Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.57 ศูนย์ประสานงานการรณรงค์กฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับ จัดงานเสวนาและแถลงข่าว “ติดตามสิทธิ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 4 ฉบับ :  การปฏิรูปที่ดินประชาชนทำเอง ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา

งานนี้เริ่มขึ้นจากการรวมตัวกันของชาวบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมตัวกันเป็นเครือข่ายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยกฎหมายโดยผลักดันผ่านสมัชชาปฏิรูปประเทศ จากนั้นจึงทำเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากประชาชน นักกฎหมายและนักวิชาการ เพื่อร่วมกันร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ภาษีอัตราก้าวหน้า พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ร.บ. สิทธิชุมชน และ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อติดตามการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ทั้ง 4 ฉบับว่าสามารถทำได้หรือไม่  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานรณรงค์กฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับ เดินทางไปรัฐสภาเพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ และผู้ริเริ่มกฎหมายแสดงตนต่อรักษาการแทนเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งเมื่อไปถึง ได้มี สมพงษ์ รัตนวรรณ ผอ.กลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายรัฐสภาเป็นตัวแทนของรักษาการแทนเลขาธิการรัฐสภาออกมารับหนังสือ

ประยงค์ ดอกลำไย ผู้ประสานงานคณะทำงาน รณรงค์กฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้จะไม่มีรัฐสภา แต่ตามประกาศของ คสช. ฉบับที่ 30 /2557 เรื่อง ให้วุฒิสภาสิ้นสุดลง ซึ่งตาม ข้อ 2 ของประกาศได้ระบุว่า ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้การดำเนินการเรื่องใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการให้ความเห็นชอบแทนรัฐสภา สภาผู้แทน หรือวุฒิสภาในเรื่องนั้น  เพราะฉะนั้นสำนักเลขาธิการรัฐสภาก็ต้องส่งร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ ให้กับหัวหน้า คสช. พิจารณาว่าจะให้มีการดำเนินการเข้าชื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับหรือไม่ โดยมีกำหนดระยะเวลาการพิจารณา 15 วัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเสวนาจากตัวแทนจากชุมชน 5 คนที่ประสบปัญหาและต่อสู้เรื่องที่ดินมายาวนานจากทุกภูมิภาค คือ สุชิน เอี่ยมอินทร์ ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน กรุงเทพฯ, หนูเดือน แก้วบัวขาว ตัวแทนจาก ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี, ดิเรก กองเงิน ตัวแทนจาก ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่, กันยา ปันกิตติ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และ มะลิ ทองคำปลิว ตัวแทนจากจ.พิษณุโลก ทั้ง 5 คนได้ร่วมกันสะท้อนถึงปัญหาที่ชุมชนของตนเองได้รับ ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญคือ การไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ซึ่งล้วนเกิดจากการกระจุกตัวของที่ดินที่มักอยู่ในมือของชนชั้นนำของประเทศ และการกว้านซื้อที่ดินไว้จำนวนมากจากนายทุนแต่สุดท้ายกลับปล่อยให้ที่ดินดินนั้นรกร้างว่างเปล่า และจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนและเขตอุทยานจากภาครัฐทับที่ดินของชาวบ้านผู้อยู่อาศัยเดิม พวกเขาจึงหวังว่ากฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น 

หลังจากเสวนาจบลงเป็นการกล่าวแถลงการณ์ โดย ดิเรก กองเงิน ผู้พลิกฟื้นผืนดินด้วยสิทธิชุมชน” ต.แม่แฝก อ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า แม้ว่าสังคมไทยจะอยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษ แต่ภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงสูงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ดิน พบว่าคนไทย 65 ล้านคนมีบุคคลธรรมดาเพียง 15.6 ล้านรายเท่านั้นที่ครอบครองโฉนดที่ดิน  และในบุคคลที่มีที่ดินสูงสุด 20% แรกของจำนวนนี้ครอบครองที่ดินมากถึง 80% ของโฉนดที่ดินทั้งประเทศ หากคำนวณที่ดินของบุคคลธรรมดาที่มีที่ดินมากที่สุดจะพบว่าผู้ถือครองที่ดินเพียง 1,340 ราย คือคิดเป็นคนเพียง 0.01% ของคนทั้งหมด ถือครองที่ดิน(โฉนด) รวมกันมากถึง 831,500 ไร่  คิดเป็น 1,330 ตารางกิโลเมตร สะท้อนภาพการกระจุกตัวของที่ดินที่ยังอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องประสบปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับที่ดินทั้งการได้รับสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ปัญหาการประการประกาศเขตอุทยาน ป่าสงวน ทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิม  ปัญหาคนไร้บ้านในการไร้หลักประกันของชีวิตในการเข้าถึงที่ดินและอีกมายมาก ทำให้กระบวนการต่อสู้เกี่ยวกับที่ดินเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในประเทศไทย เพราะปัญหาที่ดินเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่หยั่งรากลึกลงในโครงสร้างสังคมไทยอย่างไม่หยุดยั้งและไม่เคยได้รับการแก้ไข

คณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายประชาชนที่ประสบปัญหาที่ดินจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งประเทศ  ของแถลงจุดยืนในการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อสนับสนุนกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า,ร่างพ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน และร่าง พรบ.กองทุนยุติธรรม หรือเรียกรวมกันในกฎหมาย 4 ฉบับ เพื่อคนไทยเท่ากันต่อไป  ซึ่งเป็นการปฏิรูปที่ประชาชนขอทำเอง โดยอาศัยกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 ในการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากกฎหมาย 4 ฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อความเป็นธรรม ลดความขัดแย้งของสังคมและเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

 

 

หมายเหตุ : ประชาไท ได้ปรับปรุงหัวข้อข่าวและเพิ่มคำแถลงข่าว เพิ่มเติม เมื่อเวลา 19.30 น. 24 มิ.ย. 57 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net