Skip to main content
sharethis
สหพันธ์ไปรษณีย์ฯ ยื่นหนังสือ คสช. ให้ช่วยเหลือด้านสวัสดิการ
 
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมาที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก สหพันธ์ไปรษณีย์อนุญาตแห่งประเทศไทย นำโดยนางดารีย๊ะ หมานสัน รองประธานสหพันธ์ฯ พร้อมตัวแทนภาคใต้จำนวน 30 คน ระบุว่า ในวันนี้มายื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช.ให้ดำเนินการช่วยเหลือ เนื่องจาก พวกตนเป็นลูกจ้างนอกระบบของไปรษณีย์ไทย ซึ่งไม่ได้รับสวัสดิการ การบรรจุ หรือช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด  ทั้งยังได้รับค่าจ้างไม่ถึง 300 บาท ด้วย ทั้งนี้ทางสหพันธ์มีสมาชิกทั้งหมด 3,500 คน จากทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการร้องเรียนมาตั้งแต่รัฐบาลของพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตรแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า
 
(มติชนออนไลน์, 16-7-2557)
 
กต.-ก.แรงงานยังไม่อพยพแรงงานไทยในลิเบีย-อิสราเอล
 
ก.แรงงาน และ ก.ต่างประเทศ เตรียมพร้อมมาตรการช่วยเหลือคนไทยและแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศลิเบีย อิสราเอล อิรัก และเคนยา เบื้องต้นยังไม่อพยพ แต่เฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
 
นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมหารือเตรียมพร้อมมาตรการช่วยเหลือคนไทยและแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศลิเบีย  อิสราเอล อิรัก และเคนยา ซึ่งเกิดเหตุการณ์สู้รบภายในประเทศ
 
ภายหลังการประชุมได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการอพยพแรงงานไทยจากประเทศเหล่านี้ แต่ทั้ง 2 กระทรวงทำงานใกล้ชิดติดตามสถานการณ์จากเจ้าหน้าที่ในต่างประเทศรายงานข้อมูลเข้ามา และร่วมกันประเมินสถานการณ์ หากรุนแรงจนถึงขั้นต้องอพยพมีแผนกำหนดชัดเจน ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ในส่วนของญาติพี่น้องที่เป็นห่วงต้องการสอบถามข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยฯ กรมการกงสุล หมายเลข 0-2575-1047 และสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
(สำนักข่าวไทย, 18-7-2557)
 
คสช.เพิ่มศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวฯ 15 จว. - ตั้งศูนย์ดำรงธรรม
 
(18 ก.ค.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เผยแพร่ประกาศฉบับที่ 94/2557 เรื่องการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม และประกาศ ฉบับที่ 96/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม รายละเอียดดังนี้
       
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 94/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม
       
ระบุว่า โดยข้อที่ 4 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 เรื่องมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัด โดยการจัดตั้งในจังหวัดอื่นใดและเริ่มทำการเมื่อใดให้เป็นไปตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกำหนด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจีงมีประกาศดังต่อไปนี้
       
ให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตามข้อ 4 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เพิ่มเติมใน 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จันทบุรี ชุมพร ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง สตูล และ สมุทรสงคราม
       
ทั้งนี้ให้เริ่มทำการตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2557
       
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศไว้วันที่ 17 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
       
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 96 / 2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม
       
ระบุว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัดและให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการในจังหวัดสามารถให้บริการประชาชน ได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและประชาชนได้ความพีงพอใจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจีงมีประกาศดังต่อไปนี้
       
ข้อ 1 ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นในจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา 32 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร โดยประกาศให้ประชาชนทราบ
       
ข้อ 2 ให้ทุกกระทรวง กรม ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากร ให้สามารถบริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
       
ข้อ 3 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการการบริหารจัดการร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และวางแนวทางการปฏิบัติภายในศูนย์ดำรงธรรม
       
ข้อ 4 ให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
       
ข้อ 5 ในกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ดำรงธรรมให้สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล การป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์การคุ้มครองป้องกันหรือช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับความเป็นธรรม และการบังคับการให้เป็นไปตามกฏหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมตามนโยบายของรัฐบาล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการ บังคับบัญชา กำกับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และข้าราชการในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด
       
ข้อ 6 ให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่กำกับดูแลและอำนวยการให้การบริหารงานของศูนย์ดำรงธรรมและการบริหารงานของจังหวัดดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
       
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       
ประกาศ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-7-2557)
 
แรงงานต่างด้าวทยอยจดทะเบียนแล้ว 1.8 แสนคน
 
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรอการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วัน สต็อปเซอร์วิส) โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ 15 จังหวัด มีความพร้อมในการดำเนินการเปิดให้บริการในวันที่ 22 ก.ค. ตามประกาศ คสช. ซึ่งได้ประสานนายจ้างในทุกจังหวัดไว้เรียบร้อยแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ทางนายจ้างได้แจ้งว่าจะนำแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า 390,000 คน มาดำเนินการขึ้นทะเบียน คาดว่าเมื่อครบกำหนดดำเนินการจะมีนายจ้างนำแรงงานกรมการจัดหางานต่างด้าวมาดำเนินการประมาณ 500,000 คน และจะมีการประกาศลดอัตราค่าต่อใบอนุญาตการทำงานในอัตราเดียวกันสำหรับแรงงานทุกประเทศจำนวน 900 บาท จากเดิม เฉลี่ย 900-1,800 บาท เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้แรงงานต่างด้าว


 
ส่วนกรณีหลายฝ่ายกังวลว่าระยะเวลา 60 วัน ในการพิสูจน์สัญชาติอาจไม่เพียงพอนั้น หากไม่เพียงพอเชื่อว่าจะมีการขยายระยะเวลาตามความเหมาะสม แต่ต้องรอการพิจารณาภายหลังเปิดศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสครบ 77 จังหวัดก่อน โดยจะเร่งเจรจากับประเทศต้นทางทั้ง 3 ประเทศ ในการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมในรูปแบบของคณะทำงานการพิสูจน์สัญชาติแบบเคลื่อนที่ไปตามภาคและจังหวัดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายให้แรงงานต่างด้าว เบื้องต้นเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเห็นด้วยในหลักการ และจะนำไปเสนอต่อรัฐบาล เพื่อจัดเจ้าหน้าที่มาช่วยไทยดำเนินการ โดยหลังจากนี้จะมีการหารือกับทั้ง 3 ประเทศเพื่อความชัดเจนอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้
 


ปัจจุบันศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเสร็จ รับจดทะเบียนแรงงานสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา 19 แห่ง ในต่างจังหวัด 13 แห่งในกทม. 6 แห่ง และ 4 จุดลงทะเบียนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา สำหรับยอดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ ณ วันที่ 20 ก.ค. มีจำนวน 182,949 คน.
 
(ไทยรัฐ, 21-7-2557)
 
กกจ. ชะลอจัดส่งแรงงานไปทำงานใน 6 เขตพื้นที่เสี่ยงในอิสราเอล ตามคำแนะนำของเอกอัครราชทูตไทย 
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้ส่งหนังสือสือด่วนมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ชะลอการจัดส่งแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานใน 6 เขต ได้แก่ เขต Eshkol, Bnei Shimon, Merhavim, Sdot Negev, Hof Eshkelon และ Sha’ar HaNegev ซึ่งมีแรงงานไทยอาศัยอยู่รวม 4,276 คน เพราะถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งทางกรมการจัดงานยืนยัน จะชะลอการจัดส่งแรงงานไปทำงานใน 6 เขตตามคำแนะนำ พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่แต่หากแรงงานมีความประสงค์จะย้ายออกนอกพื้นที่ชั่วคราวก็สามารถแจ้งสถานทูตไทยได้ ซึ่งมีแรงงานแจ้งความประสงค์ขอย้ายออกนอกพื้นที่ชั่วคราวแล้ว 15 คน สำหรับพื้นที่ในการทำงานด้านการเกษตรของแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ปัจจุบันมีจำนวน 94 เขต มีแรงงานไทยประมาณ 27,000 คน ส่วนแรงงานไทยในประเทศลิเบียที่ยังไม่มีการอพยพแต่ให้แจ้งคงวามประสงค์ขอกลับประเทศไทยได้ตามความสมัครใจโดยสถานทูตจะอำนวยความสะดวกให้
       
“ขณะนี้ขอยืนยันว่าสถานการณ์ของทั้ง 2 ประเทศยังไม่ฉุกเฉินถึงขั้นที่จะต้องอพยพแรงงานไทยกลับประเทศ จะมีปัญหาเฉพาะบางพื้นที่ และแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังทำงานได้ตามปกติ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน กกจ. กับ กระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมแผนอพยพไว้อยู่แล้ว” นายสุเมธ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-7-2557)
 
"น่าน" วุ่น ขาดคนงานเก็บผลผลิต-อบลำไย 500 เตา ผู้ว่าฯออกโรงขอ คสช.เปิดศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสเร็วขึ้น
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนโยบายสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านการประชุมทางไกล (video conference) กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารประธานการประชุม
 
วาระสำคัญ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมในการเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Services) ในจังหวัดที่เหลือ การจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2558 การสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดน
 
ทั้งนี้ เรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสะท้อนปัญหาเข้ามาคือ ปัญหาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่ไม่อยู่ในเขต 22 จังหวัดชายทะเล โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วได้หารือถึงปัญหาแรงงานกัมพูชากลับคืนมา 120,000 คน แต่ศูนย์ประสานการับแรงงานกลับเข้าทำงานที่ตลาดโรงเกลือ รับกลับมา 19,000 คน ส่วนที่เหลืออีกราว 1 แสนคนจะทำอย่างไร เพราะศูนย์ฯ รับจดทะเบียนจะสิ้นสุดวันที่ 25 ก.ค. 2557 ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร รับเรื่องไปหารือกับกระทรวงแรงงานและทางการกัมพูชาต่อไป
 
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ชี้แจงว่า ขณะนี้จังหวัดน่านกำลังขาดแคลนแรงงานเกษตรในสวนลำไย เพราะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวและจะมีการเปิดเตาอบลำใยอีก 500 เตา ซึ่งจะต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ดังนั้น จึงเสนอขอให้เลื่อนการเปิดศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิสจากวันที่ 28 ก.ค.มาเป็นวันที่ 24 ก.ค.นี้ โดยเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวประมาณ 7-10 วันแล้วให้ดำเนินการปิดศูนย์ฯ ไปเลย เนื่องจากเป็นความต้องการของเกษตรกร พ่อค้า และนักลงทุนจากจีน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตราดว่า การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จใน 15 จังหวัดชายทะเลที่เหลือจากทั้งหมด 22 จังหวัดนั้น จังหวัดตราดพร้อมจัดตั้ง 2 แห่ง คือ 1) เปิดที่ศาลากลางจังหวัดตราด เปิดวันที่ 22 ก.ค.57 2) เปิดที่อำเภอคลองใหญ่ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ เนื่องจากมีแรงงานประมงจำนวนมากประมาณ 1,400 คน ส่วนจังหวัดอื่นๆที่เหลือคาดว่า คสช.จะประกาศให้เปิดในวันที่ 28 กรกฏาคมนี้
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 22-7-2557)
 
คสช.อนุมัติอัตรา ขรก.ใหม่ให้ สธ.กว่า 9,000 อัตรา
 
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการบรรจุข้าราชการว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติอนุมัติอัตราตำแหน่งข้าราชการใหม่ให้กระทรวงสาธารณสุขรวม 9,074 อัตราเพื่อดำเนินการบรรจุในปี 2557แก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทั่วประเทศ ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มนักเรียนทุนสายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร จำนวน 1,527 อัตรา และกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว 21 สายวิชาชีพ เช่น พยาบาล วิชาชีพ จำนวน 7,547 อัตรา
 
ทั้งนี้ นักเรียนทุน 3 วิชาชีพนี้กระทรวงได้รับโควตาทั้งหมด 2,947 อัตรา ประกอบด้วย แพทย์ 2,000 อัตรา ทันตแพทย์ 597 อัตรา และเภสัชกร 350 อัตรา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการบรรจุแทนตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุราชการทั้งหมดไปแล้ว 1,420 อัตรา จึงขอบรรจุที่เหลือ 1,527 อัตรา โดยจะดำเนินการบรรจุอัตราใหม่ที่ได้รับครั้งนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 31 กรกฎาคมนี้ และมีผลย้อนหลัง 1 เมษายน 2557 โดยจะต้องทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี สำหรับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว 21 สายวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขจะบรรจุในต่างจังหวัด โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามขั้นตอนการบรรจุข้าราชการพลเรือน เริ่มบรรจุพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2557 โดยจะบรรจุในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และมีผลตั้งแต่วันที่บรรจุเป็นต้นไป
 
สำหรับโควตาในการบรรจุตามความขาดแคลนและภาระงาน ตามความต้องการกำลังคนรายวิชาชีพของแต่ละโรงพยาบาล ดังนี้ โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป 2,289 อัตรา โรงพยาบาลชุมชน 3,126 อัตรา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2,036 อัตรา และหน่วยงานอื่นในสังกัด เช่น สถาบันพระบรมราชชนก 87 อัตรา
 
นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ตามแผนบรรจุข้าราชการใหม่จากลูกจ้างชั่วคราวที่มีอยู่ กระทรวงวางแผนไว้ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2556-2558 มีแผนบรรจุในปี 2555 จำนวน 22,641 อัตรา เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตรา หรือร้อยละ 75 ของลูกจ้างชั่วคราวที่มีอยู่ 30,188 คนทั่วประเทศ ขณะนี้เหลือการบรรจุรุ่นสุดท้ายในปี 2558 จำนวน 7,547 อัตรา ที่ประชุมให้กระทรวงดำเนินการปฏิรูประบบสาธารณสุขประกอบด้วยการปฏิรูปเขตบริการสุขภาพปฏิรูปประสิทธิภาพการบริหารกำลังคน (การกระจายระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ) รวมทั้งบรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ พ.ศ.2556-2560 ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและจัดบริการร่วม ทั้งคน งบประมาณ และทรัพยากรทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีเท่าเทียม เสมอภาค รวมทั้งวิเคราะห์ความต้องการอัตรากำลังตามภาระงานเพื่อใช้กระจายกำลังคนให้สมบูรณ์การดูแลค่าตอบแทนกำลังคนทั้งระบบตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอขออัตรากำลังบรรจุข้าราชการในปีงบประมาณ 2558 ต่อไป
 
ส่วนลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 21 สายงานที่เหลืออีกร้อยละ 25 กระทรวงได้บรรจุให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขระหว่างรอตำแหน่งข้าราชการ
 
(สำนักข่าวไทย, 22-7-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net