คุยกับแอมเนสตี้ฯ ผู้รณรงค์ยุติโทษประหารและการข่มขืน

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 

จากกรณีที่เกิดกระแสสังคมหลังคดีข่มขืนและฆาตกรรมเด็กหญิงวัย 13 ปีบนรถไฟ เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดการรณรงค์อย่างกว้างขวางและมีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำผิดในกรณีข่มขืนและฆ่าในทุกกรณี

ประชาไท สัมภาษณ์ 'ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล' ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ทำงานรณรงค์ยุติโทษประหารชีวิตและการข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ถึงมุมมองและความคิดเห็นต่อการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิตว่าจะเป็นทางออกของปัญหาอย่างยั่งยืนได้หรือไม่

0000

ประชาไท : ทำไม แอมเนสตี้ ถึงได้รณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต

ปริญญา : แอมเนสตี้ รณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตมา 30 ปีแล้ว ทำมาตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร โดยเหตุผลที่รณรงค์ยุติการใช้โทษที่รุนแรงนี้มี 5 ข้อ

  1. เรื่องการใช้โทษเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เรื่องสิทธิการมีชีวิตของคนทุกคน
  2. เรื่องของการใช้โทษนี้เป็นการทรมาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ ไม่เฉพาะผู้กระทำความผิดเท่านั้น แต่รวมไปถึงเหยื่อ และครอบครัวของเหยื่อด้วย
  3. จากการศึกษาของเรา พบว่าโทษนี้ถูกใช้กว่า 80% กับคนยากจนและคนเปราะบางในสังคม และหลายครั้งเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการจัดการกับคนที่มีความคิดเห็นต่าง หรือมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ หรือความหลากหลายทางเพศ เช่น อูกันดามีการใช้โทษนี้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
  4. เรื่องของกระบวนการยุติธรรมมีความเสี่ยงในความผิดพลาดอยู่ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ 100% ดังนั้นความเสี่ยงในความผิดพลาดนี้เป็นที่มาที่ผู้บริสุทธิ์จะกลายเป็นเหยื่อของการใช้โทษที่รุนแรงนี้ และเมื่อผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของการใช้โทษที่รุนแรงนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะเรียกคืนกลับมาได้เนื่องจากถูกประหารชีวิตไปแล้ว
  5. การใช้โทษที่รุนแรงนี้ไม่ได้มีผลโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมใดๆ ทั้งสิ้น

เหล่านี้เป็นเหตุผลหลักๆที่เรารณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตมา แต่การที่เรารณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้กระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ผู้กระทำความผิดนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับโทษอย่างเหมาะสม ได้สัดส่วน ตามความผิดของเขา และต้องไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดนั้นลอยนวลพ้นผิดได้

และเราย้ำและรณรงค์เสมอว่าภาครัฐมีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องเยียวยาฟื้นฟูเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อให้เขาสามารถที่จะกลับมายืนในสังคม ฟื้นฟูชีวิตของเขาได้ยืนในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีอีกครั้งด้วย การเยียวยานี้ไม่ใช่เฉพาะตัวเงิน แต่หมายถึงทางด้านจิตใจและสังคมด้วย เพราะในหลายๆครั้งเหยื่อจะตกเป็นเหยื่อของสังคมไปด้วย

ตลอด 30 ปีที่ แอมเนสตี้ รณรงค์เรื่องนี้มามีผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง

เราเห็นความก้าวหน้าของการรณรงค์นี้คือเมื่อ 30 ปีที่แล้วมีประมาณ 16 ประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่เมื่อปี 2556 จากรายงานประจำปีของ แอมเนสตี้ พบว่ามี 141 ประเทศทั่วโลกที่ได้ยุติการใช้โทษนี้ ไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ มีเพียงแค่ 22 ประเทศ ที่ยังประหารชีวิตเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่าแนวโน้มของการใช้โทษนี้ลดลงตลอดเวลา หลายประเทศกลับมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและทำในกระบวนการยุติธรรมของเขามีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เพราะเขาเห็นว่าการใช้โทษที่รุนแรงมันไม่ได้มีส่วนโดยตรงกับการที่จะทำให้อาชญากรรมของประเทศเขาลดลงหรือมีผลดีต่อสังคมเขา

การให้โอกาสอาชญากรกลับมาสู่สังคมโดยไม่มีโทษประหารชีวิตนั้น บางคนอาจก่ออาชญากรรมซ้ำ การรณรงค์ยุติการใช้โทษในลักษณะนี้ไม่เท่ากับเปิดโอกาสให้เกิดอาชญากรรมซ้ำด้วยหรือ

ต้องไปดูว่าทำไมคนที่ทำผิดแล้วถูกจับกุมคุมขังออกมาแล้วกระทำผิดซ้ำ ก็ต้องพิจารณาที่สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะเมื่อคนที่ถูกคุมขังกระบวนการของราชทัณฑ์ในการที่จะต้องดูแลคนเหล่านี้ ต้องมีการเยียวยาฟื้นฟูคนเหล่านี้ด้วยไม่ใช่เพียงจับไปขังเฉยๆ ซึ่งปกติทุกประเทศจะมีการเยียวยาฟื้นฟูคนเหล่านี้

วิสัยทัศน์กรมราชทัณฑ์ของเราคือการคืนคนดีสู่สังคม ซึ่งต้องพิจารณาว่าการออกมากระทำผิดซ้ำนั้นเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการราชทัณฑ์เหล่านี้ ในต่างประเทศก่อนที่จะปล่อยตัวเขาจะมีการทดสอบก่อนว่าคนเหล่านี้ว่ามีการสำนึกผิดหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือเปล่า หรือยังเป็นเหมือนเดิม หากเป็นเช่นนั้นอาจจะยังไม่ถูกปล่อยออกมา อาจมีการเยียวยาฟื้นฟูก่อน

สำหรับประเทศที่ยกเลิกโทษประการก็ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทน และผ่านไป 25 ปี เขาอาจนำคนเหล่านั้นมาทดสอบว่าสำนึกผิดหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว ก็อาจจะให้ศาลพิจารณาว่าจะปล่อยตัวหรือลดโทษให้ได้หรือไม่

กระแสในสังคมไทยตอนนี้มีการตื่นตัวเรื่องโทษประหารชีวิตขึ้นหลังจากมีอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ในฐานะที่รณรงค์เรื่องนี้มากว่า 30 ปี กระแสที่เกิดขึ้นแบบนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันไหมกับประเทศอื่นๆ

ในบางประเทศอาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คือ เมื่อมีอาชญากรรมที่รุนแรงสะเทือนขวัญ แม้จะเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็อาจจะมีประชาชนส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องให้กลับมาใช้โทษแบบนี้อีก แต่ค่อนข้างจะน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน 141 ประเทศที่ได้ยกเลิกโทษนี้ไปแล้ว

ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงออกมาเรียกร้องให้ใช้โทษที่รุนแรงเพราะคนในสังคมไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมและความปลอดภัย หรือการมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงในสังคมที่อยู่ จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้ใช้โทษที่รุนแรง

ประกอบกับการไม่มีข้อมูลและภาครัฐไม่มีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านกับประชาชนกับการใช้โทษนี้ ว่าการใช้โทษที่รุนแรงมีข้อดีข้อเสียอย่างไร การใช้โทษในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ใช้กับความผิดอย่างไร เป็นต้น ส่งผลให้คนเข้าใจว่าการใช้โทษที่รุนแรงจะลดอาชญากรรมได้ แต่ความจิรงแล้วการเกิดอาชญากรรมนั้นมีปัจจัยของการเกิดที่หลากหลาย เช่น เรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำของสังคม ระดับการพัฒนาของมนุษย์ หรือกรณีการล่วงละเมิดทางเพศก็มาจากทัศนคติของสังคมที่ชายเป็นใหญ่ มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุ รวมไปถึงระบบการศึกษาที่ไม่เพียงพอในเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน การเข้าใจเรื่องของเพศ เหล่านี้นำมาซึ้งการเกิดอาชญากรรม

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาอาชญากรรมนั้น การใช้โทษที่รุนแรงเพียงอย่างเดียวมันไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ได้

จริงๆแล้วเราก็มีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่อาชญากรรมก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างข้อมูลเรื่องการละเมิดทางเพศ เมื่อปีที่แล้ว ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าทุก 15 นาที มีการข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ ถือว่ามีจำนวนมากในสังคมไทย การใช้โทษที่รุนแรงอาจจัดการกับคนกลุ่มหนึ่งได้ แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะกลับขึ้นมาอีกถ้าไม่ไปดูสาเหตุและแก้ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

