หลายฝ่ายชี้‘ประมูล’เหมาะสุด หวังหลังเลื่อน4G กสทช.ทำขั้นตอนประมูลให้ดีขึ้น

 

30 ก.ค.2557 โครงการติดตามนโยบายสื่อและ โทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) จัดงานเสวนาในหัวข้อ "เลื่อน-เลิกประมูล 4G ใครได้-ใครเสีย: รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน" ที่ห้องบรรยาย ศ.101 ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการประมูลเกิดจากการทำหน้าที่ที่ล่าช้าของ กสทช. ที่ไม่สามารถจัดประมูลคลื่นได้ทันก่อนหมดสัมปทาน ทั้งที่การประมูลควรดำเนินการตั้งแต่ 15 ก.ย. ปีที่แล้ว เมื่อประมูลคลื่นไม่ทันจึงเกิดการขยายเวลาให้บริการต่อเนื่องและคิดว่าจะประมูลได้ทันในหนึ่งปี โดยตามแผนต้องประมูลได้ก่อนเกิดซิมดับรอบสองใน ก.ย.ปีนี้

สารี ชี้ว่า หากเป็นไปตามกำหนดเดิมคือประมูลในเดือน ส.ค. แล้วคนที่ได้ใบอนุญาตไม่ใช่ทรู ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้บริการรายใหม่ทันใน 1 เดือน จึงไม่แก้ปัญหาคนที่ใช้บริการเดิม

การขยายเวลาไปอีกหนึ่งปีทำให้รายได้ของรัฐหายไป โดยทรูไม่ต้องจ่ายค่าใช้โครงข่าย และเนื่องจากทรูให้ข้อมูลว่าขาดทุนจึงไม่ต้องจ่ายส่วนต่างรายได้ ขณะที่เดิมในระบบสัมปทาน ทรูจ่ายให้รัฐประมาณ 6.8 พันล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปดำเนินการในกิจการสื่อสารได้ และเมื่อการสื่อสารขาดทุน เราต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐ เช่น ภาษี 

นอกจากนี้ เมื่อมีการขยายระยะเวลาแบบนี้ ผู้บริโภคอาจประสบปัญหาคุณภาพการให้บริการ ตกอยู่ในสภาวะไม่มีการพัฒนา ลงทุน ปรับปรุงคุณภาพ เพราะเป็นช่วงรอยต่อ

สารี เสนอว่า ในวาระที่ประกาศเยียวยาผู้บริโภคฯ ยังไม่ถึงกำหนดในเดือน ก.ย. ควรปรับแก้ประกาศฉบับนี้ให้มีส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการกลับมาสู่รัฐเหมือนที่บริษัทอื่นต้องดำเนินการ

สารี กล่าวว่า การเลื่อนการประมูลต้องมีความหมายในเชิงกำหนดทิศทางของกิจการโทรคมนาคมที่รองรับความต้องการของประเทศ การพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข 

"ระยะเวลาที่ทอดออกไปควรจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคมจริงๆ ไม่ใช่การซื้อเวลา" สารีกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ยังอยากเห็นการประมูลเดินหน้า และสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจมาร่วมประมูลด้วย พร้อมย้ำจุดยืนว่าที่ผ่านมา ไม่ได้ขัดขวางการประมูล แต่ขัดขวางการประมูลที่ไม่ออกแบบให้เกิดการแข่งขันและรัฐเสียประโยชน์ 

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า การเลื่อนประมูล 4G นโยบายครั้งนี้ จะกระทบต่อการจ้างงานที่จะหายไป 15,000 ตำแหน่งที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา 4G กระทบความเชื่อมั่นว่าไทยจะมีประสิทธิภาพดำเนินการตามแผนพัฒนาแค่ไหน อย่างไรก็ตาม การเลื่อนประมูลก็จะเป็นโอกาสให้ กสทช. ทบทวนขั้นตอนการประมูล เพื่อให้เกิดความชัดแจ้ง โปร่งใส หลังเคยมีเสียงวิจารณ์เรื่องการจัดประมูล 3G ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ในระยะชะลอการประมูล 4G  ผู้ประกอบการจะมีเวลาพัฒนาการลงทุนใน 3G มากขึ้น เช่น พัฒนาการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ หรือการประชุมออนไลน์ 

ธีระ กล่าวเสริมว่า การยังไม่มี 4G ไม่เสียหาย แต่เสียโอกาส เช่น ภาคสาธารณสุข แม้ไทยจะอยู่อันดับต้นๆ ของโลก แต่การใช้เทคโนโลยีต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สอง คนไทยเข้าถึงบรอดแบนด์ 20% เท่านั้น ส่วนมากเข้าถึงเน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ในแง่นี้ หากมี 4G ชีวิตคงไม่ได้เปลี่ยนทันทีขนาดนั้น แต่เพิ่มโอกาสให้คนเข้าถึงเน็ตมากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้อุตสาหกรรมเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ต่อยอดในสิ่งที่ 3G ทำไม่ได้

