ชาวบ้านลุ่มน้ำชีครวญ เขื่อนทำน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรซ้ำซาก หน่วยงานรัฐเมินแก้ปัญหา

 
27 มิถุนายน 57 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น แนวทางเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือกับพิบัติภัยด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำจะได้ดำเนินการจัดสัมมนาจำนวน 12 ครั้ง ในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกกาคม 2557 ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และยโสธร โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนองค์กรลุ่มน้ำหรือเครือข่าย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำ ครั้งละประมาณ 40 คน เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชน เสริมสร้างขีดความสามารถและระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางการจัดการพิบัติภัย ซึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำได้จัดขึ้น
 
ทั้งนี้ นายบุญจันทร์ สาระกรม ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติจริงๆ เกิดจากมนุษย์มาสร้างสิ่งกีดขวางลำน้ำ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี อย่างเช่น เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ทำให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านต้องกลายเป็นที่เสี่ยงน้ำท่วม ที่ผ่านมาพวกเราก็เคยเสนอปัญหาเหล่านี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาสักที วันนี้ก็มาเข้าร่วมเวทีกับหลายภาคส่วนแต่ก็มุ่งเน้นไปที่การจัดการปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าเรายังไม่มองที่ต้นเหตุ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำชีคงจะแก้ยากขึ้นเพราะต่างคนต่างทำ
 
“ถ้าจะแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมควรเริ่มที่ต้นเหตุคือต้องบริหารจัดการเขื่อนเพราะเขื่อนคือต้นเหตุของปัญหา โดยการเปิดประตูเขื่อนเพื่อแขวนทุกบานในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปเพื่อเป็นการพร่องน้ำ และเตรียมรองรับน้ำฝนที่กำลังจะมา” นายบุญจันทร์ เสนอต่อเวที
 
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วม เกิดจากโครงสร้างการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ขาดความเข้าใจทิศทางการไหลของน้ำ และขาดความเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีซึ่งผมจะมองเห็นได้ชัดเจนว่าเขื่อนถูกสร้างขึ้นมาปิดกั้นแม่น้ำเป็นทอดๆ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริง น้ำก็ยังถูกควบคุมโดยเขื่อนเป็นผู้กำหนดในการเปิดปิดบานประตูน้ำ
 
“ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังหวั่นกับปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ปัญหาเหล่านี้รัฐควรให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านตามข้อเสนอชาวบ้าน มิใช่จะเดินหน้าจัดเวทีเพื่อหาโครงการใหม่ๆ” นายสิริศักดิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท