Skip to main content
sharethis

เป็นเวลากว่า 9 เดือน นับจากการเดินเท้าของกลุ่มรณรงค์ต่อการคัดค้านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จากแม่เรวาสู่ กทม. กระทั่งนำไปสู่การชะลอ EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EHIA อย่างละเอียดรอบคอบ

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อพิจารณาข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ สรุปเป็นข้อเสนอแก่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า 2. การบริหารจัดการน้ำ 3. เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการชุดนี้อยู่ระหว่างการสรุปผลรายงานในแต่ละด้าน คาดว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย. นี้

เหล่านี้คือความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่ถูกเปิดเผยในงานเสวนาวิชาการ 'ความคืบหน้าโครงการเขื่อนแม่วงก์และมุมมองในการจัดการทรัพยากรน้ำ' เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2557 ที่ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน โดยองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม




ลำดับเหตุการณ์สำคัญโครงการเขื่อนแม่วงก์

ปี 2527    กรมชลประทานได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดย JICA ในการพัฒนาโครงการชลประทานลุ่มน้ำสะแกกรัง ศึกษาความเหมาะสมแล้ว    เสร็จในปี 2529

13 พ.ค. 2532    ที่ประชุม ครม. ส่วนภูมิภาคที่ จ.เชียงใหม่ มีมติให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษา    ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ โดยกรมชลประทานได้มอบหมายให้ ม.เชียงใหม่ศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่ไม่ซ้ำซ้อนกับ JICA ซึ่งรายงาน    ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2534 และแผนแก้ไขผลกระทบสิ่ง    แวดล้อมแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2537

ปี 2537    กรมชลประทานนำเสนอรายงานความเหมาะสมและรายงานศึกษาผลกระทบสิ่ง    แวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (ขณะนั้น) เพื่อให้คณะกรรมการผู้    ชำนาญการพิจารณา

คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีมติเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2537 "ให้กรมชลประทานศึกษาเพิ่มเติม โดยให้ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณเขาชนกันด้วย เนื่องจากในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพบว่าที่ตั้งโครงการบริเวณเขาชนกันจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าบริเวณเขาสบกก"

23 ม.ค. 2541    มติที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ครั้งที่ 1/2541 "ไม่เห็นชอบกบการดำเนิน    โครงการแม่วงก์"

มี.ค. 2541    คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติครั้งที่ 2 ให้กรมชลประทานดำเนินการ 3 ประการ คือ

1.) จัดทำประชาพิจารณ์

2.) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อนิเวศวิทยาทั้งทางตรงและทางอ้อม

3.) ประเมินต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและเปรียบเทียบผลประโยชน์ของทางเลือกต่าง ๆ

27 พ.ย. 2543    เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) มีหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ 0205/15613 แจ้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา    ทบทวนโครงการเขื่อนแม่วงก์ ตามความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง โดยที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นสอดคล้องกันอันเป็นสาระสำคัญว่า "โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ควรผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ก่อน ประกอบกับรายละเอียดของโครงการยังไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ว่า ผลของการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้โดยไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่"

24 ธ.ค. 2545    คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติครั้งที่ 3 "ยังไม่เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และมอบหมายให้    กรมชลประทานไปหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการฯ และทำการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการ แล้วนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง"

25 มี.ค. 2546    ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) ในฐานะ    เลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ ทส 1008/2081 แจ้งให้    กรรมชลประทานทราบถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วันที่ 24 ธ.ค. 2545

4 ก.พ. 2547    หนังสือที่ ทส 1009/1307 ลงวันที่ 4 ก.พ. 2547 แจ้งให้กรมชลประทานทราบว่าได้    พิจารณารายงานฯ แล้ว มีความเห็นว่า "การนำเสนอข้อมูลในรายงานเป็นการ    รวบรวมข้อมูลที่ได้มีการศึกษามาแล้วในอดีตของโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ แต่ไม่ได้นำเสนอการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่แต่ประการใด การเสนอทางเลือกที่ตั้ง    โครงการเป็นการเสนอทางเลือกเดิมที่เคยเสนอไว้ และการเสนอข้อมูลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือ    กรมชลประทานทำการปรับปรุง และเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ และชัดเจน ก่อนที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป"

3 ธ.ค. 2547    ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2547 มีมติดังนี้

1.) ให้กรมชลประทานประสานการดำเนินการวางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำแม่วงก์ ให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังของคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อหาข้อยุติในการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ โดยพิจารณาให้มีผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตลอดจนความขัดแย้งกับราษฎรน้อยที่สุด และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ พิจารณาให้ความเห็นก่อนนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไป

2.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA: Strategic Environmental Assessment) มาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

10 เม.ย. 2555    ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการเขื่อนแม่วงก์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562

1 ส.ค. 2555    กรมชลประทานส่ง EHIA ให้ สผ.

12 ธ.ค. 2555    สผ. นำ EHIA เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (1) ในการประชุมครั้งที่ 2/2555

26 ก.ค. 2556    สผ. นำ EHIA เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (2) ในการประชุมครั้งที่ 6/2555 คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีมติให้กรมชลประทานปรับปรุงแก้ไข EHIA และเสนอ    ข้อมูลเพิ่มเติมใน EHIA

26 ส.ค. 2556    สผ. ได้รับ EHIA ฉบับชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2

4 ก.ย. 2556    มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรทำนังสือถึง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้พิจารณาทบทวนการนำ EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

9 ก.ย. 2556    องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือถึงคณะ    กรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ และออกแถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติรายงาน พร้อมออกเดินทางไปตั้งต้นเดินเท้า 388 กม. ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เราวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สู่ กทม.

10-22 ก.ย. 2556    เดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์

10 ต.ค. 2556    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่ง 427/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะ    กรรมการพิจารณาข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อตรวจสอบประเด็นทางวิชาการ 3 ด้าน ได้แก่ 1.) ด้านทรัพยากรป่า    ไม้และสัตว์ป่า 2.) ด้านการบริหารจัดการน้ำ 3.) ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมี    รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวิจารณ์ สิมาฉายา) เป็น    ประธาน ประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2556 ครั้งที่ 2/2556 วันที่ 21 พ.ย. 2556

4 ธ.ค. 2556    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคำสั่ง 493/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะ    ทำงานตรวจสอบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์

25 ธ.ค. 2556 สผ. นำเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลและคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลฯ เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการมีมติรับทราบและให้รอผลการพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ของคณะกรรมการพิจารณาข้อมูล เพื่อให้ได้บทสรุปทางวิชาการ ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านพัฒนาแหล่งน้ำต่อไป

13 มี.ค. 2557    คณะกรรมการพิจารณาข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ ประชุมครั้งที่ 1/2557 โดยคณทำงานด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า    พิจารณาข้อมูลเสร็จ และส่งรายงานการพิจารณาข้อมูลแก่ที่ประชุม

เขื่อนแม่วงก์กับความหลากหลายทางระบบนิเวศ

ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมท์ซ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อมีการกล่าวถึงแม่วงก์ มักจะมีการกล่าวถึงเสือโคร่งบ่อยครั้ง ซึ่งความสำคัญของเสือโคร่งต่อระบบนิเวศในฐานะสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ที่เป็นยอดของห่วงโซ่อาหาร คือการควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ

ปัจจุบัน เหลือเสือโคร่งอยู่ในโลกประมาณ 3,000 ตัว และอยู่ในประเทศไทยไม่เกิน 250 ตัว จัดว่าอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธู์มาก ทำให้หลายประเทศตื่นตัวต่อปัญหานี้ ล่าสุด 13 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงมีเสือโคร่งเหลืออยู่ มีมติร่วมกันอนุรักษ์เสือโคร่งไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ รวมถึงเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งเป็น 2 เท่าให้ได้ภายในปี 2565 ขณะที่ประเทศไทยลงนามว่าจะเพิ่มประชากรเสือโคร่ง 50%

ดร.โรเบิร์ต กล่าวว่า จากการติดตั้งกล้องเพื่อนับจำนวนเสือโคร่งในบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ระหว่างปี 2554-2555 พบเสือโคร่งตัวเต็มวัยจำนวน 10 ตัว และลูกเสืออีก 2 ตัว นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เป็นต้น ดังนั้นการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กรณีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานก็ได้แสดงให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมต่อระบบนิเวศ ทำให้ป่าแยกกระจายเป็นหย่อม ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลให้สัตว์ประจำถิ่นสูญหายไปภายในเวลาเพียง 5 ปี ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยกเว้นหนูเหม็นและหนูมาเลย์ สูญหายไปในระยะเวลา 25 ปี เพราะฉะนั้นการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเราคงไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่แม่วงก์เช่นกัน

ด้าน ผศ.ดร.วิชาญ เอียดทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นป่าที่มีความพิเศษ โดยเฉพาะจุดที่จะสร้างโครงการเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ดี เป็นที่ราบ และอยู่ในพื้นที่ที่มีเสืออยู่  นอกจากนี้ยังมีธารน้ำไหลผ่านทำให้มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ มีสังคมพืชที่มีความหลากหลาย เช่น ป่าเบญจพรรณมีสัก ป่าเบญจพรรณชื้นที่มีตะเคียนทองและยางนาเข้าไปแทรก ที่สำคัญคือป่าเต็งรังผสมสักซึ่งยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน และป่าเบญจพรรณริมน้ำ รวมถึงระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแบบธารน้ำไหล ถ้าสร้างเขื่อนสิ่งเหล่านี้จะหายไป

ทั้งนี้ ที่แม่วงก์ยังมีพืชถิ่นเดียวที่พบคือปาหนันแม่วงก์ และในพื้นที่โครงการเท่าที่ได้ไปสำรวจดู พบต้นกระเช้าปากเป็ด ซึ่งเป็นอาหารของผีเสื้อถุงทอง ถ้าหากพืชเหล่านี้สูญหายไปจากพื้นที่ก็เท่ากับสูญหายไปจากโลกด้วย นอกจากนี้ ยังพบพืชหายากอื่น ๆ เช่น ปรงเหลี่ยม ปอฝ้าย เนระพูสีไทย ว่านนางครวญ เถากวางดูถูก แคฝอย ล่ำตาควาย และพบพืชที่มีบัญชีแนบท้ายไซเตส เช่น เอื้องเสือโคร่ง เอื้องผึ้ง

ประเด็นสำคัญ ในช่วงฤดูฝนชาวบ้านจะได้ใช้พื้นที่เก็บเห็ดและหน่อไม้ เป็นแหล่งอาหารพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ที่ไม่ได้เบียดเบียนป่ามากนัก

"ถ้าเราอยากได้แหล่งน้ำ สิ่งที่ดีที่สุดที่เก็บน้ำไว้ได้ก็คือป่า" ผศ.ดร.วิชาญกล่าวทิ้งท้าย

ประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

นายรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีการประมาณการล่วงหน้า 58 ปี 8 ปีเป็นช่วงระยะเวลาก่อสร้าง ซึ่งในรายงาน EHIA เป็นการศึกษาราคา ณ ปี 2555 และใช้ตัวเลขนี้ตลอดการวิเคราะห์โครงการ

ในรายงานระบุว่า เราจะได้ประโยชน์จากโครงการเขื่อนแม่วงก์ 113 ล้านบาท เป็นอัตราผลตอบแทน (EIRR) 12.1% สัดส่วนระหว่างผลประโยชน์ที่จะได้กับกับต้นทุนที่จ่ายไป (B/C Ratio) เท่ากับ 1.01 หมายความว่าส่วนต่างที่ได้จากลงทุน 1 บาท คือ 1 สตางค์เท่านั้น แต่เนื่องจากโครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นการลงทุนมากกว่าหมื่นล้าน ผลตอบแทนจึงอยู่ที่ 113 ล้านบาท

ต้นทุนในการสร้างเขื่อนแม่วงก์กว่า 70% เป็นต้นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงการเวนคืนที่ดินเพื่อทำคลองไส้ไก่ อีกประมาณ 20% คือต้นทุนด้านทรัพยากรดิน ป่าไม้ แหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ และแหล่งท่องเที่ยวที่สูญเสียไป

ด้านผลประโยชน์ หลายคนอาจเข้าใจว่าเขื่อนแม่วงก์สร้างเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ในรายงาน EHIA ชี้ชัดว่า 40% ของรายได้มาจากการปลูกพริก และอีกมากกว่า 30% มาจากการปลูกพืชเกษตรอื่น ๆ เช่น ข้าว อ้อย ส่วนสัดส่วนในการป้องกันอุทกภัยมีเพียง 1% เท่านั้น ดังนั้นเขื่อนนี้จึงเป็นการสร้างเพื่อการชลประทาน

นอกจากนี้ นายรพีพัฒน์ได้ตั้งข้อสังเกต 6 ประเด็น เกี่ยวกับรายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ดังนี้

1. ผลประโยชน์จากการปลูกพริก ที่มีมากกว่า 40% ของรายได้เขื่อน จากการค้นคว้าข้อมูล พบว่าแม้แต่ จ.นครปฐมซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมพริกหนาแน่นมาก กลับมีพื้นที่ปลูกพริกเพียง 10% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ขณะที่ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เดิมไม่มีการปลูกพริกอยู่เลย แต่สมมติฐานใน EHIA กล่าวว่า พื้นที่ชลประทาน 30% จะกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมพริกที่ใหญ่กว่า จ.นครปฐม 3 เท่า และเพิ่มพื้นที่ปลูกพริกในประเทศไทยประมาณ 80%

2. การประเมินมูลค่าของโครงการปลูกป่า ซึ่งโครงการเขื่อนแม่วงก์มีการรวมผลประโยชน์จากการปลูกป่าเข้าไปด้วย ซึ่งการประเมินควรคิดมูลค่าจากส่วนเพิ่มในแต่ละปี ไม่ใช่คิดผลประโยชน์เต็มอย่างใน EHIA

รวมถึงประเด็นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ต้นไม้แต่ละต้นควรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ตามสัดส่วนการเติบโต แต่ในรายงานที่เป็นส่วนของการปลูกป่าทดแทน กราฟแสดงการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์มีความผันผวน ขณะที่การเติบโตของต้นไม้เป็นกราฟเส้นตรง แสดงว่าไม่ได้ใช้สมมติฐานการคิดกระแสผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน

3. ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว รายงานระบุว่า พื้นที่ปลูกป่าทดแทนประมาณ 30,000 ไร่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เหมือนกับที่แม่เรวายังเป็นที่น่ากังขา

4. โครงการที่ทำลายป่าอย่างเขื่อนแม่วงก์ ควรนำการปลูกป่าเข้าไปเป็นผลประโยชน์ส่วนหนึ่งหรือไม่ เพราะการปลูกป่าทดแทนมีลักษณะเดียวกับโครงการ CSR เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อชุมชน

นอกจากนี้ การสำรวจของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า พื้นที่ปลูกป่าทดแทนบางส่วนเป็นพื้นที่ชุมชน บางส่วนเป็นพื้นที่ปลูกป่าอยู่แล้ว และบางส่วนอยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อน จึงเกิดคำถามว่าผลประโยชน์ที่จะได้จากการปลูกป่าทดแทนเป็นจริงหรือไม่

5. การวิเคราะห์ความอ่อนไหวทางเศรษฐศาสตร์ ผลในรายงาน EHIA ชี้ให้เห็นว่า ถ้าผลประโยชน์รับที่คาดการณ์ไว้ 58 ปี ลดลง 1.2% โครงการเขื่อนแม่วงก์จะขาดทุน ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.2% จากที่คาดการณ์ไว้ โครงการนี้จะขาดทุนเช่นกัน และหากเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองกรณี การคาดการณ์ผิดพลาด 0.6% จะทำให้โครงการขาดทุน หมายความว่าโครงการนี้จุคุ้มทุนได้ต้องอาศัยการคาดการณ์ที่ผิดพลาดน้อยกว่า 1% เป็นจุดที่น่าตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้อย่างมาก

นอกจากนี้ ในรายงานเป็นข้อมูลที่ศึกษาจากราคา ณ ปี 2555 ซึ่งปัจจุบันโครงการถูกเลื่อนออกไป ซึ่งมีส่วนที่ระบุในรายงานว่าหากโครงการถูกเลื่อนออกไป 2 ปี โครงการนี้จะขาดทุน ดังนั้น หากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในปีนี้ หรือหลังจากนี้ รายงาน EHIA จะเป็นตัวที่ย้ำให้เห็นว่าเงินภาษีกำลังถูกใช้จ่ายไปในโครงการที่ขาดทุน

6. การคำนวณต้นทุนจ่ายจากการสูญเสียระบบนิเวศ ในรายงานใช้การคำนวณจากการนำทรัพยากรไปขายเป็นส่วน ๆ แต่สิ่งที่ขาดการประเมินคือมูลค่าทางระบบนิเวศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเมินได้ การละเลยตัวเลขตัวนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

การจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำแม่วงก์

นายสมฤทัย ทะสดวก อาจารย์ประจำภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากลุ่มน้ำแม่วงก์เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งเป็นสาขาของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกทีหนึ่ง การสร้างเขื่อนซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ชลประทาน จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรือไม่ ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา เกิดภาวะน้ำเค็มรุกตัว เนื่องจากมีการปล่อยน้ำจากตอนบนลงมาน้อย ประเด็นผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งที่ EHIA ควรตอบแต่ยังขาดไป

นอกจากนี้ การพัฒนาโครงใหม่จะต้องไม่ลดประโยชน์ของโครงการที่มีอยู่เดิม ความอุดมสมบูรณ์ในทุ่งน้ำท่วมหายไปหรือไม่ รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อลุ่มน้ำ เป็นประเด็นที่ควรศึกษาเพิ่มเติมใน EHIA

นายสมฤทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำแม่วงก์ไม่ควรรอเขื่อน แต่ควรเริ่มจากชุมชนหรือท้องถิ่นแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยชุมชนควรทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตนเอง ว่าแต่ละพื้นที่น้ำท่วมระดับไหน ควรมีแผนอพยพอย่างไร รวมถึงปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับพื้นที่น้ำท่วม ส่วนคันปิดล้อมควรใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าแต่ละชุมชนสามารถจัดการน้ำภายในชุมชนได้ก็จะกลายเป็นภาพใหญ่ในการจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำ

ด้านมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรที่ลงสำรวจในพื้นที่ลาดยาว พบว่า เส้นทางระบายน้ำมีอุปสรรคตลอดเส้นทาง เช่น มีฝายใช้การไม่ได้กลายเป็นสิ่งกีดขวาง การสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ ขยะมูลฝอย และการถมที่ทำคันกั้นน้ำ รวมถึงมีปัญหาลำนำตื้นเขิน

การแก้ไขปัญหาระยะสั้นจึงไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างใหม่ แต่อาศัยการบริหารจัดการประตูระบายน้ำสำคัญ กำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ขุดลอกคลอง และกำจัดขยะก็เพียงพอแล้ว

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะกลาง ควรใช้การประสานระหว่างชุมชน ตั้งเป็นคณะทำงานดูแลระบบน้ำ โดยเฉพาะปัญหาการทำนาแบบไม่มีระยะพัก จนทำให้ไม่มีที่ระบายน้ำลงทุ่ง

นายณรงค์ แรงกสิกร ชาวบ้านชุมชนบ้านธารมะยม ต.วังซ่าน อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดควรให้คนในชุมชน 23 ตำบลคุยกันเอง ว่าเส้นทางน้ำมาอย่างไร พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ทำมาหากิน ไม่ใช่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยปราศจากการวางแผน ชาวบ้านจะได้อาศัยลำน้ำในการทำการเกษตรได้มากขึ้น

ด้าน.ส.มิ่งขวัญ นันทวิสัย นิสิตภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ควรศึกษาทำความเข้าพื้นที่ทั้งหมดก่อน เพื่อที่จะได้บูรณาการการจัดน้ำได้อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยในพื้นที่สูงซึ่งเป็นผืนป่าตะวันตกควรอนุรักษ์ไว้ ส่วนที่เสื่อมโทรมควรปลูกป่าทดแทนให้ได้ป่าที่สมบูรณ์ จะได้ทรัพยากรน้ำที่สมบูรณ์ตามมา ด้านพื้นที่ลุ่มต่ำควรปล่อยให้เกิดน้ำท่วมตามธรรมชาติ ส่วนพื้นที่ชุมชนก็ต้องแก้ไขให้เกิดน้ำท่วมขังน้อยที่สุด

