เดอะ การ์เดียน แฉคุกทหารเถื่อนอียิปต์ ทรมานนักโทษบังคับ 'สารภาพ'

จากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง ญาติ และทนายความ โดยสำนักข่าวเดอะ การ์เดียน มีการระบุถึงเรือนจำ 'อะซูลี' ซึ่งตั้งอยู่ในเขตฐานทัพทหารอียิปต์ถูกใช้เป็นที่กุมขังและทารุณกรรมนักโทษตามอำเภอใจโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ทำให้ถูกประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน

23 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่ามีชาวอียิปต์หลายร้อยคน "หายสาปสูญ" โดยถูกนำตัวไปไว้ในคุกลับของทหารโดยไม่มีการพิจารณาตามกระบวนการกฎหมายอีกทั้งยังมีการทารุณกรรมนักโทษเหล่านั้นด้วย

เดอะ การ์เดียนอ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขัง, ทนายความ, นักสิทธิมนุษยชน และครอบครัวของผู้ที่หายตัวไป โดยระบุว่านับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2556 มีผู้ต้องขังถูกใช้ผ้าปิดตาและทำให้หายสาบสูญ โดยยังมีราว 400 คนในอียิปต์ ถูกทารุณกรรมและกุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดีความตามกฎหมาย เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ามีการปราบปรามประชาชนอียิปต์ในวงกว้างซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกว่าเป็น "การปราบปรามในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมอียิปต์สมัยใหม่"

ผู้ต้องขังในเรือนจำอะซูลีถูกใช้ไฟฟ้าช็อต, ถูกทุบตี และถูกแขวนให้เปลือยกายด้วยการมัดข้อมือเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อบังคับเอาข้อมูล สั่งให้รับสารภาพ จนกว่าจะรู้สึกว่าหมดประโยชน์แล้วถึงได้ปล่อยตัว

หลังจากที่อียิปต์เกิดการรัฐประหารเมื่อช่วงกลางปีที่แล้วมีผู้ถูกจับเป็นนักโทษการเมืองอย่างน้อย 16,000 คน แต่ในเรือนจำอะซูลีมีความแตกต่างจากที่อื่นตรงที่อยู่เหนือระบบกฏหมายของอียิปต์ ทำให้ผู้คุมของพวกเขามีอำนาจกระทำตามใจชอบโดยไม่ต้องรับกลัวผลที่ตามมา

ชายวัยกลางคนที่ชื่อว่าไอมานถูกจับไปที่เรือนจำอะซูลีเมื่อปลายปี 2556 เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ถูกปล่อยตัวออกมา เขาเล่าว่ามันไม่ใช่คุกธรรมดาทั่วไป ไม่มีการบันทึกว่าพวกเขาเคยอยู่ที่นั่น ถ้าหากมีใครเสียชีวิตที่นั่นก็จะไม่มีใครรู้

เรือนจำอะซูลีไม่สามารถให้พลเรือนทั่วไปเข้าถึงได้ มันตั้งอยู่ในค่ายทหารในเมืองอิสมาลียาห์ ห่างออกไปจากกรุงไคโร 62 ไมล์ ซึ่งผู้ต้องขังบอกว่าพวกเขาน่าจะถูกขังอยู่ที่ชั้น 3 ของค่ายทหารและผู้ถูกกุมขังอาศัยอยู่กันอย่างแออัด

จากการแยกสัมภาษณ์อดีตผู้ถูกกุมขัง 3 คนโดยเดอะ การ์เดียน นักโทษทั้ง 3 คนเปิดเผยว่าคนส่วนใหญ่ที่ถูกขังในเรือนจำอะซูลีเป็นกลุ่มนิกายซาลาฟีซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่อนุรักษ์นิยมจัดพวกนั้นเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นกับการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่เกิดขึ้นหลังจากมีการปราบปรามผู้ประท้วงสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ด้วยความรุนแรงในช่วงเดือน ส.ค. 2556 ซึ่งกลุ่มติดอาวุธมักจะเป็นพวกที่มาจากแถบคาบสมุทรไซนายซึ่งเป็นศูนย์กลางของกลุ่มกบฎศาสนา แต่ผู้ต้องขังในอะซูลีกลับเป็นคนที่มาจากทั่วประเทศของอียิปต์

