Skip to main content
sharethis

22 มิ.ย.2557 เมื่อเวลา 13.30น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการจัดสัมมนาวิชาการ “1 เดือนคสช. เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”  ในหัวข้อ “เสรีภาพสื่อมวลชนภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.255...” โดยมีบุคคลในแวดวงสื่อมวลชนและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนร่วมเสวนา
               
นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเล่าย้อนถึงการปฏิวัติรัฐประหารในแต่ละยุคพร้อมกับระบุว่า เล่าย้อนความหลังเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคตว่าเราจะทำอย่างไรให้ได้สิทธิเสรีภาพมากที่สุดในการรายการข่าวได้สมบูรณ์ และถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน  เมื่อประชาชนได้ข้อมูลไม่ครบก็ตัดสินในหลายเรื่องผิดพลาด ดังนั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพจึงมีความสำคัญ ย้อนไปตั้งแต่ตนจำความได้ปีพ.ศ. 2484 ที่มีการออกพระราชบัญญัติการพิมพ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่แปลมาจากกฎหมายการพิมพ์ของประเทศอียิปต์ ที่อียิปต์เองก็แปลมาจากอังกฤษ ที่กดขี่ข่มเหงผู้ใช้หรือสื่ออย่างเต็มที่ เมื่อมีการยึดอำนาจก็ออกคำสั่งมากดเสรีภาพของสื่ออย่างมาก ในสมัยก่อน ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเตือน แล้วถ้าไม่เชื่อก็ปิดหนังสือพิมพ์ได้ โดยที่เขาเห็นว่าอาจจะเป็นข่าวไม่ถูกต้อง  และปัจจุบันมีการปลดโซ่ตรวนนั้นออกมาแล้ว

นายมานิจ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ว่าการใช้เสรีภาพที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพูดเสมอว่าเราไม่ควรใช้เสรีภาพล้นฟ้าโดยอ้างว่าเป็นสื่อ เพราะเสรีภาพนี้ได้มาเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ไม่ใช่สู้มาเพื่อให้ได้ประโยชน์ส่วนตนของนายจ้าง ธุรกิจ นักการเมือง ดังนั้นในเรื่องของเสรีภาพจะต้องเรียกร้องให้มีอยู่จงได้ตามที่เคยระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2549 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพไว้ให้

“เช่นนั้น ใครจะไปเจรจากับ คสช.ขอฝากเรื่องนี้ไปด้วยว่าให้ขอให้รับรองสิทธิเสรีภาพเท่ากับรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว พ.ศ. 2549 ส่วนรัฐธรรมนูญจริงเรียกร้องว่าอย่างน้อยให้ได้เท่ารัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ. 2550 ในมาตรา 45 46 47 48 โดยเฉพาะการห้ามนักการเมืองเข้ามาถือหุ้นสื่อ และยังต้องออกกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เคยทำไว้ ดังนั้นใครจะเป็นสมาชิก สนช.ก็ฝากกฎหมายนี้ไว้เพราะใช้เวลาและสมองทำเรื่องนี้ไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพวกเรา”

ด้านรองศาสตราจารย์มาลี บุญศิริพันธ์ กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กล่าวตอนหนึ่งว่า  การต่อสู้เสรีภาพของสื่อมวลชนในอดีต ซึ่งเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ เป็นส่วนใหญ่ ที่จะกระตือรือร้นในการออกมาปกป้องสิทธิ  และการควบคุมกันเองมีการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ที่กำกับดูแลสมาชิกในวงการให้ทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพหลักจริยธรรม เมื่อเกิดอะไรชึ้นสภาการต้องลงมาตักเตือน กำกับ ในที่สุดสภาการฯที่เป็นความฝันก็เกิดขึ้นจริงในการเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล แต่น่าเสียดายว่ากลไกกำกับดูแลอาจจะมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนเรื่องระเบียบวิธีการจัดการสมาชิกด้วยกัน ที่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือได้เลย เพราะมีข้อร้องเรียนเข้ามา สมาชิกที่โดนตรวจสอบก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก

“ดังนั้นต้องมีการปรับแก้ธรรมนูญหรือจะแก้กฎหมาย  เป็นไปได้ไหม ที่จะมีมาตรา48 และมีข้อหนึ่งข้อใดในการปกป้องเสรีภาพไม่ว่าจะมีวิกฤติใดก็ตามหรือการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะสื่อจะเป็นเป้าหมายแรกในการจำกัดและกำหนดในการให้ข้อมูลข่าวสาร หากเราให้ข้อเท็จจริง เป็นประโยชน์”
               
ร.ศ.มาลี กล่าวด้วยว่า คำว่าเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นกลไกตัวหนึ่งของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่มีการเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเสรีภาพของสื่อมีอิสระ มีวิจารณญาณ และถ้ามีเสรีภาพแต่ไม่มีจริยธรรมก็ไม่เรียกสื่อพวกนั้นว่าสื่อมืออาชีพ เพียงเป็นคนที่อาศัยร่างของสื่อเข้ามาทำงาน ทำให้ทำร้ายสังคม ไม่ใช่การใช้เสรีภาพที่ถูกต้อง คิดว่ารัฐธรรมนูญปีต่อไป ปีไหนก็ตาม อยากให้มีข้อที่เสนอไปแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กลุ่มสื่อมวลชนต้องคุยกันรวมใจและดูแลกันเอง ให้สื่อมีคุณภาพที่เราจะต้องจัดการต่อไป

นายจักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญชั่วคราว ต้องมีเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว เมื่อเราสรุปบทเรียนที่เราจะปกป้องเสรีภาพ เพราะช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าประชาชนให้ความสนใจน้อยมากว่าการลิดรอนเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องมาทบทวนว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงที่มีสื่อมากขึ้น ทุกคนเป็นสื่อกันหมดก็ถูกมองว่าสื่อไม่มีความรับผิดชอบ การทำงานโดยมีเป้าหมายเชิงอุดมการณ์โดนมองข้ามไป  ดังนั้นต้องโทษตัวเราเองว่ามีความรู้ความเข้าใจ มีสำนึกต่อสังคมน้อยไปหรือไม่

“ดังนั้นเราน่าจะมีการรวมกันทุกสื่อเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์หรืออะไรก็ตามในการกำกับดูแลกันเองสำหรับสื่อทั้งระบบ และคนที่ทำงานสุจริตจะไม่กลัวการรวมตัวกัน แต่คนที่กลัวคือคนที่แอบแฝงเข้ามาอาจจะกลัวระบบการจัดการ และระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คิดว่าน่าจะมีเวทีในการปฏิรูปสื่อครั้งใหญ่อีกสักครั้ง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net