Skip to main content
sharethis
 
15 มิ.ย. 2557 สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ 'หยุดทำร้ายคนจน' ระบุ คำสั่ง คสช. ฉบับ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดขี่คนจน เลือกปฏิบัติ จี้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน  
หยุดทำร้ายคนจน
 
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 สรุปได้ว่า ให้กระทรวงกลาโหม  กระทรวงมหาดไทย  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย  กองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบก  และกองทัพเรือ  ตลอดจนหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า  รวมทั้งผู้สมคบและสนับสนุนช่วยเหลือ  ให้ได้ผลอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ และติดตามผลคดีป่าไม้และดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย ให้คืนสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์ดังเดิม 
 
สมัชชาคนจนเห็นว่า  ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินป่าไม้ หรือชุมชนบุคคลที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานในสังคมไทย สาเหตุหนึ่งของปัญหาดังกล่าวเนื่องจากความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวโดยรัฐ กล่าวคือ การประกาศว่าพื้นที่ใด ป่าผืนใดเป็น เขตป่าไม้ เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานชาติหรือเขตป่าอนุรักษ์  เป็นแต่เพียงการขีดเส้นในแผนที่ให้ตรงไหนเป็นเขตป่าทำให้ไม่ตรงกับสภาพจริง และเกิดการทับซ้อนระหว่างพื้นที่ป่าไม้กับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน ดังพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันรพี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516 ว่า
 
“...กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง  มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหวังที่จะบังคับประชาชน ก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยต้องบังคับบุคคลหมู่มาก  ในทางตรงกันข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับบุคคลส่วนมาก มีเสรีและอยู่ได้ด้วยความสงบ บางทีเราตั้งกฎหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการซึ่งได้จากต่างประเทศ เพราะว่าวิชาการกฎหมายนี้ก็เป็นวิชาการที่กว้างขวาง จึงต้องมีอะไรทำอย่างหนึ่ง แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือท้องที่ของเรา…
 
...ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่า  เป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนกแต่ว่าเราขีดเส้นไว้ ประชาชนก็มีอยู่ในนั้นแล้ว เราจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวน เพิ่งไปสงวนทีหลัง โดยขีดเส้นบนเศษกระดาษ ก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในนั้น ก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมาย เขาก็ฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั้นเองเพราะว่าบุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน เขามีสิทธิ์ในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุกบุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง…”
 
นอกจากนี้ นายธิติ กนกกวิฐากร อดีตผู้ตรวจการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช  ได้ชี้แจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน  ครั้งที่ 1/2555  ว่า  หากไม่มีการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ต้องจับกุมดำเนินคดีประชาชนทั่วประเทศ  ทันทีกว่า 2 ล้านคน   ดังนั้นการออกคำสั่งดังกล่าวนี้เป็นการลุแก่อำนาจ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดขี่ ทำร้าย ทำลายคนจน  โดยที่ไม่ยอมรับฟังความคิดความเห็น ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น  ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะคนที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นคนจน แต่คนร่ำคนรวยก็ถูกละเว้นไม่ดำเนินคดี  ยกตัวอย่างเช่น  กรณีการบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่เขายายเที่ยง เป็นต้น   สมัชชาคนจนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนคำสั่งดังกล่าว  และขอให้ชะลอการดำเนินคดีต่างๆ ไว้ก่อน  เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่มีความเป็นธรรมกับคนจน  
 
 
ประชาธิปไตยที่กินได้  การเมืองที่เห็นหัวคนจน
 
สมัชชาคนจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net