Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ภายหลังการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา การออกมาแสดงตัวของผู้ที่ไม่เห็นด้วยลดน้องลงอย่างชัดเจน อาจจะด้วยหลายเหตุผล ทั้งที่เห็นว่าเหตุการณ์เริ่มดีขึ้น สังคมสงบสุข บ้างอาจกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ จนกระทั่งบางกลุ่มที่กำลังติดตามรอเวลาที่การดำเนินนโยบายต่างๆ ของ คสช. จะพลาดพลั้ง และยิ่งเมื่อสวนดุสิตโพล [1] ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,689 คน เรื่องผลการดำเนินงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาของ คสช. โดยภาพรวมให้คะแนน 8.87 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ช่วยยืนยันว่าทิศทางการทำงานในภาพรวมของ คสช. ที่ผ่านมานั้นประชาชนพึงพอใจ ดูคล้ายกับว่ากระแสความคิดเห็นที่แตกต่างได้ลดลงไปแล้ว ความสุขกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง และหลังจากนี้ความขัดแย้งในสังคมจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
 
เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดการทรัพยากรของประเทศ ด้วยรูปธรรมของพื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย ภายหลังเหตุความรุนแรงจากการปะทะกันในพื้นที่ระหว่างชาวบ้านรอบเหมืองทองคำกับกลุ่มคนที่เข้ามาทำร้ายชาวบ้านเพื่ออำนวยให้การขนแร่ของบริษัททุ่งคำ จำกัด เป็นไปอย่างสะดวกในช่วงกลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องจนถึงมีการข่มขู่แกนนำหลังจากเหตุการณ์อีกหลายครั้ง โดยภายหลังการประกาศกฎอัยการศึก ชาวบ้านได้ยื่นจดหมายถึง คสช. เพื่อขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัยและติดตามเอาผิดกลุ่มคนที่เข้ามาทำร้ายชาวบ้าน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานกำลังทหารกว่าร้อยนาย จากหน่วยต่างๆ และหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง ถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ ช่วยให้ชาวบ้านรู้สึกอุ่นใจขึ้นบ้างว่าการข่มขู่คุกคามจะลดลง และเชื่อว่าการทำงานเพื่อติดตามเอาผิดกลุ่มคนร้ายและผู้บงการจะมีความคืบหน้า และสามารถนำตัวมารับโทษได้
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติกลับพบว่า ทหารที่เข้ามาในพื้นที่อธิบายว่าจะเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชนกับบริษัททุ่งคำ จำกัด เพื่อนำความสุขคืนสู่ชุมชน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจำนวน 4 ชุด ซึ่งได้ดำเนินการจัดเวทีประชาคมเพื่อหาทางออกกรณีเหมืองทองคำ ไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งและให้ยกเลิกคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด โดยอ้างถึงที่มาและสถานะของคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดว่าไม่มีความชัดเจน และส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของชาวบ้านอยู่ก่อนแล้ว ทั้งยังไม่มีชาวบ้านอยู่ในคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด จึงเห็นได้ชัดเจนว่ากระบวนการแก้ปัญหาของทหาร ไม่ให้ชาวบ้านในชุมชนได้เข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจหาทางออกอย่างแท้จริง
 
จากการติดตามข่าวสารในกรณีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านรอบเหมืองทองคำจังหวัดเลย กับบริษัททุ่งคำจำกัด พบว่าการแก้ไขปัญหาของทหารโดยอ้างกฎอัยการศึก ห้ามชาวบ้านประชุมพูดคุยปรึกษาหารือ ห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมรณรงค์ในหมู่บ้าน และลดทอนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในทุกระดับนั้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและทหารในพื้นที่ไม่ดีนัก มีการทำหนังสือเรียกชาวบ้านเข้าพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติเป็นรายบุคคล ติดตามการทำงานของนักศึกษาที่เข้าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลใช้เป็นหลักฐานในการขึ้นศาลให้กับชาวบ้านกรณีถูกฟ้องร้องจากบริษัททุ่งคำ จำกัด อย่างใกล้ชิด อีกทั้งการเข้าออกหมู่บ้านของบุคคลหรือกลุ่มองค์กรต้องมีการรายงานตัวกับทหารอย่างเข้มงวด ล่าสุดมีการยึดบัตรประชาชนของนักศึกษาที่เข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่และคืนให้เมื่อออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่ได้รับมา ทำให้ชาวบ้านจึงเริ่มตั้งคำถามกับวิธีการทำงานเพื่อสร้างความปรองดองในพื้นที่ของทหาร
 
จากเดิมที่ชาวบ้านคาดหวังว่าการเข้ามาของทหารจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ แต่รูปธรรมที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมา ประกอบกับความไม่คืบหน้าในการหาตัวผู้กระทำผิดในคืนวันที่ 15พฤษภาคม 2557 มาลงโทษทั้งที่เป็นประเด็นหลักซึ่งชาวบ้านเรียกร้องจากทหารในฐานะผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองตั้งแต่ต้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหา กลับค่อยๆ สร้างความขัดแย้งระหว่างทหารกับชาวบ้านในชุมชน ด้วยวิธีสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ผ่านการบังคับให้เห็นด้วย บังคับให้ร่วมมือ พูดคุยและกดดันทางจิตวิทยารายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม และการใช้อำนาจตามกฏอัยการศึก
 
ปฏิบัติการคืนความสุขด้วยวิธีห้ามพูด ห้ามประชุม ห้ามคิด ห้ามแสดงความคิดเห็น โดยอำนาจซึ่งไม่สามารถโต้แย้ง-ตรวจสอบได้ จะนำความสุขคืนสู่ชุมชนได้จริงหรือ ในเมื่อต้นตอของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้กระทำผิดกรณีทำร้ายชาวบ้านยังลอยนวล คะแนนนิยมจากสาธารณะอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการทำงานของ คสช. ได้อย่างแท้จริง เพราะการจัดการปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้งจะค่อยๆ เผยให้เห็นความจริงใจและเอาจริงเอาจังในการทำงานของ คสช. อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ การใช้กำลังทหารในการคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ ควรต้องระมัดระวัง และใช้อย่างมีศิลปะ หากลุแก่อำนาจ ใช้มันอย่างลืมตัว อำนาจก็นำมาสู่ความหายนะได้เช่นกัน
 
 
[1] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000084797

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net