กองทัพในฐานะ'ผู้ปกป้องประชาธิปไตย?'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ภายหลังการทำรัฐประหารโดยคณะ คสช. เพียงไม่กี่วันก็มีการแจกแจงรายละเอียดว่าการเข้ามาทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการทำรัฐประหาร “เพื่อประชาธิปไตย”[1] หากมองจากปรากฎการณ์ดังกล่าวอย่างผิวเผินก็อาจประเมินได้ว่ากองทัพเป็นผู้ “หวังดี” ต่อประชาธิปไตย มีความต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาประชาธิปไตย ดูมีท่าทีปกป้องประชาธิปไตยและยังแสดงความต้องการว่าอยากพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้ามากกว่า “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ดังที่ปรากฎในปัจจุบัน

สำหรับผู้เขียน ยังคงสงสัยเป็นอย่างมากว่าการที่กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยการทำรัฐประหารด้วยข้ออ้างเพื่อปกป้องประชาธิปไตยอะไรทั้งหลายผ่านคำพูดของ คสช. ในวาระต่างๆนั้นจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยหรือว่านำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยจากความไม่เป็นประชาธิปไตยได้จริงหรือไม่[2]

คำถามสำคัญคือกองทัพสามารถทำตัวเป็น “ผู้ปกป้องประชาธิปไตย” หรือ Guardian of Democracy ในบริบทการเมืองแบบไทยๆได้จริงหรือ ?

ในงานเขียน The Military as the Guardian of Constitutional Democracy มีแนวคำอธิบายหนึ่งที่น่าสนใจว่ากองทัพอาจมีหน้าที่เข้าจัดการกับการเมืองหากเห็นว่ารัฐบาลที่เป็นอยู่มีความเป็นเผด็จการ (authoritarianism) ไม่ฟังเสียงของประชาชน รัฐบาลใช้อำนาจของตนเองอย่างเกินเลย กองทัพจึงเข้าทำการยึดอำนาจรัฐในนามประชาธิปไตย เพื่อปกป้องประชาธิปไตยจากความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลพลเรือน หลังจากเข้ายึดอำนาจเสร็จ กองทัพจำเป็นจะต้องวางแผนการสำหรับประชาธิปไตยในอนาคต ระหว่างที่กำลังดำเนินแผนงานดังกล่าว กองทัพจำเป็นจะต้องครองอำนาจรัฐชั่วคราวเพื่อจัดการทุกๆอย่างให้เรียบร้อยก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อเร่งจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป ถึงแม้ว่าภารกิจของทหารจะจบลงหากมีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่เกิดขึ้น แต่ผู้นำทางการทหารก็อาจจะมีบทบาททางการเมืองต่อไปภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยและรัฐประหาร[3]   

งานเขียนดังกล่าวได้สร้างคำอธิบายภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า post-authoritarianism หรือสังคมการเมืองแบบ “หลังอำนาจนิยม” ตัวอย่างสำคัญคือบางประเทศในตะวันออกกลาง เช่น อิยิปต์ เป็นต้น ในบริบทสังคมการเมืองดังกล่าวหมายถึงการเคลื่อนตัวจากสังคมเผด็จการอำนาจนิยมไปสู่สังคมแบบประชาธิปไตย ตัวแสดงสำคัญในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจึงเป็นกองทัพ เนื่องจากกองทัพเป็นตัวแสดงเดียวที่สามารถ “บังคับ” ทางการเมืองได้โดยใช้อำนาจดิบของตัวเอง (raw power) ในการเข้าจัดการประชาธิปไตย

หากมองในเงื่อนไขนี้จะเห็นว่าการพัฒนาประชาธิปไตยขั้นตอนต่อไปภายหลังมีประสบการณ์ความล้มเหลวในการพัฒนาประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ กองทัพจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาสร้างระเบียบทางการเมืองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาได้

เมื่อหันกลับมาพิจารณาสังคมการเมืองไทยจะพบว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เราต้องประสบพบเจอมาเกือบ 10 ปี[4] นั้นมีผู้สังเกตการณ์จำนวนหนึ่งมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างอำนาจเก่าและกลุ่มชนชั้นนำที่ประกอบไปด้วยระบบราชการ, กองทัพ, กลุ่มจารีตอนุรักษ์นิยม และภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจเก่ามายาวนาน มีความขัดแย้งกับฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำทางธุรกิจที่ได้เปรียบจากระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของไทย ซึ่งลุกลามไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระดับมวลชนอย่างกว้างขวางในระดับทั่วประเทศ กลุ่มชนชั้นนำเก่าถูกมองว่ามีท่าทีไม่ไว้วางใจประชาธิปไตยแบบตัวแทนและหาทางทำลายนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและระบบการเลือกตั้ง เมื่อความขัดแย้งถึงจุดสูงสุดในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 กองทัพ (ในนาม คมช.) จึงได้เข้าทำการยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และกองทัพก็ได้เข้าทำการยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ในเวลาไม่ถึง 10 ปี[5] โดยข้ออ้างสำคัญของการทำรัฐประหารทั้งสองครั้งคือความต้องการกำจัดคอรัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่โดยปราศจากอิทธิพลของนายทุนนักการเมือง โดยเฉพาะการรัฐประหารครั้งล่าสุดได้มีข้ออ้างว่าต้องการสร้างความสงบสุขเรียบร้อย คืนความสุขให้คนไทย และต้องการปกป้องประชาธิปไตยจากความเลวร้ายของความไม่เป็นประชาธิปไตย ปกป้องประชาธิปไตยจากความรุนแรงของมวลชนฝ่ายต่างๆที่กำลังขัดแย้งกัน

ดังนั้น จากบริบทดังกล่าวจะพบว่ากองทัพไทยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง กองทัพเป็นส่วนหนึ่ง (faction) ของตัวแสดงทางการเมืองของไทยที่ถูกสังคมส่วนหนึ่งมองว่าทหาร “เลือกข้าง” ทางการเมือง[6] นอกจากนี้ ยังปรากฎข่าวสำคัญว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับ กปปส.[7]  และยังปรากฏข่าวว่าแผนการส่วนหนึ่งของ คสช ในการดำเนินการประชาธิปไตยคือการ “แต่งตั้ง” ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับ “การปฎิรูปประชาธิปไตย” จำนวนหนึ่ง โดยมีข้อมูลจากการรายงานข่าวของเวปไซต์อิสรา ดังนี้  1.กำหนดให้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมด 200 คน คาดว่าจะเป็นนายทหารประจำการประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ อาทิ แม่ทัพภาค ผู้บัญชาการหน่วย เป็นต้น ที่เหลือจะเป็นการแต่งตั้งจากสาขาอาชีพต่างๆ 2.สภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 250 คน ในจำนวนนี้จะมีตัวแทนจากจังหวัดละ 1 คน จำนวน 77 จังหวัด ที่เหลือก็จะสรรหาตามสาขาวิชาชีพต่างๆ สำหรับคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีทั้งหมด 35 คน แบ่งเป็น สภาปฏิรูป 20 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน และ คสช. 5 คน[8]

หากพิเคราะห์ตามข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏและบริบทการเมืองของไทยที่ผ่านมาจะเห็นว่าการอ้างของ คสช. ในการเข้ามาปกป้องประชาธิปไตยนั้นเกิดคำถามตามมาอย่างมากมาย นอกจาก คสช. อาจถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองแล้ว กระบวนการสร้างประชาธิปไตยของ คสช. ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถสร้างประชาธิปไตยได้อย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่เพราะความขัดแย้งในสังคมก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ[9] ที่สำคัญ กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยโดย คสช. ก็มิได้เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงอย่างชัดเจน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าประชาธิปไตยที่ได้มาจาก “ความเห็นชอบ” ของ คสช. จะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ?

ผู้เขียนมีมุมมองว่ากองทัพไทยยังประสบปัญหาความชอบธรรมในการปกป้องประชาธิปไตย กองทัพกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายทางการเมืองที่อยู่ตรงหน้าและในอนาคตอันใกล้ ความซับซ้อนของสังคมการเมืองไทยในยุคนี้ไม่สามารถฝากความหวังให้แก่กลุ่มคน องค์กร หรือสถาบันใดๆเพียงสถาบันเดียวในการเข้ามาแก้ไขปัญหา เราต้องการพื้นที่สำหรับทุกๆคนในการเข้ามาร่วมสร้างประเทศ ร่วมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง

สุดท้ายแล้ว ประชาชนเท่านั้นคือคำตอบ.

               



[1] ดูรายละเอียดโรดแมปประชาธิปไตยที่นำเสนอโดย คสช ได้ใน,http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1401959305

[2] คสช. มักกล่าวอยู่เสมอว่าความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอาจนำไปสู่การนองเลือด ดังนั้น กองทัพจึงต้องเข้ามาช่วย “จัดการ” เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ลดความขัดแย้งลง คืนความสุขให้แก่ประชาชน ผู้เขียนเชื่อว่าในโลกทัศน์ของ คสช. มองว่าความขัดแย้งทางการเมืองมีสถานะไม่เป็นประชาธิปไตย กองทัพจึงมีภารกิจเพื่อประชาธิปไตยโดยการเข้ามาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนำเสนอโรดแมปประชาธิปไตยตามมาอย่างรวดเร็ว

[3] Ozan O. Varol “The Military as the Guardian of Constitutional Democracy “.  Columbia Journal of Transnational Law, Vol. 50, Summer 2013. (Lewis & Clark Law School Legal Studies Research Paper No. 2012-30). เข้าถึงได้ใน. http://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=2161013

[4] หากนับตั้งแต่วิกฤติทางการเมืองในราวปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา    

[5] อาทิ Robert B. Albriton. “Thailand in 2005: The Struggle for Democratic Consolidation”. Asian Survey, Vol.46 No.1 (January/Febuary 2006). Pp. 140-147., James Ockey. “Thailand in 2006: Retreat to Military Rule”. Asian Survey, Vol.47 No.1 (January/Febuary 2007), pp. 133-140., James Ockey. “Thailand in 2007: The Struggle to Control Democracy. Asian Survey, Vol.48 No.1 (January/Febuary 2008). Pp. 20-28., Zachary Abuza. “The Elephan in the Room: Thailand’s Royal Succession and the Coup”. http://www.indopacificreview.com/ เป็นต้น

[6] หากพิจารณารายชื่อทั้งหมดที่ คสช. เรียกให้ไปรายงานตัวจะพบว่าตัวเลขจำนวนของผู้ถูกเรียกตัวจากฝั่งที่ถูกมองว่าเป็นเสื้อแดงมีจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ถูกเรียกตัวอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ สามารถพิจารณาตัวเลขผู้ถูก คสช เรียกตัวได้ใน, http://www.ilaw.or.th/node/3146

[7] "สุเทพ" เผยใช้เงิน 1,400 ล้าน เคลื่อน กปปส. "วินธัย" โต้ข่าว "กำนัน" หารือ "บิ๊กตู่" ล้างระบอบทักษิณ”, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1403503245 , และ, “Suthep in talks with Prayuth ‘since 2010”, www.bangkokpost.com/news/politics/416810/suthep-in-talks-with-prayuth-since-2010.

[8] “คาดทหารนั่ง สนช. ครึ่งสภาจาก 200 คน-รธน.ชั่วคราวม.17 คงอำนาจเหนือ รบ.”, http://www.isranews.org/isranews-news/item/30767-rotono-kosoco1.html

[9] การอ้างว่าสังคมมีความสุขหรือสังคมสงบสุขภายใต้บรรยากาศแบบเผด็จการทหารเป็นคำอ้างที่มีปัญหามาก เราไม่สามารถรู้ได้จริงๆว่าความขัดแย้งหายไปหรือยังดำรงอยู่เพราะว่าทหาร “ควบคุม” อย่างเข้มงวด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท