Skip to main content
sharethis
กัมพูชาเผยมีตำแหน่งงานว่างกว่า 16,000 ตำแหน่ง
 
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างสำนักงานจัดหางานแห่งชาติกัมพูชาว่า ขณะนี้มีตำแหน่งงานว่าง 16,146 ตำแหน่ง สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับจากไทยเมื่อเร็วๆ นี้ โดยอยู่ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ พร้อมกันนี้ ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับงาน สถานที่ และหมายเลขโทรศัพท์ในการติดต่อ
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายอิธ สัมเฮง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกัมพูชาได้เรียกประชุมกับผู้แทนของบริษัทจัดหางานราว 40 แห่ง เพื่อกำหนดระเบียบขั้นตอนในการส่งแรงงานกลับไปทำงานในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากเมื่อต้นเดือนนี้ มีแรงงานชาวกัมพูชากว่า 232,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารโดยถูกต้อง พากันเดินทางกลับจากไทย
 
(สำนักข่าวไทย, 26-6-2557)
 
เพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีขนาดใหญ่ย่านบางปู เสียหายกว่า 500 ล.
 
(27 มิ.ย. 2557) ร.ต.ท.นิพล คงพูล ร้อยเวร สภ.บางปู สมุทรปราการ รับแจ้งเหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีขนาดใหญ่ เป็นของบริษัทบางปู อินเตอร์ โมเดิล ซิสเต็มส์ จำกัด เลขที่ 596 หมู่ 4 ซอย 13 บี นิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หลังรายงาน พ.ต.อ.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผกก.สภ.บางปู พร้อมประสานรถดับเพลิงเทศบาลตำบลบางปูและเทศบาลใกล้เคียงกว่า 20 คัน เร่งเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบโกดังเก็บสารเคมีขนาดใหญ่ชั้นเดียวมีรั้วรอบขอบชิด ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 19 ไร่ พบเพลิงโหมลุกไหม้อย่างรุนแรง และมีกลุ่มควันสีดำทะมึนส่งกลิ่นเหม็นลอยพุ่งปกคลุมท้องฟ้าจำนวนมาก
 
ขณะพนักงานของโกดังที่เกิดเหตุ ช่วยกันใช้รถโฟล์คลิฟต์ เคลื่อนย้ายถังเคมีที่บรรจุอยู่ในถังขนาด 200 ลิตร ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าโกดังที่เกิดเหตุออกจากตัวอาคาร ส่วนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเร่งระดมฉีดน้ำสกัดเพลิงอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถสกัดเพลิงเอาไว้ได้เนื่องจากภายในที่เกิดเหตุ มีเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตโฟม และมีสารเคมีไวไฟ เก็บอยู่จำนวนมาก จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้เพลิงลุกโหมอย่างรุนแรงและกระจายทั่วไปทั้งโกดัง แบ่งออกเป็น 25 ล็อก ในขณะเดียวกันมีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะๆ ส่งผลให้เกิดประกายไฟสีแดงขนาดใหญ่ลอยพุ่งสู่ท้องฟ้า ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้คนในละแวกนั้นพากันแตกตื่น
 
กระทั่งหลังคาตัวอาคารโกดังได้เกิดพังถล่มลงมา ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปดับไฟภายในโกดัง ทำได้เพียงฉีดน้ำสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลามไปยังโรงงานใกล้เคียงเท่านั้น ขณะเดียวกันโรงงานที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุต่างพากันอพยพคนงานออกจากโรงงานหมดแล้ว ส่วนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้นำผ้ามาปิดจมูกเพื่อป้องกันควันเช่นกันแต่ยังไม่ได้มีการประกาศให้อพยพแต่อย่างใด
 
ต่อมาเมื่อเวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มควันเริ่มจางลง แต่เจ้าหน้าที่ยังคงฉีดน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา โดย พ.อ.บุญชู กลิ่นสาคร ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ นำกำลังทหารกว่า 30 นาย เข้ามาสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เหนื่อยล้าตั้งแต่เช้าด้วย รวมทั้งกำลังจากกรมแพทย์ทหารเรือ เข้ามาดูแลสุขภาพของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง คาดว่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ภายในวันนี้ ส่วนนายณัฐ โพธิสุนทร กรรมการผู้จัดการบริษัท เปิดเผยมูลค่าความเสียหายกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมบางปู ต่างพากันนำผ้ามาปิดจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมควัน
 
จากการสอบถาม นายสมบัติ คุ้มมี อายุ 46 ปี พนักงานที่อยู่ในโกดังที่เกิดเหตุ กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุตนและคนงานคนอื่นๆ ทำงานกันอยู่ด้านหน้าโกดัง ประมาณ 40 คน มีกลุ่มควันและเปลวเพลิงลุกไหม้ออกมาจากห้องเย็นอยู่ด้านหลังโกดัง ก่อนที่ไฟจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ตนและเพื่อนพนักงานพยายามช่วยกันเอาถังเคมีไฟช่วยกันฉีดสกัดเพลิงแต่ไม่สามารถสกัดเพลิงเอาไว้ได้ เนื่องจากไฟลุกลามออกมาลุกไหม้สารเคมีไวไฟแล้ว ก่อนจะพากันหนีตายออกมา และได้แจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่
 
ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากสาเหตุใด เบื้องต้นเชิญตัวพนักงานและผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน พร้อมทั้งได้ประสานเจ้าหน้าที่วิทยาการเข้าตรวจสอบสาเหตุโดยละเอียดอีกครั้ง ส่วนค่าเสียหายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
 
(ไทยรัฐ, 27-6-2557)
 
คสช.เล็ง'จัดระบบแรงงาน' อีกระลอก
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งมี "ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์" คล้ายหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่รับผิดชอบงานด้านนี้เป็นการเฉพาะ กล่าวว่า ข้อสังเกตที่สหรัฐระบุไว้ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับล่าสุด มีประเด็นหลักๆ อยู่ 3 ประเด็น คือ แรงงานต่างด้าวและเรื่องค้ามนุษย์โดยการบังคับใช้แรงงาน กรณีโรฮิงญา และการคัดแยกดูแลผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์
 
สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ "การจัดระบบ" ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากที่เคยทำมา โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้แสดงข้อมูลแรงงานต่างด้าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การแจ้งจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง
 
"ที่ประชุมคณะทำงานของคสช.มีการหารือในเรื่องนี้แล้ว คาดว่าจะออกเป็นประกาศในเร็ววันนี้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ จะได้ไม่ต้องกังวล" พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ระบุ
 
สำหรับคณะทำงานที่อธิบดีดีเอสไอพูดถึง คือ คณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว หรือ อกนร. ซึ่ง คสช.แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งที่ 60/2557
 
ส่วนกรณีที่แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนงานและมีการย้ายถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนเหมือนกับจดทะเบียนกันทั้งปีนั้น พล.ต.ท.ชัชวาลย์ บอกว่า ต้องหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้ง เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง แต่หากมีการเชื่อมโยงระบบทะเบียนกันได้ก็น่าจะช่วยได้ สำหรับผู้ประกอบการก็ต้องให้ความร่วมมือแจ้งว่าแรงงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปที่ไหน เพราะจะเป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่ไปรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าทำงาน
 
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการบังคับใช้แรงงานในภาคประมงนั้น มีปัญหาอยู่ 2 ส่วน คือ ประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีอยู่ประมาณ 260 ลำ และประมงในน่านน้ำ แต่วนเรือในอ่าวไม่เข้าฝั่ง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ดีเอสไอได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อรับฟังความเห็นและร่วมกันหาทางแก้ไขในช่วงบ่ายวันที่ 7 ก.ค.
 
"เรือประมงทั้งสองส่วนนี้มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานส่วนหนึ่ง เพราะออกทะเลไปนานกว่าจะกลับเข้าฝั่ง แต่ประมงประเภทนี้จะมีเรือทัวร์ออกไปรับสินค้าและส่งเสบียง จึงมีแนวคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เรือทัวร์จะนำแรงงานชุดใหม่ไปสับเปลี่ยน เพื่อลดความเครียดและกดดันของแรงงานที่ทำงานบนเรือเป็นเวลานานๆ" พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ระบุ
 
ขณะที่ พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ กล่าวว่า ศูนย์ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 7 แห่งที่กระทรวงแรงงานกำลังเร่งจัดตั้งให้ครบโดยเร็วนั้น จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของแรงงานต่างด้าวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ซึ่งส่วนนี้เป็นระบบตรวจสอบและควบคุม ถือเป็นงานด้านการป้องกัน
 
ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นงานด้านปราบปรามนั้น ที่ผ่านมาดีเอสไอกับตำรวจดำเนินการอย่างเข้มข้น กรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ ต้องทำให้ปรากฏเป็นตัวอย่าง โดยดีเอสไอจะให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากขึ้น
 
ขณะที่ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายของ คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว และอยากให้รักษาศูนย์ขึ้นทะเบียนแรงงานทั่วประเทศทั้ง 7 แห่งเอาไว้ เพราะกว่าจะเกิดศูนย์ฯนี้ขึ้นมาได้ ต้องผ่านการลองผิดถูกมาแล้วหลายครั้ง
 
"การขึ้นทะเบียนต่างด้าวและเรือประมงจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก แต่ระบบขึ้นทะเบียนควรยึดหยุ่นและหลากหลาย เช่น จดทะเบียนแบบ 3 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้ หรือมีระบบการผ่อนชำระค่าธรรมเนียม ส่วนประเภทประมงก็ควรแยกให้ชัดเจนว่าแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนนั้นอยู่ในประมงแบบไหน"
 
นายกสมาคมประมงสมุทรสาคร ยังเห็นว่า เรื่องค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนต่างด้าว ประกันสังคม หรือกองทุนส่งกลับนั้น ควรมีการทบทวนอัตราค่าใช้จ่ายต่อแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกรณีที่แรงงานขึ้นทะเบียนและรับเงินล่วงหน้าแล้วหลบหนีไปทำงานที่อื่น หลายรายที่หนีไปแล้วถูกจับ ก็มีการกล่าวหาผู้ประกอบการว่าบังคับใช้แรงงานต่างๆ นานา
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 28-6-2557)
 
แรงงานต่างด้าวแห่ขอจดทะเบียนทำงานศูนย์วัน สตอป เซอร์วิส จ.สมุทรสาคร
 
(30 มิ.ย.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (อกนร.) พร้อมด้วย นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และ นายอู ติ่น วิน เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ได้เดินทางไปตรวจความเรียบร้อยในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานประกันสังคมใหม่ ซอยเทศบาล 8 ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้เปิดเป็นแห่งแรกซึ่งเป็นการจัดตั้งตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเป็นต้นแบบ ที่จะขยายไปยัง 22 จังหวัดที่ติดชายทะเล โดยจะให้บริการที่ครบวงจร ลดขั้นตอนการดำเนินการที่รวดเร็วขึ้น และราคาย่อมเยา ซึ่งในโอกาสต่อไปจะเร่งใก้เกิดศูนย์ดังกล่าวในทุกจังหวัด ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องมีการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายเช่นคณะนี้ก็ได้หารือกับทูตของพม่า ลาว และกัมพูชา อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายและ ฝากถึงผู้ประกอบการให้นำแรงงานมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง อย่ากลัวอิทธิพลใดๆ หากใครข่มขู่ให้แจ้ง คสช.
       
“อยากเตือนผู้ที่หาผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะเป็นการทำลายประเทศชาติ ทั้งนี้ หลังได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ ไปตรวจสัญชาติ หรือพิสูจน์สัญชาติ ภายใน 60 วันที่ได้รับใบอนุญาตชั่วคราว และนำพาสปอร์ตไปขอใบอนุญาตทำงาน 1 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ” ประธาน อกนร. กล่าว
       
ด้านปลัด รง. กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการจริง จะต้องไม่มีส่วนอื่นเข้ามาเดี่ยวข้องโดยเฉพาะส่วนราชการ ทั้งนี้ ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีนายจ้างในจังหวัดสมุทรสาคร แจ้งต้องการนำแรงงานต่างด้าวเข้าระบบกว่า 270,000 คน และเข้าสู่ระบบการจ้างงานแล้ว 190,000 คน โดยคาดว่าส่วนต่างที่เหลือจะมาเข้าสู่ขั้นตอนประมาณ 80,000 - 100,000 คน
       
นายสุวรรณ ดวงตา จัดหาจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จเปิดให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า และ กัมพูชา ในจ.สมุทรสาคร มาขึ้นทะเบียน ขอใบอนญาตทำงาน โดยวันนี้ มีนัดหมายกับนายจ้าง 115 ราย แรงงานต่างด้าว 2,210 คน มาดำเนินการ ใน 4 ขั้นตอน คือ กรอกทะเบียนประวัติ รับบัตรคิว ตรวจปัสสาวะ บันทึกข้อมูล เพื่อ ทร. 38/1 เพื่อทำกันประกันสุขภาพ และขอใบอนุญาตการทำงาน เพื่อรับใบอนุญาตทำงานชั่วคราว 60 วัน รวมค่าใช้จ่าย 1,305 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนประวัติรงงานต่างด้าว ได้รับ ทร. 38/1 จำนวน 80 บาท และใบอนุญาตทำงานชั่วคราว 60 วัน ราคาไม่เกิน 225 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพไม่เกิน 3 เดือนราคา 500 บาท รวม 1,305 บาท ส่วนผู้ติดตาม 1,080 บาท เนื่องจากไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน โดยเปิดจดทะเบียนระหว่างวันที่วันที่ 30 มิ.ย. ถึงวันที่ 30 ก.ค. 57 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ หลังได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ ไปตรวจสัญชาติ ภายใน 60 วันที่ได้รับใบอนุญาตชั่วคราว และนำพาสปอร์ตไปขอใบอนุญาตทำงาน 1 ปี
       
นายสุวรรณ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ที่ศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ มีศักยภาพในการรองรับแรงงานต่างด้าวได้วันละ 2,000 คน ซึ่งได้นัดนายจ้างในจังหวัดให้พาแรงงานต่างด้าวมาตามเวลาที่กำหนดแล้ว ส่วนนายจ้างที่ไม่ได้รับการนัดและพาแรงงานเข้ามาก็จะให้รับเอกสาร เพื่อนำกลับไปกรอกข้อมูล และกลับมาดำเนินการอีกครั้ง พร้อมแจ้งวันที่นัดหมาย
       
นายเกษมศักดิ์ ยุติ ผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดสมุทรสาคร หนึ่งในนายจ้างที่นำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนกล่าวว่า รู้สึกว่าการที่ คสช. เปิดให้นำแรงงานมาขึ้นทะเบียนเป็นเรื่องที่ดีทั้งต่อนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองมาเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นใคร ตนมีแรงงานต่างด้าวเป็นสัญชาติลาวจำนวน 10 คน ทั้งนี้ วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนจึงทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากมีนายจ้างนำแรงงานต่างด้างมาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก
       
นายยอด สุวงศา แรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว อายุ 36 ปี กล่าวว่า ตนเข้ามาทำงานในไทยได้ไม่นาน ที่ผ่านมาไม่ได้เดินทางไปไหนจึงไม่มีปัญหา ส่วนการที่เปิดให้ทำใบอนุญาตทำงานตนมองว่าทำให้สามารถเดินทางไปที่อื่นๆ ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนเจ้าหน้าที่จับกุมและส่งกลับประเทศต้นทาง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-6-2557)
 
“กษิต” แนะตั้งองค์กรอิสระดูแลแรงงานต่างด้าวแก้ปัญหาทั้งระบบ
 
นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทย” ว่า สนับสนุนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเห็นว่าต้องเร่งแก้ตั้งแต่ต้นตอใน 3 ระดับ คือ  1.ระดับทวิภาคีที่จะต้องประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบ โดยต้องทบทวนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติไปตามเอ็มโอยู  2.ระดับอาเซียน ซึ่งมีกรรมการอาเซียนว่าด้วยแรงงานต่างด้าวจะต้องปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศผู้ส่งแรงงานและผู้รับแรงงานในอาเซียนในระดับกระทรวงต่างประเทศและแรงงานให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน  และ 3.ระดับนานาชาติจะต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
 
“ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการปฏิรูปประเทศ ควรมีการตั้งองค์กรอิสระ ที่ประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านความมั่นคง เข้ามาดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นการเฉพาะ แยกออกมาจากกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบตั้งแต่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน” นายกษิต กล่าว
 
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า การชี้แจงกับนานาชาติถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว จะต้องรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการ กำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาให้นานาชาติได้ทราบ ขณะเดียวกันควรต้องมีคณะกรรมการร่วมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยตลอดแนวชายแดน  ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ เชื่อว่าหากดำเนินการอย่างเข้มข้น ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยหลุดจากการเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ในอันดับ 3 ได้ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะเอกอัครราชทูตในประเทศต่าง ๆ ควรต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศไทยหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศว่าเป็นเพียงการเข้ามาชั่วคราว เพื่อให้เกิดการปฏิรูปและมีประชาธิปไตยอย่างถาวร
 
(สำนักข่าวไทย, 1-7-2557)
 
สหภาพแรงงาน อสมท. ร้อง ปปช.สอบทุจริตโครงข่ายดิจิทัล
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ นายสุวิทย์ มิ่งมล พร้อมตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท และประชาคม MCOT ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ รวมทั้งรายชื่อพนักงานที่สนับสนุน 500 คนเพื่อขอให้มีการตรวจสอบโครงการจัดซื้ออุปกรณ์และระบบโครงข่าย(บีเอ็นโอ)ของบมจ.อสมท.ในการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลโดยวิธีพิเศษของ บมจ.อสมท ที่มีมูลค่าทั้งโครงการเกือบ 2,000 ล้านบาทเนื่องจากไม่มีความโปร่งใส โดยมีเลขาธิการป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เป็นผู้รับหนังสือ
 
นายสุวิทย์ บอกว่า เหตุผลของการมายื่น ป.ป.ช.ครั้งนี้ เพราะต้องการให้อสมท.เป็นองค์กรนำร่องในการปราบปรามทุจริต ขององค์กรณ์รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจสำคัญของ อสมท. ขณะนี้มี 2 ส่วน คือ ทีวีดิจิทัล จำนวน 2 ช่อง และการให้บริการโครงข่ายที่อสมท.ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.โดยอสมท.คำนึงถึงการให้บริการลูกค้าที่ดี รวมถึงรายได้ขององค์กรเป็นหลัก จากการลุกขึ้นมาติดตามและตรวจสอบที่ผ่านมา ได้พบกับกระบวนการหลายอย่างที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสหลายข้อ เช่น 1. สตง. เคยทำหนังสือถึง อสมท. ถึง 2 ครั้ง ให้อสมท.พิจารณาทบทวนการดำเนินการจัดหาโครงการดังกล่าวของฝ่ายบริหาร เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องการเสนอราคาได้ทราบถึงข้อมูลและรายละเอียดขอบเขตงานและคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ และไม่เปิดโอกาสให้แข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมอาจเข้าข่าย พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
 
2. มีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้วิธีการประมูล โดยวิธีปกติ แต่ใช้วิธีการจัดซื้อพิเศษ ซึ่งการเสนอดังกล่าวมาจากฝ่ายบริหารบางคนที่ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ซึ่งพนักงานและฝ่ายจัดซื้อได้พยายามทักท้วงแล้วแต่ไม่เป็นผล โดยอ้างว่าต้องการให้เกิดความรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงเกิดกระบวนการดึงเรื่องไว้ให้เกิดความล่าช้า เพื่อให้สามารถใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และขณะนี้ อสมท. เกิดความเสียหายแล้ว ที่ต้องใช้งบประมาณไปเช่าอุปกรณ์เพื่อให้การบริการโครงข่ายไม่หยุดชะงัก อันจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าและประชาชน และอาจส่งผลต่อใบอนุญาตที่ กสทช. ให้ อสมท. ได้
 
3. สหภาพฯ และประชาคม MCOT ต้องการให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสนี้ เนื่องจากล่าสุดมีความพยายามสร้างภาพว่ามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ ได้อนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการสอบไปแล้ว ที่ให้ประกอบด้วยพนักงานระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นกรรมการ แต่มีการดึงเรื่องไว้และพยายามที่จะให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดเดิมตั้งกรรมการสอบสวนแทน แต่บอร์ดได้มีหนังสือยืนยันว่าการอนุมัติตั้งกรรมการของนายเอนก อยู่ในอำนาจและขั้นตอนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่อนุมัติหลักการไว้แล้ว แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย. 57) มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา แต่เป็นพนักงานระดับผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งจะต้องสอบบุคคลที่เป็นถึงระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีกทั้งคณะกรรมการดังกล่าวได้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความน่าเชื่อถือด้วย
 
4.แม้จะมีการอ้างว่า จนถึงปัจจุบัน อสมท. ยังไม่ได้ตอบตกลงกับผู้เสนอราคารายใด แต่จากพยานหลักฐานและพยานบุคคลต่าง ๆ ที่นำมายื่นต่อป.ป.ช. ครั้งนี้ เชื่อว่าป.ป.ช. จะเรียกผู้บริหารมาสอบสวน และให้ข้อมูล ซึ่งสหภาพฯ และประชาคม MCOT เชื่อว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏสะท้อนออกมาว่า แม้จะไม่มีการตอบตกลงกับบริษัทรายใด แต่กระบวนการที่ผ่านมา ส่อให้เห็นถึงเจตนาว่า อาจเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย ซึ่งหากสหภาพฯ และประชาคม MCOT ไม่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ อสมท. อาจมีการสนองราคาให้แก่เอกชนบางรายไปแล้ว
 
นายสรรเสริญ กล่าวว่า เมื่อได้รับเรื่องแล้วจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงโดยเร็ว และกรณีที่สหภาพอสมท.ต้องการให้บมจ.อสมท.เป็นองค์กรนำร่องในการปราบปรามการทุจริตนั้นสำนักงานป.ป.ช.มีความยินดีอย่างยิ่ง เพราะประสงค์ให้มีการปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 1-7-2557)
 
สปส.เตรียมลดระยะเวลาการเกิดสิทธิรักษาพยาบาล
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยผลประชุมบอร์ด สปส.เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า คณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.(บอร์ดการแพทย์ สปส.) ได้เสนอให้ปรับปรุงระเบียบการได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จากปัจจุบันจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือนก่อนจึงจะสามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาล เป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุน 1 เดือนก็สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้
 
ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวคิดในเรื่องนี้เพราะช่วยให้ผู้ประกันตนได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นในการใช้สิทธิ แต่ยังไม่ได้มีการลงมติให้ความเห็นชอบ เนื่องจากคณะกรรมการการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนว่าการดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าใด จึงได้ให้บอร์ดการแพทย์ สปส.ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องงบประมาณและนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
 
หลังจากนี้ สปส.จะเดินหน้าปรับปรุงกฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ต่าง ทั้ง 7 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน ชราภาพและเสียชีวิต ให้มีความทันสมัยและก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพราะที่ผ่านมา สปส.มีความระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว ทำให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลบางเรื่องที่ผู้ประกันตนเรียกร้อง เช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและฟอกไตก็ไม่ได้ดำเนินการ แต่ถึงวันนี้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงพอสมควรโดยเงินสะสมกว่า 1 ล้านล้านบาทก็ควรที่จะเดินหน้าพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้นกว่าในอดีตเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและฟอกไตก็ได้ดำเนินการไปแล้ว 
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 1-7-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net