Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อกรณีการควบคุมตัว  นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ สนพ.ฟ้าเดียวกัน โดยทหาร โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกว่าเป็นการจำกัดสิทะิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ชี้การจับกุมขาดความโปร่งใสและขาดซึ่งกระบวนทาง กม.ที่น่าเชื่อถือ การจำกัดเสรีภาพสื่อออนไลน์ที่ไม่มีการแสดงความเห็นที่ขัดต่อกฎหมายและการควบคุมตัวผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวซ้ำอีกครังเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม

ในแถลงการณ์ ศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้เรียกร้องให้ คณะรัฐประหาร คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกและการเควบคุมตัวหรือเรียกให้มารายงานตัวตามกฎอัยการศึกรวมถึงการยกเลิกการส่งตัวพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร

๐๐๐๐

 

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กรณีการควบคุมตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล ซ้ำเป็นครั้งที่ 2
อ้างโพสต์ข้อความออนไลน์ขัดเงื่อนไขการปล่อยตัว

 

6 กรกฎาคม 2557

สืบเนื่องจากนายธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/ 2557 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาโดยต้องลงนามในเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบที่ 39/2557 เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ยอมแจ้งชื่อและตำแหน่งได้ขอนัดหมายกับนายธนาพลฯ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ในสถานที่สาธารณะแห่งหนึ่ง โดยนายธนพลฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี

แต่กลับปรากฏว่า นายธนาพลฯ ถูกควบคุมตัวและนำตัวไปค่ายทหารโดยรถยนต์ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นรถหรือยานพาหนะของราชการ อีกทั้งผู้ที่ทำการควบคุมตัวนายธนาพลฯ ก็ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จับกุมตามกฎอัยการศึกแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ได้มีการนำตัวนายธนาพลฯ ไปยังกองบังคับการปราบปรามโดยยังไม่การแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มีการอ้างถึงการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายธนาพลฯ หลังการได้รับการปล่อยตัวว่าอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขของการได้รับการปล่อยตัวตามประกาศดังกล่าวข้างต้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นซึ่งได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังต่อไปนี้

1. การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 39/2557 กรณีผู้ไปรายงานตัว และฉบับที่ 40/2557 กรณีผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ซึ่งให้ผู้ถูกปล่อยตัวระบุที่พักอาศัย ห้ามออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต และห้ามเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมืองใดๆ เป็นเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องเป็นกรณียกเว้นที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และต้องกระทำอย่างพอสมควรแก่เหตุ โดยต้องไม่เป็นการห้ามหรือจำกัดเสรีภาพไปเสียในทุกกรณีจนเป็นการทำลายเสรีภาพนั้นเสีย อีกทั้งยังต้องมีมาตรการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขท้ายประกาศดังกล่าวกลับกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไปในทุกกรณีและยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกปล่อยตัวโต้แย้งแสดงเหตุผลในการคัดค้านเงื่อนไขอันเป็นผลร้ายต่อบุคคล ไม่มีกำหนดระยะเวลา และหากไม่ลงนามก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว การยินยอมลงนามท้ายเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจ

2. การดำเนินการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลและดำเนินการตามอำนาจกฎอัยการศึกในลักษณะดังกล่าวไม่โปร่งใส่และขาดซึ่งกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อถือได้ อาจเป็นการล่วงเกินสิทธิเสรีภาพจนเกินขอบเขต เช่น การไม่แนะนำตัวและตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มีความมั่นคงและปลอดภัยในการดำเนินชีวิต เนื่องจากไม่ทราบว่าการถูกควบคุมตัวของตนนั้นกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาชญากร

3. การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งยังไม่ปรากฎว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการยั่วยุให้นำไปสู่ความรุนแรง โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก นำไปสู่การกักตัวบุคคล เป็นการใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีเหตุอันควร เกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และถือเป็นการใช้อำนาจโดยอำเภอใจและส่งผลเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคล

4. การอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อกำหนดเงื่อนไขของการปล่อยตัวโดยห้ามมิให้บุคคลแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงและเพื่อใช้ดุลพินิจควบคุมตัวบุคคลซ้ำอีก 7 วันเป็นครั้งที่สองในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลแบบเหวี่ยงแห (blanket derogation) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเพื่อจำกัดหรือส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งฝ่ายกฎหมายหมายจึงควรทบทวนเงื่อนไขและวิธีการที่ใช้บังคับตามกฎอัยการศึก

โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น การกักตัว การเรียกให้มารายงานตัว การติดตาม ติดต่อ การเยี่ยม การขอพบปะบุคคล ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางโดยปราศจากมาตรการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ และนำไปสู่การใช้อำนาจโดยอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้จะอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่ยังต้องอยู่ภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุ ความโปร่งใส และการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ

ด้วยเหตุดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติปล่อยตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล จากการควบคุมตัวโดยปราศจากเงื่อนไข และยืนยันข้อเสนอเดิมตามรายงาน 1 เดือนหลังรัฐประหารของศูนย์ทนายความฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. ให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีเหตุให้ใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไปแล้ว และให้ใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ

2. ให้ยุติการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยสงบหรือแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศห้ามชุมนุม

3. ให้ยกเลิกการบังคับให้บุคคลมารายงานตัว และการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยโดยอำเภอใจ

4. ให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารตามประกาศเรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลทหาร

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net