Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ประมาณปี 2515  ชาวบ้านได้เข้าไปบุกเบิกพื้นที่ป่าดงใหญ่บริเวณตำบลลำนางรอง  อำเภอละหานทราย  จังหวัดบุรีรัมย์  เป็นที่ทำกินและอยู่อาศัย  แต่พอถึงช่วงปี 2518 ซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างเข้มข้นขึ้นมากในพื้นที่แถบนั้น  ทาง กอ.รมน.ภาค 2 จึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้จัดทำโครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองตามแนวชายแดน (ปชด.) มีการสำรวจโดยกรมป่าไม้ และอพยพชาวบ้านโดย กอ.รมน.ภาค 2  ออกมาจัดพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินให้ใหม่  โดยกันพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้นับหมื่นไร่ เพื่อให้เอกชนเช่าปลูกป่า   นี่คือที่มาของสวนป่าโนนดินแดง ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่เดิมที่ชาวบ้านเคยอยู่อาศัยและทำกิน มาจัดให้เอกชนเช่าปลูกป่าในราคาเพียงไร่ละ 10  บาทต่อปี  โดยผลของการจัดการแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. อันทำให้ กอ.รมน. ได้มีพื้นที่ทำงานเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์มากขึ้นอีก 

ในปี 2541 มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในนาม กลุ่มพันธมิตรประชาชนอีสาน  เรียกร้องให้นำที่ดินในสวนป่าโนนดินแดงออกมาจัดสรรให้กับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยครอบครัวละ 15 ไร่  ประกอบกับทางบริษัทได้เข้ายื่นหนังสือกับทาง สภา อบต. ลำนางรอง เพื่อขอให้มีมติเห็นชอบให้ต่อสัญญาเช่าออกไปอีก   ทำให้ชาวบ้านได้เริ่มทราบข่าวว่า พื้นที่สวนป่านี้หมดสัญญาเช่าแล้ว    และได้คัดค้านไม่ให้ต่อสัญญาเช่า  รวมทั้งขอให้นำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้ชาวบ้าน  ซึ่งแม้ว่าชาวบ้านจะมีความเห็นต่างกันหลายกลุ่ม  เช่น ขอให้กรมป่าไม้ออกเป็น  สทก. บ้าง  สปก.4 – 01 บ้าง  ขอให้จัดแบบโฉนดชุมชนบ้าง  แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ  ไม่ต้องการให้บริษัทเอกชนเช่าพื้นที่ต่อ และให้จัดพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ทำกินให้ชาวบ้าน

เมื่อกรมป่าไม้ไม่ได้ต่อสัญญาให้บริษัท แต่ก็ไม่ได้จัดสรรเป็นที่ทำกินให้ชาวบ้านเช่นกัน  บริษัทก็ยังคงเข้าไปตัดไม้อยู่เป็นระยะ  ชาวบ้านจึงตัดสินใจเข้าไปยึดพื้นที่ แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เช่น  บ้านเก้าบาตร  บ้านสามสลึง  บ้านตลาดควาย  บ้านเสียงสวรรค์  บ้านโคกเพชร  บ้านหนองเสม็ด เป็นต้น   ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางของตน  แต่ในระหว่างที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่  ทาง กอ.รมน. ภาค 2 ก็เข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง โดยเสนอรัฐบาลให้ตั้งแม่ทัพภาค 2 เป็นประธานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ซึ่งมีการประชุมไปเพียงครั้งเดียว  และไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด  ยกเว้นบ้านเก้าบาตรที่ชาวบ้านเรียกร้องให้จัดที่ดินให้ในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งทางสำนักงานโฉนดชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินการอนุญาต แต่ทางทหารได้เข้าไปกดดันจนต้องไม่อนุญาต     หลังจากนั้นไม่นาน  มีกลุ่มชาวบ้านที่ใช้ชื่อว่าเครือข่ายองค์กรประชาชน 4 ภาค ได้ระดมคนประมาณพันคนเศษ  เข้าไปในพื้นที่สวนป่าแห่งนี้ และข่มขู่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่   ภายหลังจากเหตุการณ์ได้มีคนมาติดต่อให้ชาวบ้านแต่ละกลุ่มเข้าไปเป็นสมาชิกองค์กรดังกล่าว  เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาอีก และจะได้รับการจัดสรรที่ให้ โดยทางทหารจะเป็นผู้จัดให้  เพราะผู้นำขององค์กรนี้สนิทสนมกับอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่  แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก

จนกระทั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารในวันที่  22 พฤษภาคม 2557 และทาง คสช. ได้มีคำสั่ง ฉบับที่ 64/2557 (เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพย์ยากรป่าไม้) และคำสั่ง ฉบับที่ 66/2557 (เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปรามหยุดยั­้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในส­ภาวการณ์ปัจจุบัน) ทำให้ทาง กอ.รมน. ภาค 2 ได้นำกำลังทหารนับพันนายเข้าไปในพื้นที่อีกตั้งแต่วันที่  28  มิถุนายนที่ผ่านมา  โดยในครั้งนี้ทางทหารได้เข้าไปกดดันให้ชาวบ้านเก็บผลผลิตและย้ายบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน  เมื่อชาวบ้านถามว่าจะให้ย้ายไปอยู่ที่ไหน  ทำตอบที่ได้คือ ไม่รู้

ชาวบ้านได้ตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ว่า   ที่ดินเดิมเป็นของชาวบ้าน แต่ทหารเข้ามาอพยพบอกว่าเพื่อความมั่นคง  แต่ทำไมเอาไปให้เอกชนเช่าปลูกป่า  มันแก้ไขปัญหาความมั่นคงได้อย่างไร  ปัจจุบันก็ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว  พื้นที่นี้ก็ไม่ได้ติดชายแดนเหมือนบ้านบาระแนะ  บ้านสันรอชะงัน  แต่ทำไมทหารยังมาอ้างเรื่องความมั่นคงอีก  หรือว่าชีวิตของชาวบ้านต้องอยู่ภายใต้เงื้อมมือของทหารหาญเท่านั้น   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net