Skip to main content
sharethis
ศาลตุรกีตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 2 นายพล ผู้อยู่เบื้องหลังทำรัฐประหารเมื่อปี 1980 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดของประวัติศาสตร์ตุรกี เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต และถูกทรมานเป็นจำนวนมาก
 
ศาลในกรุงอังการาของตุรกีตัดสินให้ พลเอกคีแนน เอฟเรน วัย 96 ปี และ พลอากาศเอก ตาฮ์ซิน ซาฮินคายา วัย 89 ปี ว่ามี ความผิดข้อหาทำรัฐประหาร  และขับรัฐบาลพลเมืองออกจากอำนาจ โดยใช้กำลังทหาร ตลอดจนต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลในขณะนั้น หลังอัยการตุรกียืนขอให้ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตกับพลเอกเอฟเรน ซึ่งภายหลังการทำรัฐประหาร พลเอกเอฟเรนก็ได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
 
พลเอกเอฟเรน และพลอากาศเอก ซาฮินคา ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีครั้งนี้ผ่านวิดีโอสกรีน เนื่องจากทั้ง 2 คน มีปัญหาด้านสุขภาพ และกำลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทหารในกรุงกรุงอังการาและนครอิสตันบูล ตามลำดับ ซึ่งช่วงการพิจารณาทั้ง 2 กล่าวว่า ไม่มีคำให้การเพิ่ม
 
หลังคำตัดสินทำให้ประชาชนประมาณ 200 คน ภายนอกห้องพิจารณารู้สึกดีใจ และกล่าวยกย่องเป็นอย่างมากพร้อมตะโกนว่า “นี่แค่เป็นเพียงการเริ่มต้น ผู้ก่อรัฐประหารจะต้องชดใช้”  ขณะที่ บางคนชูภาพเหยื่อที่ถูกประหารชีวิต และเสียขีวิตขณะถูกจำคุกในช่วงเวลานั้น รวมทั้งบางคนก็ชูป้ายขนาดใหญ่มีข้อความ “พวกเราไม่ให้อภัย และไม่ลืมเหตุการณ์วันที่ 12 กันยายน” ซึ่งเป็นวันที่ทหารยึดอำนาจ
 
ทนายความจำเลย กล่าวประณามข้อหาดังกล่าว และเตรียมยืนอุทธรณ์คำตัดสินทันที
 
อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า อดีตทหาร 2 นาย จะสามารถรับโทษจำคุกตลอดชีวิตได้หรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ
 
นักวิเคราะห์ด้านการเมืองตุรกี เซงกิซ อัครตาร์ ให้ความคิดเห็นว่า การตัดสินดังกล่าวเป็นหลักหมุดหมายที่สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็นครั้งแรกที่ตุรกีต้องเผชิญกับประวัติศาสตร์การรัฐประหารเป็นครั้งแรก เป็นการทลายวัฒนธรรมการเว้นรับผิด และเป็นครั้งแรกที่กองทัพตุรกีถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากอาชญากรรมที่เคยกระทำในอดีต 
 
สำหรับ 2 นายพล ซึ่งขณะนี้ได้ถูกถอดยศ ได้ยึดยึดอำนาจเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 1980 แต่เมื่อปี 2012 เพิ่งมีการนำตัวมาพิจารณา หลังพรรคยุติธรรมและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้เสนอการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่
 
ในระหว่างการไต่สวน นายพลทั้งสองไม่เคยแสดงความเสียใจต่อการเข้ายึดอำนาจดังกล่าว และระบุว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยุติการนองเลือดบนท้องถนนระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในตุรกี 
 
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2012 ในการพิจารณาครั้งแรก พลเอกเอฟเรน ได้เคยกล่าวว่า รู้สึกสำนึกผิด กับการกระทำของเขา แต่มันก็เป็นสิ่งที่ถูกที่ต้องทำในช่วงเวลานั้น พร้อมกล่าวต่อไปว่า “หากผมต้องตัดสินใจว่า จะทำรัฐประหารอีกหรือไม่ ก็จะเลือกที่จะทำเช่นเดิม” 
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์ทหารทำรัฐประหารเมื่อปี 1980 ขึ้นชื่อว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่มีการนองเลือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เนื่องจากขณะนั้นมีคนถูกประหารชีวิต 50 ราย ขณะที่ ประชาชนอีกจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากการถูกทรมาน ตลอดจนมีการจับกุมผู้ต่อต้านอีก 6 แสนคน บางคนก็ยังสูญหาย
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ และ เดอะ การ์เดียน 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net