ความเป็นสมัยใหม่ในความคิดทางสังคมของพุทธศาสนา (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ความเป็นไปทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ย่อมดำเนินไปบนพื้นฐานของ “ความคิดทางสังคม  (social ideas)” บางอย่าง (หรือหลายๆอย่าง) เสมอ เช่นระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจแบบอเมริกันอยู่บนพื้นฐานของความคิดทางสังคมแบบ “เสรีนิยม (liberalism)” ขณะที่ระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจของไทยยังไม่ลงตัวว่าจะเป็นแบบไหนกันแน่ แบบเสรีนิยมหรือแบบไทย แต่หากมองโดยภาพรวม ระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ ต่างอยู่บนพื้นฐานของความคิดทางสังคมแบบสมัยใหม่

ว่ากันว่า “ความเป็นสมัยใหม่ (modernity)”  ของความคิดทางสังคมเกิดขึ้นในยุโรป ราวศตวรรษที่ 16 เป็นอย่างน้อย และส่งผลต่อการปฏิรูปทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 19 แกนกลางของความเป็นสมัยใหม่ของความคิดทางสังคม คือการยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งแตกความหมายออกเป็น 2 กระแสความคิดใหญ่ๆ คือ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในความหมายแบบประชาธิปไตยกับแบบสังคมนิยม ทว่าความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคภายในกระแสความคิดใหญ่ทั้งสองนี้ ก็มีพัฒนาการต่อมาอย่างซับซ้อน 

แต่จะอย่างไรก็ตาม แม้จะจริงว่า ความเป็นสมัยใหม่ของความคิดทางสังคมเกิดขึ้นหรือมีรากฐานมาจากยุโรป แต่ก็ไม่ได้แปลว่าความคิดสมัยใหม่เป็น “สมบัติส่วนตัว” ของชาวยุโรปหรือของตะวันตกเท่านั้น เพราะความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคได้กลายเป็นของสากล หรือเป็น “สมบัติร่วม” ของมนุษยชาติทั่วโลก ยิ่งกว่านั้นการเกิดขึ้นของความคิดสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นในเอเชียด้วย ดังหลายประเทศในเอเชียก็สามารถพัฒนาความคิดสมัยใหม่ขึ้นจากบริบทภูมิปัญญาของตนเองและบูรณาการกับภูมิปัญญาสมัยใหม่แบบตะวันตก

ในหนังสือประวัติศาสตร์สนทนา “ตำนานแห่งนครวัด” ของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายให้เห็นพัฒนาการของความคิดทางสังคมในอาณาจักรเขมรและสุโขทัย ที่มีภูมิปัญญาพราหมณ์ฮินดู และพุทธเป็นแกนหลักว่า เดิมทีนครวัดอยู่ใต้อิทธิพลปรัชญาการปกครองแบบพราหมณ์ฮินดูบวกพุทธนิกายมหายาน ซึ่งเป็นศาสนาแห่งราชสำนักที่สถาปนาชนชั้นปกครองให้เป็นพระเจ้า, พระโพธิสัตว์ และพระพุทธเจ้า ขณะที่ไพร่ ทาสถูกเกณฑ์แรงงานมาสร้างปราสาทราชวัง ศาสนสถาน และไปทำสงครามเพื่อขยายบารมีของชนชั้นปกครองให้แผ่ไพศาล ในช่วงเวลานั้นพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ได้เข้ามาเผยแผ่ในหมู่ไพร่ ทาส จนเป็นที่นิยม กลายเป็นพุทธศาสนาของชาวบ้านในดินแดนแถบนี้

ว่ากันว่า ความล่มสลายของศูนย์กลางอำนาจแห่งนครวัด ไม่ใช่เป็นเพราะเกิดจากการรบพุ่งกับไทยและเมืองอื่นๆ เท่านั้น ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเกิดความขัดแย้งทางศาสนา ระหว่างศาสนาของราชสำนักกับศาสนาแบบชาวบ้าน เนื่องจากพุทธเถรวาทมีคำสอนที่ปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะ จึงเป็นแรงบันดาลใจของบรรดาไพร่ ทาสในการต่อสู่ปลดแอกการครอบงำกดขี่โดยศาสนาของราชสำนักแห่งนครวัด

ในดินแดนสยาม พุทธศาสนาเถรวาทก็แพร่หลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้าน ต่อมาชนชั้นปกครองยุคสุโขทัยก็นำเอาพุทธเถรวาทซึ่งเป็นที่นิยมของชาวบ้านอยู่แล้วมาเป็นศาสนาแห่งราชสำนัก ทำให้พุทธเถรวาทกลายเป็นรากฐานภูมิปัญญาทางการเมืองการปกครองที่ปลดแอกอิทธิพลของพราหมณ์ฮินดูและมหายานแบบนครวัด และเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนในยุคสุโขทัย โดยมีคณะสงฆ์เป็นตัวกลางประสานความเชื่อมโยงด้วยการสอนให้ผู้ปกครองมีทศพิธราชธรรมในการปกครอง และสอนประชาชนให้มีศีลธรรม

หลักฐานชิ้นสำคัญคือ ภูมิปัญญาพุทธเถรวาทถูกเผยแพร่ผ่านพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาลิไท เรื่อง “เตภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ที่สร้างความเชื่อทางจักรวาลวิทยาและศีลธรรมว่า มีภพภูมิ 3 ภพคือ โลกมนุษย์ นรก สวรรค์ การทำความดีหรือการมีศีลธรรมจะส่งผลให้ได้เกิดในโลกมนุษย์และสวรรค์ ทำความชั่วจะส่งผลให้เกิดเป็นสัตว์นรก และเมื่อบำเพ็ญบุญบารมีบริบูรณ์ ก็จะได้บรรลุนิพพานพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในที่สุด

ต่อมาความเชื่อแบบไตรภูมิฯ ถูกตีความผสมผสานกับความเชื่อแบบพราหมณ์ฮินดูและพุทธมหายานว่า คนเราเกิดมามีสถานะสูง ต่ำไม่เท่ากัน เช่นเป็นเจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส เพราะชาติก่อนทำบุญมาไม่เท่ากัน และชนชั้นปกครองในสมัยอยุธยาก็ถูกยกย่องให้เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระพุทธเจ้าอยู่หัวตามความเชื่อแบบนครวัดอีกที ความเชื่อดังกล่าวนี้มีอิทธิพลสืบมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 สยามประเทศเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมยุโรป จึงมีการปะทะกับความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก ส่งผลให้ ร.4 ริเริ่มปฏิรูปความเป็นสมัยใหม่ของความคิดทางสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นแกน โดยการ 1) ปฏิเสธความคิดแบบไตรภูมิฯ 2) กลับไปหาความคิดแบบสุโขทัยโดยอ้างอิงศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ท่านค้นพบ และ 3) กลับไปหาคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก และตีความให้สอดคล้องกับลัทธิการปกครองระบบกษัตริย์สมัยใหม่แบบตะวันตก ที่ถือว่าสถานะและอำนาจของกษัตริย์มาจากความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง และตีความคำสอนของพุทธศาสนาว่ามีความทันสมัยสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์

ความเป็นสมัยใหม่ของความคิดทางสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนซึ่งริเริ่มปฏิรูปโดย ร.4 ถูกพัฒนาให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นในสมัย ร.5 และ ร.6 โดย ร.5 ได้สถาปนาระบบกษัตริย์สมัยใหม่ขึ้น คือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบตะวันตกขึ้น ด้วยการวบอำนาจการปกครอง (รวมทั้งอำนาจการปกครองคณะสงฆ์) ในภูมิภาคขึ้นต่อกรุงเทพฯ ทั้งหมด ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงถูกยกย่องว่าเป็น “สมเด็จพระปิยมหาราช” คือมหาราชผู้เป็นที่รักของพสกนิกร อีกทั้งยังช่วยให้สยามพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ขณะที่ ร.6  ได้รับเอาแนวคิด God, King and Country ของอังกฤษมาประยุกต์สร้างอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

กล่าวได้ว่า ความเป็นสมัยใหม่ของความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาที่ถูกตีความผสมผสานกับความคิดแบบตะวันตกที่ริเริ่มโดย ร.4 พัฒนามาถึงจุดสูงสุดโดย ร.5 และ ร.6 เมื่อผนวกรวมพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามไทย ที่ยังทรงอิทธิพลเหนือจิตสำนึกของพลเมืองไทยจวบปัจจุบัน

ข้อสังเกตคือ การปฏิรูปความเป็นสมัยใหม่ของความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาโดยชนชั้นปกครองในระบบเก่า แม้จะมีการตีความคำสอนของพุทธศาสนาสนับสนุนปรัชญาการปกครองระบบกษัตริย์สมัยใหม่แบบตะวันตก และเน้นความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ตีความคำสอนของพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นความคิดสมัยใหม่ที่สำคัญสูงสุดของตะวันตกแต่อย่างใด

หลังการปฏิวัติสยาม 2475 จึงได้มีปราชญ์สามัญชนตีความพุทธศาสนาต่างจากชนชั้นปกครองในระบบเก่า คือตีความพุทธศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ดังจะอภิปรายต่อในฉบับหน้า

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” (12-18 ก.ค.2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท