Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


19 ปี หลังการเสียชีวิตของประเวียน บุญหนัก ครูนักสู้แห่งสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 จนถึงกรณีการหายตัวของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 สะท้อนให้เห็นว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกทำให้หายไป การอุ้มฆ่า การลอบสังหาร อันถือเป็นอาชญากรรมรัฐและทุน

รัฐและทุนในฐานะผู้กุมอำนาจ ภายใต้อุดมการณ์เศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรี รัฐย่อมคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอำนาจนิยม ผ่านการสร้างความคิดความเชื่ออุดมการณ์และวาทกรรมทางสังคม อาทิ การพัฒนาประเทศ, ความสามัคคีของคนในชาติ, ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เมื่อมีการตอบโต้ท้าทายอำนาจไม่เชื่อฟัง รัฐและทุนก็พร้อมที่จะใช้อำนาจผ่านกฎหมายและกลไกรัฐ เพื่อควบคุมข่มขู่ จับกุมคุมขัง ปราบปราม เข่นฆ่า ดังที่เกิดกับการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ซึ่งท้าทายโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และผลประโยชน์มหาศาล ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ในรอบ 19 ปี นักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นเกษตรกร ทนายความ พ่อค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักการเมือง สตรี พระสงฆ์ นักกิจกรรม เสียชีวิตจากอาชญากรรมรัฐและทุนไม่น้อยกว่า 35 ราย [1] ราวกับเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเรียกร้องสิทธิ ความเป็นธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด

ในโอกาส 19 ปี การฆาตกรรมประเวียน เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2557 จึงขอย้อนรอยการสังหารประเวียน บุญหนัก, การบังคับให้สูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร, การฆาตกรรมนายเจริญ วัดอักษร, การลอบสังหารพระสุพจน์ สุวโจ, และการหายตัวของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี เพื่อรำลึกเจตนารมณ์การต่อสู้ และบทเรียนจากอาชญากรรมรัฐและทุน

19 ปี การฆาตกรรมประเวียน, ประเวียนเป็นอดีตนายกสมาคมครู จังหวัดเลย, ผู้ประสานงานสมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน เขต 4, ที่ปรึกษาประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติภูเขาป่าไม้แหล่งน้ำ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย, การเสียชีวิตของประเวียนเกิดจากการเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทานโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ได้แก่ โรงโม่หินบริษัทสุรัตน์การศิลา จำกัด ของนายสุรัตน์ ทิมสุวรรณ (สจ.วังสะพุง ประธานสภาจังหวัดเลย ในขณะนั้น) โรงโม่หินบริษัทสหศิลาเลย จำกัด ของนายสมศักดิ์ แสงเจริญรัตน์ (ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดเลย ในขณะนั้น) และโรงโม่หินห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญยงค์กิจ (เลย) มีการลักลอบระเบิดหินนอกเขตสัมปทาน การคมนาคมไม่สะดวก ผิวจราจรเสียหายจากรถบรรทุก เกิดมลภาวะทางเสียง มลพิษฝุ่นกระทบ 18 หมู่บ้าน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย, กล่าวถึงคดีสังหารครูประเวียน : ประเวียนถูกยิงเสียชีวิตหน้าที่ว่าการ อ.วังสะพุง โดยนายเลข กัตติยะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านขอนแก่น อ.วังสะพุง ผู้ใกล้ชิดนักการเมืองเจ้าของโรงโม่หิน จากคำบอกเล่าจากญาติประเวียนได้ข้อมูลว่า นายเลข กัตติยะ มือปืนยิงนายประเวียน เสียชีวิตภายในคุก ในขณะที่ภรรยานายเลขถูกลอบฆ่าเสียชีวิต

10 ปี การอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547, สมชายเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ชมรมสมาชิกรัฐสภาไทยมุสลิม ทนายความคดีชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ คดีเผาโรงเรียนและปล้นปืน จังหวัดยะลา มีบทบาทในการนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, การถูกทำให้หายไปของทนายสมชายเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงคดีเจไอหรือเจมาห์ อิสลามิยาห์ การเปิดเผยเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนคดีก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้รับสารภาพ ด้วยการปัสสาวะใส่หน้า การใช้ไฟฟ้าช็อตร่างกายและอวัยวะเพศ, กล่าวถึงคดีทนายสมชาย : ทนายสมชายถูกอุ้มหาย โดยมีผู้ขับรถพุ่งชนท้ายที่บริเวณหน้าร้านแม่ลาปลาเผา ซอยรามคำแหง 65 เมื่อนายสมชายลงไปดูจึงถูกอุ้มหายตัวไปพร้อมทรัพย์สินและรถยนต์ จากนั้นมีการฟ้องดำเนินคดีจำเลยที่ 1-5 ได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก พ.ต.ต.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ในคดีดำหมายเลขที่ ด 1952/2547 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ศาลชั้นต้นพิพากษา หมายเลขคดีแดงที่ อ.48/2549 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคหนึ่ง มาตรา 391 ส่วนจำเลยที่เหลือยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ, หลังคำพิพากษาพ.ต.ต.เงิน ทองสุก ได้รับการประกันตัว และหายตัวไปจากเหตุการณ์น้ำพัดดินถล่มในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก ในเดือนกันยายน 2551, ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมดในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ส่วนกรณีการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของภรรยาและบุตรของนายสมชาย ศาลวินิจฉัยว่า คดีนี้ยังไม่ชัดเจนว่า นายสมชาย นีละไพจิตร บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้วหรือไม่ แม้โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาและ โจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายจัดการแทนในคดีและไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วม, ศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ไม่รับคำร้องของนางอังคณา นีละไพจิตร ที่ขอให้ศาลสืบพยานเพิ่มเติมในคดีหมายเลขดำที่ ด.1952/2547

10 ปี การฆาตกรรมเจริญ วัดอักษร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547, เจริญเป็นอดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ตำบลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แกนนำการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัทกัลฟ์อิเล็กทริคจำกัด และการตรวจสอบการออกโฉนดบนที่สาธารณประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์คลองชายธง, คดีการสังหารเจริญ: นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว จำเลยที่ 1-2 มือปืนทั้งสองเสียชีวิตในเรือนจำ, นายธนู หินแก้ว ทนายความ, นายมาโนช หินแก้ว สจ.ประจวบคีรีขันธ์ และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อนอก บิดาจำเลยที่ 3 และ 4 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 3-5 ในความผิดฐานร่วมกันใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน, ศาลชั้นต้นพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 2945/2547 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ให้จำเลยที่ 3 มีความผิดตามฟ้องให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 4-5 ให้ยกฟ้อง, ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2865/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 22467/2555 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2557 กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิตเป็นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และในส่วนจำเลยที่ 4 และ 5 พิพากษายืนยกฟ้อง

9 ปี การฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ (ด้วงประเสริฐ) พระนักอนุรักษ์ป่า อดีตรองประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ สถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่, พระสุพจน์อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ.2535 ร่วมก่อตั้งกลุ่ม'พุทธทาสศึกษา' และเป็นเว็บมาสเตอร์ www.buddhadasa.org เผยแผ่งานท่านพุทธทาสภิกขุ จนกระทั่งได้รับนิมนต์มาอนุรักษ์ผืนป่าที่สวนเมตตาธรรม ซึ่งขณะนั้นได้รับมอบที่ดิน ประมาณ 1,500 ไร่ ในช่วงปลายปี พ.ศ.2541 มีการจัดตั้งมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ในปี พ.ศ.2543 และมอบพื้นที่เป็นป่าชุมชนกว่า 800 ไร่ พื้นที่ทีสวนป่า 450 ไร่ พื้นที่สถานปฏิบัติธรรม 80 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นป่าสงวนเสื่อมสภาพ สถานปฏิบัติธรรมพยายามฟื้นฟูสภาพป่า ในขณะที่มีความพยายามบุกรุกยึดครองโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ที่มีความเชื่อมโยงนักการเมืองระดับชาติ ในช่วงปี 2545 เพื่อนำพื้นที่ไปขายนายทุนสวนส้ม, คดีฆาตกรรมพระสุพจน์: พระสุพจน์ถูกรุมทำร้ายโดยกลุ่มบุคคลจนมรณภาพด้วยของมีคมอย่างทารุณ ในวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ในช่วงแรกคดีพระสุพจน์ อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ต่อมามีการร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนมีการโอนเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังไม่สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัย และไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอต่อการระบุบุคคลผู้กระทำผิด หรือระบุสาเหตุการสังหารได้แน่ชัด

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สูญหายไปเป็นเวลากว่า 3 เดือน มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกรณีการเผาทำลายหมู่บ้านโป่งลึกบางกลอยในช่วงปี พ.ศ. 2554 โดยบิลลี่จะเป็นพยานปากสำคัญในวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 หากเขาไม่สูญหาย, ทั้งนี้ นายทัศน์กมล โอบอ้อม นักกิจกรรมซึ่งทำงานร่วมกับบิลลี่ได้ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 10 กันยายน 2554 หลังจากที่เข้าช่วยเหลือชาวบ้านในการบังคับไล่รื้อชุมชนชาวกะเหรี่ยง โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นจำเลยในข้อหาจ้างวานฆ่า

กล่าวถึงกรณีการเผาทำลายหมู่บ้านโป่งลึกบางกลอย ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในข้อหารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สิน บริเวณ ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว นำมาสู่การฟ้องศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม .2555 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบน ซึ่งเป็นพื้นที่ดังเดิมที่ตั้งรกรากอาศัยมากว่า 100 ปี

กรณีบิลลีเป็นตัวอย่างสำคัญสำหรับนักต่อสู้ที่ยังเผชิญกับการทำให้สูญหาย คล้ายกับกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร เนื่องจากเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จนทำให้ผู้ถูกละเมิดไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม ในขณะที่กลไกรัฐและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เนื่องจากกฎหมายไทยในปัจจุบันไม่มีความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย (Enforced disappearance) แม้กระทั่งญาติผู้สูญหายก็ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมในการฟ้องร้องแทนได้ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีไต่สวนฉุกเฉิน ตามมาตรา 90 โดยเชื่อว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมพวก เกี่ยวข้องกับการหายตัวไป และควบคุมตัวบิลลี่ไว้ โดยมีทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร่วมเป็นผู้ซักถามพยาน การไต่สวนในชั้นศาล 5 นัด นับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2557 ถึง วันที่ 7 กรกฎาคม 2557 มีการนำพยานมาให้ปากคำ 9 ปาก กระทั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 พิจารณายกฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่า นายชัยวัฒน์ยังควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้
กล่าวโดยสรุป การดำเนินคดีบิลลี่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่านายบิลลี่ถูกอุ้มฆ่า มีชีวิตหรือเสียชีวิต คดีบิลลี่มีสถานะเป็นเพียงคดีคนหาย สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการไปแล้วในขณะนี้คือ การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีนายชัยวัฒน์ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 โดยส่งเรื่องถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

จากความตายของประเวียน, สมชาย, เจริญ, พระสุพจน์ จนถึงการสูญหายของบิลลี่ แม้จะต่างบริบทต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ทุกเหตุการณ์ได้สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมอันล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งหวังของประชาชน ไม่สามารถเอาผิดหรือสืบสาวถึงผู้บงการ ในท้ายที่สุดแล้ว เราไม่อาจหลงลืมความทรงจำ ความตาย และการสูญเสีย เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์จากอาชญากรรมรัฐและทุน อย่างน้อยที่สุดเราคงต้องร่วมกันแสวงหาการเข้าถึงความจริงและความยุติธรรมให้แก่พวกเขาเหล่านั้น แม้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำชีวิตของพวกเขากลับมาได้ก็ตาม

 

รายชื่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ที่ถูกบังคับให้สูญหาย การอุ้มฆ่า การลอบสังหาร เท่าที่มีการรวบรวมได้ ในรอบ 19 ปี นับจากการสังหารครูประเวียน บุญหนัก ปี 2538

ปี 2538
1. นายบุญทวี อุปการะกุล ผู้นำการคัดค้านมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรม จ. ลำพูน ถูกทำร้ายตกรถไฟเสียชีวิต
2. นายประเวียน บุญหนัก เลขาธิการสมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน เขต 4 ผู้นำการคัดค้านโรงโม่หิน อ.วังสะพุง จ. เลย ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าที่ว่าการอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2538
3. นายวินัย จันทมโน นักอนุรักษ์ ผู้นำการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนบ้านน้ำหรา อ.ควนกาหลง จ.สตูล ถูกลอบสังหารเสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538

ปี 2539
4. นายทองอินทร์ แก้ววัดถา ผู้นำการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานกำจัดกากสารอุตสาหกรรม บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (เจนโก้) จ.ระยอง ถูกลอบสังหารเสียชีวิต เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539
5. นายจุน บุญขุนทด ผู้นำสมัชชาคนจน บ้านห้วยทับนาย อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภุมิ คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร เปิดโปงการทุจริตของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและฝ่ายปกครองที่ร่วมมือกับนาย ทุนท้องถิ่น ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม.2539

ปี 2542
6. นายทองม้วน คำแจ่ม กำนันตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้นำการคัดค้านสัมปทานโรงโม่หินที่บริเวณผายา ผาจันได ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542
7. นายสม หอมพรหมา ชาวบ้านวังหินซา คัดค้านสัมปทานโรงโม่หินผายา ผาจันได ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ถูกยิงเสียชีวิต พร้อมกำนันทองม้วน คำแจ่ม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542
8. นายอารีย์ สงเคราะห์ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองคราม บ้านหน้าถ้ำ ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ ต่อต้านการบุกรุกป่าและรณรงค์ปกป้องผืนป่าต้นน้ำคลองคราม จ.สุราษฎร์ธานี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2542

ปี 2544
9. นายจุรินทร์ ราชพล นักอนุรักษ์บ้านป่าคลอก ตำบลบ้านป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ผู้นำการคัดค้านการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับกลุ่มนายทุนอิทธิพลท้องถิ่น ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544
10. นายนรินทร์ โพธิ์แดง ผู้นำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เขาชะอางกลางทุ่ง กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง คัดค้านโรงโม่หินห้างหุ้นส่วนจำกัดหาญกิตติชัย และบริษัทระยองศิลาเพชรจำกัด ของนักการเมืองระดับชาติจังหวัดระยอง ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544
11. นายพิทักษ์ โตนวุธ อดีตประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ปรึกษาชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ผู้นำการคัดค้านโรงโม่หินที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544
12. นางฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน เจ้าหน้าที่ อบต.นากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ตรวจสอบการทุจริตในองค์การบริหารส่วนตำบล ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2544
13. นายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ผู้นำการคัดค้านโครงการกำจัดขยะราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งชุมชนได้รับผลกระทบด้านมลพิษจากกลิ่นและการปนเปื้อนของขยะลงสู่น้ำใต้ ดินในระดับสูง และขัดต่อกฎหมายผังเมือง ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 26 มิถุนายน 2544
14. นายสมพร ชนะพล ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำกระแดะ บ้านห้วยหอย ตำบลคลองสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี คัดค้านการสร้างเขื่อนคลองกระแดะและขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2544

ปี 2545
15. นายแก้ว ปินปันมา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ผู้นำชาวบ้านบ้านดอยน้อย หมู่ที่ 11 กิ่งอ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าของนายทุนรายใหญ่ ในพื้นที่กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2545
16. นายบุญสม นิ่มน้อย ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ คัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงแยกคอนเดนเสทในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2545
17. นายปรีชา ทองแป้น สารวัตรกำนันตำบลควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ผู้นำการคัดค้าน โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเทศบาลตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ถูกลอบสังหารเสียชีวิต ในวันที่ 27 กันยายน 2545
18. นายบุญฤทธิ์ ชาญณรงค์ ผู้นำชาวบ้านหมู่ที่ 9 ตำบลคลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี คัดค้านการค้าไม้เถื่อนของเจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ตำบลคลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2545
19. นายบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านร่องห้า ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย คัดค้านโรงโม่หินดอยแม่ออกรู บริษัท เวียงชัยผางาม จำกัด บุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำและระเบิดหินจนถ้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นรอยร้าว ซึ่งเป็นของนักการเมืองระดับชาติ จังหวัดเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545

ปี 2546
20. นายคำปัน สุกใส ผู้ใหญ่บ้านป่าบง ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ รองประธานเครือข่ายป่าชุมชนลุ่มน้ำปิงตอนบน แกนนำเครือข่ายป่าชุมชนเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ คัดค้านการบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชน ถูกยิงเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเชียงดาว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546
21. นายชวน ชำนาญกิจ ตำรวจชุมชน ผู้นำชุมชนในการต่อต้านยาเสพติด ตำบลนาเชลียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546
22. นายสำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ผู้นำการร้องเรียนผลกระทบจากลำน้ำพองเน่าเสีย ของโรงงานผลิตกระดาษ ฟินิกซ์ พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2546

ปี 2547
23. นายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ผู้ให้ความช่วยเหลือด้านคดีแก่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกอุ้มหายตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547
24. นายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้นำการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก และเรียกร้องให้ตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547
25. นายสุพล ศิริจันทร์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเด่นอุดม หมู่ 7 ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง ผู้นำนักอนุรักษ์เครือข่ายป่าชุมชนแม่มอก จ.ลำปาง ขัดขวางกลุ่มผู้มีอิทธิพลในขบวนการค้าไม้เถื่อน จ.ลำปาง นำไปสู่การจับกุมในหลายกรณี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2547
26. นางพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น รองประธานชุมชนบ้านหัวกระบือ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง คัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนทราย ซึ่งมีภรรยานักการเมืองของจังหวัดสนับสนุน และเป็นผู้ขออนุญาตจากจังหวัด ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547

ปี 2548
27. พระสุพจน์ สุวโจ พระนักปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม อ. ฝาง จ.เชียงใหม่ ผู้นำการคัดค้านนายทุนบุกรุกป่าและที่ดินสถานปฏิบัติธรรม พระสุพจน์ถูกรุมทำร้ายด้วยอาวุธมีคม จนมรณภาพเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548
ปี 2551
28. นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ ร้องเรียนปัญหาคอร์รัปชั่น ร้องเรียนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เขาถูกอุ้มหายจากสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551

ปี 2552
29. ดาบตรีชิต ทองชิต อดีตนายตำรวจทางหลวง ผู้เปิดโปงขบวนการส่วยทางหลวงเรียกรับส่วยสติกเกอร์ รถบรรทุก ร้องเรียนกรณีเอเย่นต์ค้ายาบ้ารายใหญ่ อ.ปากท่อ เมื่อลาออกจากราชการได้เข้าร่วมกับเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) เขาถูกลอบยิงในไร่ของเขา ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม เสียชีวิตในวันที่ 19 มกราคม 2552

ปี 2553
30. นายสมพร พัฒนภูมิ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เปิดโปงกรณีบริษัทจิวกังจุ้ยจำกัดใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ปลูกสวนปาล์ม 1,081 ไร่ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และเรียกร้องให้รัฐกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553

ปี 2554
31. นายทองนาค เสวกจินดา ผู้นำคัดค้านโรงงานถ่านหินและการขนส่งถ่านหินในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทำให้เกิดสภาพปัญหามลพิษทางอากาศ และมลภาวะทางน้ำ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554
32. นายทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้นำการร้องเรียนและช่วยเหลือชาวบ้าน กรณีการบังคับไล่รื้อและการเผาชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอย ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2554 ถูกยิงเสียชีวิตเมิ่อวันที่ 10 กันยายน 2554
33. นายสิงห์ทอง พุทธจันทร์ แกนนำ ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่ ต.เวียงเหนือ และต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย นายสิงห์ทองถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554

ปี 2555
34. นายสุเทพ ทองคำ สมาชิก อบต.หนองแหน แกนนำต่อต้านการลักลอบทิ้งขยะและน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมี ในพื้นที่หมู่ 14 ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555

ปี 2556
35. นายประจบ เนาวโอภาส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แกนนำต่อต้านการลักลอบนำกากสารเคมีทิ้งในแหล่งน้ำของพื้นที่ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556

ปี 2557
36. นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี แกนนำชุมชนชาวกะเหรี่ยง บ้านบางกลอย สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สูญหายไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557

แหล่งข้อมูล :
21 นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมษายน 2552
ล้อมกรอบ ข่าว นักสิทธิฯ ระบุ 16 ปี 28 ศพ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการกระทบชุมชน วันที่ 3 สิงหาคม 2554
รายชื่อ แกนนำชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านโครงการต่างๆที่สร้างผลกระทบกับชุมชน และถูกสังหาร สำนักข่าวอิศรา วันที่ 4 สิงหาคม 2554
ร่วมรำลึกแด่นักอนุรักษ์ที่เสียชีวิต http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2011/09/J11009924/J11009924.html

 


[1] ข้อมูลการเสียชีวิตของประชาชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในรอบ 19 ปี พบข้อมูลรวบรวมได้ว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวน 344 คน จากกรณีดังต่อไปนี้, กรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี มีผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ 32 ราย รวมกับผู้เสียชีวิตในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สงขลา รวม 107 คน เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 คน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 , กรณีเหตุการณ์สะบ้าย้อย การสังหารหมู่ทีมฟุตบอลบ้านสุโสะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา 19 ศพ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547, กรณีเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในขณะควบคุมตัว 78 คน ถูกยิงเสียชีวิต 6 คน รวมผู้เสียชีวิต 84 คน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547, กรณีการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 25 พฤษภาคม ถึง วันที่ 2 ธันวาคม 2551 จำนวน 8 ราย, กรณีการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วันที่ 10 เมษายน ถึง วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำนวน 93 ศพ, การชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย (กปปส.) พ.ศ. 2556-2557 มีผู้เสียชีวิต 28 ราย ทั้งนี้ หากนับรวมผู้เสียชีวิตจากนโยบายสงครามยาเสพติด ปี พ.ศ. 2546 จำนวน 2,596 คน เป็นผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  1,164 คน และไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,432 คน จะมีผู้เสียชีวิตรวม 2,940 คน หากรวมเฉพาะผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,776 ราย ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต 35 คน และข้อมูลจากการชุมนุมองค์กรประชาชน การสลายการชุมนุม และการบังคับสูญหายจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net