Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ เป็นเหตุการณ์น่าสะเทือนใจที่ผู้เขียนเรียกว่า “ความโกลาหล” คือในหลายจังหวัดมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่กวาดจับ ตรวจตา หรือรื้อทำลายแหล่งพักพิง และส่งกลับแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างหรือลอยแพแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ประกอบการที่กลัวความผิดจากการจ้างงานผิดกฎหมาย ในขณะที่แรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่หวาดหวั่นต่อความปลอดภัย ก็พากันยกทัพหอบหิ้วกันกลับบ้าน ข่าวบางเล่มเสนอว่าที่ชายแดนไทย-กัมพูชา มีแรงงานทะลักกลับบ้าน มากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  

เหตุการณ์นี้เป็นผลจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ ตามแนวนโยบายของ คสช. นอกจากปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดที่กล่าวมา มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการเพื่อ “แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว” โครงสร้างคณะกรรมการและอนุกรรมการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและข้าราชการประจำ รวมทั้งมีข่าวแนวคิดจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมโรงงานขนาดเล็กตามแนวชายแดนและชนบท “…ในส่วนของแรงงานนั้นหรือโรงงานแนวชายแดนนั้นมีความจำเป็น เพราะไม่งั้นถ้าไม่มีโรงงานชายแดน ไม่มีการสร้างงานในพื้นที่ชนบท คนก็จะเข้ามา ในกรุงเทพก็จะแออัด และมีการกระทำความผิดกฎหมายมากขึ้น ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว หรือการลักขโมยในพื้นที่เมืองใหญ่ ๆ ก็จะเกิดขึ้น เป็นปัญหาด้านความมั่นคงในระยะสั้นและระยะยาว…” ท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติกล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ในวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา[1]

เป็นอันว่า “ความมั่นคง” จะกลับมาเป็นแนวคิดหลักในการจัดการแรงงานข้ามชาติอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่า ความโกลาหลของชีวิตแรงงานที่เกิดขึ้น เป็นเพียงปฐมบทของการกลับมาอีกครั้งของยุคความมั่นคง   

หากดูผิวเผินชวนให้นึกว่า การใช้อำนาจเด็ดขาดในการตรวจสอบและจับกุมส่งกลับแรงงานได้ผลทันตา ความเด็ดขาดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการชะล้างสิ่งหมักหมม และความผิดพลาดเสียหาย จากนั้นจะได้เริ่มต้นใหม่อย่างถูกต้องเสียที แต่ผู้เขียนเกรงว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น การแก้ไขเรื่องแรงงานข้ามชาติต้องการมากกว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดอย่างเดียว

แท้จริง แรงงานข้ามชาติเป็นเพียง “เหยื่อ” ของอำนาจและผลประโยชน์ ในโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมที่ซับซ้อน ในด้านหนึ่งมีความต้องการจากพวกเขาเอง ที่จะหนีความทุกข์ยากจากบ้านเกิด ไม่ว่าจากเหตุทางเศรษฐกิจ หรือการเมือง เราควรตระหนักว่ามีประชากรเรือนล้านจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่พร้อมจะเสี่ยงเข้ามาไม่ว่าด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะมีมาตรการป้องกันเข้มงวดเพียงใดก็ตาม   

ในประเทศของเรามีแรงดึงดูดที่เกิดจากเหตุอันซับซ้อน  โครงสร้างอุตสาหกรรมของบ้านเรามีปัญหามานาน คือเป็นอุตสาหกรรมด้อยพัฒนาด้านความรู้และเทคโนโลยี แต่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้น และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากต้นทุนแรงงานต่ำ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยพัฒนาไปตามสมควร ทั้งนี้จากการลงทุนของต่างชาติ จึงมีการยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น และใช้แรงงานมีฝีมือมากขึ้น (ส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานไทย) กระนั้นการพัฒนายังอยู่ครึ่งๆกลางๆ  ในบริบทนานาชาติ ไทยนับเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง”  ประเทศแบบนี้อยู่ใน “กับดัก” ทางเศรษฐกิจ คือจะแข่งกับประเทศที่สูงกว่าก็สู้ไม่ได้ จะถอยก็ไม่มีอนาคต 

ส่วนที่เหลือของอุตสาหกรรมไทยเป็นมรดกที่ไม่เคยหมดไป คือยังมีอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่ทำกำไรจากการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน  เช่น กิจการประมงและแปรรูปประมงทะเล ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชเศรษฐกิจ โรงสีข้าว โรงงานแปรรูปวัตถุดิบการเกษตร โรงงานแปรรูปอาหาร การก่อสร้าง กิจการที่ต้องการแรงงานแบกหาม การผลิตสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อย (เช่นโรงงานห้องแถว) รวมทั้งในภาคบริการ เช่น สถานประกอบการประเภทที่พัก ร้านค้า บ้าน เป็นต้น ผู้ประกอบการเหล่านี้มีจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ พวกเขาคือกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่ต้องการและได้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติราคาถูกมาโดยตลอด

ในบรรดาผู้จ้างเหล่านี้มีทั้งผู้จ้างงานถูกและผิดกฎหมาย แต่นายจ้างจำนวนมากเลือกจ้างผิดกฎหมาย แม้ว่าต้องเสียเงินปกปิดความผิด แต่ได้ประเมินแล้วว่ายังคุ้มค่ากว่าจ้างงานถูกกฎหมาย เพราะค่าจ้างสูง กระบวนการงานจ้างยุ่งยาก และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิแรงงาน นายจ้างที่เลิกจ้างหรือลอยแพคนงานดังเป็นข่าว  ส่วนใหญ่คือคนกลุ่มนี้

นอกเหนือจากตัวละครเหล่านี้ กลไกสำคัญที่สุดคือ “นายหน้า” แรงงาน ขบวนการนายหน้ามีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่จะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้ ประเด็นสำคัญคือ นายหน้าเป็นธุรกิจผลประโยชน์มหาศาล และไม่มีหมดไป ตราบที่ยังมีแรงงานข้ามชาติต้องการมาทำงาน และมีนายจ้างต้องการจ้างงาน ท่ามกลางอุปสรรคหรือความไม่สะดวกของกฎหมายหรือกฎระเบียบ ธุรกิจนี้มีคนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย เป็นตัวหล่อลื่นให้การจ้างแรงงานคล่องตัว ดำเนินการทั้งแบบถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ใช้ทั้งความรุนแรง และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตามปกติ ที่ผ่านมาพบว่าการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดกับแรงงาน กลับทำให้ขบวนการนี้ได้ผลประโยชน์มากขึ้น  

เครือข่ายนายหน้าแรงงานไม่อาจทำงานได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจาก “ผู้มีอิทธิพล” ซึ่งหมายถึงผู้มีอำนาจในการใช้หรือบิดเบือนกฎหมายหรือนโยบาย เราอาจได้ยินจากสื่อ (และจะได้ยินมากขึ้นอีก) ว่าผู้มีอิทธิพลเบื้องหลังขบวนการคือบรรดา  “นักการเมือง”  ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่เพื่อความถูกต้อง ผู้เขียนขอเน้นด้วยว่า “ข้าราชการ” จำนวนหนึ่ง ก็เป็นส่วนสำคัญ ควรทราบด้วยว่า ข้าราชการหรือ “คนมีสี” (จำนวนหนึ่ง)  มีหลายสีที่สนับสนุนขบวนการ ในหมู่สีเหล่านี้บางแห่งแบ่งพื้นที่แบ่งภารกิจกันกิน  บางพื้นที่กินด้วยกัน บางพื้นที่กินต่อกันเป็นทอดๆ แล้วแต่ว่าช่วงไหนใครจะใหญ่ หรือแล้วแต่ภารกิจด้านใด  เรื่องเหล่านี้เป็นที่รู้กันดี โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดน ท่านสามารถถามดูได้แม้กระทั่งจากชาวบ้านหาเช้ากินค่ำทั่วไป ข้อเท็จจริงยังบอกอีกว่า ในการค้าข้ามแดน การค้าแรงงานมักจะพัวพันกับการค้าสินค้าอื่นๆด้วย ทั้งนี้มีรูปแบบแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ซึ่งในเครือข่ายอาจมีทั้งการค้าแรงงาน และสินค้าอื่นๆ เช่น ข้าว น้ำตาล น้ำมัน อาวุธ ยาเสพติด หรืออื่นๆ เป็นเครือข่ายอำนาจที่ซับซ้อนแน่นหนากว่าที่คิด

มโนดูว่า การกวาดจับแรงงานส่งกลับ จะทำให้ธุรกิจการค้าแรงงานหมดไปได้จริงหรือ ท่านจะจับผู้กระทำผิดฝ่ายใดได้บ้าง นอกจากแรงงานตาดำๆ และงานนี้จะเลี่ยงพ้นจากการลูบหน้าปะจมูกได้อย่างไร

ประเด็นที่อยากจะพูดถึงอีกคือแนวคิด “ความมั่นคง”  ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เน้นบูรณภาพ เอกภาพ และอธิปไตยเหนือดินแดน แนวคิดโบราณนี้เหมาะกับยุคสร้างชาติ หรือยุคที่มีภัยคุกคามอย่างชัดแจ้ง เช่นยุคสงครามเย็นที่ผ่านมา แนวคิดความมั่นคงทำงานหนุนเสริมกับลัทธิชาตินิยม ซึ่งที่ผ่านมาลัทธิชาตินิยมไทย มีลักษณะประการหนึ่งคือ การเหยียดเพื่อนบ้าน และอคติที่ถูกปลูกฝังนี้ก็เชื่อมโยงกับอาการทางจิตวิทยาสังคมที่ที่เรียกว่า “Xenophobia”  หรือโรคเกลียดกลัวคนต่างชาติ (โดยเฉพาะคนต่างชาติที่จนๆกว่าเรา) ดังนั้น ทั้งที่เราได้ประโยชน์มากมายจากแรงงานข้ามชาติ คนจำนวนหนึ่งกลับเอาแต่หวาดระแวงและวิตกกังวลกับการอยู่ร่วมแผ่นดินกับคนเหล่านั้น แนวคิด อคติ และอาการทางจิตของสังคมแบบนี้ ถูกกระตุ้นและได้รับการสนับสนุนอย่างดี ในยามที่รู้สึกว่าบ้านเมืองกำลังคับขัน

แนวคิดความมั่นคง เคยมีบทบาทสูงในการกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติ (รวมทั้งคน “ต่างด้าว” กลุ่มต่างๆ เช่น ชาวเขา ผู้อพยพ คนไร้สัญชาติ) โดยเฉพาะช่วงต้นทศวรรษ 2530  แต่ที่ผ่านมาการใช้อำนาจก็เป็นไปด้วยความประดักประเดิด เพราะด้านหนึ่งก็หวาดระแวง แต่ในเวลาเดียวกันก็อยากได้ประโยชน์จากเขา  จึงเป็นการ “ควบคุม” พร้อมกับ “การกีดกัน” หมายถึงการอนุโลมให้เข้ามาทำงาน ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย จึงไม่ได้รับสิทธิตามที่แรงงานควรจะได้รับ และเมื่อครบรอบปีจะพิจารณาต่ออายุงานเป็นครั้งๆไป 

แต่ต่อมาสถานการณ์โลกก็บังคับให้รัฐไทยต้องวางมือ หรืออย่างน้อยก็ถอยห่างจากแนวคิดความมั่นคง รัฐถูกบีบจากกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยสองด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งคือแนวคิดเสรีนิยม ที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งแก่ประเทศต้นทางและปลายทางของแรงงาน ในเวลาเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐลดบทบาทผู้กระทำการทางเศรษฐกิจ ไปอยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลกฎระเบียบ ให้ระบบดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและโปร่งใส อีกด้านหนึ่งแรงบีบมาจากแนวคิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ที่เกิดจากการต่อสู้ทางความคิดมายาวนาน และได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในระดับสากล ดังที่เราท่านคงคุ้นหูกับบทบาทองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ปฏิญญาด้านแรงงาน และอื่นๆ  

ทั้งหมดนี้หมายความว่า โลกได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ จากการเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม มาสู่การเห็นว่าการเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ จากการกีดกัน มาสู่การอำนวยความสะดวกในการเข้าออกประเทศ  จากการถูกปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง มาสู่การได้รับการคุ้มครองปกป้องสิทธิโดยเท่าเทียมกับแรงงานชาติและคนกลุ่มอื่น การย้ายถิ่นข้ามชาติถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์  และการเป็นแรงงานข้ามชาติถือเป็นแนวทางการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง และแน่นอน ทั้งหมดนี้ปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับมโนทัศน์ทางการปกครองด้วย โลกก้าวไปสู่การมองพรมแดนและดินแดนอย่างยืดหยุ่น และการยอมรับความเป็นพลเมืองแบบยืดหยุ่น เปิดกว้างมากขึ้นต่อการยอมรับการเป็นพลเมือง หรือการยอมรับการถือ 2 สัญชาติของบุคคล การหาวิธีการจัดการปัญหาร่วมระหว่างรัฐ หรือสถาบันเหนือรัฐ หรือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆ

ประเทศที่ไม่อยากเป็นตัวตลกในสังคมโลก (และไม่ต้องตั้งคณะแก้ตัวกับชาวโลกบ่อยๆ) และคำนึงถึงว่านานาอารยะประเทศเขาอาจจะบอยคอตความร่วมมือ และอาจจะไม่ซื้อสินค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่อีกมหาศาล ก็จำจะต้องปรับตัว

นับจากต้นทศวรรษ 2540 ที่ผ่านมา พอจะพูดได้ว่ารัฐไทยปรับตัวไปในทางที่ดีพอสมควร กฎหมายไทยเริ่มรับรองสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีการแสดงเจตจำนงที่จะคุ้มครองแรงงานตามบรรทัดฐานสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน มีการริเริ่มทางปฏิบัติเช่น การให้สิทธิการรักษาพยาบาล การศึกษาของบุตรหลานแรงงาน และสิทธิพื้นฐานอีกหลายประการ มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานในกระทรวงแรงงานเพื่อจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ มีคณะกรรมการนโยบายเพื่อจัดการแรงงานอย่างเป็นระบบด้วย (กบร.)  (แม้ว่าองค์ประกอบทั้งหมดจะเป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ) มีการทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้านว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน การดำเนินการทั้งหมดพยายามจัดระบบการจ้างแรงงานให้เข้าสู่กรอบกฎหมาย แต่ก็ยึดความยืดหยุ่นตามสมควร ซึ่งทั้งหมดนี้แม้จะยังไกลจากความสมบูรณ์ แต่นับว่าวงการจัดการแรงงานข้ามชาติ ได้ลงทุนลงแรง เดินทางมาไกล และมุ่งหน้าไปบนทิศทางที่ถูกต้อง       

ทว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าตระหนกยิ่ง เพราะมีสัญญาณว่าการจัดการแรงงานข้ามชาติจะถอยหลังสู่ยุคความมั่นคงอีกครั้ง ด้วยความห่วงใยต่อชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ และไม่อยากเห็นสถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ ผู้เขียนมีข้อคิดเพื่อหาทางออกดังนี้

1. ความมั่นคงเป็นแนวคิดล้าสมัยไม่เหมาะสมต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติ ประชาคมโลกได้ถอยห่างจากแนวคิดนี้มานานแล้ว การใช้แนวคิดนี้โดยเฉพาะการเข้มงวดกับแรงงาน (แทนที่จะใช้กับกลุ่มอื่นๆ เช่นนายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ) จะถูกตั้งคำถามจากองค์กรแรงงาน และองค์กรสิทธิมนุษยชน ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจมีผลกระทบระดับรัฐต่อรัฐกับประเทศเพื่อนบ้าน และความรู้สึกลบจากประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน  ในแง่สัมฤทธิ์ผลของการทำงาน การจับกุมส่งกลับจะได้ผลเพียงระยะสั้น แต่ตราบที่ยังมีความต้องการมาทำงานและความต้องการจ้างงาน ไม่ช้าแรงงานจะกลับมาอีก สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มผลประโยชน์ให้กับขบวนการนายหน้า ในขณะที่แรงงานจะต้องรับภาระรายจ่ายและความเสี่ยงมากขึ้นอีก

2. การดำเนินการให้แรงงานเข้าสู่การจัดการตามกรอบกฎหมายเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องเป็นไปโดยความยืดหยุ่นตามสมควร ประเด็นสำคัญคือต้องไม่จัดการกับแรงงานแต่ฝ่ายเดียว ยังมีนายจ้าง และกลไกสำคัญคือขบวนการนายหน้า รัฐต้องจัดการกับสองฝ่ายหลัง และภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า องค์ประกอบสำคัญของขบวนการนายหน้า คือเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นเพื่อป้องกันการปกป้องพวกพ้อง และความไม่เชื่อมั่นจากสังคม จะต้องสร้างกลไกตรวจสอบ ที่เปิดกว้างให้สังคมเข้าไปมีส่วนร่วม การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบจากฝ่ายความมั่นคงและข้าราชการทั้งสิ้น เป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหา สิ่งที่ควรคิดก็คือการออกแบบกลไกที่จะทำให้สังคมมีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจ ในระดับ และในพื้นที่ต่างๆ   

3. ในสังคมโลกวิธีการดีที่สุดในการแก้ปัญหาสิทธิแรงงานคือ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงาน ในรูปแบบสหภาพแรงงาน หรือการรวมกลุ่มในรูปแบบอื่นๆ เพราะไม่มีวิธีใดจะดีไปกว่าทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถลุกขึ้นมาใช้กฎหมาย หรือกำหนดกฎหมายที่ปกป้องตัวเองได้  กฎหมายที่ขัดขวางการรวมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องสิทธิแรงงาน เป็นการบั่นทอนถึงรากของกระบวนการแก้ไขปัญหาแรงงาน ในอีกระดับหนึ่งการสนับสนุนข้อตกลงระหว่างประเทศด้านแรงงาน เป็นสิ่งชี้วัดระดับความอารยะของการปกครองประเทศ และการคัดค้านหรือละเลยต่อข้อตกลงนานาชาติ ดังกรณีที่ผ่านมาในการคัดค้านสนธิสัญญาลงโทษบังคับใช้แรงงาน เป็นเรื่องน่าละอายต่อสายตาชาวโลกอย่างยิ่ง  

4. ไม่ควรมองแรงงานข้ามชาติในฐานะภัยคุกคาม และไม่ควรมองว่าพวกเขาเป็นสินค้าราคาถูกสำหรับหล่อลื่นเศรษฐกิจของไทย การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไม่ควรเกิดขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว   สิ่งที่ควรคิดคือ การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และการทำให้กฎหมายที่มีอยู่แล้วบังคับใช้ได้จริง แรงงานข้ามชาติจะต้องได้รับค่าแรงและการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงค่าแรงที่แรงงานไทยควรได้รับ แรงงานไทยควรจะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมานานแล้ว และควรจะต้องมากขึ้นตามฝีมือ ความรับผิดชอบ และอายุการทำงาน ซึ่งหมายความว่าสังคมไทยควรคิดให้ไกล เราจะมีอนาคตอย่างไรถ้ายังอยู่กับอุตสาหกรรมที่ขูดรีดทรัพยากรและแรงงาน เราจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างไร มีอะไรที่ควรจะคิดและทำอีกเยอะ ดีกว่าการไล่จับแรงงาน ที่เป็นปลายเหตุและเป็นเหยื่อของปัญหาทั้งหมด.    

 




[1] http://www.hfocus.org/content/2014/06/7394

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net