Skip to main content
sharethis

เก็บตกเสวนากรณีศึกษาการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี และกระบวนการอนารยะสังคม (uncivil society) ขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยในต่างแดน กรณีศึกษาจากยูเครน, เซอร์เบีย, อียิปต์ ฯลฯ 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 กลุ่มวิทยานิพนธ์สนทนาจัดกิจกรรมเสวนากรณีศึกษาการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี และกระบวนการอนารยะสังคม (uncivil society) ต่อต้านประชาธิปไตยในต่างแดน โดยมีวิทยากร 2 ท่านคือ จิตติภัทร พูนขำ และจันจิรา สมบัติพูนสิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
จิตติภัทรได้พูดถึงกรณีศึกษากระบวนการยูโรไมเดน (Euromaidan) ในยูเครน กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน ปีที่แล้วซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ของไทย จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ประเทศยูเครนเองเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ที่หยั่งรากลึกพอสมควร เนื่องจากยูเครนเพิ่งแยกประเทศออกจากรัสเซียได้ประมาณ 20-30 ปี ทำให้มีคนรัสเซียที่พูดภาษารัสเซียอาศัยอยู่เยอะ ราว 70% ของคนยูเครนสามารถพูดภาษารัสเซียได้ อีกทั้งยังมีการแบ่งขั้วอุดมการณ์กันอย่างชัดเจนคือฝั่งตะวันตกของประเทศที่เป็นภาคเกษตรกรรมส่วนมากจะนิยมสหภาพยุโรป ส่วนฝั่งตะวันออกของประเทศซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมจะนิยมรัสเซีย ทั้งนี้เนื่องจากชายแดนฝั่งตะวันออกของยูเครนติดกับรัสเซียทำให้มีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่มาก 
 
ในการเลือกตั้งแทบทุกครั้งก็มักจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคที่นิยมสหภาพยุโรปกับพรรคที่นิยมรัสเซีย การเมืองภายในประเทศยูเครนจึงผูกติดกับการเมืองระหว่างประเทศตลอดเวลา อีกทั้งรัสเซียเองก็มีผลประโยชน์ในยูเครนเนื่องจากยูเครนเป็นทางผ่านของท่อส่งน้ำมันจากยุโรปตะวันออกไปยังตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมุทรไครเมีย (Crimea) ซึ่งทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว มีฐานทัพเรือแห่งเดียวในตอนใต้ของรัสเซียตั้งอยู่ และเศรษฐกิจของไครเมียก็ดำรงอยู่ได้เพราะฐานทัพดังกล่าว คล้ายกับพัทยาของไทย
 
เมื่อพูดถึงขบวนการยูโรไมเดน ขบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิชซึ่งมาจากพรรคฝ่ายนิยมรัสเซียต้องตัดสินใจว่าจะต้องลงนามความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฝ่ายรัสเซียหรือสหภาพยุโรป ผลปรากฏว่าข้อเสนอของทางฝ่ายรัสเซียดีกว่าทั้งจำนวนเงินที่มากกว่า และข้อผูกมัดที่น้อยกว่า ยานูโควิชจึงตัดสินใจลงนามกับรัสเซียและชะลอการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปออกไปก่อน การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 การประท้วงดังกล่าวกินระยะเวลานาน 3 เดือน มีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ 3 ครั้ง ซึ่งในการสลายการชุมนุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 100 คน ฝ่ายทหารที่ตกลงว่าจะส่งกองกำลังเข้ามาช่วยควบคุมการชุมนุมก็ไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาล สุดท้ายรัฐบาลยานูโควิชจึงต้องลาออก หลังจากมีการตกลงกันระหว่างชนชั้นนำก็มีมติให้อเล็กซานเดอร์ เทอร์ชินอฟ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการณ์ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง เทอร์ชินอฟได้แถลงนโยบายที่สร้างความไม่พึงพอใจให้กับคนรัสเซียในประเทศอย่างมากนั่นคือการยกเลิกภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ และจะยกเลิกการให้รัสเซียเช่าฐานทัพเรือในไครเมีย นโยบายดังกล่าวทำให้คนรัสเซียในฝั่งตะวันออกของประเทศไม่พอใจจนเกิดการจลาจลขึ้นและนำไปสู่การแยกคาบสมุทรไครเมีย กลับไปอยู่กับรัสเซีย ในเวลาต่อมา
 
สิ่งที่น่าสนใจของของขบวนการยูโรไมเดน คือรูปแบบการประท้วงซึ่งเริ่มต้นจากโซเชียลมีเดีย หลังจากแถลงการณ์ไม่ลงนามเข้าร่วมกับสหภาพโซเวียตของยานูโควิช มีนักข่าวชื่อดังชื่อมุสตาฟา เนย์เยมโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กเพื่อเรียกให้คนออกมาชุมนุม มีคนแชร์สเตตัสดังกล่าวมากกว่า 8,000 ครั้งภายในเวลาอันรวดเร็ว และมีคนออกมาร่วมชุมนุมที่จุตรัสไมเดนมากกว่าหมื่นคน ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นอย่างยิ่ง ในตอนแรกเป้าหมายของการชุมนุมคือต้องการให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงกับสหภาพยุโรป แต่หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 เป้าหมายของการชุมนุมก็เปลี่ยนเป็นการขับไล่รัฐบาลทุจริต คอรัปชั่น จำนวนผู้ประท้วงจากหลักหมื่นกลายเป็นสามแสนคน รูปแบบการชุมนุมเปลี่ยนจากการนั่งชุมนุมโดยสงบเป็นการยึดสถานที่ราชการ และมีการจัดการชุมนุมอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ฝ่ายรัฐบาลเองก็มีการปรับกลยุทธ์คือเริ่มมีการลักพาตัวแกนนำและผู้ชุมนุม ซึ่งคาดว่ามีจำนวนมากถึง 100-1,000 คน อีกทั้งยังมีการจ้างกลุ่มอันธพาลที่อยู่ในกรุงเคียฟให้มาก่อกวนการชุมนุม
 
ข้อถกเถียงที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวคือยูโรไมเดนเป็นการชุมนุมโดยสันติหรือไม่ สื่อฝ่ายยุโรปก็จะมองว่าเป็นสันติวิธี ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียก็จะบอกว่าไม่ใช่ แต่ในทัศนะของจิตติภัทรมองว่า มีทั้งสองด้านอยู่ในการชุมนุมเดียวกัน เนื่องจากมีกระบวนการเคลื่อนไหวแบบแกนนอน (Herizontalism) คือประชาชนมีส่วนร่วม แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มชนชั้นนำเข้ามามีบทบาทด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลจากข้อจำกัดของยูโรไมเดนที่ไม่มียุทธศาสตร์ แกนนำจากมวลชน และเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนทำฝ่ายค้านและกลุ่มขวาจัดเข้ามาฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองซึ่งในท้ายที่สุดแล้วพรรคฝ่ายค้านก็ได้ขึ้นสู่อำนาจแม้จะไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ตาม รูปแบบการเคลื่อนไหวของยูโรไมเดนก็มีการผสมผสานกันทั้งสันติวิธี และการใช้ความรุนแรง ในมุมของสันติวิธีมีการบอยคอตสินค้าจากบริษัทที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาล มีการสร้างสื่อทั้งวิทยุ สื่อออนไลน์ และโทรทัศน์ มีการนั่งรถสัญจรไปรอบๆ เพื่อเก็บข้อมูลผู้ชุมนุม ขวางทางรถตำรวจ และเฝ้าระวังอันธพาลที่ได้รับการจ้างวานมาก่อกวน มีการตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเปิดเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ชุมนุม ตั้งศูนย์กฎหมายเพื่อติดตามคนที่ถูกลักพาตัว มีฝ่ายที่ทำหน้าที่ยึดสถานที่ราชการ และฝ่ายดนตรีเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชุมนุม แต่ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ความรุนแรงจากพรรคขวาจัดซึ่งเป็นพรรค Neo-Nazi กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงนี่เองที่มีส่วนยุยงตำรวจที่เข้ามาควบคุมการชุมนุมจนเป็นเหตุให้เกิดการสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ และนำไปสู่การลงจากอำนาจของประธานธิปดียานูโควิช
 
ต่อมา จันจิราได้พูดถึงปรากฏการณ์ความเหนื่อยล้าในกระบวนการประชาธิปไตย (Democratic fatigue) ในต่างแดน จันจิรากล่าวว่าอย่าคิดว่ามีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีคนลุกขึ้นมาต่อต้านประชาธิปไตย ประเทศอื่นหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยวัยกระเตาะ (young democratic society) เช่นฟิลิปินส์ อุรุกวัย อียิปต์ และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกรวมถึงยูเครนในช่วงหลังปี 2,000 เริ่มเกิดอาการล้าในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่ากระบวนการอนารยะสังคม (uncivil society) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ชนชั้นกลางรู้สึกว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่สามารถตอบสนองผลประโยชน์ของพวกเขาได้ จึงใช้การชุมนุมบนท้องถนนเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนมากแล้วก็มักจะเป็นรัฐบาลที่พวกเขาเลือกขึ้นมาเอง 
 
กรณีศึกษาแรกเกิดขึ้นในประเทศเซอร์เบีย  ประธานธิปดีมิโลเชวิชผู้นำประเทศในขณะนั้นประกาศสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้งมาก แม้จะมีภาคประชาสังคมออกมาต่อต้าน แต่มิโลเชวิชก็ยังสามารถใช้วาทกรรมชาตินิยมรักษาเสียงสนับสนุนจากประชาชนไว้ได้ ประเทศเซอร์เบียในขณะนั้นต้องประสบกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ คนเริ่มเดินทางออกจากประเทศ แต่ความนิยมของประชาชนในตัวมิโลเชวิชก็มิได้น้อยลงเลย แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเซอร์เบียแพ้สงครามครั้งที่ 3 ในโคโซโว ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงฉวยโอกาสใช้วาทกรรมชาตินิยมเพื่อดึงฐานมวลชนเข้ามาร่วมต่อต้านรัฐบาลจนทำให้รัฐบาลมิโลเชวิชต้องลงจากอำนาจ 
 
ส่วนที่ฟิลลิปินส์ สมัยประธานธิปดีเอสตราด้าซึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยนโยบายประชานิยม สุดท้ายก็ถูกประชาชนที่เลือกตัวเองขึ้นมาลุกขึ้นมาต่อต้านจนนำไปสู่การถอดถอนเนื่องจากพฤติกรรมคอรัปชั่น ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้แวดวงวิชาการให้ความสนใจการกระบวนการอนารยะสังคมมากขึ้น
 
กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซของเวเนซูเอลา ชาเวซขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยนโยบายประชานิยมเหมือนคนอื่นๆ แต่นโยบายสำคัญของชาเวซคือการซื้อบริษัทน้ำมันคืนจากบริษัทสหรัฐฯ ทำให้รัฐผูกขาดทรัพยากรน้ำมันซึ่งเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศ นโยบายดังกล่าวแม้จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังคนรากหญ้า แต่ก็ขัดผลประโยชน์กับกลุ่มอำนาจเก่า ประกอบกับการบริหารประเทศของชาเวซเองซึ่งค่อนมีลักษณะอำนาจนิยม ให้ความช่วยเหลือพวกพ้อง ฝ่ายต่อต้านชาเวซจึงร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่านั่นคือทหาร และบริษัทน้ำมัน ทำให้รัฐบาลไม่มีพันธมิตร มีแต่ประชาชนที่เลือกตนขึ้นมาเท่านั้น 
 
จะเห็นได้ว่าประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่แข็งแรงมักจะมีกลุ่มอำนาจเก่าหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกกีดกันออกจากระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย กลุ่มอำนาจเก่าเหล่านี้จะคอยดึงผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้กลายเป็นกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยไปด้วยซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีการแบ่งขั้วรุนแรงเหมือนประเทศไทยในปัจจุบัน 
 
อีกกรณีศึกษาหนึ่งซึ่งน่าสนใจสำหรับการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลคือในอียีปต์ ภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารของออสนีย์ มูบารัค รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับเป็นกลุ่มภารดรภาพมุสลิม (Muslim brotherhood) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเผด็จการมากกว่ามูบารัคเสียอีก ประชาชนซึ่งเคยเรียกร้องประชาธิปไตยในสมัยมูบารัคกลับเป็นผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ทหารทำการรัฐประหารเสียเอง กรณีนี้น่าสนใจเนื่องจากหากขบวนการต่อต้านรัฐบาลขาดแกนนำที่ชัดเจน หรือไม่พร้อมที่จะบริหารประเทศ กลุ่มอำนาจเก่าที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบก็สามารถเข้ามาชุกมือเปิบได้ เช่นกลุ่มภารดรภาพมุสลิม หรือกลุ่มพรรคฝ่ายค้านในยูเครน
 
 
 
หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขชื่อประธานาธิบดีรักษาการ เมื่อ 24 มิ.ย.2557 เวลา 15.30น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net