อนุสรณ์ ธรรมใจ: การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการจัดการทรัพย์สินของประเทศ (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

<--break- />

ความขัดแย้งเรื่องการจัดการรัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นเรื่องของความคิดความเชื่อทางวิชาการเรื่องการจัดการทรัพยากรของประเทศเท่านั้น หากแต่มักมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เพราะหากว่าเป็นเรื่องของความคิดความเชื่อทางวิชาการ การจับเข่าคุยกันก็น่าจะแก้ปัญหาได้ หากเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง อย่างกรณีล่าสุด การยุบหรือไม่ยุบกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

ทรัพย์สิน หนี้สิน ผลกำไรขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ส่งผลต่อฐานะทางการคลังของประเทศและระบบเศรษฐกิจ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และลดการรั่วไหลย่อมส่งผลบวกต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน (โปรดดูตารางประกอบ)

 

รัฐวิสาหกิจกลุ่มไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non- SFls) 46 แห่ง 8 สาขา

งบดุล (ลบ.)

2554

2555

2556*

ณ ธันวาคม2556

เงินสด

408,126

345,545

413,501

411,831

สินทรัพย์

4,055,242

4,513,608

4,781,950

4,792,409

หนี้สิน

2,300,958

2,642,434

2,787,551

2,812,143

ทุน

1,754,284

1,871,174

1,994,399

1,980,267

 

งบกำไรขาดทุน (ลบ.)

2554

2555

2556

ต.ค.-ธ.ค. 2556**

รายได้รวม

3,820,239

4,414,513

4,625,022

48,220

รายได้รวม

3,988,963

4,597,326

4,807,129

53,302

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน

3,619,560

4,084,748

4,376,227

35,651

ค่าใช้จ่ายรวม

3,682,698

4,228,839

4,481,896

39,331

กำไรจากการดำเนินงาน

306,228

368,486

325,233

13,970

ดอกเบี้ยจ่าย

47,716

50,755

47,871

2,889

ภาษีเงินได้

58,246

61,454

55,260

1,039

EBITDA

424,278

438,731

448,073

15,903

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ

177,838

235,046

222,101

12,053

แหล่งที่มา: สคร กระทรวงการคลัง

 

ความล้มเหลวของระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาก็ดี ในยูโรโซนก็ดี หรือแม้นกระทั่งภาวะเงินฝืดยาวนานของญี่ปุ่น ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบและกลไกตลาด ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา แนวคิดแบบเคนเสี่ยนเริ่มเสื่อมความนิยมลง ความนิยมในกลไกตลาดกลับคืนหมด มองไปที่ใด ล้วนสนับสนุนการแปรรูปและลดบทบาทภาครัฐ

กลไกตลาดและระบบตลาดนั้นทำงานเหมือนกลไกในระบบธรรมชาติ เปรียบเหมือน “มือที่มองไม่เห็น” หรือ “Invisible Hand” ในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางโดยรัฐแบบสังคมนิยมจึงไม่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ และได้หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมากขึ้น แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนี้ไม่สนับสนุนให้รัฐเข้ามาแทรกแซงหรือจัดการกับกลไกตลาด ต้องปล่อยให้กลไกเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น การควบคุมราคาสินค้า อาจนำมาสู่การขาดแคลนสินค้าได้ การกำหนดเพดานค่าแรงขั้นต่ำ อาจนำมาสู่ปัญหาการว่างงานได้ เป็นต้น กลไกตลาดมีส่วนอย่างสำคัญทางด้านทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ส่วนด้านความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ กลไกตลาดไม่สามารถเข้าไปจัดการได้มากนัก รัฐจึงต้องมีบทบาทในการเข้าไปจัดการในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ กลไกตลาดจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ มีการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารอย่างสมบูรณ์ ในโลกแห่งความจริง โครงสร้างตลาดในระบบเศรษฐกิจ หรือในธุรกิจอุตสาหกรรม หรือในสินค้าบริการต่าง ๆ ไม่ได้มีสภาพโครงสร้างตลาดแบบแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ในหลายกรณีโครงสร้างเป็นแบบผูกขาดหรือแบบกึ่งผูกขาด ทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ เกิดต้นทุนต่อสังคม และผลกระทบภายนอกทางลบ (Negative Externalities) ต่อระบบเศรษฐกิจ 

กลไกตลาดที่ทำงานอย่างสมบูรณ์ตามอุดมคติของระบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพาเรโต้ การเปลี่ยนแปลงแบบพาเรโต้ (Pareto Improvement) เป็นการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ในลักษณะที่การเปลี่ยนแปลงจะทำให้คนอย่างน้อยหนึ่งคนดีขึ้น ในขณะที่คนอื่น ๆ จะดีขึ้นด้วยก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็เหมือนเดิม ไม่แย่ลง สภาพดังกล่าวเป็น win win situation การเปลี่ยนแปลงแบบพาเรโต้ นำมาสู่ดุลยภาพแบบพาเรโต้ คือ สภาวะที่การจัดสรรทรัพยากรได้ประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสภาวะที่หากมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว จะไม่ทำให้มีคนใดคนหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความพอใจลดลงอย่างแน่นอน

กลไกตลาดที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพาเรโต้ อันนำมาสู่ดุลยภาพแบบพาเรโต้นั่นเอง 

ความล้มเหลวของระบบตลาด (Market Failure) คือ การที่ระบบตลาดแข่งขันสมบูรณ์ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดสวัสดิการสังคมสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อกลไกการจัดสรรทรัพยากรของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ไม่สามารถนำไปสู่เงื่อนไขตามหลักพาเรโต้ได้นั่นเอง ความล้มเหลวของระบบตลาดและผลกระทบเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจและศึกษา รวมทั้ง บทบาทของรัฐในการเข้าแทรกแซงและจัดการปัญหาความล้มเหลวของระบบตลาด

สภาพโครงสร้างตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์มี 3 ลักษณะด้วยกัน คือ 1) ตลาดผู้ขายน้อยราย 2) ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด 3) ตลาดผูกขาด

ในระบบเศรษฐกิจหรือโครงสร้างตลาดที่มีอำนาจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด ความสามารถในการกำหนดราคาสูงกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสของสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในโครงสร้างตลาดผูกขาดและกึ่งผูกขาด ทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้สังคมไม่ได้รับสวัสดิการสูงสุด หรือสูญเสียผลประโยชน์บางส่วนไปให้กับกลุ่มที่มีอำนาจผูกขาด 

ระบบตลาดอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาความยากจน หรือบางครั้งอาจทำให้ปัญหาหนักขึ้นก็ได้ รวมทั้ง กลไกตลาดอาจไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับมลพิษในภาคการผลิตอุตสาหกรรม จึงต้องอาศัยกลไกรัฐเข้าไปช่วยดูแล หรือกลไกราคาไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ดีนัก จึงต้องอาศัยบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การรับจำนำสินค้าเกษตร หรือการประกันราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

การให้บริการทางด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ หรือการสร้างโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า การสร้างโครงข่ายท่อน้ำประปา การสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม การสร้างโครงข่ายระบบขนส่งระบบราง เป็นต้น เป็นการดำเนินการที่ใช้งบประมาณลงทุนสูง ใช้เทคโนโลยีสูง และต้องมีการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) การให้บริการและผลิตสินค้าดังกล่าวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคม มีสภาวะที่เรียกได้ว่า เป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) ในกรณีดังกล่าว รัฐหรือรัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทในควบคุมหรือแทรกแซง การแทรกแซงโดยรัฐบาลในกรณีการผูกขาดโดยธรรมชาติ อาจทำได้ด้วยการควบคุมอัตราผลตอบแทน (Rate of Return Regulation) จากการลงทุนไม่ให้เกินอัตราที่กำหนด  

ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่อาจทำให้กลไกตลาดมีประสิทธิภาพหรือล้มเหลวก็ได้ ความไม่สมมาตรและความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล ทำให้กลไกตลาดล้มเหลวได้ แต่รัฐก็ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงทุกกรณี เพราะอาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงกว่าเดิมก็ได้ ในหลายครั้ง รัฐไม่ได้มีข้อมูลมากกว่าตลาด 

จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หรือจัดการทรัพย์สินของประเทศ ก็ต้องคิดให้รอบคอบและตัดสินใจกำหนดนโยบายบนทางสองแพร่งระหว่างกลไกตลาด กับบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจ หรือส่วนผสมทางนโยบายแบบไหนจึงจะดีที่สุดต่อประเทศและประชาชน 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ปัจจุบัน ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ  เป็น รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท