จับตาโลกออนไลน์: สังคมเสพติดความรุนแรงและความบิดเบี้ยวของชุดศีลธรรมแบบพุทธ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หากท่านผู้อ่านได้ติดตามความเคลื่อนไหวบน Social Network ในช่วง ๑-๒ เดือนที่ผ่านมาก็คงจะเคยได้ยิน หรือได้พบเห็นความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น กรณีนักเรียนชายพยายามรุมข่มขืนเพื่อนร่วมชั้นเรียน กรณีคนร้ายฆ่าข่มขืนเด็กสาวบนรถไฟ กรณีพิพาทระหว่างโค้ชและนักกีฬาเทควันโด หรือกรณีล่าสุดในอย่างการที่ดาราสาวถูกสามีทำร้ายร่างกาย ไปจนกระทั่งประเด็นในต่างประเทศอย่างการปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เหตุการณ์ที่ยกมาทั้งหมดนี้มีจุดร่วมกันอยู่ประการหนึ่งคือ”การใช้ความรุนแรง”ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบริบทหรือองค์ประกอบของเหตุการณ์ที่ว่านี้ก่อให้เกิดการบิดเบี้ยวในทางปฏิบัติของชุดศีลธรรมที่แสดงออกต่อกรณีต่างๆ

หากยังจำกันได้กรณีข่าวการฆ่าข่มขืนนี้สร้างกระแสสังคมที่เรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหญ่ในเรื่องการเข้าชื่อเรียกร้องให้แก้ไขบทลงโทษเพื่อให้บังคับใช้”โทษประหาร”กับนักโทษในคดีข่มขืน [แม้ว่าจะมีบทลงโทษนี้ตามประมวลกฏหมายอาญาอยู่แล้วก็ตามที] ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการตอบรับอย่างมหาศาล ความเคลื่อนไหวนี้บ่งบอกให้เรารับรู้ว่าสำนึกเรื่องศีลธรรมแบบพุทธในสังคมไทยนั้นในทางปฏิบัติแล้วมันเกิดการบิดเบี้ยวและดูเหมือนจะย้อนกลับไปหาการใช้มาตรการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในการลงโทษโดยละเลยในเรื่องศีลธรรมที่ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นเป็นบาป [แน่นอนว่าศีลธรรมข้อนี้ถูกนำมาใช้เช่นกัน แต่ถูกนำมาใช้ในมิติความผิดบาปตกอยู่ที่ตัวคนร้ายที่ฆ่าคนอื่น การฆ่าคนร้ายจึงไม่ใช่สิ่งผิด]

ปรากฏการณ์ที่ยืนยันความคิดนี้อย่างชัดเจนคือในทุกครั้งที่มีคดีฆ่าข่มขืน หรือกระทำชำเราแล้วต้องนำตัวผู้ต้องหาไปทำการประกอบแผนคำรับสารภาพมักจะปรากฏ”ไทยมุง”มารอรุมทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาแทบทุกครั้งไป ปรากฏการณ์นี้ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่าไทยมุงเหล่านั้นมีความชอบธรรมอะไรในการเข้าไปทำร้ายร่างกายหรือรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา? และสิ่งที่เขากำลังทำนั้นเป็นการตอบสนองอุดมการณ์ตามกรอบศาสนา [อาจจะเข้าขั้นแสวงบุญ] หรือเป็นการสร้างที่ยืนทางสังคมด้วยการทำร้ายร่างกายผู้อื่นกันแน่

การใช้ความรุนแรงแก้ปัญหานั้นยังปรากฏชัดเจนขึ้นมาอีกในกรณีพิพาทระหว่างโค้ชเทควันโดชาวเกาหลี กับนักกีฬาสาว ที่มีการนำเสนอว่าโค้ชชาวเกาหลีลงโทษนักกีฬาเกินกว่าเหตุด้วยการทำร้ายร่างกาย กรณีพิพาทนี้นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง [ซึ่งในช่วงท้ายนักกีฬาทีมชาติหลายคนก็ออกมายอมรับว่าเคยถูกทำร้ายร่างกายเช่นกัน กระทั่งตัวโค้ชเองก็ออกมายอมรับว่าทำร้ายร่างกายนักกีฬาสาวจริง แต่ตีที่ใบหน้า และต่อยที่ท้องเบาๆเท่านั้น] กรณีนี้ก็ตอกย้ำสำนึกคิดที่เสพติดความรุนแรง ในระหว่างการถกเถียงอย่างกว้างขวางมีการยกเอาภาษิตไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลรองรับในการถกเถียง ความบิดเบี้ยวนี้แสดงให้เห็นว่าคนในสังคมสนใจใน”ผลลัพธิ์”มากกว่า”วิธีการ” กล่าวคือจะใช้วิธีการใดก็ได้หากสามารถทำให้ผลลัพธิ์ออกมาดี หรือตรงตามที่สังคมคาดหวังไม่ว่าวิธีการนั้นจะเลวร้ายแค่ไหนก็ถือว่าสามารถ”ยอมรับได้” [สำนึกนี้ไม่จำกัดเฉพาะในเรื่องกีฬาเท่านั้น แต่ดูเหมือนจะแทรกซึมอยู่ในทุกๆมิติของสังคมนี้ ที่เด่นชัดอีกตัวอย่างนึงก็เช่นในทางการเมือง]

