Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

Charter of the coup

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ต้องติวเรื่องรัฐธรรมนูญให้ลูกชาย อันเนื่องมาจากเธอยืนยันว่า ยังไงครูก็ต้องสอบเรื่องรัฐธรรมนูญแม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตาม

ถ้าเช่นนั้นรัฐธรรมนูญคืออะไร? ข้าพเจ้าตั้งคำถามก่อนจะเข้าบทเรียน

"คือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศครับ" เขาตอบ

"แน่ใจ๋?"

"ใช่ครูสอนอย่างนั้น" เขาว่า

"ถ้างั้น ทำไมประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับจัง" ข้าพเจ้าถามต่อ

"เปลี่ยนบ่อย" ลูกชายว่า

"เปลี่ยนยังไง ?" ข้าพเจ้าถามอีก

"ส่วนใหญ่โดยการรัฐประหาร" เขาตอบ

"รัฐประหารคืออะไร ?" ข้าพเจ้าซัก

"คือการใช้กำลังทหารโค่นล้มรัฐบาล" เขาตอบ

"แล้วเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญยังไง?" ข้าพเจ้าถามอีก

"ก็ต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่" เขาตอบ

"ไหนว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ แล้วทำไมถูกฉีกทิ้งง่ายจัง" ข้าพเจ้าลองภูมิลูกชาย

"ไม่รู้ซิ มันคงไม่ศักดิ์สิทธิมั้ง" ลูกชายเริ่มหงุดหงิด

ข้าพเจ้าจึงว่าต่อ "รัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศก็ได้ เพราะเมื่อมีการรัฐประหารแล้ว ก็ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญไปเสีย ด้วยผู้ยึดอำนาจเกรงกลัวความผิดฐานทำลายรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายอื่นๆ ก็ยังอยู่ และมีผลบังคับใช้ต่อไป อีกทั้งตอนนี้ก็ปรากฎว่าประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ก็ยังเห็นบริหารประเทศกันต่อไปได้"

"รัฐธรรมนูญ ตามคำนิยามของศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย ตามที่พ่อเรียนมา" ข้าพเจ้าเริ่มโอ้อวดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางการศึกษาให้แก่ลูก "ท่านนิยามรัฐธรรมนูญว่า คือระเบียบแบบแผนของความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในรัฐ"

"อำนาจคืออะไร" ข้าพเจ้าถาม

"อือ น่าจะคือกฎหมาย" ลูกชายตอบแบบไม่มั่นใจ

"ก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่บางที่เราก็อาจจะเห็นคนใช้อำนาจโดยไม่ต้องอ้างกฎหมายเลย" ข้าพเจ้าว่า

"ถ้ายังงั้นอำนาจคืออะไร" เขาตั้งคำถามบ้าง

"ความสามารถในการบังคับ" ข้าพเจ้าตอบ "เช่น พ่อบังคับให้ลูกอ่านหนังสือก่อนนอน แปลว่าพ่อมีอำนาจเหนือลูก"

"แต่ผมไม่อ่านก็ได้" เขาเถียง

"พ่อก็จะหักค่าขนมลูก ในที่สุดลูกก็ต้องทำตาม ดังนั้น อำนาจส่วนหนึ่งนั้นต้องมาจากการยอมรับด้วย การยอมรับแบบเต็มใจหรือไม่เต็มใจด้วยกลัวถูกลงโทษ นั่นก็คือการยอมรับ" ข้าพเจ้าสาธยายต่อ

"ติวแบบนี้ลูกไม่น่าจะสอบผ่านวิชาสังคมนะ" แม่ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ เอ่ยขึ้นมา

"ไม่เป็นไร ขอให้ลูกเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคืออะไรก็พอ มีคนจำนวนมากมีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญดีมาก บางรายถึงกับช่วยร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ครูบอกให้ลูกท่องไปสอบนั้นด้วย แต่ท้ายที่สุด พวกเขาก็เรียกร้องให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญของพวกเขาเอง เป็นเช่นนั้นลูกไม่ต้องจดจำรัฐธรรมนูญเก่าอะไรมากมายนัก เพราะเดี๋ยวเขาก็เปลี่ยน"

"ครูบอกว่า คสช. ให้คงหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญเอาไว้" ลูกชายว่า

"แล้วหมวด 2 นั่นมันลอยอยู่ในอวกาศหรือไง ถึงได้คงเอาไว้ได้โดยที่ตัวแม่บทของมันทั้งหมดไม่อยู่" ข้าพเจ้าโต้แย้งและว่าต่อ "หมวด 2 คงเอาไว้ก็ไม่มีความหมายอะไร เป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ การสืบราชสมบัติ องคมนตรี คุณสมบัติองคมนตรี ไม่เห็นเกี่ยวกับราษฎรตรงไหน พวกเราที่นั่งในที่นี้ พ่อหมายถึงตระกูลกาญจนขุนดีไม่มีใครอยากเป็นองคมนตรีแน่นอน อีกอย่างในหมวด 2 นั้นก็มีบางมาตรา เช่น เรื่องการสืบสันตติวงศ์นั้น มีความบางตอนอ้างอิงถึงอำนาจรัฐสภาด้วย ตอนนี้เราไม่มีสภาแล้วจะใช้หมวด 2 นี้ยังไง มีก็เหมือนไม่มีอยู่แล้ว เสียเวลาอ่านเปล่าๆ"

"แล้วผมจะเอาอะไรไปสอบ" ลูกชายชักเริ่มกังวล

"อ่านหมวด 1, 2 และ 3 ในรัฐธรรมนูญปี 50 หรือ 40 ก็ได้คล้ายๆ กัน เพราะลอกกันมา มีหลัก 3 ประการว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญที่ดี"

ลูกชายอ่านรัฐธรรมนูญปี 50 ทีละมาตราไปจนครบ 3 หมวด ข้าพเจ้าอธิบายแต่ละมาตรา แต่เอามานำเสนอในที่นี้โดยย่นย่อสรุปว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้อง

1. กำหนดระเบียบแบบแผนการใช้อำนาจของฝ่ายต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

2. ให้หลักประกันเรื่องความเท่าเทียมต่อหน้ากฎหมายของชนทุกหมู่เหล่า

3. ให้หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้อย่างชัดเจน

"ถ้าไม่มี 3 อย่างนี้ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญมั้ยพ่อ" ลูกชายถามขึ้น

"เป็น แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดี อีกทั้งได้โปรดอย่าสับสนเวลาครูสอน การมีรัฐธรรมนูญไม่เท่ากับมีประชาธิปไตย แต่เนื้อความในรัฐธรรมนูญนั้นจะบอกได้ว่า ประเทศของเราเป็นประชาธิปไตยหรือไม่"

"ในนี้เขียนว่า ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แปลว่า เป็นประชาธิปไตยใช่มั้ย" ลูกชายถาม

"แค่วลีเดียวคงไม่สามารถสรุปได้ขนาดนั้น ต้องดูทั้งหมดว่ามันบ่งบอกความเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า" ข้าพเจ้าว่า และถามต่อ "ประชาธิปไตยคืออะไร?"

"คือ....การเลือกตั้ง มั้ง" เขาว่า

"ไม่ใช่แค่นั้นหรอก ประชาธิปไตย คือ ประชา+อธิปไตย พูดง่ายๆ คือการปกครองที่ให้อำนาจกับประชาชน การเลือกตั้งคือรูปแบบการใช้อำนาจของประชาชนอย่างหนึ่ง"

"นี่ไง เขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ลูกชายว่า

"อ่านต่อไปซิ" ข้าพเจ้าบอกลูก

"พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" เขาอ่านต่อ

ข้าพเจ้าถาม "แล้วอย่างนี้เรียกประชาธิปไตยได้มั้ย"

"เอ่อ" เขายังไม่ได้ตอบ

ข้าพเจ้าว่า "ไม่ต้องตอบ เก็บเอาไปคิด ทั้งชีวิตนี้เราอาจจะตอบคำถามนี้ไม่ได้ก็ได้"

เมื่อสรุปแล้วข้าพเจ้าสำทับว่า "ทุกอย่างที่พ่อว่ามาเป็นหลักการทั่วไป ซึ่งในอนาคตหลักการเหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าลูกเข้าใจจนแจ่มแจ้ง พ่อมั่นใจว่าลูกจะสอบตกวิชานี้ เพราะครูจะไม่ถามดั่งเช่นที่พ่อถาม หากแต่จะถามว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีกี่คน แต่ไม่ว่าลูกจะตอบว่ามีกี่คน คำตอบที่ได้ก็จะผิดหมด เพราะเรายังไม่รู้ว่า ผู้มีอำนาจอยากจะให้มี ส.ส. กี่คน หรือบางทีเขาอาจจะไม่อยากให้มี ส.ส.เลยก็ได้" 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net