Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

     

จุดพลิกผันของนโยบายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจและการจัดการทรัพย์สินของประเทศ มักปรากฏเค้าลางเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านตามครรลองประชาธิปไตยหรือการรัฐประหารก็ตาม เค้าลางเหล่านี้บางครั้งก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ บางทีก็เป็นเพียงเค้าลางมีการเปลี่ยนแปลงพอเป็นพิธีเท่านั้น ที่มักจะทำกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือ การเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ผลก็คือทำให้การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงรัฐบาลทีหนึ่ง ก็จะมีการเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือบางทีเพียงเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลชุดเดิมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงรัฐวิสาหกิจ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจึงสร้างระบบ Director Poll ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความเชี่ยวชาญต่างๆที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจประเภทผู้ทรงคุณวุฒิได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง (ทั้งโดยเลือกตั้งและไม่เลือกตั้ง) ใช้อำนาจตั้งคนใกล้ชิดที่ไม่มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่ง และ ปิดช่องโหว่การแต่งตั้งคนมาหาประโยชน์ในทางที่มิชอบในรัฐวิสาหกิจต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แม้นการเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งแต่ทิศทางใหญ่ของนโยบายรัฐวิสาหกิจไทยยังคงเหมือนเดิม ประเทศไทยไม่เคยเปลี่ยนจาก “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” มาเป็น “ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” หรือ แนวทางบริหารเศรษฐกิจแบบชาตินิยมขวาจัด ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบอบกึ่งประชาธิปไตย เผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ หรือ ช่วงเวลาการปฏิรูปประเทศ ก็ตาม  ยังคงเดินหน้าเปิดเสรีและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์แบบแนบแน่นเช่นเดิม ส่วนบทบาทของภาครัฐและกลไกตลาดก็มีการรักษาสมดุลได้ดีพอสมควร มีการปรับเปลี่ยนสมดุลตามความเหมาะสมของพลวัตทางเศรษฐกิจทั้งภายในภายนอกและพลวัตทางนโยบาย ทิศทางของนโยบายรัฐวิสาหกิจก็ไม่ได้เปลี่ยนแบบ “หน้ามือ” เป็น “หลังมือ” แต่ประการใด

เกือบหกทศวรรษหลังการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แม้นจะมีแนวทางนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแต่ก็มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจมากมายโดยเฉพาะในช่วงสองสามทศวรรษแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมาเมื่อแนวทางแบบเสรีนิยมใหม่เฟื่องฟูขึ้นภายใต้แนวคิดฉันทมติวอชิงตัน จึงได้มีการขับเคลื่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการบริการโดยรัฐ ปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้นและลดทอนอำนาจการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจลง ต่อมาแนวทางนี้ถูกตั้งคำถามโดยผู้มีแนวคิดแบบสังคมนิยมและพวกเศรษฐกิจแบบชาตินิยม รวมทั้งกลุ่มที่มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า การแปรรูปเป็นการโอนย้ายถ่ายเทผลประโยชน์จากรัฐไปยังเอกชนหรือไม่ เป็นเพียงการเปลี่ยนจากการผูกขาดโดยรัฐเป็นการผูกขาดโดยเอกชนรายใหญ่หรือไม่ (หากใช่เป็นการปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดภาระทางการคลัง) หากไม่แปรรูปหรือระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โครงการลงทุนต่างๆโดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจก็ต้องอาศัยเงินงบประมาณ รัฐบาลก็ต้องก่อหนี้สาธารณะ เป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษี          

การตอบข้อสงสัยเคลือบแคลงเรื่องการแปรรูปหรือการเข้าระดมทุนของรัฐวิสหากิจในตลาดทุน ต้องดูจาก “การดำเนินการ” “การกระทำ” หาใช่ “นโยบายหรือสัญญาประชาคมอันสวยหรู” ไม่? จะแปรรูป จะปฏิรูป จะให้สัมปทาน จะทำสัญญาร่วมการงาน หรือ ทำ PPP (Public Private Partnership)  หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

จะแปรรูปหรือไม่แปรรูปก็ตาม รัฐวิสาหกิจไทยหลายแห่งต้องการการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน รัฐมีปัญหาขาดดุลงบประมาณ และ มีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก  รัฐวิสาหกิจจะเอาเงินทุนที่ไหนมาลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ก็ต้องหาคำตอบสำหรับโจทย์นี้ให้ได้ ไม่ว่า จะด้วย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หรือ พัฒนารัฐวิสาหกิจ เมื่อถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจ ความขัดแย้งเรื่อง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เกิดขึ้นในหลายประเทศ และ เป็นความขัดแย้งคลาสสิค เกี่ยวพันกับแนวความคิดความเชื่อทางเศรษฐกิจ

หากเราพิจารณาดูผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆรวมทั้งเม็ดเงินที่ส่งให้รัฐโดยตรงและที่จ่ายเป็นภาษีนิติบุคคล ก็พอบอกได้คร่าวๆว่า รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีการบริหารมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนอย่างไร (โปรดดูตารางประกอบ)

ข้อมูลทางการเงิน

รัฐวิสาหกิจ 9 สาขา (5 แห่ง)

       

งบดุล (ลบ.)