ทั้งนี้ พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติไม่ควรมีสิ่งก่อสร้างกีดขวาง การจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่จึงควรคำนึงถึงพื้นที่น้ำท่วมทุ่งในช่วงน้ำหลากด้วย ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้อาจใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะในฤดูแล้ง หรือใช้ประโยชน์ในเชิงนันทนาการ และปล่อยให้น้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นวิธีการการลดอัตราเสี่ยงของน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ และยังใช้เป็นพื้นที่ส่วนรวมสำหรับคนในชุมชนได้อีกด้วย

ส่วนการจัดการลำน้ำที่จะไหลลงมาในพื้นที่ ซึ่งมักมีลำน้ำที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงน้ำหลากไหลมารวมกัน ควรปล่อยให้มีพื้นที่ให้น้ำท่วมทุ่งบ้าง โดยพื้นที่ราบจะอาศัยการกักเก็บ หรือชะลอน้ำในลำน้ำให้ไหลช้าลง ผ่านการขุดคลองจ่ายน้ำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม กระจายน้ำในพื้นที่เพื่อลดปริมาณน้ำโดยมีอุปกรณ์ในการจัดการน้ำของพื้นที่ เช่น ประตูระบายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ชุมชนจะต้องมีแผนการจัดการน้ำที่ชัดเจน เช่น พร่องน้ำในช่วงต้นฤดูฝน พอเริ่มฤดูน้ำหลากก็อาจเปิดประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำเข้าสู่ระบบเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตามการพยากรณ์ ส่วนฤดูแล้งก็ควรปล่อยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงลำน้ำธรรมชาติให้มีน้ำอยู่ตลอดเวลา

ด้านฝายที่นำมาใช้ควรอนุญาตให้น้ำ รวมถึงตะกอนดิน และสัตว์น้ำเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา ไม่ควรเป็นฝายที่ปิด หรือกันจนถึงท้องน้ำ พื้นที่ริมตลิ่งก็ควรรักษาสภาพตามธรรมชาติเพื่อป้องกันตลิ่งพัง

สำหรับพื้นที่น้ำท่วมทุ่ง ควรทำปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้ทราบว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมบริเวณนั้น คนในชุมชนจะสามารถอาศัยทรัพยากรอะไรในการยังชีพได้อีกบ้าง ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวทรัพยากรที่มากับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นการบริหารทรัพยากรในแต่ละช่วงของปีอย่างคุ้มค่าที่สุด

ด้านเทศบาลลาดยาว มีการขยายเมืองเข้าไปในพื้นที่ซึมน้ำ จึงต้องอาศัยการออกแบบที่คำนึงถึงวัฏจักรของน้ำมากที่สุด โดยใช้การผนวกระหว่างงานวิศวกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ระบบ rain garden มาช่วยซึมน้ำลงสู่ดิน ลดความเร็วของน้ำ และลดปริมาณน้ำที่จะท่วมในพื้นที่เมือง ซึ่งนอกจะช่วยปรับทัศนียภาพให้สวยงามแล้วยังดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ การวางผังเมืองต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ พื้นที่ระบายน้ำไม่ควรมีสิ่งก่อสร้างมากีดขวาง จึงเกิดเป็นคำถามว่าเราควรจะวางผังเมืองของทั้งประเทศก่อนหรือไม่ เป็นแนวทางการจัดการของทั้งประเทศก่อนจะลงสู่ระดับจังหวัดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องการการวางแผนรายลุ่มน้ำบนความเข้าใจสภาพทางธรรมชาติ ก่อนที่จะวางผังทางกายภาพ รวมถึงหยุดขยายเมืองไปในพื้นที่น้ำท่วมน้ำหลาก ปฏิรูปการวางผังเมืองใหม่ และเคารพในการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net