ผู้ต้องขังส่วนหนึ่งคือคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งถูกสั่งให้เป็นกลุ่มต้องห้ามไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงของนักศึกษา และยังมีอีกส่วนน้อยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการเคลื่อนไหวทางศาสนา ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียนคิดว่าเป็นการไล่จับแบบสุ่มของทางการอียิปต์ ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสามคนยังระบุตรงกันว่ามีผู้ต้องขังรายหนึ่งเป็นเด็ก และมีอีก 2 รายเป็นนักข่าว

ผู้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยอีกว่าผู้ที่ถูกจับกุมซึ่งมีหลักฐานอยู่น้อยจะถูกทารุณกรรมเพื่อบีบบังคับให้พวกเขาให้ข้อมูลเพื่อนำมาสร้างความชอบธรรมแก่การกักขังพวกเขา

กรณีหนึ่งคือนักกิจกรรมเยาวชนชื่อคาเลด เขาถูกจับขณะทำปฏิบัติภารกิจประจำวันและถูกทารุณกรรมโดยที่ยังไม่ทันได้จับเข้าเรือนจำ เขาบอกว่าเขาถูกทุบตีและถูกใช้ไฟฟ้าช็อตโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในพื้นที่ลับตาคนเป็นเวลาหลายชั่วโมงจนหน้าเขาบวมและมีแผลที่ขากรรไกรใหญ่พอจะให้ทหารสอดนิ้วเข้าไปได้ หลังจากนั้นจึงถูกส่งตัวไปที่เรือนจำอะซูลี

คาเลดเล่าอีกว่าเขาถูกส่งไปเรือนจำโดยถูกจับมัดแขนและให้อยู่ใต้ที่นั่งเบาะรถซึ่งเป็นท่าที่ทำให้เขาเจ็บปวดมาก ผู้ถูกปล่อยตัวอีก 2 คนเล่าว่าพวกเขาถูกทุบตีโดยทันทีหลังจากเข้าไปในเรือนจำโดยคณะทหาร "ผู้ให้การต้อนรับ" ซึ่งทหารได้ปิดตา ริบทรัพย์สินทุกอย่างแม้กระทั่งยา ให้ยืนหันหน้าเข้ากำแพงแล้วใช้ไม้ ท่อไปป์ และหมัดทุบตีพวกเขาเป็นเวลา 10 นาที ขณะเดียวกับที่ข่มขู่ว่าถ้าใครไปที่หน้าต่างชั้นสามแล้วส่งเสียงพวกเขาจะทุบตีคนนั้น

เดิมทีอาคารเรือนจำอะซูลีชั้นที่ 1-2 จะใช้กุมขังนักโทษทหารที่ต้องโทษในศาลทหาร แต่หลังจากเดือน ก.ค. 2556 ในชั้น 3 ก็มีการขังนักโทษทางการเมืองซึ่งในห้องขังห้องหนึ่งจะขังนักโทษรวม 23-28 คน ซึ่งจากพื้นที่โดยรวมแล้วคาดว่าจะขังนักโทษได้มากกว่า 300 คน

องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลระบุว่ามีคนถูกปล่อยตัวจากเรือนจำอะซุลีและเรือนจำอื่นๆ แล้ว 20 คน ขณะที่ทนายความบอกว่ามีบางส่วนถูกจับไปเข้าคุกของพลเรือนอีกครั้งหลังจากถูกกล่าวหาในข้อหาก่อการร้ายโดยอ้างจากการสารภาพหลังการทรมานและการไต่สวน

การไต่สวนและการทารุณกรรมนักโทษในเรือนจำอะซูลีมีการปฏิบัติในอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเรียกว่าเอสวัน (S-1) ซึ่งมีการขึ้นรถออกไปจากเรือนจำไม่กี่นาที มีนักโทษราว 10 คนถูกเรียกตัวออกไปช่วงกลางวัน พวกเขาถูกเรียกชื่อ ให้ออกจากห้องขัง จับคาดผ้าปิดตา พวกเขาถูกทุบตีจนกระทั่งลงบันไดไปถึงรถโดยสารคันเล็กซึ่งพวกเขายังคงถูกทุบตีอยู่อีก พวกเขายังคงถูกปิดตาอยู่หลังจากไปถึงเอสวันแล้ว พวกเขาจะถูกเรียกไปทีละคนให้เข้าไปในอีกห้องหนึ่ง

คาเลดเป็นผู้ถูกเรียกตัวคนแรก เขาเล่าว่าเขายังจำเสียงเจ้าหน้าที่กดไฟแช็กเปิดๆ ปิดๆ เป็นเวลาหลายนาทีซึ่งเป็นเสียงชวนให้เสียกำลังใจ จากนั้นจึงถามเขาเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งการประท้วง หลังจากคำถามถึงมีการทารุณกรรม เริ่มจากการสั่งให้ถอดเสื้อผ้าและออกไปจากห้องพร้อมกับเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง เขาถูกใช้ไฟฟ้าช็อตตามตัวโดยเฉพาะในส่วนที่ไวต่อสัมผัส ในชณะนั้นเขาถูกมัดติดไว้กับกรอบหน้าต่างซึ่งเป็นการทารุณกรรมที่เรียกว่า "วิธีการแบบบาลานโก" ทำให้เขาปวดไหล่และข้อมือมาก อีกสองชั่วโมงครึ่งหลังจากนั้นเชาก็ถูกนำกลับเข้าห้องขัง

ผู้ได้รับการปล่อยตัวอีก 2 คนก็เล่าประสบการณ์คล้ายกัน อีกคนหนึ่งเล่าถึงท่าที่ถูกมัดเป้นอีกท่าหนึ่ง อีกคนหนึ่งเล่าว่าเขาถูกใช้ไฟช็อตขณะที่ยังสวมเสื้อผ้าอยู่ แต่ก็มีการช็อตส่วนของร่างกายอย่างอัณฑะ

ผู้ถูกทารุณกรรมไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ทารุณพวกเขา แต่พวกเขาเชื่อว่าการไต่สวนมาจากหน่วยงานข่าวกรองของกองทัพอียิปต์ซึ่งเคยมีผู้นำเป็นอับเดล ฟัตตาร์ อัลซีซี ซึ่งในหน่วยข่าวกรองนี้ยังประกอบด้วยตำรวจลับซึ่งชาวอียิปต์มักเรียกว่า "อัมน์ อัดดาเวีย" มีผู้ให้สัมภาษณ์ต่อเดอะ การ์เดียนรายหนึ่งเล่าว่าเขาถูกจับตัวส่งเรือนจำโดยตำรวจลับ

อาห์เหม็ด เฮลมี ทนายความของอดีตผู้ต้องขังเรือนจำอะซูลีรายหนึ่งเล่าว่าถูกต้องขังจะถูกหน่วยข่าวกรองของทหารทรมานจนกว่าจะ 'สารภาพ' ว่าเคยปฏิบัติการก่อการร้าย จากนั้นพวกเขาก็จะถูกส่งตัวไปให้กับหน่วยความมั่นคงของอียิปต์พร้อมถูกกำชับให้กล่าว 'สารภาพ' แบบเดิมกับพนักงานอัยการตำรวจ ซึ่งถ้าหากพวกเขายอมทำตามก็จะถูกสั่งให้ขังในเรือนจำพลเรือนอีกครั้ง ซึ่งยังคงมีการทรมานอยู่แม้จะทำกันอย่างไม่เป็นระบบ

เฮลมีทำหน้าที่ว่าความแทนผู้ต้องขังส่วนหนึ่งซึ่งเคยถูกส่งตัวไปขังต่อยังเรือนจำพลเรือน เขาบอกอีกว่าถ้าหากผู้ต้องขังไม่ยอมกล่าวคำ 'สารภาพ' ตามที่หน่วยงานความมั่นคงต้องการให้เป็น พวกเขาก็จะถูกส่งกลับไปยังเรือนจำอะซูลีเพื่อทารุณกรรมต่อไป เฮลมีคิดว่าอาจจะมีนักโทษส่วนหนึ่งที่เคยกระทำความผิดจริง แต่วิธีการที่ได้มาซึ่ง 'คำสารภาพ' ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นผุ้กระทำผิดจริง ใครเป้นผู้บริสุทธิ์

มารดาของผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ชื่อโอมาร์เล่าว่ากองทัพอียิปต์ทรมานโอมาร์เป็นเวลา 4 วันและให้เดินทางไปหาพนักงานอัยการ 3 ครั้ง เขาถึงจะยอมรับ 'สารภาพ' ตามที่ถูกบังคับ จนกระทั่งโอมาร์ถูกส่งตัวไปขังต่อที่เรือนจำพลเรือน

มารดาของโอมาร์กล่างอีกว่าเขากลัวว่าลูกของตนจะเสียชีวิตไปแล้วเพราะไม่มีการเปิดเผยว่ามีการจับลูกเขาไปขังที่ใด เธอเพิ่งได้พบโอมาร์เมื่อมีการส่งตัวไปยังเรือนจำพลเรือน เธอบอกว่าโอมาร์มีรอยแผลต่างๆ จากการถูกทุบตี โดนมัดมือ และมีร่างกายผอมแห้ง ซึ่งนอกจากการทุบตีและช็อตด้วยไฟฟ้าแล้วโอมาร์ยังเล่าว่าเขาถูกขู่ว่าจะข่มขืนญาติผู้หญิงของเขา ถูกห้ามไปห้องน้ำเป็นเวลา 6 วัน และเคยถูกมัดปิดตาเป็นเวลา 10 วัน

นักโทษ 3 คนที่ให้สัมภาษณ์ต่อเดอะ การ์เดียนบอกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทรมานมากเท่าที่โอมาร์โดน ซึ่งดูเหมือนว่าเมื่อเวลาผ่านไปเจ้าหน้าที่ก็เลิกให้ความสนใจพวกเขา ทำให้พวกเขาถูกปล่อยตัว

อียิปต์ยังมีคุกที่อื้อฉาวอีกแห่งหนึ่งคือเรือนจำสกอร์เปียนในกรุงไคโร แต่เฮลมีก็บอกว่าเรือนจำสกอรืเปียนยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพนักงานอัยการและสามารถตรวจสอบได้ แต่อะซูลีเป้นพื้นที่เขตทหารทำให้พลเรือนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปได้ หมายความว่าแม้แต่พนักงานอัยการถ้าอ้างว่าจะเข้าไปเพื่อไต่สวนคนในอะซูลีก็จะถูกห้ามไม่ให้เข้าไป จึงทำให้อะซูลีเป็นพื้นที่ที่ทหารจะใช้เวลาทารุณกรรมประชาชนได้โดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ

"คนเหล่านั้นไม่รู้จักหลักนิติธรรม พวกเขากุมขังผู้คนเกินเวลา 90 วัน ให้นักโทษถูกทรมานโดยไม่มีกระบวนการทางกฎหมาย การประทำเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ต้องขังอย่างรุนแรง ทั้งตามหลักกฎหมายอียิปต์และกฎหมายนานาชาติ" โมฮัมเหม็ด เอลเมสซีรี จากองค์กรแอมเนสตี้กล่าว

เดอะ การ์เดียนระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในอียิปต์กล่าวยอมรับว่ามีเรือนจำอะซูลีอยู่จริง แต่ไม่ได้กล่าวแสดงความเห็นต่อข้อกล่าวหาใดๆ และปฏิเสธไม่ให้มีการไปเยือนเรือนจำ

 

เรียบเรียงจาก

Egypt’s hidden prison: ‘disappeared’ face torture in Azouli military jail, The Guardian, 22-06-2014 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท