Skip to main content
sharethis

กกต.มีมติไม่คืนเงินค่าสมัคร ส.ส. หลังพรรคพัฒนาคุณภาพชีวิตขอเงินค่าธรรมเนียมการสมัคร ส.ส. 2 ก.พ.57 เตือนพรรคการเมืองระวังการแสดงความเห็นทางการเมือง ขัดประกาศ คสช. ยกคำร้อง ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้ง ศรส. ขัด รธน.

2 ก.ค. 2557 นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง แถลงผลการประชุม กกต.วันนี้  (2 ก.ค.) ว่าที่ประชุมมีมติกรณีหัวหน้าพรรคพัฒนาคุณภาพชีวิตมีหนังสือขอเงินค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า ไม่สามารถคืนเงินดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และตามมาตรา 38 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ระบุว่าเมื่อสมัครแล้วไม่สามารถถอนตัวได้ และเงินค่าธรรมเนียมการสมัครก็จะตกเป็นของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองซึ่งเงินดังกล่าวจะหมุนเวียนกลับมาให้พรรคการเมือง

นายธนิศร์ กล่าวด้วยว่า สำนักงาน กกต.มีหนังสือแจ้งไปยังพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรค ไม่ให้ขัดกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 57 ที่ห้ามดำเนินกิจการ หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ในบางกิจกรรม พรรคการเมืองยังคงต้องดำเนินการตามกฎหมาย เช่น การจ่ายค่าเช่าสำนักงาน ค่าจ้างบุคลากร เพื่อให้กิจการพรรคต้องดำเนินการต่อ แจ้งการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกพรรคทุก ๆ 3 เดือน การแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการบริหารพรรค

คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กรณีลาออกจากตำแหน่ง แต่กิจกรรมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การจัดตั้ง หรือยุบเลิกพรรคการเมือง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค นโยบายข้อบังคับพรรคที่ต้องมีการจัดประชุมกรรมการบริหารพรรค รวมถึงการจัดหาทุน รับบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองก็ไม่สามารถทำได้

นายธนิศร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากพรรคการเมืองใดไม่แน่ใจในบางกิจกรรมว่าทำได้หรือไม่ สามารถมีหนังสือสอบถามมายัง กกต.ได้ และ กกต.พร้อมให้ความร่วมมือและชี้แจงในทุกประเด็น

ยกคำร้อง ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้ง ศรส. ขัด รธน.

นายภุชงค์ นุตราวงค์ เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยมติ กกต. กรณีนายวิรัตน์ กัลยาศิริ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกรัฐสภา กับพวกรวม 9 คน ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และพรรคเพื่อไทย รวม 36 คน ปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีมีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่มีเหตุผลอันควร จัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. แต่งตั้งข้าราชการและใช้งบประมาณในการดำเนินการของ ศรส. โดยไม่ได้รับความเห็นชอบของ กกต. ว่า คณะกรรมการไต่สวนได้แบ่งประเด็นการพิจารณาออกเป็น 5 ประเด็น คือ ผู้ถูกร้องทั้ง 36 คน ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 มาตรา 178 มาตรา 181 และมาตรา 237 ออกประกาศ คำสั่ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่

2. จัดตั้ง ศรส. และใช้อำนาจแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ หรือให้บุคคลพ้นจากราชการ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ จาก กกต. หรือไม่

3. งบประมาณที่ใช้ใน ศรส. ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสในการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยหรือไม่

4. การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง และเป็นการกระทำอันจะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ และ 5. พรรคเพื่อไทย มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวหรือไม่

ซึ่ง กกต. ได้พิจารณาตรวจสอบคำร้อง และความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนแล้ว มีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้องในประเด็นที่ 1,2,3 และประเด็นที่ 5 เนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้ง ศรส. เป็นการใช้ดุลยพินิจ อาศัยอำนาจฝ่ายบริหารตามกฎหมาย มิได้มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และมีการใช้งบประมาณเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย บรรเทาภัยพิบัติแก่ประชาชน และเห็นควรให้จำหน่ายเรื่องในประเด็นที่ 4 ออกจากสารบบ เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสิ้นสุดลงตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ฉบับที่ 11/2557 ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีรักษาการของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงไปด้วย จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย และไม่พบว่าพรรคเพื่อไทยมีส่วนเกี่ยวข้องได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, กรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net