2554

2555

YTD 2556*

ณ ธันวาคม 2556

สินทรัพย์

9,898,937

10,986,156

11,795,460

11,805,920

หนี้สิน

7,731,874

8,623,926

9,271,223

9,295,815

ทุน

2,167,062

2,362,229

2,524,238

2,510,106

         

งบกำไรขาดทุน (ลบ.)

2554

2555

YTD 2556*

ต.ค.-ธ.ค. 2556**

รายได้รวม

4,294,562

4,958,612

5,175,767

53,431

ค่าใช้จ่ายรวม

3,723,423

4,284,604

4,520,928

39,458

ดอกเบี้ยจ่าย

45,935

47,631

47,871

2,929

ภาษีเงินได้

64,023

69,317

63,038

1,039

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ

226,880

288,771

295,283

12,015

         

งบทุน (ลบ.)

2554

2555

2556

ณ มีนาคม 2557

งบลงทุนเป้าหมาย

248,583

284,291

371,243

348,964

งบลงทุนเบิกจ่าย

174,778

209,745

296,946

57,136

% การเบิกจ่ายเทียบกับเป้า

70.31%

73.70%

79.99%

16.37%

         

เงินนำส่ง (ลบ.)

2554

2555

2556

ณ มีนาคม 2557

เงินนำส่งเป้าหมาย

73,146

84,774

98,653

62,468

เงินนำส่งจริง***

85,784

103,666

99,452

81,497

%การนำส่งเทียบกับเป้า

117.28%

122.28%

100.81%

130.46%

         

อัตราส่วนทางการเงิน

2554

2555

YTD 2556

ต.ค.-ธ.ค. 2556**

Annualized ROA

2.29%

2.63%

2.50%

0.41%

Annualized ROE

10.47%

12.22%

11.70%

1.91%

Debt/Equity Ratio

3.57

3.65

3.67

3.70

แหล่งที่มา: สคร กระทรวงการคลัง

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจตกต่ำ หลายประเทศจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาในภาวะที่เอกชนอ่อนแอ ทำกิจการต่างๆและก่อให้เกิดการจ้างงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นจำนวนมากและมีความเข้มแข็งโดยเฉพาะที่อังกฤษ พรรคแรงงานได้รับเลือกตั้งติดต่อกันหลายปีทำให้มีการผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายจัดตั้งสภาแรงงานแห่งชาติ กฎหมายสวัสดิการสังคม เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลได้มีการตั้งกำแพงภาษีปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ค่าจ้างแรงงานก็แพง ประสิทธิภาพและผลิตภาพของรัฐวิสาหกิจและอุตสาหกรรมก็ตกต่ำเพราะไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร

อังกฤษมีเศรษฐกิจอ่อนแอ ความสามารถในการแข่งขันก็ถดถอย เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจจาก พรรคแรงงาน มาเป็น พรรคอนุรักษ์นิยม ก็ได้มีการเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ มีการเดินหน้าพลักดันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของเอ็ดเวิร์ด ฮิทธ์ ได้รับการต่อต้านจากสหภาพแรงงานจนพ้นจากอำนาจไปในที่สุด

ต่อมา แรงต้านของสหภาพแรงงานเริ่มอ่อนล้า สาธารณชนเริ่มเข้าใจความจำเป็นในการแปรรูป เพราะต้องทนใช้บริการที่ไม่มีคุณภาพ ราคาแพงและไม่เพียงพอ

หรืออย่างกรณีของรัฐวิสาหกิจเหมืองถ่านหินที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็งสุดและหยุดงานประท้วงเป็นเวลานานๆก็ปรากฎว่า เมื่อแปรรูปแล้ว ถ่านหินก็ถูกลงเพราะนำเข้าได้โดยไม่ถูกกีดกัน นอกจากนี้ ในระยะสิบปีต่อมาคนเหมืองถ่านหินลดจำนวนจาก 180,000 เป็น 11,000 โดยที่สามารถทำการผลิตได้เท่าเดิม รัฐบาลภายใต้การนำของมาร์กาแร็ท แธชเชอร์ ได้ดำเนินการแปรรูปต่อจากรัฐบาลเอ็ดเวิร์ด ฮิทธ์ และประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จบางอย่างในเรื่องการแปรรูปก็นำมาสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจในภายหลังเหมือนกัน เช่น เกิดการว่างงาน สวัสดิการและคุณภาพชีวิตลดลงของผู้ใช้แรงงาน

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  ปัจจุบัน ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ  เป็น รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net