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริการจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในสามประเด็นตามที่ระบุไว้ในประกาศ คสช. คือ การคุ้มครองผู้บริโภค ผลประโยชน์สาธารณะ และการทบทวนระบบการประมูล

เดือนเด่น กล่าวว่า ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หากจะมีการเลื่อนประมูล ควรมีปรับเงื่อนไขประกาศ ให้ผู้ประกอบการที่ประมูลได้ดูแลผู้บริโภคให้ได้บริการเดิม ตามเงื่อนไขเดิม จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา และมีเงื่อนไขการส่งต่อการให้บริการโดยไม่กระทบผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมีสิทธิใช้บริการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นความพยายามตรงนี้ มีเพียงความพยายามให้ย้ายค่ายและสุดท้าย ก็ยังมีผู้บริโภคค้างในระบบ ขณะที่ผู้ให้บริการรายเดิม ทั้งที่รู้ว่าจะสิ้นสุดการให้บริการ ก็ยังมีการขายซิมใหม่อยู่ 

ด้านประโยชน์สาธารณะ เดือนเด่น ชี้ว่า  การเลื่อนประมูลจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ถ้าเอื้อต่อการแข่งขันของรายใหม่ โดยการประมูลที่ผ่านมา เรายังมีผู้ประมูลเพียงสามราย ควรต้องปรับเกณฑ์ให้มีรายใหม่เข้า มามากขึ้น เช่น การใช้โครงข่ายร่วมกัน ลดอัตราค่าเชื่อมต่อ เพราะการมีผู้ประมูลมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เกิดการแข่งขันราคาประมูลซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐ ขณะที่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกหลากหลายขึ้น

เดือนเด่น กล่าวถึงประเด็นที่สามเรื่องการทบทวนระบบการประมูลโดยย้ำว่าการประมูลนั้น ตั้งคำถามว่า เกี่ยวข้องกับความพยายามให้คลื่นแก่ รัฐวิสาหกิจบางแห่งหรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ กำหนดว่า รายได้สัมปทานเข้ารัฐ ไม่เข้ารัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้น เมื่อหมดรายได้สัมปทาน รัฐวิสาหกิจจะติดลบ 

เดือนเด่น กล่าวว่า ที่่ผ่านมา มีการแสดงความเห็นจากรัฐวิสาหกิจว่า รัฐวิสาหกิจเข้าแข่งขันยาก เพราะเงินที่จะนำมาประมูลต้องของบประมาณก่อนล่วงหน้า แต่เมื่อยังไม่รู้ว่าจะประมูลเท่าไหร่ก็กำหนดงบลำบาก หรือหากตั้งงบไปก่อน คู่แข่งก็รู้ว่าจะแข่งเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าไม่ใช่เหตุผลที่จะล้มระบบประมูล ต้องหาทางแก้วิธีอื่น หรืออาจให้รัฐวิสาหกิจเป็นแค่ผู้ให้บริการโครงข่าย ไม่ต้องเข้ามาประมูล

"ตามหลักแล้ว ต้องมีการประมูลเพราะอยากเอาคลื่นให้คนที่ใช้ประโยชน์จากมันได้มากที่สุด เพราะมูลค่าการประมูลคือกำไรส่วนเกินที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะได้จากการใช้คลื่น ถ้าให้คลื่นใครโดยไม่ต่องจ่ายสตางค์ เขาจะพยายามทำให้ได้รายได้มากที่สุดหรือไม่" 

เดือนเด่น กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่าระบบประมูลเป็นระบบดีที่สุด เพราะเป็นระบบที่ใช้ดุลพินิจน้อยที่สุด ซึ่งจะป้องกันปัญหาคอร์รัปชันได้ พร้อมยกปัญหาความคลุมเครือในการให้สัมปทานในธุรกิจพลังงาน ซึ่งทำให้ธุรกิจนี้มีปัญหามาก ดังนั้น การที่ธุรกิจโทรคมนาคมจะกลับไปเป็นแบบธุรกิจพลังงาน โดยเจรจาหลังประตู นั้นเป็นการถอยหลังเข้าคลอง 

พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อเสนอการแก้ไข พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 มาตรา 45 เพื่อเปิดโอกาสให้ กสทช. สามารถใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การประมูลในการจัดสรรคลื่นความถี่ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากปัญหา การประมูล 3G ที่ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดยกรรมการ กสทช. บางคนมองว่าการประมูลเป็นปัญหา เพราะว่าสังคมขาดความรู้ ได้รับข้อมูลผิดพลาด ทั้งที่แท้จริงแล้ว วิธีการประมูลไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาที่เป็นเหตุของกระแสวิจารณ์ในกรณี 3G คือ การใช้ดุลยพินิจของ กสทช. ในการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลที่ทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคา ในขณะที่ราคาตั้งต้นถูกกำหนดให้ต่ำกว่ามูลค่าประเมินที่เป็นวิชาการถึง 30%

พรเทพอธิบายว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ การประมูลหากออกแบบอย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากร เพราะทรัพยากรจะอยู่กับผู้ที่สร้างประโยชน์ได้สูงสุด ทั้งยังเป็น วิธีมีความโปร่งใส ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เมื่อวิธีการและกฏเกณฑ์การประมูลถูกกำหนดมาแล้ว ผลการประมูลถูกแทรกแซงได้ยาก และมีความเป็นธรรมในแง่ที่ไม่มีดุลยพินิจมาเกี่ยวข้อง

“ปัญหาวุ่นวายของการประมูล 3G ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะการประมูลเข้าใจยากหรือสังคมขาดความรู้ แต่เป็นเพราะวิธีการประมูลนั้นมีขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จนสังคมไล่เรียงตรวจสอบได้ว่าปัญหามาจากจุดไหน ถ้าผลลัพท์แบบเดียวกันนี้เกิดจากวิธีการจัดสรรอื่น สังคมอาจจะตรวจสอบหรือทำความเข้าใจได้ยากขึ้น”

ในขณะที่วิธีอื่นที่อาจจะใช้แทนการประมูลเช่น วิธีการคัดเลือกผู้เหมาะสม (Beauty contest) โดยเป็นวิธีที่ กสทช. ตั้งราคากลางและให้ผู้ประกอบการนำเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคนั้น มีกระบวนการที่โปร่งใสน้อยกว่า เพราะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้คัดเลือกเป็นสำคัญ ผู้คัดเลือกแต่ละรายให้น้ำหนักกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคา คุณภาพ เทคโนโลยี ความครอบคลุมของพื้นที่ นวัตกรรม แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของกรรมการเป็นหลัก ซึ่งการเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจอาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อโต้แย้งทางการเมืองและกฏหมายได้ง่ายกว่า รวมถึงความเคลือบแคลงต่อปัญหาทุจริตและความไม่เป็นธรรมในการคัดเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้คัดเลือกขาดความน่าเชื่อถือ

พรเทพกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความ โปร่งใส การประเมินหรือคาดเดาปัจจัยต่าง ๆ เช่นราคา คุณภาพการให้บริการ เทคโนโลยี ล่วงหน้าเป็นเวลานาน 15-20 ปี สำหรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เทคโนโลยีหรือบริการบางอย่างอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประเมินข้อเสนอและคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะยิ่งทำให้การจัดสรรทรัพยากรด้วยวิธี Beauty contest ขาดประสิทธิภาพลงไป

อีกประเด็นหนึ่งที่คือ ปัญหาการกำกับหรือบังคับให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกปฏิบัติตามแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอไว้ วิธีการ Beauty contestมักจะเป็นวิธีที่รัฐตั้งราคากลางของคลื่นให้มีราคาถูกหรือในบางกรณีจัดสรรโดยไม่คิดมูลค่า โดยกำหนดเงื่อนไขการให้บริการที่เข้มงวด หรือให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันเสนอผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภค การที่ผู้ชนะการคัดเลือกจะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายในปัจจุบันที่ต่ำ ในขณะที่โอกาสการได้รับเลือกขึ้นกับสิ่งที่สัญญาในอนาคต สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการแข่งกันนำเสนอแผนธุรกิจที่ดีเกินจริง ปัญหาคือการกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ เมื่อได้รับคัดเลือกแล้วผู้ประกอบการจะปฏิบัติตามแผนธุรกิจก็ต่อเมื่อสามารถทำกำไรได้เท่านั้น

กสทช. อาจจะเผชิญกับความยากลำบากในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา เพราะผู้ชนะการคัดเลือกจะยินดีจ่ายค่าคลื่นความถี่ราคาต่ำและรับเงื่อนไขเข้มงวด เพราะมองว่าเป็นการทำประกันเพื่อรักษาโอกาสในการลงทุน (investment option) เอาไว้ หากสถานการณ์ไม่เอื้อให้ทำกำไรและไม่สามารถแก้ไขเงื่อนไขสัญญาได้ในภายหลังก็จะออกจากตลาดไปโดยเสียต้นทุนไม่มากนัก ในขณะที่วิธีการประมูลถูกมองว่าเป็นการให้คำมั่นที่จริงจังกว่าเนื่องจากผู้ชนะประมูลจะมีต้นทุนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นตามการเสนอราคาของตนเอง

“หากพิจารณาจากทั้งประเด็นด้านความโปร่งใสและความชัดเจนของกระบวนการ ที่วิธีการประมูลมีสูงกว่าและสังคมให้น้ำหนักกับปัจจัยนี้ค่อนข้างมาก ในขณะที่วิธี Beauty contest มีความยืดหยุ่นแต่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ดุลยพินิจที่ผิดพลาดเนื่องจากความขาดแคลนของข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ และภาระในการกำกับดูแลเงื่อนไขสัญญาที่ค่อนข้างสูง การประมูลเป็นวิธีที่การจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีความเหมาะสมกว่าในบริบทของไทย” พรเทพสรุป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท