Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุผู้แปล: แม้ว่านายอภิชาต พงศ์สวัสดิ์จะได้รับการปล่อยตัวเป็นการชั่วคราวแล้วเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2557  นับเป็นข่าวดีของนักกิจกรรมประชาธิปไตยและคนรอบข้างที่ได้เพื่อนร่วมทางกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การปล่อยตัวอภิชาตเป็นข่าวดีเพียงไม่กี่เรื่องท่ามกลางมรสุมข่าวร้ายจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด นักกิจกรรมประชาธิปไตยและประชาชนจำนวนมากถูกคำสั่งเรียกตัวและโดนจับกุมดำเนินคดีเพียงเพราะเห็นต่างจากคณะผู้ปกครองชุดใหม่ที่ขึ้นสู่อำนาจอย่างฉ้อฉล และหากคิดว่านายอภิชาตไม่ควรโดนจับตั้งแต่แรก อีกทั้งยังอาจต้องโดนดำเนินคดีอีกหลายกระทงในอนาคตหลังการปล่อยตัวชั่วคราว การปล่อยตัวครั้งนี้อาจไม่ใช่ข่าวดีเท่าไรนัก

แม้ว่าแถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ต่อกรณีของนายอภิชาต พงศ์สวัสดิ์ที่มีชื่อว่า Thailand: Repeated Denial of Bail and Attack on Political Freedom จะประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงแรกที่นายอภิชาตถูกจับแล้ว แต่แถลงการณ์ชิ้นนี้นับว่ายังคงมีความสำคัญเนื่องจากสรุปภาพรวม “ข่าวร้าย” ของประเทศไทยและสิ่งที่นายอภิชาตต้องประสบพบเจอในช่วงที่มาผ่านมาได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงตัดสินใจแปลแถลงการณ์ดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะรัฐประหาร และนำเสนอ “ข้าวร้าย” ของนายอภิชาตที่อาจเป็นข่าวร้ายของคนอื่น ๆ ด้วยในอนาคต โดยหวังว่างานแปลชิ้นนี้จะทำให้คนทั่วไปรู้สึกกังวลในสิ่งที่ควรกังวล และนำไปสู่เรียกร้องเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษชนในสังคมไทยให้เป็นธรรมมากขึ้น

000

ประเทศไทย: การปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการจำกัดเสรีภาพทางการเมือง

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ขอแสดงความกังวลต่อการปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในกรณีของนายอภิชาต พงศ์สวัสดิ์ ผู้ซึ่งกำลังถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครฯ

กระบวนการพิจารณาคดีของนายอภิชาตถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างชัดเจนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผด็จการทหารที่ยึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และใช้อำนาจดังกล่าวในจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและแพร่กระจายความกลัวสู่สังคม  AHRC ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอภิชาต พงศ์สวัสดิ์ และคนอื่น ๆ ที่ถูกจับเนื่องจากใช้เสรีภาพในการแสดงออกในการประท้วงอย่างสันติโดยทันที

ปัจจุบันนายอภิชาต พงศ์สวัสดิ์เป็นนักศึกษาปริญญาโทของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฏหมายแห่งประเทศไทย เขาถูกจับเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ขณะกำลังประท้วงอย่างสันติที่หน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หลังจากถูกจับ เขาถูกกักตัวเป็นเวลาหนึ่งคืนที่กรมการทหารสื่อสารและถูกส่งตัวไปอยู่ที่สำนักงานปราบปรามอาชญากรรมเป็นเวลา 7 วัน จากนั้น เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 เขาจึงถูกฟ้องร้องอย่างเป็นทางการที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วยข้อหาละเมิดคำสั่ง คสช. เลขที่ 7/2557, พรบ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 วรรค 3 ร่วมกับ ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112, และ ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 215 216 และ 368 ในวันที่ถูกฟ้องร้อง รศ. ดร. ปริญญา เทวนฤมิตกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน แต่ศาลกลับปฏิเสธคำร้องโดยอ้างว่าผู้ยื่นคำร้องไม่ได้มีความใกล้ชิดกับนายอภิชาตและกลัวว่าผู้ต้องสงสัยจะหลบหนี ในวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน มารดาของนายอภิชาตได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่สอง แต่ศาลปฏิเสธคำร้องเช่นกันโดยอ้างว่า หากปล่อยตัว นายอภิชาตอาจแทรกแซงพยานหลักฐาน ทั้งนี้ ศาลไม่ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมในการปฏิเสธคำร้องแต่อย่างใด

การไม่อนุญาติให้ประกันตัวนายอภิชาตถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังละเมิดกฏหมายมาตรา 107 แห่ง ประมวลกฏหมายวิธิพิจารณาความอาญา ส่วนดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาติให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1” สิทธิดังกล่าวสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นภาคีสนธิสัญญา โดยเฉพาะในมาตรา 9 วรรค 3 ระบุว่า “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี” ดังนั้น สิทธิในการถูกปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นหลักกฏหมายที่มีอยู่ทั้งในกฏหมายภายในประเทศและกฏหมายระหว่างประเทศ แม้ว่า คสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ไปแล้ว แต่ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญายังมีผลบังคับใช้ และประเทศไทยภายใต้ คสช. ยังคงเป็นภาคีของสนธิสัญญา ICCPR

การฟ้องร้องนายอภิชาต พงศ์สวัสดิ์ โดยเจ้าหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำลายเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกโดยฝีมือของเผด็จการทหาร นายอภิชาตถูกกล่าวหาว่าขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามไม่ให้ชุมนุมทางการเมืองหรือประท้วงเกิน 5 คน และห้ามขัดคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้ยึดอำนาจ หลังจากขึ้นศาลอาญา นายอภิชาตถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาตามมาตรา 215 (วรรค 1 และ 3) มาตรา 216 และ มาตรา 368 (วรรค 1) ของประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 1 ระบุว่า “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และวรรค 3 ระบุว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” มาตรา 216 ระบุว่า “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 368 วรรค 1 ระบุว่า “ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าหนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฏหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ด้วยความผิดตามมาตราเหล่านี้ หมายความว่า นายอภิชาตอาจถูกจำคุกสูงสุดถึง 8 ปี 6 เดือน 1 สัปดาห์ และอาจต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมากเพียงเพราะต่อต้านการรัฐประหารอย่างสันติ

นอกจากนั้น ทางการยังใช้มาตรา 112 กฏหมายอาญาที่มีความเป็นการเมืองอย่างมาก ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายา หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ขณะที่กฏหมายมีผลบังคับใช้มาตลอดหลังจากมีการปรับปรุงครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2519 หลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กฏหมายดังกล่าวถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งโดยรัฐและปัจเจกบุคคลเพื่อโจมตีและสร้างความเสียเปรียบแก่ฝ่ายตรงข้าม นายอภิชาตยังโดนฟ้องอีกด้วยว่าละเมิดมาตรา 14 วรรค 3 แห่ง พรบ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นมาตราที่มักถูกใช้ร่วมกับมาตรา 112 บ่อยครั้ง ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดด้วยการ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” เขาจะ “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หากละเมิดมาตรการทางกฏหมายเหล่านี้ นายอภิชาตอาจต้องจำคุกนานกว่าเดิม อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของนายอัมพล ตั้งนพกุล ที่โดนตั้งข้อหาและตัดสินโทษจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง

ดังที่ AHRC เคยกล่าวแล้วหลายครั้ง กระบวนการสืบสวนและพิจารณาคดีภายใต้มาตรา 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากว่าหลักฐานที่ใช้มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรและมีความยุติธรรมในการพิจารณาหลักฐานมากน้อยเพียงใด สิ่งที่เพิ่งได้รับรู้เมื่อไม่นานมานี้ยิ่งตอกย้ำความกังวลดังกล่าว ขณะที่นายอภิชาตถูกกักตัว เจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไปตรวจสอบและพบว่าเฟสบุ๊คของเขามีรูปภาพร่วมกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอยู่ในงานเสวนาอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 หลายครั้ง เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าในปี 2010 เขาได้โพสข้อมูลในเฟสบุ๊คส่วนตัวซึ่งมีเนื้อหาละเมิดมาตรา 112 และพรบ. คอมพิวเตอร์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่อ้างว่านายอภิชาตอาจแทรกแซงหลักฐาน ภายใต้บริบททางการเมืองหลังรัฐประหารและการกำจัดผู้เห็นต่างด้วยกระบวนการกฏหมายอย่างไม่เป็นธรรม  AHRC มีเคลือบแคลงต่อความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าค้นพบ และกระบวนการสอบสวนที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์โดยทันที และขอประณามการทำลายสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทยที่กระทำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างถึงที่สุด นายอภิชาตเป็นเพียงพลเมืองผู้แสดงความคิดเห็นของเขาอย่างสันติ แต่กลับพบกับกระบวนการฟ้องร้องที่ยาวเหยียดหลายกระทง อีกทั้งยังอาจต้องถูกจำคุกเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นดังกล่าว  AHRC มีความกังวลอย่างยิ่งที่นายอภิชาตถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์จากการโพสข้อความทางเฟสบุ๊คในปี 2010 และถูกดำเนินคดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่น่าไว้วางใจ  ในสถานการณ์ที่หลักนิติธรรมถูกทำลายลงไปเรียบร้อยแล้วด้วยน้ำมือของเผด็จทหาร การสอบสวนและไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียมีความกังวลว่าการดำเนินคดีของนายอภิชาตอาจขาดความบริสุทธิยุติธรรม ทั้งนี้ AHRC จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและขอเรียกร้องให้ทุกท่านที่กังวลเกี่ยวกับความยุติธรรมและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net