Skip to main content
sharethis
ทหารตั้งกรรมการ 4 ชุด เผยแผนฟื้นฟูผลกระทบเหมืองทอง กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดแย้งไม่มีส่วนร่วม เสนอ 5 ข้อ จุดยืนเพิกถอนประทานบัตร-ใบอนุญาตโรงแต่แร่ก่อน ถึงขนแร่ได้
 
 
 
 
27 มิ.ย. 2557 วันนี้ (27 มิ.ย.) สถานการณ์เหมืองทองเมืองเลย มีการนัดประชุมระหว่างนายทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ กับตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด โดย พันเอกสวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 ได้รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานของทหารใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางทหารได้มีการประสานงานกับส่วนราชการในหลายด้าน
 
ที่ผ่านมามีหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางที่มาเก็บข้อมูลผลกระทบรอบบริเวณเหมืองแร่ทองคำแล้ว เช่น กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงพื้นที่มาเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ตะกอนดิน และทหารได้ประสานงานให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนและผลกระทบเหมืองแร่ ได้แก่
           
แต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำเลย โดยมี พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย เป็นประธาน
           
แต่งตั้ง คณะกรรมการน้ำ โดย ผู้ว่าราชการจังหวัด, อุตสากรรมจังหวัดเลย, สิ่งแวดล้อมภาค, กรมควบคุมมลพิษ เป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
           
แต่งตั้ง คณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน
           
แต่งตั้ง คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจะมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและทหารเพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่าง ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน กับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
           
พันเอกสวราชย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจะดำเนินงานบนพื้นฐานความเป็นจริงที่ทำได้ โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1. ฟื้นฟูการปนเปื้อนสารพิษ เช่น สารหนู ในลำห้วยเหล็ก โดยวิธีปลูกต้นบอน, ต้นกล้วย เพื่อดูดซับโลหะหนัก ระยะที่ 2. แก้ไขปัญหาสารพิษตกค้าง หรือโลหะหนักในเลือดประชาชน โดยอาจจะตรวจเลือดประชาชนรอบเหมืองอีกครั้ง แล้วหาวิธีป้องกัน, แนะนำ โดยใช้กรณีศึกษาการทำเหมืองที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีสารหนูตกค้างทำให้ประชาชนป่วยเป็น ไข้ดำ เป็นแนวทางในการแก้ไข
           
ส่วน ระยะที่ 3. การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย ในการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พันเอกสวราชย์ กล่าวว่า “ค่อยว่ากันอีกที”
 
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้เชิญชวนนายทหารที่มาประจำการในหมู่บ้านไปดูผลกระทบจากการทำเหมืองทองของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด บน ภูซำป่าบอน ห้วยเหล็กที่ปนเปื้อนสารพิษ เขื่อนเก็บกากแร่บนภูทับฟ้าที่สร้างทับอยู่บนภูเขาซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับซึม และที่ทิ้งมูลทรายของเหมืองทองที่กลายเป็นภูเขาหิน เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเพียงบางส่วนจากสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
 
 
 
 
 
และเพื่อให้ทหารที่มาประจำในหมู่บ้านและทหารที่ได้รับคำสั่งให้มาแก้ปัญหาอันยาวนานระหว่างประชาชน 6 หมู่บ้านกับเหมืองทองคำ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จึงจัดทำบันทึกลำดับเหตุการณ์เพื่อความเข้าใจสถานการณ์ และได้ยื่นเป็นหนังสือแก่ทหาร เรื่องข้อเท็จจริงกรณีเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ เมื่อ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ก่อตั้งบริษัทฯ หลังชนะประมูลและได้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.เลย มาจนถึงเหตุการณ์ในปัจุบัน เพื่อชี้ให้ทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ได้เห็นถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของ บริษัททุ่งคำ ที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำเหมือง กระบวนการในการติดตาม ตรวจสอบ และกำกับให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามอีไอเอ กระบวนการตรวจสอบจากภาคประชาชน โดย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่เรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีแรกเมื่อเปิดการทำเหมือง
 