จากที่กล่าวมาแสดงว่า แอมเนสตี้ มองสมติฐานของการเกิดอาชญากรรมไม่ได้มองเพียงตัวปัจเจคบุคคลเหล่านั้น แต่มองถึงบริบทของสังคมที่หล่อหลอมปัจเจคเหล่านั้นให้ก่ออาชญากรรมด้วย แต่ในสังคมไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นปัญหาที่ปัจเจค เช่น คนจะดีอยู่ที่ไหนก็ดี หรือบางคนเป็นคนที่เกิดมาจากดาวโจรก็จะเป็นโจร หรือบางคนเคยทำกรรมเก่าในอดีตก็จะต้องก่อนอาชญากรรม ดังนั้นการจัดการคนเหล่านั้นโดยเอาออกไปจากสังคม เช่น การจำคุกตลอดชีวิต การเนรเทศหรือการประหารชีวิต เป็นต้น ก็ถือเป็นวิธีที่พวกเขาเชื่อว่าดี ทาง แอมเนสตี้ ในฐานะที่ต้องรณรงค์เรื่องนี้มีวิธีการทำความเข้าใจกับสังคมอย่างไร

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าคนจะเชื่อแบบนี้ ซึ่งตนเองก็เคยคิดแบบนี้เช่นกัน แต่เมื่อได้ทำการศึกษาและทำข้อมูลเพิ่มเติมก็จะพบความเข้าใจมากขึ้นเพราะคนแต่ละคน คนที่เกิดมาแล้วเลวโดยกำเนินอาจจะมี แต่ไม่ได้มีมากเท่ากับจำนวนอาชญากรรมที่เรามีอยู่ในตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลพวงของสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของระบบต่างๆของสังคม บางอย่างอาจทำให้คนไม่มีทางเลือก จำกัดทางเลือก บีบคั้นชีวิตคนคนหนึ่งจนทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างด้วยการที่เขาไม่มีทางเลือกอื่น เราเชื่อว่าผลพวกของสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้คนต้องกลายมาเป็นอาชญากรมากกว่า เราเองอาจจะมีส่วนในการผลักดันคนเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน

มีกรณีที่นักโทษที่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมได้สำนึกผิดและออกมาจากเรือนจำ อยากกลับมาใช้ชีวิตธรรมดาในสังคม แต่หลายครั้งเขาไปก่ออาชญากรรมซ้ำ เพราะว่าสังคมเองที่ไม่ให้โอกาสเขา และยังดูถูกดูแคลนเขา ปิดกั้นโอกาสเขา จนสุดท้ายมันก็อาจทำให้เขาไม่มีทางเลือกทำอาชญากรรมซ้ำ

เพราะฉะนั้นเราต้องมาทบทวนตัวเองทบทวนสังคมว่ามีส่วนในการผลักดันให้คนก่ออาชญากรรมหรือเปล่า

ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ออกมาต่อว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร ให้โอกาสอาชญากร ว่าไม่คำนึงถึงเหยื่อบางหรือ? อาชญากรยังไม่ให้โอกาสเหยื่อ แล้วทำไมเราต้องให้โอกาสอาชญากรด้วย? องค์กรสิทธิเหล่านี้คำนึงถึงเหยื่อบ้างหรือไม่?

เวลาเรารณรงค์ เรารณรงค์เสมอว่าภาครัฐมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ รวมถึงครอบครัวของเหยื่อ ซึ่งต้องเยียวยารอบด้าน เป็นสิ่งที่เราผลักดันและเรียกร้องให้รัฐทำเสมอ เราไม่ได้ละเลยสิทธิของเหยื่อ และเรายังเรียกร้องว่าเวลาฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อก็ต้องเคารพสิทธิของเหยื่อด้วย เช่น ความเป็นส่วนตัว การที่เขาต้องสามารถดำรงชีวิตต่อ เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึง และภาครัฐต้องทำงานแบบบูรณาการโดยหลายหน่วยงาน

ในเมืองไทยเราอาจยังไม่มีการทำงานในรูปแบบเครือข่ายของเหยื่อ แต่ในต่างประเทศมี Murder Victims' Families Network เราก็ทำงานร่วมกับเขาและผลักดันให้รัฐดูแลกลุ่มเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน

กระแสสังคมขณะนี้นอกจากเรื่องประหารชีวิตแล้ว อีกเรื่องที่คู่กันมาคือเรื่องการข่มขื่น ดูเหมือนว่าในบางสังคมการข่มขืนเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ในภาพยนตร์พระเอกก็ยังสามารถข่มขืนนางเอกได้ ทาง แอมเนสตี้ มีการรณรงค์เรื่องสิทธิของผู้หญิงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศเหล่านี้ด้วยหรือไม่

แอมเนสตี้ ทำการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว แต่อาจจะไม่เป็นที่ประจักษ์ เพราะการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้หญิงโดยเฉพาะอยู่แล้ว และเราก็มีการรณรงค์ให้ยุติ รวมทั้งรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆเพื่ออำนวยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหากเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดเขา รวมทั้งออกมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ แอมเนสตี้ ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์มาอย่างยาวนานอยู่แล้ว

หลายครั้งสื่อเองก็มีส่วนที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติรวมทั้งการนำเสนอการกดขี่การล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง แต่สื่อในหลายครั้งกลับเป็นเรื่องธรรมดา อย่างกรณีการข่มขืนของประเอกต่อนางเอกกลายเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายกลายเป็นนางเอกตกลงยินยอมอยู่กับพระเอกในท้ายที่สุด เรื่องเหล่านี้จึงสร้างทัศนคติที่ผิดๆกับคนในสังคมที่จะยอมรับกับเรื่องเหล่านี้ และกรณีการข่มขืนการล่วงละเมิดทางเพศกว่า 80% เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน แฟน คนที่รู้จัก ฯลฯ เมื่อเกิดจากคนใกล้ตัวทำให้ในหลายๆครั้งเหยื่อไม่กล้าฟ้องร้อง

รวมทั้งในหลายกรณีที่ผู้หญิงไปฟ้องร้องจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตำรวจไม่ค่อยใส่ใจกับประเด็นเหล่านี้ในการดำเนินคดี และหลายครั้งกลับประณามผู้หญิงอีกว่าไปทำให้ผู้ชายมาทำอย่างนี้ จนทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวลไม่ ซึ่งเราเรียกร้องเสมอว่าเรื่องเหล่านี้ต้องนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“เพราะเราเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลจะทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงมากกว่าโทษที่รุนแรงและอาจจะมีผลเสียตามมาได้”

ปัจจุบันประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ หลายคนก็กังวลว่าแม้มีโทษประหารชีวิตก็จริงแต่ผู้ก่ออาชญากรรมรุนแรงสุดท้ายก็จะได้รับการลดโทษอยู่ดี แอมเนสตี้ มองอย่างไร

เราไม่ควรใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง เราไม่ควรใช้แบบเดียวกันทำแบบเดียวกันกับอาชญากรในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น มันมีทางอีกหลายทางในการจัดการปัญหาได้

อย่างกรณีอินเดียที่เราได้ยินข่าวการข่มขืนผู้หญิงที่อยู่บนรถโดยสารสาธารณะ จากเหตุการณ์นี้ประชาชนในประเทศได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย และทางการได้แก้โดยมีการแก้ไขกฎหมายข่มขืนในบางกรณีให้มีการใช้โทษที่รุนแรง และมีการจัดการกับคนที่กระทำผิดค่อนข้างเข้มข้น แต่เราก็ยังได้ยินข่าวการข่มขืนในอินเดียอีก เพราะฉะนั้นการที่คนลุกขึ้นมากระทำความผิดเขาคงไม่ได้นึกถึงโทษ แต่ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เขาก่ออาชญากรรม เขาอาจจะเชื่อว่าเขาทำแล้วอาจจะไม่โดนจับ หรือกรณีที่เราเห็นว่าในหลายกรณีตำรวจก็ไม่ได้ใส่ใจในการที่จะดำเนินคดี

เรื่องเชื่อมั่นว่าถ้ามีการจับกุมที่รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และเข้าสู้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ใช้โทษที่เหมาะสมกับเขาและมีการดูแลนักโทษเป็นระบบมีประสิทธิภาพในเรือนจำ ก็จะทำให้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น จำนวนอาชญากรรมก็จะลดลง การกระทำผิดซ้ำหลังออกจากเรือนจำก็จะลดลงถ้าเรามีกระบวนการเยียวยาฟื้นฟูคนที่กระทำความผิดอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

