Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

“นับจากวันนี้ คสช.ขอยืนยันว่าจะไม่มีการทุจริต หรือเรียกร้องผลประโยชน์แม้แต่บาทเดียว หากใครพบหรือถูกเรียกรับใดๆ ให้แจ้งมา จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษทันที" [1]


คุณคะ

ปัญหาคอร์รัปชันที่หนักที่สุดไม่ได้เกิดจากการเรียกรับเงินไม่ว่ามันจะกี่บาทกี่สตางค์ค่ะ แต่จริงที่ปัญหาคอร์รัปชันที่จัดการง่ายที่สุดคือปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดจากการเรียกรับเงิน เพราะมันคาหนังคาเขาที่สุด ฉันคงไม่ยอมกล้ำกลืนฝืนใจให้ใครลากปืนมา “หยุดประเทศ” ของฉันหน้าตาเฉยเพียงเพื่อจะแลกกับการปราบปรามคอร์รัปชันในระดับกระจอกขนาดนี้หรอกค่ะ ถ้าจะทำแค่นี้ไม่ต้องถึงขนาด “หยุดประเทศ” ให้เข้าข่ายขี่ช้างจับตั๊กแตนเพื่อขายหน้ากันเปล่าๆ

คุณคะ...คอร์รัปชันเป็นปัญหาของคนที่อยากได้อะไรก็ต้องได้ดั่งใจจง และเพื่อให้ “ได้ดั่งใจจง” มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องข้ามหัวอื่นๆ ที่คิดต่างไปจากเรา ข้ามหัวอื่นๆ ที่คิดอยากได้แบบเดียวกับเรา....เพราะมันต้องเป็นเราที่สมควรได้-ไม่ได้สิ่งนั้น เจอ-ไม่เจอสภาวะแบบนั้น ตามที่เราเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่คนอื่นกำหนด ใช่ค่ะ คอร์รัปชันคือการได้สิทธิที่จะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ สถานการณ์ วิธีการ และ/หรือผลลัพธ์ตามที่ตนและกลุ่มปรารถนา ส่วนวิธีการได้สิทธินั้นก็หลากหลายออกไป คุ้นหูที่สุดก็คงเป็นการยัดเงินใต้โต๊ะ ด้วยเหตุนี้ คอร์รัปชันจึงเป็นชุดความสัมพันธ์แบบข้ามหัวคนอื่นที่อยู่ในโยงใยความสัมพันธ์ชุดเดียวกันกับเรา ซึ่ง (คอร์รัปชัน) มันจะสามารถทำงานได้ ก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์แบบเห็นหัวกันและกัน (เท่าเทียมหรือเปล่าไม่รู้ แต่ยังเคารพสิทธิของกันและกันอยู่) ที่ต่างฝ่ายต่างยังคงสามารถต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกันได้อยู่....ได้ถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์แบบเผด็จการ ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการการันตี “การได้” สิ่งที่อยากได้ เพราะความสัมพันธ์แบบเผด็จการได้รวบอำนาจต่างๆ เข้ามาไว้ที่กลุ่มตนแต่เพียงผู้เดียว การต่อรองจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป สรุปความสั้นๆ ว่าคอร์รัปชันเป็นปฏิบัติการที่วางรากฐานอยู่บนความสัมพันธ์แบบเผด็จการนั่นเอง

ฟังแล้วคุ้นไหมคะว่าหน้าตามันเหมือนอะไร? คุณสมบัติทั้งหมดที่ร่ายยาวมานี่เป็นคุณสมบัติชุดเดียวกันกับที่มีอยู่ในตัว คสช. ซึ่งเป็นองค์กรที่วางอยู่บนรูปแบบความสัมพันธ์ที่โดย “หน้าตาเฉย” ได้อนุญาตให้การข้ามหัวคนอื่นๆ หรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคมกลายเป็นสิ่งซึ่ง “เป็นไปได้” “ทำได้” แม้ “ไม่ควรทำ” เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กลุ่มตนต้องการ ด้วยการยึดอำนาจที่กระจัดกระจายอยู่ตามกลุ่มต่างๆ มาไว้ในกำมือตนแต่เพียงผู้เดียว  ถ้าพูดตามภาษาของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ต้องพูดว่า "คสช.ไม่ใช่มนุษย์ผู้วิเศษบันดาลอะไรก็ได้ แต่เป็นองค์กรที่มีพลัง" (เน้นโดยฉันเอง) และไอ้เจ้าพลังเบ็ดเสร็จชุดนี้ของคสช.ก็ดัน “อาสา” มาปราบคอร์รัปชัน โดยไม่ได้สำเหนียกถึงสิ่งที่ “ผูก” คสช.กับคอร์รัปชันเอาไว้ด้วยกัน สิ่งนั้นคือ ความสัมพันธ์แบบเผด็จการ

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ คสช. ต้องการกำจัดคอร์รัปชันแบบให้สิ้นซากถอนรากถอนโคน ทางเดียวที่จะทำได้คือต้องกำจัดที่รากฐานของคอร์รัปชัน นั่นคือ กำจัดความสัมพันธ์แบบเผด็จการไม่ให้มีอยู่เลยในโลกของสังคมไทย เรียกว่าไม่ให้เหลือร่องรอยจินตนาการของความสัมพันธ์แบบนั้นอีกเลยในสังคมไทย

แต่ถ้าเป็นแบบนั้น ไม่ใช่แค่คอร์รัปชันที่จะหายไป วัฒนธรรมปฏิวัติ รัฐประหารโดยน้ำมือของทหารก็จะหมดไปด้วยเป็นแพคเกจคู่กันไป เพราะจะไม่มีโหมดไหนในสังคมไทยที่จะยอมรับ-อ่านออก-จินตนาการเข้าใจได้ว่า คสช.คือใคร? มีไว้เพื่อทำอะไร? ทำไมต้องมี? เข้าทำนองว่า “ถ้าฉัน (คสช.) สูญเสียคุณ (คอร์รัปชัน) ไป สิ่งเดียวที่ฉันค้นพบก็คือ...ฉันก็ได้หายไปแล้วด้วยเช่นกัน” [2]  พูดง่ายๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผูกติดอยู่กับความสัมพันธ์แบบเผด็จการก็เป็นอันต้องอันตรธานหายไปด้วย ถ้าจะกำจัดคอร์รัปชันในเวอร์ชันนั้นกันจริงๆ ฉันเรียกมันว่าเวอร์ชัน “ตัวประกัน” ค่ะคุณ

คสช.จะรู้ถึงเงื่อนไขนี้หรือเปล่า...ฉันไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือ พวกเขาไม่ได้ใช้บริการเวอร์ชัน “ตัวประกัน” เพื่อปราบคอร์รัปชัน (ใครจะทำคะคุณ! ถ้าจะทำแบบนี้ไม่ออกมายึดอำนาจให้เหนื่อยให้เครียดตั้งแต่แรกแล้วล่ะค่ะ) การปราบคอร์รัปชันเวอร์ชัน คสช. จึงออกมาในรูปของการเปลี่ยน “หัว” ของกลุ่มต่างๆ แล้วใส่หัวของตนเองเข้าไปแทน แล้วแปะป้ายว่า “ปราบคอร์รัปชัน” สิ่งเหล่านี้ถ้ามองในมุมกลับ มันเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์แบบเผด็จการให้มันหนาหนักมากขึ้นไปอีกในสังคมไทย เพียงแต่ก่อนหน้านี้ในยุคประชาธิปไตย มันเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้าไปวิ่งเต้นว่าใครจะได้อำนาจนั้นไป แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว คสช.ได้อำนาจนั้นไปแต่เพียงผู้เดียว ส่วน “แฟนคลับ” คสช. ก็เคลิ้มไปสิคะ “โอ้โห..ยาแรง”

คุณคะ....ต่อให้ คสช. เขาไม่รู้ถึงเงื่อนไขข้อนั้น แต่อย่างน้อยพวกเขารู้ตัวเองดีอยู่ตลอดเวลาว่าเขากำลังทำอะไรอยู่และเพื่ออะไร แหม...อำนาจท่วมท้นขนาดนั้น ถ้าไม่เมาอำนาจจนเบลอ ก็ต้องรู้ตัวล่ะค่ะว่าได้ทำอะไรลงไปบ้างกับหัวของ “เพื่อนร่วมชาติ”  แต่เราคนไทยที่ถูกหล่อเลี้ยงไว้ภายใต้วัฒนธรรมมหรสพอยู่ตลอดเวลา เราจะหยุดทำความเข้าใจกันสักนิดดีไหมคะว่าการปฏิรูปประเทศไทยจริงๆ เราต้องเอาอำนาจนั้นออกไป อำนาจที่มันรองรับความสัมพันธ์แบบเผด็จการ ซึ่งอยู่กับเรามานานมากแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครแตะไปถึงพื้นที่ตรงนั้น จะด้วยเหตุผลว่า “รู้” แต่ตั้งใจไม่แตะมัน

หรือว่าลึกกว่านั้นคือ เป็นปัญหาว่าด้วย “ความรู้เกี่ยวกับตัวเราเอง” คือ เรา “ไม่รู้” เกี่ยวกับตัวเราเองทั้งหมด ซึ่งมนุษย์ทั่วไปเป็นแบบนั้น เราเองอาจไม่รู้ว่าตัวเราเองยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์แบบไหน เราอาจไม่รู้ว่าอะไรคือพื้นฐานของความเป็นตัวเราที่สร้างให้เราเป็นแบบนี้ จวบจนแม้กระทั่งวินาทีที่เราคิดว่าเราจะหยุดประเทศไทยไว้ก่อน ปิดประเทศซ่อมก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่ เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ การคิด การพูดและการทำแบบนี้มันเปิดเผยให้เราเห็นว่าตัวเราไม่ได้ยึดโยงอยู่กับหลักการประชาธิปไตยเลย ตรงกันข้าม มันกลับคลี่คลายให้เห็นว่าตัวเรา สังคมเราผูกติดอยู่กับความสัมพันธ์แบบเผด็จการ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นหรือไม่อยากมองเห็น ฉันก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะจนถึงวินาทีนี้ คสช.ก็ยังมุ่งมั่นบอกเราว่าจะพาเราไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ....และเราหลายคนเชื่อ!

ทั้งๆ ที่ตัว คสช.เองยึดโยงตัวเองอย่างแน่นหนาอยู่บนความสัมพันธ์แบบเผด็จการ และใช้มันอย่างเต็มที่อยู่ในขณะนี้ ลักษณะแบบนี้อย่าว่าแต่กำจัดคอร์รัปชันไม่ได้เลย ไปสู่ประชาธิปไตยอ่อนหัดก็ยังไม่ได้ด้วย ไม่ต้องไปพูดถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่มีใครรู้จักจริงๆ ว่ามันเป็นอย่างไร เพราะประชาธิปไตยเป็นหลักการที่วางอยู่บนจุดยืนของเสรีภาพ เสมอภาคและความยุติธรรม กู้คืนไม่ได้จากจุดยืนแบบเผด็จการ และยิ่งสาไถหนักเข้าไปใหญ่ถ้าพูดว่าจะปลุกปั้น “ความสมบูรณ์แบบ” ให้กับประชาธิปไตยด้วยน้ำมือของเผด็จการและเรียกรวมว่า “ปฏิรูปประเทศ”

 


[1]  ‘บิ๊กตู่’ โต้รังแกขรก. ยันโยกย้ายเหมาะสม ลั่นจากนี้ไปจะไม่ให้มีทุจริตแม้แต่บาทเดียว หนังสือพิมพ์ข่าวสด 1 กรกฎาคม 2557
[2]  ฉันคงไม่กล้าพูดว่าทั้งหมดที่ฉันคิดมาจากการอ่าน Judith Butler (2009) ‘Violence, Mourning, Politics’. In Emotions: a Cultural Studies Reader. ในตอนที่ลูกหลับ แต่ฉันจะเขียนบทความนี้ไม่ได้เช่นกัน ถ้าฉันไม่ได้อ่านบทความนั้นของเธอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net