แต่ข้อบกพร่องในการทำเหมืองแร่และข้อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขตลอด 7 ปี กลับถูกเพิกเฉยและละเลยโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ และบริษัททุ่งคำ ยังคงทำเหมืองแร่อย่างไร้ความผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังขอประทานบัตรแปลงใหม่อีก ๒ แปลงเพื่อขยายพื้นที่การทำเหมืองในพื้นที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีใครฟังเสียงคัดค้านด้วยความเจ็บป่วยเดือดร้อนของชาวบ้าน
 
ทั้งนี้ ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้ยื่นข้อเสนอของกลุ่มฯ 5 ข้อ ได้แก่
 
1. เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน
 
2. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย
 
3. เคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ทั้งหมด ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร
 
4. ขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วออกจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรทั้งหมด
 
5. ทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
 
“ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ของชาวบ้าน ขอให้เป็นตามขั้นตอน  1 2 3 4 5  จะข้ามขั้นตอนไม่ได้” นายสมัย ภักมี ตัวแทนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว
 
ด้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ได้ทักท้วงต่อการดำเนินงานของทหารในครั้งนี้ที่มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้น 4 ชุด โดยไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้าน และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด การแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็จะแก้ไปโดยไม่เข้าใจสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ ไม่แตกต่างจากการแก้ไขปัญหาที่แล้วมาจากภาครัฐที่ดำเนินการไปเพื่อให้เหมืองสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ขยายพื้นที่ประทานบัตรต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีข้อบกพร่องหรือได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านไว้อย่างไรก็ตาม    
 
สุดท้าย หากมองตามข้อเรียกร้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย และให้ทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นจุดยืนเดิมที่ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เรียกร้องมาตลอดในระยะเวลา 7 ปี
 
ส่วนการที่บริษัทฯ ต้องการจะขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วทั้งหมด และเคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น อันที่จริงควรจะเป็นสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องที่จะพิจารณา ในเมื่อการขนแร่ของบริษัททุ่งคำ เมื่อคืนวันที่ 15
 
โดยเฉพาะกับบทบาทหน้าที่ของทหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการณ์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยประกาศมาตลอดว่า การรัฐประหารในครั้งนี้ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างประเทศ ทั้งโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ ให้ชอบธรรมกับทุกฝ่าย
 
คำถาม คือ มาถึงวันนี้ การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำ ยังนับไม่ได้อีกหรือว่าเป็น “ขบวนการ” กอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรแร่ที่ไร้ความรับผิดชอบและไร้จิตสำนึก โดยเครือข่ายผลประโยชน์ในระดับการเมือง ราชการ เอกชนที่มีความสัมพันธ์และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
 
หากจะพูดให้ถึงที่สุด คือ การทำเหมืองที่ไร้สำนึกความรับผิดชอบมาได้ยาวนานขนาดนี้ อันที่จริงควรจะถูกหน่วยงานที่กำกับดูแลเพิกถอนประทานบัตร หรือได้รับการลงโทษตามกฎหมายไปแล้ว โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องคัดค้านเรียกร้องหรือไม่
 
และหากดูรูปการของการตั้งคณะกรรมการฯ มากชุดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่คล้ายกับ “มัดมือชก” ชาวบ้านอย่างชอบธรรม รวมถึงพยายามที่ให้เกิดการเจรจาระหว่างชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในนาม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กับ เหมืองทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยกระแสข่าวที่มีมาตลอด คือ การยกเลิกประทานบัตรทั้ง 6 แปลงของทุ่งคำ เป็นข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่สูงเกินไป
 
เรื่องราวการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิด และความต้องการที่อยากจะให้ลูกหลานได้ดำรงวิถีชีวิตด้วยความยั่งยืน
 
ตอนอวสานก็คงจะพ่ายแพ้แก่อำนาจทุน อำนาจรัฐ อำนาจมืด อำนาจผลประโยชน์ ไม่ว่าสังคมไทยจะปรับเปลี่ยนไปอีกกี่ยุคสมัย อีกกี่รัฐธรรมนูญ อีกกี่รัฐประหาร ประชาชนก็ยังถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมอยู่ร่ำไป
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net