ถัดมาในอีกกรณีหนึ่งคือกรณีการปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่สร้างความเคลื่อนไหวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่น้อยในการออกมาต่อต้านความรุนแรงในปาเลสไตน์และฉนวนกาซ่า ตาม Campaign Free Gaza ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดนับว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมด้วยซ้ำที่เราออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเพื่อมนุษย์ กระนั้นในขณะเดียวกันเองคนกลุ่มนี้กลับเรียกร้องให้มีการจัดการกับผู้ก่อความสงบในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างเด็ดขาด (?) ในกรณีนี้หากพิจารณาตามประวัติศาสตร์แล้วรัฐไทยออกจะคล้ายกับอิสราเอลที่รุกเข้าไปยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีในกรณีนี้มีอุดมการณ์ในรูปแบบอื่นเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมด้วยคือ อุดมการณ์แบบชาตินิยม ที่สร้างสำนึกในเรื่องรัฐเดี่ยวที่จะแบ่งแยกไม่ได้ กระนั้นจากเหตุการณ์นี้ก็จะเห็นว่าคนในสังคมสามารถละเลยศีลธรรมบางข้อลงเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์อีกชุดที่อยู่เหนือกว่าได้ [ในที่นี้คืออุดมการณ์แบบชาติ ศาสน์ กษัตริย์]
  
กล่าวโดยสรุปความเคลื่อนไหวของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ทำให้เราสามารถอ่านความคิดและพิจารณาการตอบสนองของคนในสังคมนี้ต่อประเด็นทางสังคมต่างๆได้อย่างง่ายดายนั้นบ่งบอกให้รู้ว่าชุดศีลธรรมในไทยไม่ได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อนำจิตใจผู้คนให้สูงขึ้น แต่ชุดศีลธรรมนี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าชุดศีลธรรมถูกควบคุมโดยรัฐและกลายเป็นกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากในทางปฏิบัติเราไม่ได้นำเอาชุดศีลธรรมทั้งหมดมาใช้อย่างจริงจังตลอดเวลา หากแต่เราพร้อมจะวางศีลธรรมบางข้อหรืออาจจะวางชุดศีลธรรมเหล่านี้ลงทั้งชุดเพื่อการกระทำที่ตอบสนองต่ออุดมการณ์สูงสุดอีกอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าขณะที่เราวางชุดศีลธรรมทั้งหมดลงและกระทำสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมนั้น เราก็ยังสามารถอ้างว่าทำตามศีลธรรมได้เสียอีก

ถึงที่สุดเราควรตั้งคำถามต่อมาตรฐานของการใช้ศีลธรรมของคนในสังคมนี้ ว่าแท้จริงแล้วเราใช้ศีลธรรมนั้นเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าหรือใช้มันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยกตนให้สูงขึ้นผ่านการเหยียบย่ำคนอื่นๆกันแน่?

 

 

ปล. กรุณาดูเนื้อหาข่าวเพิ่มเติม
กรณีนร.ชายพยายามรุมกระทำชำเรานร.หญิงร่วมชั้นเรียน
กรณีฆ่าข่มขืนเด็กสาวบนรถไฟ 
แคมเปญ ข่มขืน=ประหาร
กรณีดาราสาวถูกสามีทำร้ายร่างกาย
กรณีพิพามอิสราเอลและปาเลสไตน์
กรณีพิพาทระหว่างโค้ชและนักกีฬาเทควันโด้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  จักรพล ผลละออ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ศึกษาอยู่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท