Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เนื่องในโอกาสฉลองวันชาติสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาและเป็นวันสำคัญคือวันที่สถานทูตอเมริกันไม่ได้เชิญผู้นำคสช.มาร่วมงานด้วย ผู้เขียนจึงใคร่อยากนำเอาบทความเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาของนงนุช  สิงหเดชะผู้เป็นคู่กัดทักษิณหรืออีกนัยคือคนรักฝ่ายอำมาตย์อย่างคงเส้นคงวามาร่วมเสวนาทางตัวหนังสือด้วย ซึ่งการเสวนาในบทความนี้รวมไปถึงการแสดงความเห็นด้วยในหลายประเด็นผสมกับความไม่เห็นด้วยหรือโต้แย้งในอีกหลายประเด็น  จากบทความของเธอในมติชนที่ชื่อ  “อเมริกา "อั๊กลี่" ไม่เคยเปลี่ยน "จุ้น" ที่ไหน "ย่อยยับ" ที่นั่น”

นงนุชเปิดฉากมาโดยการโจมตีสหรัฐอเมริกาดังต่อไปนี้

 "ปฏิกิริยาเกินเหตุของสหรัฐอเมริกา ที่มีต่อประเทศไทย หลังจากมีการรัฐประหารเพื่อยุติการขัดแย้งเข่นฆ่ากัน เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า อเมริกายัง "อั๊กลี่" น่ารังเกียจ เห็นแก่ตัว และโง่งมในวิธีคิดไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนไปมากแล้วก็ตาม "

ในเรื่องปฏิกิริยาของสหรัฐฯ นั้น ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยและกฎหมาย รัฐบาลสหรัฐฯก็ต้องทั้งประณาม กดดันและคว่ำบาตรประเทศที่กองทัพทำการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะมีการประณามจากกลุ่มประท้วงว่าการเลือกตั้งจะสกปรกหรือมีเผด็จการแบบรัฐสภาอย่างไรหรือจะมีข้ออ้างอย่างไร แต่เพื่อดุลทางอำนาจหรือประโยชน์ของประเทศตน  รัฐบาลสหรัฐ ฯ ก็มักมีพฤติกรรมที่ไม่คงเส้นคงวากับอุดมการณ์ที่ยึดถือนักดังเช่นอียิปต์ที่สหรัฐฯ เบาเสียงไม่ยอมประณามเพราะต้องการความมั่นคงในตะวันออกกลางหรือในอดีตมีหลายประเทศเช่นชิลีและอิหร่านที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ หรือซีไอเออยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มหาอำนาจนอกจากสหรัฐฯ เช่นสหภาพโซเวียตก็ใช้กัน  

การจะตัดสินว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของสหรัฐฯ น่ารังเกียจหรือเห็นแก่ตัวก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดอะไร (ผู้เขียนยังนึกดูถูกหรือชังน้ำหน้าสหรัฐฯ เช่นเดียวกับนงนุชและคนไทยจำนวนมากเสียด้วยซ้ำ) หากคนเขียนต้องการให้บทความของตนตอบสนองอารมณ์ความเกลียดชังหรือลัทธิชาตินิยม แต่ผู้เขียนมาคิดเล่นๆ ว่าถ้าวันพรุ่งนี้สหรัฐฯ เลิกกดดันไทยแล้วหันมาสนับสนุน คสช.  นงนุชจะกลับคำมาชมสหรัฐฯ ว่าน่ารักและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือไม่ และเราควรจะชมญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งวางตนค่อนข้างเป็นกลางต่อการทำรัฐประหารของไทยในทำนองเดียวกันแต่เพราะประเทศเหล่านั้นคำนึงเรื่องผลประโยชน์จากการลงทุนหรือไม่ สำหรับผู้เขียนเห็นการใช้คำสรรเสริญหรือคำด่าแบบใช้ความรู้สึกส่วนตัวเช่นนี้ไม่สู้จะให้คำตอบเท่าไรนักแทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ (National interest) ที่ทุกประเทศมักจะทำในสิ่งที่สวนทางกับอุดมการณ์ของตัวเอง

นอกจากนี้การที่นงนุชบอกว่าปฏิกิริยาเกินเหตุของสหรัฐอเมริกาต่อไทยก็เพราะการรัฐประหารนั้นเกิดขึ้นเพื่อยุติการขัดแย้งเข่นฆ่ากันนั้น เราควรคำนึงถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณเพิ่งออกมาแฉว่ามีการติดต่อกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาตั้งแต่ปี 2553 รวมไปถึงเงินทุนจำนวนมหาศาลในการโค่นล้มรัฐบาลแล้ว สมมติว่านายสุเทพพูดความจริง ความเชื่อนงนุชในประเด็นนี้ย่อมเป็นเรื่องไม่จริง (แน่นอนว่านงนุชได้เขียนบทความล่าสุดของเธอในมติชนรายสัปดาห์เพื่อประณามสุเทพอย่างรุนแรง)

ผู้เขียนยังสะดุดกับประโยคที่นงนุชบอกว่า "สหรัฐฯ ไม่เคยเปลี่ยนความคิดไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไป"ซึ่งถ้าหากเราศึกษานโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะถือได้ว่าเป็นมุมมองที่คลาดเคลื่อนจากความจริงเพราะถึงแม้สหรัฐฯจะยังยึดติดอยู่กับความเป็นผู้นำโลกไม่ว่าบุชหรือโอบามาตามแนวคิด Pax Americana (หรือภาวะยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ) แต่นโยบายของโอบามานั้นได้เปลี่ยนไปจากของจอร์จ ดับเบิลยู บุชที่เน้นเชิงรุกแบบ"ข้านำอยู่คนเดียว" และการใช้กองทัพเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ มาเป็นเชิงสร้างสรรค์และการเปิดให้ประเทศอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นพันธมิตรมากขึ้นเช่นเอเชียที่สหรัฐฯ ทำการโอบล้อมเอเชียโดยการหนุนให้ประเทศต่างๆ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เวียดนามคานอำนาจกับจีน (Multilateralism) ด้วยสำนึกที่ทราบถึงความรุ่งเรืองทางอำนาจของจีน สหรัฐฯ ยุคโอบามายังหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหารดังเช่นในซีเรียและอิรักยุคใหม่ที่กำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ  ผิดวิสัยของการเป็นตำรวจโลก อันสะท้อนว่าสหรัฐฯ นั้นได้เปลี่ยนวิธีคิดไปนานแล้ว

นงนุชยังได้กล่าวเชิดชูวีรบุรุษคนใหม่ว่า

"เปลี่ยนไปชนิดที่ว่าดุลอำนาจของโลกไม่ได้ถูกผูกขาดโดยอเมริกาพอที่จะทำให้อเมริกาทำตัวเป็นตำรวจโลก ชี้นิ้วจุ้นจ้านได้อีกต่อไป หากแต่มีจีนผงาดขึ้นมาในแง่มหาอำนาจเศรษฐกิจ อีกเพียง 4-5 ปี จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 1 ของโลกแทนสหรัฐอเมริกา หลังจากปีที่แล้ว (2556) มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่าแซงอเมริกาขึ้นเป็นที่ 1 ของโลก ครั้งแรก "

เป็นความจริงที่ความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ กำลังเสื่อมถอย (ในอดีตสหรัฐฯก็ไม่สามารถชี้นิ้วสั่งใครได้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว) และอำนาจของจีนกำลังพุ่งขึ้นมาท้าทาย แต่เราไม่สามารถใช้เพียงแต่ขนาดเศรษฐกิจหรือมูลค้าการค้าระหว่างประเทศมายืนยันความเป็นมหาอำนาจโลกของจีนเพียงอย่างเดียว (1) เรายังต้องคำนึงถึงมิติด้านอื่นดังเช่นด้านการทหารแม้จีนมีงบประมาณทางการทหารสูงเป็นอันดับสองของโลก แต่ก็มีการคาดว่าการทหารของจีนยังล้าหลังกว่าสหรัฐฯ ถึง 30  ปี หรือแม้แต่ทางการเมืองซึ่งจีนค่อนข้างมีขีดจำกัดในมุมต่างๆ ของโลกแม้ปัจจุบันกำลังมุ่งหน้าไปสู่ทวีปแอฟริกา เป็นเรื่องที่กลับตาละปัดว่าในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้ามาท้าทายอำนาจทางการเมืองและการทหารกับจีน

แล้วผู้เขียนก็ได้เข้าใจว่าเหตุใดนงนุชถึงได้โจมตีปฏิกิริยาของสหรัฐ ฯ

"ท่าทีรุนแรงของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงและสภาพความเป็นจริงแต่อย่างใด หากแต่รีบด่วนตัดเงินช่วยเหลือทางการทหาร ยุติซ้อมรบร่วม ให้เลือกตั้งทันที แสดงให้เห็นชัดว่าสหรัฐอเมริกาถือหางฝ่ายไหน ทั้งที่ความขัดแย้งในเมืองไทยของประชาชนสองฝ่ายนั้น ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายนิยมเผด็จการกับประชาธิปไตยแต่เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งต้องการประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์เป็นประมุข ต้องการรัฐบาลที่มี ธรรมาภิบาล มีจริยธรรม ต้องการความยั่งยืน กับอีกฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี ต้องการผู้นำที่ละโมบ คอร์รัปชั่น เน้นวัตถุนิยมเฉพาะหน้ามากกว่าความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐหนุนพวกที่อยากมีประธานาธิบดี เพราะคนของพวกนี้อวยผลประโยชน์ให้สหรัฐตามที่ต้องการ"

ผู้เขียนคิดว่าการเป็น "ผู้นำที่ละโมบ คอร์รัปชั่น เน้นวัตถุนิยมเฉพาะหน้ามากกว่าความยั่งยืน" นั้นควรจะจำกัดอยู่ที่ทักษิณและเครือข่ายเพียงประการเดียวหรือไม่ เพราะผู้นำรัฐบาลอื่นที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือจากทหารหรือจะเป็นพวกภักดีเจ้าหรือไม่ภักดีเจ้าก็มีลักษณะเช่นนี้ทั้งนั้น เพื่อความยุติธรรม นงนุชคงต้องประยุกต์คำคุณศัพท์เหล่านี้เข้ากับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งให้รัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯในช่วงสงครามเย็น มีการปฏิวัติสีเขียว (เช่นใช้สารเคมีเข้ากับการเกษตร)  กู้เงินจากธนาคาร วัฒนธรรมอเมริกาเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทย ที่น่าสนใจคือ เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต ก็มีการฟ้องร้องมรดกที่ตกทอดจากจอมพลผ้าขาวม้าแดงผู้นี้ถึงสองพันกว่าล้านบาทใน พ.ศ.2506 

นอกจากนี้นงนุชยังต้องเขียนประณามเช่นนั้นต่อรัฐบาลสุรยุทธ์และอภิสิทธิ์ ด้วยเพราะรัฐบาลเหล่านี้ล้วนแต่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เป็นปัจจัยสำคัญไปสู่ลัทธิวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตาและถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดีจะพบว่าสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนผู้นำเหล่านี้เป็นอย่างดี แม้แต่ คสช.ซึ่งยกย่องนโยบายเศรษฐกิจเสรีถ้าสามารถตกลงกับทางสหรัฐฯ ได้ในอนาคต (เช่นจัดฉากให้มีการเลือกตั้ง)

สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะสามัญประการหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีการยืดหยุ่นไม่ว่าประเทศนั้นจะปกครองแบบใดแต่ไหนแต่ไรมา แบบสมบูรณาญาสิทธิราช ประชาธิปไตย หรือเผด็จการ เพื่อเป็นการแย่งชิงพันธมิตรในการต่อสู้กับศัตรูมีในสมัยของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่สหรัฐฯหันมาใช้ประเด็นเช่นนี้เสริมกับความเป็นประชาธิปไตยในการกดดันประเทศต่างๆ  ดังนั้นการที่บอกเป็นนัยว่าสหรัฐฯ หนุนรัฐบาลเครือข่ายทักษิณเพราะทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดีจึงทำให้มีการปกครองเหมือนกันเป็นเรื่องที่เพ้อเจ้อ (ส่วนประเด็นที่ว่าทักษิณต้องการเป็นประธานาธิบดีจริงๆ หรือไม่นั้น ผู้เขียนขอยกเว้นขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้)

"ความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ของฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์เป็นประมุขนั้น สหรัฐรู้ข้อมูลเป็นอย่างดีว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด...จะเห็นว่านับแต่มีการประท้วงทางการเมืองในไทยมาตลอด 6 เดือน ของกลุ่ม กปปส. สหรัฐจึงแทบไม่เคยประณามผู้ใช้อาวุธและความรุนแรงเข่นฆ่าฝ่าย กปปส. เลย อันเท่ากับว่าสหรัฐสนับสนุนให้ฝ่ายที่ตนถือหางใช้อาวุธและความรุนแรงต่ออีกฝ่ายซึ่งแสดงว่าอะไรก็ตามที่ตอบสนองผลประโยชน์สหรัฐแล้ว คำว่ามนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน จะหายไปจากพจนานุกรมของสหรัฐทันที  แต่สหรัฐเป็นเดือดเป็นร้อนจะเป็นจะตายทันทีที่คณะ คสช. เรียกให้บุคคลกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนต่อความไม่สงบหรือความขัดแย้งไปรายงานตัว ทั้งที่การควบคุมตัวหรือการเรียกไปรายงานตัวก็ทำอย่างโปร่งใส ไม่มีการซ้อมหรือทรมาน หรือบางคนถูกเชิญตัวไปก็เพียงเพื่อปรับความเข้าใจ ขอความร่วมมือเท่านั้น ไม่ได้ถูกกักตัวข้ามวันเลยก็มี"

นงนุชจงใจเขียนสนับสนุนกลุ่ม กปปส.ดังเช่นข้างบนจนไม่อาจจะยอมรับความจริงที่ว่ากลุ่ม กปปส.นั้นได้ทำการประท้วงที่ใช้ความรุนแรงอย่างไร มีการตัดน้ำตัดไฟ ทำร้ายร่างกายผู้จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และไม่ได้บอกว่าผู้นำได้ใช้วาทศิลป์อย่างไรในการปลุกระดมมวลชนเหมือนกับกลุ่มฟาสซิสต์ในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง  กลุ่มกปปส.ซึ่งปักใจเชื่อว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังต่อต้านสหรัฐฯอย่างหนักจนถึงขั้นขู่ว่าจะบุกเข้ายึดสถานทูต ที่สำคัญกลุ่มกปปส.ยังเรียกร้องรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งรวมไปถึงการร้องขอให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหาร แม้จะอ้างว่าเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่พฤติกรรมที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ก็ย่อมทำให้คนขาดความเชื่อมั่นว่ากลุ่มกปปส. มีความจริงใจเหมือนกับนงนุชเขียนสนับสนุน สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้สหรัฐฯ  ไม่ถือว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางประชาธิปไตยจึงไม่ให้ความสำคัญต่อทางกลุ่มกปปส.นัก   ส่วนจะบอกว่าสหรัฐฯ สนับสนุนให้ฝ่ายที่ตนถือหาง (หมายถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ใช้อาวุธและความรุนแรงต่ออีกฝ่ายนั้นเป็นข้อกล่าวที่เลื่อนลอยเพราะไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมหรือชัดเจนว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลังความรุนแรงเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นมือที่ 3 หรือของกลุ่มกปปส.เองที่ต้องการปลุกระดมความโกรธแค้นของมวลชนก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ 

สำหรับการเรียกตัวกลุ่มบุคคลของคสช.นั้น สหรัฐฯ ซึ่งประกาศตนว่ายึดถือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก (2) และยังไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารตั้งแต่แรกอาจจะเข้าใจว่าการเรียกตัวกลุ่มบุคคลต่างๆ ของคสช.เป็น "การควบคุม" มวลชนแบบเลี่ยงบาลีคือใช้วิธีการกักขังบุคคลเหล่านั้นโดยระยะเวลาเพียงสั้นๆ เพียงไม่ให้ต่างชาติได้ประณามเหมือนรัฐบาลเผด็จการในประเทศอื่นที่ชอบอุ้มหาย  ถึงแม้จะไม่รุนแรงดังเช่นนงนุชกล่าวอ้าง  แต่ในระยะเวลาอันสั้นๆ ของการกักตัวว่าเต็มไปด้วยการทรมานทางจิตวิทยา การล้างสมองและข่มขู่ไม่ให้ต่อต้านรัฐบาลในอนาคตข้างหน้าผ่านกฎหมาย มิใยไม่ต้องกล่าวถึงการจับกุมตัวผู้ประท้วงเพียงแค่การแสดงสัญลักษณ์ไม่กี่อย่าง (ซึ่งในอเมริกา คนอเมริกันเดินขบวนประท้วงกันหน้าทำเนียบขาวจนเป็นเรื่องปกติ)  ก็คงไม่สามารถทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มองคสช.ในด้านบวกอย่างแน่นอน

สำหรับประโยคต่อมาของนงนุช

"การรัฐประหารจะเป็นเรื่องชอบธรรม ต่อเมื่อมันเป็นประโยชน์ต่ออเมริกา เช่น กรณีอียิปต์ ที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายโมฮัมหมัด มอร์ซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์คนแรก มีผู้เสียชีวิตหลายร้อย แต่อเมริกามีน้ำเสียงอ่อนเบามาก นอกจากไม่ตำหนิคณะรัฐประหารของอียิปต์แล้วยังแก้ต่างให้กองทัพด้วยว่ากำลังทำหน้าที่ฟื้นฟูประชาธิปไตย ขณะที่คณะ คสช. ของไทยก็มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันกับอียิปต์ แต่ท่าทีของสหรัฐต่อไทยแตกต่างจากอียิปต์ชนิดหน้ามือหลังเท้า”

ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับนงนุชในบางส่วนเช่นรัฐบาลสหรัฐฯ มีสองมาตรฐานแต่ที่ข้อมูลคลาดเคลื่อนก็คือรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้แค่ไม่ยอมตำหนิการทำรัฐประหารของอียิปต์ แต่ยังหลีกเลี่ยงคำว่ารัฐประหาร (coup d'etat) เพื่อจะได้ไม่ตัดเงินค่าช่วยเหลือกองทัพอียิปต์ตามกฎหมายของสหรัฐฯ  อีกด้วย  อย่างไรก็ตาม เราควรจะพิจารณาความชอบธรรมของการทำรัฐประหารผ่านสายตาของประเทศที่เต็มไปด้วยอคติเช่นนี้หรือไม่ ต่อให้จอห์น เคอร์รี่กล่าวประจบประแจง สนับสนุนการเข้าไปแทรกแซงทางทหารครั้งนี้ของไทย แต่การทำรัฐประหารก็คือการทำรัฐประหาร เป็นสิ่งที่น่าประณามอยู่วันยังค่ำ ยิ่งถ้าคำพูดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่ออกมาแฉเป็นจริงแล้ว

นงนุชยังได้วิเคราะห์แนวคิดทางการเมืองของสหรัฐฯ อีกว่า

"เสรีภาพแบบสหรัฐที่คนไทยจำนวนไม่น้อยบูชานั้น เนื้อในแล้วมันคือยาพิษ ที่ทำให้อเมริกาแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ เหตุการณ์คนคนเดียวกราดยิงคนอื่นจนเสียชีวิตคราวละนับสิบซึ่งเกิดขึ้นถี่ยิบ (เพราะปืนหาซื้อได้ง่ายและครอบครองง่ายยิ่งกว่าขนมในร้านสะดวกซื้อ โดยมีนักการเมืองหนุนหลังพ่อค้าปืน) สาเหตุหนึ่งก็มาจากการให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนบุคคลแบบล้นเกินมากกว่าสวัสดิภาพของส่วนรวม จึงกลายเป็นการมอบเสรีภาพให้กับปัจเจกบุคคลเพื่อนำไปฆ่าทำลายล้างคนหมู่มาก"

ผู้เขียนทราบดีว่านงนุชคงไม่ได้หมายความว่าเสรีภาพของสหรัฐฯ นั้นมีเพียงแค่เรื่องการครอบครองปืนเพราะความจริงเสรีภาพของสหรัฐฯ ในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมานั้นมีข้อดีอันเป็นแบบอย่างของคนทั้งโลกหากเราตัดเอาพฤติกรรมซึ่งมักตรงกันข้ามของรัฐบาลอเมริกันออก ไม่ว่าสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนในแสดงออกทางการเมืองหรือการต่อสู้กับอำนาจรัฐบาลของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มประชาชนสังคมเพื่อสิทธิด้านต่างๆ  ซึ่งน่าตลกที่ว่ากลุ่มกปปส.ก็ได้รับอิทธิพลมาด้วยดังเช่นจากขบวนการ Occupy Wall street  อันมีจุดเริ่มต้นที่อเมริกา แต่การเขียนโจมตีประชาธิปไตยของสหรัฐฯโดยเน้นเฉพาะเสรีภาพในการครอบครองปืนของนงนุชทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดคิดว่าเสรีภาพทั้งหมดเป็นเรื่องเลวร้าย ที่สำคัญนงนุชยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าสหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายการครอบครองปืนเลยทั้งที่กฎหมายของหลายรัฐในสหรัฐฯ นั้นมีความเข้มงวดในเรื่องนี้อย่างยิ่ง  (3)  ถึงแม้สหรัฐฯจะมีสัดส่วนจำนวนผู้ถือครองอาวุธปืนมากที่สุดในโลกและมีสถิติอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับปืนสูงที่สุดในโลกที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจสู้ประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพในอเมริกากลางและเอเชีย (4)

สิ่งนี้สะท้อนว่าเรื่องเสรีภาพ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของอาชญากรรม เป็นข้อมูลที่ถูกต้องว่า ปืนหาซื้อง่ายในสหรัฐฯ ในบางรัฐ แต่ถ้าเราดูเป็นกรณีๆ ไปจะพบว่าการกราดยิงตามสถานที่ศึกษาหรือที่สาธารณะนั้นเกิดจากปัจจัยอื่นเช่นความเจ็บป่วยทางจิตใจ การถูกเพื่อนและสังคมกลั่นแกล้ง การเอาอย่างตามสื่อ อคติทางเชื้อชาติ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ไม่มีเสรีภาพก็ได้แม้จะอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน อย่างเช่นสังคมไทยซึ่งมีกฎหมายควบคุมอาวุธที่เข้มงวดแต่ก็มีสถิติการฆ่าตัวตายหรือการฆ่าผู้อื่นที่สูงโดยใช้ปืนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นอกจากจากนี้ยังเป็นความเข้าใจผิดของนงนุชที่เห็นว่าคนอเมริกันมีเสรีภาพอย่างเหลือล้น แท้ที่จริงแล้วคนอเมริกันมีเสรีภาพจำกัดมากๆ ด้วยกฎหมายที่เข้มงวดและมีความแตกต่างกันในแต่ละรัฐ  รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ พยายามถ่วงน้ำหนักคำว่า เสรีภาพกับคำว่าสังคมหรือรัฐไว้ เช่นเดียวกับรัฐทั่วโลก คนอเมริกันไม่สามารถใช้เสรีภาพในการล่วงละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือทำให้สังคมเดือดร้อนหรือทำให้รัฐอยู่ในภาวะอันตราย สำหรับสื่อมวลชนเองดูเหมือนจะมีอิสระ คนอเมริกันสามารถวิจารณ์รัฐบาลหรือด่า (แต่ขู่ฆ่าไม่ได้)โอบามาแต่การแสดงออกนี้ก็มีขีดจำกัดเพราะกฎหมายหมิ่นประมาท

แม้แต่การแสดงออกทางเพศที่เราเห็นว่าฝรั่งมีอิสระมากอย่างเช่น พวกนิตยสารปลุกใจเสือป่าอย่างเช่นฮัสเลอร์จะตีพิมพ์ได้ก็ต้องต่อสู้กับศาลรวมไปถึงพวกหัวอนุรักษ์นิยม จนเจ้าของถูกเอาปืนยิงพิการครึ่งท่อน  นอกจากนี้คนอเมริกันจำนวนมากยังหัวอนุรักษ์นิยมจนไม่ยอมพวกรักร่วมเพศในเกือบ 40 รัฐไม่สามารถแต่งงานได้ ยิ่งกว่าประเทศพัฒนาหรือด้อยพัฒนาแล้วหลายประเทศ  ยิ่งในยุคหลังปี 2001 เหตุการณ์ 9/11 ทำให้รัฐเข้ามาควบคุมและสอดแนมกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนโดยเฉพาะพวกมีเชื้อสายตะวันออกกลางทำให้เสรีภาพของคนอเมริกันจำกัดลงไปอีก มีกฎหมาย PATRIOT Act ที่เปิดให้รัฐสามารถเข้าไปจารกรรมและสอดแนมเรื่องส่วนตัวของคนอเมริกันได้  นอกจากนี้สังคมอเมริกันจะอ่อนไหวกับการแสดงออกที่ถือว่าเป็น  hate speech หรือการกล่าวที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อบุคคลใดหรือการเหยียดเชื้อชาติหรือการสนับสนุนการก่อการร้าย ผู้กระทำผิดจึงมักถูกลงโทษอย่างแรง  หรืออย่างเรื่องการทำให้กัญชาถูกกฎหมายก็ถกเถียงกันแทบเป็นแทบตายกว่าจะกระทำได้ในบางรัฐ ในขณะที่ประเทศที่ดูเสรีภาพน้อยกว่าอย่างเช่นอูรุกกวัยได้ทำให้ถูกกฎหมายไปแล้ว

ผู้เขียนลองมาคิดดูว่าหากคนอเมริกันทั้งหมดนั้น มีแต่ "ความไร้ระเบียบ ขาดการควบคุมตัวเอง" ทั้ง 300 กว่าล้านคนหรือแค่สักหนึ่งในสาม ประเทศก็ย่อมกลายเกิดภาวะวุ่นวายสับสน มีแต่การปล้นสะดม แย่งชิงข้าวของกัน กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ การพิจารณาสหรัฐฯเพียงจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดหรือการไปท่องเที่ยวหรืออยู่เพียงประเดี๋ยวประด๋าวแค่ในบางเมืองใหญ่ที่มีอาชญากรรมสูงแล้วมากล่าวสรุปเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม    

"เสรีภาพแบบอเมริกา ไม่ต่างอะไรจากความไร้ระเบียบ ขาดการควบคุมตัวเอง ซึ่งล้วนเป็นเหตุนำไปสู่การเป็นชาติวัตถุนิยม เน้นการบริโภคแบบตามใจตัวเองสุดขั้วไม่บันยะบันยัง ผลก็คืออเมริกาเป็นชาติที่ผลาญและทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่ไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโตเพื่อลดปัญหาโลกร้อน อเมริกามีประชากรเพียง 300 กว่าล้านคน แต่บริโภคพลังงาน (เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ) เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานที่คนทั้งโลก 6,000 กว่าล้านคนบริโภครวมกัน"

ด้วยการที่นงนุชปักใจเชื่อว่าคนอเมริกันขาดระเบียบวินัยและตีความเสรีภาพของอเมริกันแบบผิดๆ  ทำให้เธอสับสนระหว่างคำว่าเสรีภาพกับลัทธิบริโภคนิยมเพราะ ประเทศใดไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย    เผด็จการหรือคอมมิวนิสต์ก็ล้วนแต่เป็น "ชาติวัตถุนิยม เน้นการบริโภคแบบตามใจตัวเองสุดขั้วไม่บันยะบันยัง" ทั้งนั้นเพื่อให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจ  สถิติของอเมริกาที่นงนุชยกมาก็ไม่ผิดเลยเพราะสหรัฐฯ นั้นมีชนชั้นกลางและมีเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เจริญก้าวหน้าย่อมบริโภคทรัพยากรและพลังงานสูง  แต่นงนุชก็ไม่ได้กล่าวว่าประเทศที่กำลังเจริญเติบโตเป็นประเทศอุตสาหกรรมหรือมีความเจริญทางเศรษฐกิจใหม่อย่างเช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้หรือกลุ่มบริกส์ก็จะมีการบริโภคพลังที่สูงขึ้นเรื่อยๆ  เพราะมีชนชั้นกลางเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นจีนกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคน้ำมันที่สูงสุดของโลกภายในไม่กี่ปีต่อไปนี้ (5) แน่นอนว่าด้วยจำนวนประชากรพันกว่าล้านคน  อย่างจีนก็จะกลายเป็นชาติที่ "ผลาญและทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด" ในโลกในอีกไม่ช้า ดังนั้นนงนุชจึงไม่อาจจะทำให้คำว่าเสรีภาพเป็นผู้ร้ายเพียงฝ่ายเดียวได้

อีกประโยคหนึ่งของนงนุชที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยคือ

"คําว่าอั๊กลี่ อเมริกัน ยังใช้ได้ดีกับอเมริกา เพราะพฤติกรรมของประเทศนี้ที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว กับตอนนี้ยังคงเดิม คือไร้ความจริงใจ เวลาอยากให้ใครช่วย (เช่น อยากให้ไทยช่วย) ก็ยกยอว่าเป็นมิตรเก่าแก่ เป็นมิตรร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่พอไม่ได้อย่างใจ อย่างในตอนนี้ ก็ไม่ให้เกียรติเลย"

การที่นงนุชใช้คำว่า "อยากให้ไทยช่วย" เมื่อ 40 ปีที่แล้วนั้นเท่ากับว่านงนุชมองแบบเอาประเทศตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง แทนที่จะมองตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพราะต้องกล่าวถึงชนชั้นปกครองของไทยอีกด้วยที่ต้องการให้สหรัฐฯ มาช่วยเพื่อคานอำนาจกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ค่อยๆ แผ่ขยายเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมา เป็นพวกขุนศึก นายทหาร (และนายตำรวจเช่นพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์) ที่เผด็จการ ฉ้อฉลและหลงอำนาจที่รับเงินช่วยเหลือจากซีไอเอในการต่อคอมมิวนิสต์แต่ก็ได้ยักยอกเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเป็นอย่างมาก ไม่ว่าสหรัฐฯจะมีส่วนไม่ให้ไทยตกเป็นคอมมิวนิสต์มากน้อยเพียงใด เราต้องยอมรับว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ด้วย  ส่วนสหรัฐฯ ก็ก็สนับสนุนเผด็จการในไทยรวมไปถึง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียเพื่อดุลแห่งอำนาจโดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ดังนั้นความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่ได้เป็นแบบมิตรซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกัน เพราะสหรัฐฯย่อมมองไทยและประเทศดังกล่าวเป็นประเทศบริวารภายใต้  Pax Americana ที่ต้องตอบแทนตน  การที่เราจะใช้คำว่า “ความจริงใจ” หรือ “การไร้ความจริงใจ” เข้ามาวัดความสัมพันธ์อันซับซ้อนเช่นนี้เป็นเรื่องง่ายจนเกินไป

นอกจากนี้ผู้เขียนยังนึกถึงหัวข้อของบทความนงนุชที่ว่า  “อเมริกา "อั๊กลี่" ไม่เคยเปลี่ยน "จุ้น" ที่ไหน "ย่อยยับ" ที่นั่น”  นั้นจึงเป็นการสรุปแบบมักง่ายเพราะนงนุชยกตัวอย่างเพียง 2 ประเทศคืออัฟกานิสถานและอิรัก  (6) ในยุคปัจจุบันนั้นการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐฯ มีมากมายที่ไม่ใช่การทำสงครามในประเทศโลกที่ 3  เช่นการช่วยเหลือจากระดับภาครัฐและภาคเอกชน อันเป็นสาเหตุว่าเหตุใดประเทศจำนวนมากจึงมีความต้องการให้สหรัฐฯเข้ามาจุ้นอยู่ตลอดเวลา  หรือถ้าเราลองไปมองประวัติศาสตร์ “การจุ้น”หรือการแทรกแซงของสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกต่างประเทศต่างๆ เช่นการให้เงินช่วยเหลือแก่ยุโรปตามแผนมาร์เชลล์อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยุโรปสามารถฟื้นตัวเองได้รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกากลางและเอเชียดังที่ได้กล่าวมาข้างบน แม้ว่าประเทศจะเป็นเผด็จการหรือประชาชนยังคงยากจนเดือดร้อน แต่การช่วยเหลือของสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นเกิดความทันสมัยไม่ใช่ย่อยยับอย่างเดียว (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้หมายความว่าจะชมสหรัฐฯ เพราะการช่วยเหลือนี้ก็เกิดจากการต้องการผลประโยชน์ตอบแทนเช่นเดียวกัน)

ผู้เขียนขอปิดท้ายโดยเห็นว่าการที่ส่วนสุดท้ายในบทความของนงนุชเรียกร้องให้คนไทยแอนตี้สินค้าหรืองดให้การช่วยเหลือประเทศตะวันตกนั้นก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลตะวันตกตระหนักดีมาแล้วประเทศโลกที่ 3 มักจะตีสองหน้าคือปลุกระดมให้มวลชนเกิดอารมณ์ต่อต้านอเมริกัน อันจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลตะวันตกยอมตามคำขอของรัฐบาลของประเทศนั้นๆ  เมื่อสหรัฐฯ ยอมอ่อนข้อให้ บทความประเภทนี้ก็เปลี่ยนไปเป็นการเขียนสนับสนุนยกย่องทันที

 

เชิงอรรถ

(1) ขนาดเศรษฐกิจที่วัดเป็นจีดีหรือมวลผลิตภัณฑ์รวมของประเทศนั้นเป็นตัววัดที่หยาบ เช่นเดียวกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพราะจีดีพีนั้นไม่ได้รวมไปถึงการนำเข้าไม่รวมไปถึงคุณภาพของสินค้า เช่นเดียวกับการกระจายรายได้และความเจริญภายในประเทศ  จากงานวิจัยพบว่าความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องรายได้ของจีนนั้นได้ล้ำหน้าสหรัฐฯ ไปอันจะส่งผลต่อเสถียรภาพภายในประเทศของจีนอย่างมหาศาล ตอกย้ำโดยภาวะไร้นิติรัฐ (พรรคคอมมิวนิสต์อยู่เหนือกฎหมาย)  ภาวะไร้ธรรมาภิบาลและการฉ้อราษฎรบังหลวงซึ่งสูงมากในวงการต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐและเอกชนของจีน  ในการวัดความเป็นมหาอำนาจ อ่านเพิ่มเติมใน http://www.bloomberg.com/news/2014-04-28/gap-between-rich-poor-worse-in-china-than-in-u-s-study-shows.html

(2)  แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลอเมริกันหลายชุดเองไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามอุดมการณ์หลักของประเทศอย่างแท้จริงเช่นได้เคยทำการปราบปรามผู้ประท้วงในประเทศตนเองอย่างรุนแรงไม่ว่าเพื่อสิทธิของชนสีผิวในทศวรรษที่ 50 หรือการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามในทศวรรษที่ 60 และ70  แต่ด้วยความต้องการแสดงตนว่าเป็นประเทศที่สนับสนุนประชาธิปไตยและต้องการสร้างแรงกดดันให้กับไทยในฐานะเป็นหมากตัวหนึ่งของนโยบายการโอบล้อมเอเชีย สหรัฐฯ จึงต้องแสดงท่าทีเช่นนี้อย่างชัดเจนกับไทยมากกว่าอียิปต์          

(3)http://www.deseretnews.com/top/1428/0/10-states-with-the-strictest-gun-laws.html

(4) http://www.humanosphere.org/science/2014/03/visualizing-gun-deaths-comparing-the-u-s-to-rest-of-the-world/

(5)http://www.mining.com/china-the-worlds-biggest-energy-consumer-and-producer-72513/

(6)  นงนุชได้บอกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้ประเทศเหล่านั้นไม่ได้สงบสุขอีกเลย ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่านงนุชหมายถึงยุคใดเพราะทั้งอัฟกานิสถานและอิรักก่อนที่สหรัฐฯ จะทำการบุกนั้นประชาชนก็ไม่ได้มีความสุขเท่าไรนัก เพราะอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองและการปกครองที่กดขี่และเข้มงวดของกลุ่มตอลิบัน (โดยเฉพาะผู้หญิงจะรู้ซึ้งดีเพราะถูกจำกัดสิทธิทุกอย่าง)  ส่วนอิรักถูกปกครองโดยการปกครองแบบเผด็จการและโหดเหี้ยมของซัดดัม ฮุซเซน ที่มีการเข่นฆ่าปรปักษ์ทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยมและภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เพราะถูกสหรัฐฯและพันธมิตรคว่ำบาตรในทศวรรษที่ 90

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net