Skip to main content
sharethis
งานสัมมนาการปฏิรูปประเทศไทย จัดโดย 'คสช.-สถาบันพระปกเกล้า' หน่วยงานท้องถิ่น อบจ, อบต, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เห็นด้วยเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เปลี่ยนชื่อเรียก ผู้ว่าฯ กทม. เป็นนายกเทศมนตรีนคร กทม. แทน
 
5 ก.ค. 2557 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าในงานสัมมนา "การปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบ" ที่จัดโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้เชิญ 8 หน่วยงานท้องถิ่น อาทิ อบจ., อบต, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วม ได้จัดกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการปฏิรูปด้านการเมือง ใน 5 ประเด็น โดยมีผลสรุปดังนี้ 
 
1. รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภารวมถึงการตรวจสอบ ,ลงโทษ โดยเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ใช้ระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งนี้ได้เสนอแนะให้ทั้ง 2 สภาทำหน้าที่เฉพาะออกกฎหมาย โดยส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรอง, ตรวจสอบ และแต่งตั้ง หรือสรรหาองค์กรอิสระ แต่ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาออกกฎหมายงบประมาณ นอกจากนั้นแล้วในการตรวจสอบสมาชิกรัฐสภา คือต้องให้สิทธิ์ประชาชนมีส่วนร่วม 
 
2. แนวทางการปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นพรรคมหาชน โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองมากที่สุด และควรให้ลดจำนวนพรรคการเมืองลงให้มีเพียง 2 พรรคใหญ่ หรือมีไม่เกิน 20 พรรคเท่านั้น ส่วนการตั้งพรรคการเมืองต้องให้มีประชาชนจำนวน 2 หมื่นคนมีส่วนร่วมด้วย ส่วนกรณีที่พบปัญหาธุรกิจการเมืองนั้น มีผู้เสนอให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้พรรคการเมืองไปทำกิจกรรม
 
3. ความเหมาะสมต่อการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงจากประชาชน ซึ่ง 11 กลุ่มที่แสดงความเห็นมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นด้วยให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเลือกนายกฯ ของตนเอง รวมถึงเพื่อให้นายกฯ มีความเป็นอิสระไม่ต้องเกรงใจ ส.ส. หรือนายทุนพรรคการเมือง นอกจากนั้นในประเด็นดังกล่าวมีผู้เสนอรายละเอียดด้วยว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯ ต้องได้คะแนนเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือ กึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง, จำกัดการดำรงวาระของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ ให้เพียง 1-2 วาระ
 
4. แนวทางที่ทำให้กระบวนยุติธรรมต่อนักการเมืองมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวคิดสำคัญคือให้ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ แต่องค์กรที่ทำหน้าที่ต้องมีความเข้มแข็ง ทำงานตรวจสอบอย่างจริงจังและรวดเร็ว นอกจากนั้นยังเสนอให้เพิ่มกระบวนการตรวจสอบโดยประชาชน คือให้สิทธิ์ประชาชนจำนวน 15,000 รายชื่อยื่นตรวจสอบนักการเมืองได้ และให้ศาลยุติธรรมดำเนินการตรวจสอบด้วยความรวดเร็วโดยใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน 
 
5. การเปลี่ยนชื่อเรียกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที เช่น นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ นายกกรุงเทพฯ ทั้งนี้ได้ฝากความเห็นให้มีการปฏิรูประบบการบริหารส่วนท้องถิ่นร่วมด้วยกับการปฏิรูปในส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีความสมดล และมีการเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หากมองว่าเป็นแนวทางที่จะปฏิรูปประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น, ยุบ อบจ. เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net