Skip to main content
sharethis

8 ก.ค.2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว ด.ญ. ที่ถูกข่มขืนและฆ่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสาร

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์
ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว ด.ญ. และเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสาร

แถลงโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 
8 กรกฎาคม 2557

สืบเนื่องจากกรณีการข่มขืนและฆ่า ด.ญ. ที่โดยสารรถไฟขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช - กรุงเทพฯ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมายังกรุงเทพมหานคร เหตุเกิดบนรถไฟเมื่อคืนวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 โดยนายวันชัย แสงขาว ลูกจ้างเฉพาะงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรง (ไม่ใช่ลูกจ้างบริษัทเอกชนแต่อย่างใด) ตามที่มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนอย่างละเอียดแล้วนั้น
           
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว ด.ญ. ต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดดังกล่าว และขอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุด เพื่อมิให้บุคคลอื่นกระทำเป็นเยี่ยงย่างต่อไป ทั้งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2544 ได้เคยเกิดเหตุการณ์ทำร้าย ข่มขืน และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายผู้โดยสาร เหตุเกิดที่ขบวนรถตู้นอนสายสุไหงโกลก-กรุงเทพฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยอดีตลูกจ้างชั่วคราวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกผู้กระทำเป็นเวลา 9 ปี
           
เมื่อพิจารณาบนขบวนรถไฟขณะเดินทาง จะพบความหละหลวมในการรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสารหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

(1)      บนขบวนรถไฟโดยเฉพาะในขบวนตู้นอนชั้น 2 พบว่า แม้ว่าจะมีประตูปิดการเชื่อมต่อแต่ละตู้นอน แต่ประตูดังกล่าวไม่สามารถล็อคได้ ทำให้พนักงานรถไฟ ผู้โดยสารหรือคนแปลกหน้าสามารถเดินเข้าออกตู้นอนได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยามค่ำคืน มักมีข่าวบ่อยครั้งเรื่องผู้โดยสารถูกทำอนาจารบนรถไฟ สิ่งของหายหรือถูกขโมย

(2)      การตรวจตราของพนักงานรถไฟจะตรวจเฉพาะผู้โดยสารที่ขึ้นมาใหม่เพียงการเช็คตั๋วเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารคนอื่นที่ขึ้นมาก่อนแล้วแต่อย่างใด โดยเฉพาะมักพบการร้องเรียนเรื่องเสียงดังจากการดื่มสุราบ่อยครั้ง (ขบวนรถตู้เสบียงมีการขายสุราให้ผู้โดยสารตลอดเวลา และผู้โดยสารสามารถดื่มบริเวณใดๆได้ทั้งสิ้น)

(3)      ไม่มีตำรวจรถไฟประจำการบนรถไฟโดยสารแต่อย่างใด ทำให้เวลาเกิดเหตุไม่ปลอดภัยต่างๆ ผู้โดยสารมักจะต้องจัดการและดูแลตนเอง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงานที่มุ่งเน้นการคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงานทุกกลุ่ม ขอเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสารโดยเร่งด่วน ดังนี้

(1)      การมีระเบียบและมาตรการที่เข้มงวดในการคัดเลือกพนักงานที่เข้ามาทำงาน โดยเฉพาะพนักงานที่เกี่ยวข้องและต้องประจำการบนรถไฟ ทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่อง, เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วทั่วไป และพนักงานที่เข้ามารับผิดชอบในเรื่องความสะอาดและกางเตียงนอน

(2)      การประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยในระหว่างตลอดเวลาการเดินทาง

(3)    การติดตั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้งานได้ในทุกขบวนรถไฟ

(4)    การกำหนดเวลาในการดื่มสุราและมีการจัดพื้นที่การดื่มสุราโดยเฉพาะในเวลาที่กำหนด
         
ทั้งนี้ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะผลจากการบริหารงานที่หละหลวมและปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net