Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรม “หญิงอ่านเขียน เขียนอ่านหญิง” ครั้งที่ 6 โดยในครั้งนี้เป็นการอ่านงานเขียนเรื่อง The Laugh of the Medusa โดยผู้ชวนอ่านคือ วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศสคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันรักกล่าวว่า The Laugh of the Medusa เป็นงานของเอแลง ซิกซู (Hélène Cixous) ที่สามารถเป็นตัวแทนของงานเขียนแนวสตรีนิยมสายฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี ในส่วนแรกของการบรรยาย จะขอให้ภาพรวมของสังคมฝรั่งเศสที่ทำให้เกิดแนวคิดสตรีนิยมฝรั่งเศส แม้เรามักจะรับรู้ภาพสังคมฝรั่งเศสในฐานะสังคมที่เรียกร้องสิทธิของสตรี แต่จริงๆ แล้ว ผู้หญิงที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นแค่กลุ่มผู้หญิงชนชั้นสูงเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นประเทศคาทอลิกซึ่งมีการแบ่งแยกพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน ผู้หญิงจึงไม่สามารถแสดงออกถึงความเป็นหญิงในพื้นที่สาธารณะได้ ผู้หญิงในฝรั่งเศสได้รับสิทธิในการเลือกตั้งหลังผู้หญิงในประเทศไทยถึง 10 ปี ผู้หญิงที่มีการศึกษาเท่านั้นที่จะสามารถได้รับการยอมรับหรือพูดถึงในสังคมฝรั่งเศสในยุคแรกๆ

ประเด็นที่ผู้หญิงฝรั่งเศสเรียกร้องในแต่ละยุคก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ในยุคแรกคือตั้งแต่ยุคกลางจนถึงคริสต์ศวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสมักจะถกเถียงเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิง ต่อมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 มีการพูดถึงสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง เริ่มมีการจัดตั้งสมาคมสตรี เผยแพร่เอกสารเพื่อการต่อสู้ของสิทธิสตรี จนในสมัยนโปเลียนคือในปี 1804 เป็นยุคถดถอยของขบวนการสิทธิสตรี มีการเขียนกฎหมายที่ลดศักดิ์ศรีของผู้หญิงให้เหลือเทียบเท่าเด็ก การทำนิติกรรมของผู้หญิงต้องผ่านความยินยอมของสามี หรือบิดา

จนมาในช่วงปี 1830 กระแสสตรีนิยมกลับมาคึกคักอีกครั้ง สตรีนิยมเริ่มมีการนำเอาแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมเข้ามา และนำเสนอภาพสังคมอุดมคติที่ชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน เกิดการตีพิมพ์นิตยสารของผู้หญิงเช่น Voice of Women แต่ผู้หญิงก็ยังคงมีสถานะเป็นรองอยู่ดีในช่วงเวลาดังกล่าว

ในยุค 1848 ฝรั่งเศสมีการปฏิวัติอีกรอบ เป็นยุคที่ผู้หญิงถูกตัดขาดจากการเมือง มีการผลิตแนวคิดว่าผู้หญิงเป็นพวกอยู่กับบ้าน และโบสถ์ ถ้าหากปล่อยให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะเลือกโดยใช้อุดมการณ์อนุรักษนิยม ฝรั่งเศสก็ไม่สามารถจะก้าวไปสู่สังคมเสรีนิยมได้

จะเห็นได้ว่าตลอดพัฒนาการทางการเมืองของฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องผู้หญิงเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลา นอกจากนี้ในแต่ละช่วงเวลาก็มีการพูดถึงบทบาทของผู้หญิงที่แตกต่างกันไป ในปี 1840 บทบาทของผู้หญิงฝรั่งเศสที่ดีคือบทบาทของแม่ (Maternal responsibility) ผู้หญิงจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการศึกษา แค่อยู่บ้านเลี้ยงลูกให้ดีก็ถือว่าเติมเต็มบทบาทของผู้หญิงได้แล้ว

แต่หลังจากนั้นก็มีการเอาแนวคิดนี้มาเรียกร้องสิทธิในการศึกษาให้กับผู้หญิงโดยมองว่าผู้หญิงจะเลี้ยงลูกให้ดีไม่ได้ถ้าไม่เข้าถึงการศึกษา ความคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการสร้างแก่นสารตายตัวให้ผู้หญิง (essentializing femininity) เพราะเป็นการเน้นย้ำถึงพื้นที่ในครัวเรือนของผู้หญิงที่ศาสนจักรพยายามสร้างมาโดยตลอด ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนำไปสู่ข้อถกเถียงหลักระหว่างสตรีนิยม 2 ฝ่าย ระหว่างสตรีนิยมสัมพัทธนิยม (relationalism feminism) ที่เชื่อว่าผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชาย มีบทบาท และความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบของผู้หญิง ส่วนอีกฝ่ายคือสตรีนิยมปัจเจกนิยม (individualism feminism) ซึ่งเชื่อว่าผู้หญิงมีความเป็นมนุษย์เหมือนผู้ชาย ผู้หญิงควรมีเสรีภาพอย่างเต็มที่โดยไม่มีความคาดหวังทางสังคมใดๆ มาผูกมัด ซึ่งข้อถกเถียงเหล่านี้ก็ยังคงดำรงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงปี 1870 เป็นช่วงการเริ่มต้นของสาธารณรัฐที่ 3 มีการกลับมาของลัทธิล่าอาณานิคม แนวคิดเรื่องการเหยียดสีผิว และมองคนในประเทศอาณานิคมเป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งผู้หญิงก็กลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่มีศักดิ์เท่าเทียมกับคนในประเทศอาณานิคมเช่นกัน แม้ผู้หญิงในยุคนี้จะสามารถตั้งโรงพิมพ์ และมีหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง แต่ก็เป็นการยอมรับในฐานะประชาชนชั้นสองเท่านั้น 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดแนวคิดอภิปรัชญาแบบอัตถิภาวนิยม (existentialism) ที่เชื่อว่าประสบการณ์มีอิทธิพลกว่าตัวตนของเรา เราไม่สามารถมีตัวตนอยู่ได้หากไม่มีการรับรู้ผ่านประสบการณ์ของตน นักคิดสตรีนิยมที่มีชื่อเสียงในช่วงนี้คือ ซิมง เดอ โบวัวร์ ที่มีแนวคิดที่เชื่อว่าเพศเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม ผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นเพศที่ขาดพร่อง ในขณะที่ผู้ชายคือความสมบูรณ์ ผู้หญิงจึงไม่เป็นอิสระจากผู้ชาย ผู้ชายเป็นองค์ประทาน (Subject) ในขณะที่ผู้หญิงคือความเป็นอื่น (other) ของผู้ชาย 

ในช่วงปี 1968 ซึ่งเป็นยุคฮิปปี้ เกิดการลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงโดยกระบวนการนักศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากขบวนการมาร์กซิสต์ และเหมาอิสต์ ต้องการโค่นล้มค่านิยมทางวัฒนธรรมและศาสนา สิ่งที่ผู้หญิงในยุคนี้เรียกร้องคือสิทธิทางเรือนร่าง เรียกร้องให้การทำแท้งและยาคุมกำเนิด เป็นสิ่งถูกกฎหมาย จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่ม MLF (Movement of Women Liberation) ที่ผู้หญิงและผู้ชายออกมาร่วมกันเรียกร้องสิทธิในสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดกระแสสตรีนิยมฝรั่งเศสขึ้นในแวดวงวิชาการ

หนึ่งในกลุ่ม MLF คือกลุ่มจิตวิเคราะห์และการเมือง (Psychoanalysis and Politics) เป็นกลุ่มที่ต่อต้านการใช้คำว่า feminism เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นมุมมองของผู้หญิงฝรั่งเศสชนชั้นกลาง หรือแบบกระฎุมพีซึ่ง MLF กลุ่มนี้ต้องการจะตัดขาด พวกเธอพยายามแสดงให้เห็นว่าศัตรูของผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็นผู้ชายในตัวของผู้หญิงเอง นั่นคือสังคมลึงค์เป็นศูนย์กลาง (phallocentricism) เอแลง ซิซู ซึ่งเป็นหนึ่งใน MLF กลุ่มนี้จึงต้องการเรียกร้องให้ผู้หญิงปลดแอกตัวเองออกจากกรอบดังกล่าว

ในส่วนที่ 2 คือเรื่องทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (critical theory) ที่เกี่ยวข้องในงานเขียนเรื่อง The Laugh of the Medusa แนวคิดแรกคือทฤษฎีคู่ตรงข้าม (binary opposition) ของนักภาษาศาสตร์ชื่อ แฟร์ดินอง เดอ โซซูร์ กล่าวว่า “คำ” กับ “คอนเซ็ปต์ของคำ” ไม่มีความเกี่ยวโยงกันเลย เช่น ม้า กับคำว่า “ม้า” ในสังคมอื่นก็มีภาษาที่ใช้เรียกต่างกันออกไป ที่ไม่มีความเชื่อมโยงอะไรกันเลย คำว่า “ม้า” กับ “Horse” ไม่มีความเกี่ยวโยงใดๆ ภาษาจึงไม่ได้เกิดจากการรับรู้ของมนุษย์ แต่ภาษาเป็นตัวสร้างโลกทัศน์ให้กับมนุษย์ต่างหาก จึงเกิดคอนเซ็ปต์เรื่องบ่วงโซ่ความหมาย (signifying chain) ที่เชื่อว่ามนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ได้ผ่านการนิยามความหมาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์รับรู้เกิดจากการประกอบสร้างทางสังคมทั้งสิ้น (social construct) ผู้หญิงก็เช่นกัน ผู้หญิงจึงถูกนิยามในฐานะส่วนที่ขาดพร่องของผู้ชาย ผู้หญิงคืออารมณ์ ในขณะที่ผู้ชายคือเหตุผล ผู้ชายคือบรรทัดฐาน ในขณะที่หญิงคือความเบี่ยงเบน ผู้ชายคือผู้กระทำ ในขณะที่ผู้หญิงคือผู้ถูกกระทำ ภาษาจึงเป็นสิ่งที่กดทับผู้หญิงตั้งแต่แรกเริ่ม

แนวคิดที่สองคือทฤษฎีอำนาจ ความรู้และพฤติกรรมทางเพศ (Power, knowledge and sexuality) ของมิเชล ฟูโก้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักคิดหลังโครงสร้างนิยม ฟูโก้กล่าวว่าภาษาไม่ได้ทำหน้าที่แค่นิยามความหมายเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงอำนาจ กฎหมาย และระบบความรู้ด้วย เราทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้วาทกรรมที่ภาษาสร้างขึ้น มนุษย์จึงไม่สามารถมีอัตลักษณ์โดยตัวของเราเองตั้งแต่เกิดมา แต่เราล้วนเป็นผลผลิตของวาทกรรมและอิทธิพลจากสังคม เราจึงไม่สามารถ Born this way เหมือนเพลงของเลดี้ กาก้าได้ แต่เราเกิดมาเพื่อเป็นในสิ่งที่สังคมกำหนดให้เราเป็นต่างหาก นักคิดสตรีนิยมหยิบยกแนวคิดของฟูโก้มาเพื่อฉายภาพผู้หญิงที่ถูกกดทับผ่านวาทกรรมความงาม เช่นการมองว่าการรัดเท้าของผู้หญิงจีน หรือการใส่คอร์เซตของผู้หญิงยุโรปเป็นความงาม ผู้หญิงในวัฒนธรรมเหล่านี้มิได้เกิดมาเพื่อรัดเท้า หรือใส่คอร์เซต แต่ถูกสังคมคาดหวังให้ทำทั้งสิ้น แม้แต่ในปี 1978 ก็มีการใช้การแพทย์มาควบคุมพฤติกรรมของผู้หญิง โดยนิยามผู้หญิงที่มีอารมณ์ทางเพศว่าเป็นโรคจิต หรือโรคฮิสทีเรีย

แนวคิดต่อมาคือเรื่องจิตวิทยากับภาษา (psycho-linguistic) ของชาร์ค ลากอง เขามองว่าภาษาเป็นหัวใจสำคัญของพัฒนาการทางเพศ เขาแบ่งพัฒนาของทารกออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ imaginary เป็นช่วงที่ทารกยังไม่สามารถควบคุมร่างกายของตัวเองได้ ยังไม่มีภาษา ยังไม่มีตัวตนและไม่สามารถนิยามสิ่งต่างๆ ได้เลย แต่ทารกจะเริ่มสร้างตัวตนในระยะ Symbolic เมื่อเด็กเห็นกระจกและเริ่มรู้ว่าภาพที่อยู่ในกระจกคือตัวเรา เริ่มรู้ว่าอะไรคือพ่อ แม่ และเริ่มนิยามสิ่งต่างๆ รอบตัว ลากองเรียกระยะนี้ว่า ระยะกระจก (Mirror state) กระบวนการสร้างตัวตนจะเริ่มมีมากขึ้นเมื่อเด็กเริ่มพูด เด็กจะเริ่มรับภาษาของพ่อเข้ามา เริ่มตระหนักในคำสั่งของพ่อ ลากองเสนอว่าเด็กจำเป็นต้องรับคำสั่งของพ่อ แม้ว่าก่อนหน้านั้น เด็กมีอิสระที่จะนิยามอะไรก็ได้ เพื่อที่จะสามารถมีอิสระในตัวเอง หรือกลายเป็นองค์ประทาน (Subject) แต่ในขณะเดียวกันการที่เด็กยอมรับคำสั่งของพ่อก็แสดงให้เห็นถึงการถูกกดทับ (Subject) จากภาษาของพ่อด้วยเช่นกัน คำว่า Subject จึงมีทั้งสองความหมายที่แตกต่างกันซึ่งนักสตรีนิยมฝรั่งเศสนิยมใช้กันมาก

ในส่วนสุดท้าย ก่อนจะเข้าไปพูดถึงงาน The Laugh of the Medusa (1975) จะขอพูดเรื่องประวัติของผู้เขียนเล็กน้อย ซิซู เป็นชาวฝรั่งเศส ที่เกิดในแอลจีเรียในช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เข้ามาเรียนในฝรั่งเศสในยุคที่ฝรั่งเศสปกครองโดยรัฐบาลเครือข่ายนาซี ในช่วงที่สังคมฝรั่งเศสเต็มไปด้วยการหลอกลวง เมื่อแอลจีเรียประกาศอิสรภาพในปี 1962 มีนโยบายขับไล่คนผิวขาวออกจากประเทศ ซิซูจึงเกิดภาวะลักลั่นเพราะไม่สามารถกลับไปประเทศตัวเองได้ ส่วนฝรั่งเศสก็ไม่ใช่บ้านเกิดของเธอ หลังสำเร็จการศึกษา เธอได้ไปทำงานในสหรัฐฯ และได้ร่วมงานกับนักคิดสายวิพากษ์หลายคน จึงทำให้เธอมีแนวคิดกระแสวิพากษ์ตามไปด้วยซึ่งปรากฏออกมาในงานชิ้นนี้

งานเขียนชิ้นนี้ของซิซูนำเสนอความปรารถนาของผู้หญิงที่ยังไม่ได้รับการถ่ายทอด นอกจากนี้ยังวางรากฐานในการมองและการเขียนและคำถามของผู้หญิง ซิซูมองว่าถ้าเราจะพูดถึงหญิงเราต้องพูดถึงการเขียนด้วย เพราะภาษากับการกดทับผู้หญิงมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง การเขียนมีผลต่อการคิดถึงผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ในฐานะเพศที่ถูกทำให้เงียบ

คำถามแรกเมื่อเราอ่านงาน The Laugh of the Medusa คือทำไมต้องเมดูซ่า เนื่องจากเมดูซ่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้หญิงเป็นสิ่งที่ผู้ชายหวาดกลัว เนื่องจากพวกเธอลึกลับ และไม่สามารถควบคุมได้ แต่อาวุธของเมดูซ่าก็คือดวงตาของเธอที่คนที่จ้องต้องกลายเป็นหิน ซึ่งผู้ชายผู้ที่หลงใหล และได้ยินในความงามของดวงตาของเธอก็จะต้องตกเป็นเหยื่อของเธอทุกคน ผู้หญิงก็เช่นกัน พวกเธอถูกทำให้เป็นเพศที่ผู้ชายหวาดกลัว แต่ก็น่าหลงใหลในเวลาเดียวกัน เมดูซ่าจึงควรจะหัวเราะทุกครั้งที่ผู้ชายวิ่งหนีเธอ เพราะพวกเขากำลังวิ่งหนีสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง ผู้หญิงจึงควรจะหัวเราะเยาะเมื่อผู้ชายเบือนหน้าหนีจากพวกเธอ

ซิซูเสนอว่าการหัวเราะเป็นการท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่ที่ประหยัดที่สุด ง่ายที่สุดและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และวิธีการหัวเราะที่ง่ายที่สุดก็คือการเขียน การเขียนที่ผู้ชายจะเบือนหน้าหนีก็คือ “การเขียนแบบผู้หญิง” การเขียนแบบผู้หญิงต้องมีความกระจัดกระจายไม่เป็นทิศทาง หรือในบางครั้งก็อ่านไม่รู้เรื่องเลย การทำเช่นนี้เป็นการท้าทายภาษาและวิธีการเขียนแบบตะวันตกและสังคมชายเป็นใหญ่ที่การเขียนต้องเป็นเส้นตรง มีประเด็นชัดเจนและมีเอกภาพ

ในส่วนแรก ซิซูพูดถึงการช่วยตัวเองของผู้หญิง ผู้หญิงสามารถถึงจุดสุดยอดได้เป็นร้อยครั้งในขณะที่ผู้ชายเสร็จได้แค่ครั้งเดียวในการร่วมเพศหนึ่งครั้ง แต่ผู้หญิงกลับถูกทำให้รู้สึกบาปกับตัวเอง เพราะสังคมคาดหวังให้ผู้หญิงที่ดีต้องไม่มีอารมณ์ทางเพศ สังคมตะวันตกทำให้ผู้หญิงเป็นพื้นที่มืดดำ แต่ผู้ชายทุกคนก็ล้วนวิ่งเข้าหาพื้นที่ดำมืดนั้นไม่ต่างจากเมดูซ่า ผู้หญิงไม่สามารถปรากฏตัวได้จริงๆ ตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ของการเขียน ดังนั้นจึงต้องหลอมรวมร่างกายของผู้หญิงเข้าไปในตัวบท การเขียนถึงผู้หญิงจะต้องสะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึก เต็มไปด้วยอารณ์ทางเพศ และเผยแพร่มันออกมาสู่สังคมให้ผู้หญิงสามารถบรรลุจุดสุดยอดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และปราศจากการกดทับของภาษาชายเป็นใหญ่

ข้อวิจารณ์สำคัญของผู้หญิงในงานชิ้นนี้คือมันทำให้ผู้หญิงมีความตายตัว ต้องหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศและเรือนร่างซึ่งมันก็เป็นการตอกย้ำแนวคิดลึงค์เป็นศูนย์กลางอีกอยู่ดี แต่ผู้ที่สนับสนุนซิซูก็โต้แย้งว่าจริงอยู่ที่งานชิ้นนี้สร้างภาพอันตายตัวของผู้หญิง แต่มันก็นำเสนอทางเลือกของผู้หญิงให้ผู้หญิงสามารถมีความลื่นไหลได้ อีกทั้งยังช่วยอธิบายด้วยว่าการที่ผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นเพศน่ากลัวและน่าหลงใหลนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร งานชิ้นนี้จึงไม่ใช่การตอกย้ำภาพลักษณ์ของผู้หญิง แต่เป็นการเปิดโปงระเบียบสัญญะว่าทำให้ผู้หญิงกลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งอย่างไรมากกว่า 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net