Viva Costa Rica จดหมายรักถึงประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกากลาง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หากพูดถึงคอสตาริกาก่อนหน้าฟุตบอลโลก 2014 เชื่อว่าคนไทยกว่า 60 ล้านคน คงทำหน้างง และพยายามเดาว่าประเทศนี้ตั้งอยู่ส่วนไหนของโลก (เป็นปัญหาที่ผู้เขียนประสบมาตลอดหลังจากไปร่ำเรียนปริญญาโทที่ประเทศนี้) แต่หลังจากทีมชาติคอสตาริกาที่มีชื่อเล่นว่า La Sele โชว์ฟอร์มอัดอิตาลี 1-0 ด้วยรูปแบบการเล่นที่ตั้งรับ และสวนกลับอย่างมีวินัย จนทีมชาติอิตาลีเจ้าของต้นตำรับคาเตนัคโชถึงกับไปไม่เป็น และร่วงตกรอบแรกไปพร้อมกับทีมชาติอังกฤษที่อยู่ในสายเดียวกัน ชื่อคอสตาริกาก็เป็นที่คุ้นหูชาวไทยขึ้นมา โดยเฉพาะชาวไทยที่นิยมการเชียร์บอลรอง สื่อมวลชนไทยพากันตั้งฉายาคอสตาริกาว่า ‘ทีมกล้วยหอม’ เพราะคอสตาริกาเป็นประเทศที่ส่งออกกล้วยหอมเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่นอกจากการส่งออกกล้วยหอมแล้ว คอสตาริกาถือเป็นประเทศที่น่าสนใจทั้งแง่สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

 

ประเทศนี้ไม่มีกองทัพ

ช่วงสงครามกลางเมือง 44 วัน ในปี 1948 โฮเซ ฟิกูเอร์เรส อดีตนักธุรกิจเจ้าของไร่กาแฟ หัวหน้าฝ่ายต่อต้านที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกา จับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลของ เตโอโดโร ปิกาโด ทายาททางการเมืองของประธานาธิบดีราฟาเอล กัลเดรอน (ซึ่งเป็นคนวางรากฐานระบบสวัสดิการสังคมให้ประเทศคอสตาริกาด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ สนับสนุนนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า อุดหนุนการศึกษา ตั้งกองทุนประกันสังคมหลังเกษียณ รวมถึงนโยบายปฏิรูปที่ดินด้วยการอนุญาตให้ชาวนาไร้ที่ดินเข้าไปจับจองที่ดินที่เจ้าของถือครองไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ฯลฯ) ในขณะที่ฝ่ายเตโอโดโร ปิกาโด ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในคอสตาริกา กลับไปรับการสนับสนุนจากเผด็จการตระกูลโซโมซาในนิคารากัว แสดงให้เห็นว่าจุดยืนทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิคารากัวและกัวเตมาลา    ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้ของกองกำลังมาร์กซิสต์ - เลนินนิสต์ กับเผด็จการหลากหลายรูปแบบที่หนุนหลังโดยหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ เมื่อชนะสงครามกลางเมือง โฮเซ ฟิกูเอร์เรส ผู้นำฝ่ายกบฏซึ่งกลายเป็นประธานาธิบดี เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกกองทัพ (โดยมีตำรวจที่ถูกฝึกในลักษณะเดียวกับทหาร ในกรณีที่จำเป็นต้องป้องกันประเทศชาติ) และให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งกับผู้หญิงและคนผิวดำ

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกกองทัพของคอสตาริกา ตามมาด้วยการมีข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาว่า อเมริกาจะช่วยดูแลคอสตาริกาในด้านความมั่นคง เพราะสายสัมพันธ์ใกล้ชิดของฟิกูเอร์เรสกับหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา แม้ฟิกูเอร์เรสจะประกาศตัวว่าไม่เคยสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในละติน แต่คอสตาริกาภายใต้ประธานาธิบดีจากพรรค Partido Liberación Nacional ซึ่งเป็นพรรคที่ฟิกูเอร์เรสก่อตั้ง กลับยินยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนของตนเองในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 เพื่อฝึกกองกำลังเข้าไปโจมตีรัฐบาลฝ่ายซ้ายของนิคารากัว ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการโค่นล้มเผด็จการตระกูลโซโมซา ด้วยความที่สหรัฐอเมริกาหวาดกลัวการแผ่ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จนนิคารากัวฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า สหรัฐอเมริกาละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการฝึกกองกำลังเข้ามาแทรกซึมในประเทศ และเป็นฝ่ายชนะข้อพิพาท เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินในปี 1984 ว่า สหรัฐอเมริกาละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศจริง

นอกจากฟอร์มอันยอดเยี่ยมของ La Sele ในฟุตบอลโลกแล้ว ประธานาธิบดีคนใหม่ของคอสตาริกาก็โชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจไม่แพ้กัน เมื่อหลุยส์ โซลิส จากพรรค Partido Acción Ciudadana พรรคกลางซ้ายที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2000 ออกกฎหมายห้ามตั้งชื่อสิ่งก่อสร้างสาธารณะตามชื่อประธานาธิบดี และห้ามแขวนรูปภาพประธานาธิบดีในสถานที่ราชการ หลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม โดยบอกว่า "สิ่งก่อสร้างสาธารณะเป็นงานของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่ง" และ "การบูชารูปผู้นำมันต้องเลิกได้แล้ว อย่างน้อยก็ในสมัยของผม"

 

ประเทศนี้ Pura Vida!

คำพูดติดปากจนกลายเป็นมอตโตของประเทศคอสตาริกาคือ คำว่า Pura Vida ในภาษาสเปน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า Pure Life แต่ชาวคอสตาริกันใช้คำนี้ทุกความหมายในทางบวก ไม่ว่าจะขอบคุณ ทักทาย หรือเป็นแค่การแสดงอารมณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ เพราะปูรา วีดาในความหมายของชาวคอสตาริกัน คือการใช้ชีวิตให้เต็มที่ ถ้าคุณเดินหลงทางไม่รู้เหนือรู้ใต้อยู่ในคอสตาริกา แล้วใครสักคนทักคุณเป็นภาษาสเปน การตอบส่งเดชว่า “ปูรา วีดา” ได้ผลเสมอ ชาวคอสตาริกัน (คำเรียกผู้ชายคอสตาริกันในภาษาสเปนคือ Tico – ติโก คำเรียกผู้หญิงคอสตาริกันในภาษาสเปนคือ Tica – ติกา) จะตอบรับคุณอย่างร่าเริงเบิกบาน แม้ว่าคุณจะไม่เข้าใจอะไรเลย

เนื่องจากแนวคิดรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง และวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐาน (รวมทั้งการเป็นมิตรสนิทของสหรัฐอเมริกา) ทำให้คอสตาริกาเป็นประเทศที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในทวีปอเมริกากลาง - ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทวีปที่อันตรายที่สุดในโลก พิจารณาจากสถิติอาชญากรรมเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร [1] ทำให้ติโกและติกาทั้งหลายสามารถมีชีวิตปูรา วีดาได้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเอล ซัลวาดอร์, นิคารากัว และกัวเตมาลาที่ยังต้องดิ้นรนกับปัญหาความยากจน ปัญหาอาชญากรรม การพัฒนาประเทศหลังจากการสู้รบของกองกำลังฝ่ายซ้ายกับฝ่ายเผด็จการที่ได้รับการหนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น และการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศผ่านกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) ที่ต้องคืนความจริงและชดเชยให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงเผด็จการครองอำนาจ

หากดูจากสถิติต่าง ๆ จำนวนประชากรวัยผู้ใหญ่ที่อ่านออกเขียนได้ในคอสตาริกามีจำนวน 96.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าประเทศไทย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัวเตมาลามีอัตราอยู่ที่ 69.1 เปอร์เซ็นต์ นิคารากัว 67.5 เปอร์เซ็นต์ ฮอนดูรัส 80 เปอร์เซ็นต์ และเอล ซัลวาดอร์ 84.5 เปอร์เซ็นต์[2] อายุคาดเฉลี่ยของคนคอสตาริกาอยู่ที่ 79.4 ปี เอล ซัลวาดอร์ 72.4 ปี นิคารากัว 62.6 ปี กัวเตมาลา 71.4 ปี [3] และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคอสตาริกาอยู่ที่ 13,872 เหรียญสหรัฐ กัวเตมาลา 7,295 เหรียญสหรัฐ และนิคารากัว 4,571 เหรียญสหรัฐ  [4] สถิติที่ยกมานี้ทำให้เห็นถึงภาพรวมของคุณภาพการศึกษา การสาธารณสุข และรายได้ของคนคอสตาริกา เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่น่าแปลกใจว่า ตัวเลขจำนวนชาวนิคารากัวในคอสตาริกาจะสูงถึง 400,000 - 600,000 คน [5] ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติที่อพยพย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และบางส่วนเป็นแรงงานผิดกฎหมาย คิดเป็นสัดส่วน 10 - 15% ของประเทศที่มีประชากรราว 4.5 ล้านคน

นอกจากคุณภาพชีวิตที่ดีจากนโยบายรัฐสวัสดิการแล้ว คอสตาริกายังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยมติดอันดับต้น ๆ ของโลก (ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนขอยืนยันว่าเป็นความจริง เพราะเคยเทร็กกิ้งสองชั่วโมง เพื่อไปดูกังหันลมขนาดยักษ์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมบนยอดเขา แม้ชายหาดคอสตาริกาจะสวยสู้ประเทศไทยไม่ได้ก็ตาม) มูลนิธิ New Economics เคยจัดอันดับให้คอสตาริกาเป็นประเทศที่เขียวที่สุดในโลกในปี 2009 [6] และเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลกในปี 2012 [7]

ทั้งหมดเป็นเหตุผลว่า ทำไมสลอธ (Sloth) สิ่งมีชีวิตที่ (อาจจะ) ขี้เกียจที่สุดในโลกจึงได้รับเกียรติให้เป็นสัตว์ประจำชาติคอสตาริกา ทำไมคำว่า ปูรา วีดา จึงกลายเป็นคำพูดติดปากของชาวคอสตาริกัน และทำไมศาลสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) และมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพแห่งสหประชาชาติ (The United Nations-Mandated University for Peace) จึงเลือกไปตั้งอยู่ที่ซาน โฮเซ เมืองหลวงของประเทศคอสตาริกา

 

ประเทศนี้เป็นสีเทา

แม้ว่าฟังเผิน ๆ คอสตาริกาจะคล้ายกับสวรรค์บนโลกมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในทวีปอเมริกากลาง แต่ทุกอย่างนั้นมีสองด้านเสมอ นอกจากการยอมเป็นฐานทัพให้สหรัฐอเมริกาแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้านในช่วงสงครามเย็น (คล้ายกับประเทศไทยในกรณีกัมพูชา ลาว และเวียดนาม) และชาวต่างชาติจำนวนมาก (หลัก ๆ คือชาวอเมริกันและแคนาเดียน) ที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ ลงทุน และเกษียณในคอสตาริกา ทำให้ค่าครองชีพในคอสตาริกาพุ่งสูงขึ้นจนเป็นปัญหาของคนท้องถิ่น (อาหารธรรมดาในร้านริมถนน คือ ข้าวกับถั่วแดงต้มแบบที่เรียกว่า กาโย ปินโต และไก่หรือปลาทอดหนึ่งชิ้น ราคาเริ่มต้นที่ 2,500 โคโลเนส หรือ 150 บาท) คอสตาริกากำลังเผชิญปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะนิคารากัว และยังมีปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟโฟร - คอสตาริกัน ที่ในอดีตเคยเลวร้ายถึงขั้นที่มีการห้ามไม่ให้คนผิวดำเข้ามาตั้งถิ่นฐานในตอนกลางของประเทศ แม้ว่าปัญหาจะคลี่คลายลงไปมาก แต่ชาวแอฟโฟร - คอสตาริกันส่วนใหญ่ก็ยังเลือกอาศัยอยู่ในเมืองฝั่งมหาสมุทรแคริบเบียน มากกว่าที่จะเข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดิน

นอกจากนั้น คอสตาริกายังได้ชื่อว่าเป็นประเทศคาทอลิกเคร่งครัด และเป็นรัฐศาสนา แม้ว่าจะมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญให้คอสตาริกาเป็นรัฐฆราวาส (Secular State) แต่ความพยายามนั้นถูกขัดขวางโดยพรรค Partido Liberación Nacional ของอดีตประธานาธิบดีหญิง ลอรา ชินชิยา รวมถึงการไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเสรี และการไม่ให้สิทธิในการแต่งงานกับคู่รักหลากหลายทางเพศ ทั้งที่หลายประเทศในละตินอเมริกาผ่านกฎหมายทั้งสองไปแล้ว โดยพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ได้เป็นรัฐบาล แต่แนวโน้มของประเด็นสิทธิการทำแท้งและสิทธิเกย์, เลสเบียน, ไบเซ็กชวลและคนข้ามเพศ อาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ หลุยส์ โซลิส ประกาศตัวชัดเจนว่า สนับสนุนสิทธิ LGBT ด้วยการชักธงสีรุ้งขึ้นสู่ยอดเสาหน้าที่พักของประธานาธิบดี เพื่อแสดงความสมานฉันท์ในวันต่อต้านการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ (the International Day Against Homophobia and Transphobia) ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา [8]

 

ป.ล. ฟอร์มอันยอดเยี่ยมของ La Sele ในฟุตบอลโลก 2014 ทำให้คนไทยรู้จักประเทศคอสตาริกามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะ 8 เดือนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้ชีวิตและร่ำเรียนในคอสตาริกา เป็นช่วงเวลาที่มีความทรงจำดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย

 

อ้างอิง

[1] http://www.unodc.org/documents/gsh/data/GSH2013_Homicide_count_and_rate.xlsx

[2] https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/fields/2103.html#xx

[3] https://data.undp.org/dataset/Life-expectancy-at-birth-years-/7q3h-ym65

[4] http://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.PP.CD?order=wbapi_data_value_2013+wbapi_data_value+wbapi_data_value-last&sort=desc

[5] http://www.inec.go.cr/Web/Home/pagPrincipal.aspx

[6] http://www.theguardian.com/environment/2009/jul/04/costa-rica-happy-planet-index

[7] http://www.nacion.com/vivir/bienestar/Costa-Rica-nuevamente-Happy-Planet_0_1274672712.html

[8] http://www.ticotimes.net/2014/05/16/president-of-costa-rica-raises-lgbt-flag-over-casa-presidencial

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท