวทางหนึ่งซึ่งมีความอนุรักษ์นิยมมากกว่าคือกลุ่ม Klmt Ras ของกาตาร์ ซึ่งมักจะถกเถียงเรื่องปัญหาสังคมแต่หลีกเลี่ยงพูดเรื่องการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกล่าวถึงประเทศกาตาร์ในแง่ร้ายก่อนได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2565

กามีส์กล่าวว่าเรื่องความอดทนต่อความต่างและบรรยากาศทางการเมืองในแต่ละประเทศแตกต่างกัน "เส้นขีดจำกัด" ไม่เคยถูกคั่นไว้ตายตัว เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับระดับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห้นที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงออกในระดับเดียวกันหรือรูปแบบเดียวกันได้ทั้งหมด

อัลจาซีร่ายกตัวอย่างสถานการณ์ในอียิปต์ ซึ่งประธานาธิบดีคนใหม่ อับเดล ฟัตตาห์ อัลซีซี ได้ไปเยี่ยมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อบอกกับพวกเขาว่ารัฐบาลของอัลซีซีจะไม่ยอมให้มีเสรีภาพสื่ออย่างเต็มที่ โดยอ้างว่าอียิปต์ต้องการ "สมดุลระหว่างเสรีภาพและความมั่นคงของประเทศ"

คูวรีกล่าวว่า "สิ่งที่เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่สุดคือผู้ที่พูดเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตถูกหาว่าเป็น 'คนทรยศชาติ' แต่คนทีนิ่งเฉยกลับถูกยกย่องว่าเป็นคนรักชาติ ความคิดแบบนี้ควรจะเปลี่ยนไป"

 


เรียบเรียงจาก

Arab YouTube revolution: Push for free speech, Aljazeera, 13-06-2014
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net