จากกระแสสังคมขณะนี้ที่มีการพูดทั้งเรื่องโทษประหาร แม้จะเป็นกระแสที่สวนทางกลับสิ่งที่ แอมเนสตี้ รณรงค์มาให้ยุติโทษนี้ ทาง แอมเนสตี้ จะทำอย่างไรกับกระแสที่คนตื่นตัวนี้

เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนลุกขึ้นมารณรงค์ในสิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่ถูกไม่ต้อง เป็นสิ่งที่เราสนับสนุนกับการที่ประชาชนลุกขึ้นมาทำอะไรบางสิ่งบางอย่างตามศักยภาพของเขาเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคม แต่อยากเชิญชวนให้มองการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเพิ่มเติม เพราะการเรียกร้องให้มีการใช้โทษประหารมันอาจเป็นการแก้ปัญหาในขณะหนึ่ง เป็นการจัดการกับคนคนหนึ่งที่กระทำความผิดนี้ แต่การแก้ปัญหามันอาจจะไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอสาเหตุของการทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรืออาชญากรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมเรา

เพราะฉะนั้นเราอยากเชิญชวนให้ใช้พลังของประชาชนนี้ ขยายเพิ่มเติมเรียกร้องให้ภาครัฐมีความจริงใจ มุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรม รอบด้าน เพื่อจะทำให้อาชญากรรมในบ้านเราลดลงอย่างจริงจัง

เพราะภาครัฐไทยและรัฐอื่นๆบางครั้งใช้โทษที่รุนแรงแบบนี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะในการที่จะมาแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้นอาจจะต้องใช้เวลาและกำลังทรัพยากรต่างๆ ค่อนข้างมาก บ้านเราอาจมีปัญหาที่ค่อนข้างเยอะที่เก็บไว้ ทำให้หลายๆครั้งประชาชนอาจรู้สึกไม่มั่นใจว่าสุดท้ายจะได้รับการแก้ปัญหาจริงหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการใช้โทษที่รุนแรงเพราะอย่างน้อยเขามองว่าได้แก้ปัญหาช่วงหนึ่ง ซึ่งเราก็อยากขอเชิญชวนให้มองภาพที่กว้างและระยะยาวมากขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่รณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย อะไรคืออุปสรรคสำคัญของการรณรงค์

อุปสรรคอย่างรุนแรงคือทุกคนเห็นด้วยกับโทษประหาร เหมือนกับว่าถ้าเราทำอย่างอื่นก็ไม่รู้จะใช้เวลาอีกกี่ปีในการที่รัฐจะมาแก้ปัญหาอย่างนี้ดีกว่า ก็เลยเอากันอย่างนี้เหมือนฆ่าตัดตอนในยาเสพติด คือตัดตอนไปก่อน จะได้อย่างน้อยให้ลดลง ชั่วคราวก็ยังดี ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกหรือเปล่า

เรื่องของการเปลี่ยนแปลงโทษประหาร หัวใจของการรณรงค์คือการเคารพในคุณค่าของความเป็นคนทุกๆคน เรื่องของการเปลี่ยนแปลงโทษประหารอาจเป็นเพียง 1 ผลลัพธ์ของมัน แต่หัวใจของมันคือการที่คนเราเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าคนเราเคารพกัน เคารพในสิทธิของผู้อื่นไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นก็จะทำให้สังคมของเราสามารถที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง ซึ่งอันนี้คงเป็นหัวใจหลักที่ทำให้คนในสังคมมีทัศนคติ วัฒนธรรมแบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เราฝ่ายเดียวที่จะทำ คงเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐที่จะสร้างวัฒนธรรมของการเคารพซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนในสังคม ถ้าเกิดขึ้นก็เชื่อมั่นได้ว่าก็คงไม่มีใครเรียกร้องในการใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาต่างๆ แล้วก็อาชญากรรมในสังคมก็ไม่มีมากเท่าที่เป็นอยู่นี้เพราะทุกคนเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ละเมิดผู้อื่น เคารพในความหลากหลาย เคารพในความเห็นต่าง อยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท